อดีตนายกสมาคมนักข่าวฯ ยุคการเมือง ความขัดแย้งสูง ถ่ายทอดสถานการณ์ ที่ต้องบันทึก

"ช่วงนั้นสถานการณ์การเมือง เป็นช่วงการต่อสู้จริงๆ บทบาทของสมาคมนักข่าวฯเหมือนกับล้อไปตามสถานการณ์การเมืองช่วงนั้นตามไปด้วย ในเมื่อสังคมเราอยู่ท่ามกลางการแตกแยกขนาดนั้น  ทางสมาคมนักข่าวฯก็ต้องเป็นสื่อกลางในการประสานความเข้าใจของแต่ละฝ่ายให้เคารพการปฏิบัติหน้าที่ของกันและกัน"

"นาตยา เชษฐโชติรส รองประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ -ที่ปรึกษาฝ่ายบริหาร หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ อดีตหัวหน้าข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์และอดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย"

      เล่าให้ฟังว่า เข้ามาเป็นนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ. 2550-2551 หลังก่อนหน้านั้น เมื่อช่วงปลายปี  2549 นายกสมาคมนักข่าวฯคนก่อนหน้านั้นคือ นายภัทระ คำพิทักษ์ ได้ลาออกไปตอนปี 2549  ทำให้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และที่ประชุมได้เลือกตัวเราให้เป็นรักษาการนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งก็เป็นรักษาการนายกสมาคมนักข่าวฯ  ไปจนกระทั่งต่อมา ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมนักข่าวฯ ที่ประชุมก็โหวตเลือกให้เราเป็นนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2550 โดยทำหน้าที่อยู่สองปี คือ ช่วงปี 2550-2551

      ...ช่วงที่ทำหน้าที่เป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ ดังกล่าว ช่วงนั้น สถานการณ์การเมืองมีความตึงเครียด ความขัดแย้งทางการเมืองสูง โดยเฉพาะหลังมีการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง โดยที่พรรคพลังประชาชน ชนะการเลือกตั้งและเข้ามาเป็นแกนนำรัฐบาล และต่อมา คุณสมัคร สุนทรเวช เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี และตามด้วย คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ตอนนั้นสถานการณ์การเมืองค่อนข้างร้อนแรง มีการแบ่งเป็นทั้งฝ่ายเสื้อเหลือง -เสื้อแดง มีการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองกันตลอด

      โดยเฉพาะเมื่อต่อมา ทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่มเสื้อเหลือง เริ่มกลับมาเคลื่อนไหวนัดชุมนุมทางการเมืองบนท้องถนนและสถานที่ราชการหลายแห่งแบบปักหลักชุมนุมกันยาวหลายวัน จนต่อมา เกิดสถานการณ์การเผชิญหน้ากับฝ่ายรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะเดียวกัน ช่วงนั้นก็มีนปช.-เสื้อแดง เกิดขึ้น ที่เริ่มมาจากในยุคคมช. ซึ่งเริ่มมีการรวมตัวและนัดชุมนุมทางการเมืองตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะที่ท้องสนามหลวง แต่ช่วงดังกล่าว ก็ยังไม่มีมวลชนมากเท่ากับเสื้อแดงในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ช่วงที่เป็นนายกสมาคมนักข่าวฯอยู่ ช่วงนั้น แต่ต่อมานปช.เสื้อแดง ก็เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ หลังมีการดึงเสียงส.ส.พรรคพลังประชาชน ไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ (เป็นรัฐบาลต่อจากรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์)

      ซึ่งช่วงดังกล่าว นักข่าวก็ต้องทำข่าวเสนอข่าวโดยเข้าไปทำข่าวในพื้นที่ ทั้งจุดที่มีการชุมนุมทางการเมือง และสถานที่ราชการต่างๆ เช่นทำเนียบรัฐบาล นักข่าวภาคสนามก็ต้องทำงาน ต้องปฏิบัติหน้าที่ ตอนนั้นสมาคมนักข่าวฯ ก็มีการให้ทำแถบผ้าติดตรงบริเวณไหล่แขน หรือทำป้ายบัตรเพื่อให้เห็นว่าเป็น"นักข่าว-สื่อมวลชน"ให้รู้ว่าเป็นนักข่าว อยู่สังกัดไหน ที่ทำให้ทั้งผู้ชุมนุม -ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ จะได้เกิดความเข้าใจว่านักข่าวเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ หรือแม้แต่หากนักข่าวได้รับบาดเจ็บขณะปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าว เข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาล ทางสมาคมนักข่าวฯ ก็เข้าไปประสานกับทางโรงพยาบาลเพื่อให้การดูแล มีการส่งตัวแทนสมาคมนักข่าวฯ ไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลเพื่อให้กำลังใจ

      ช่วงนั้นสถานการณ์การเมือง เป็นช่วงการต่อสู้จริงๆ บทบาทของสมาคมนักข่าวฯเหมือนกับล้อไปตามสถานการณ์การเมืองช่วงนั้นตามไปด้วย ในเมื่อสังคมเราอยู่ท่ามกลางการแตกแยกขนาดนั้น  ทางสมาคมนักข่าวฯต้องเป็นสื่อกลางในการประสานความเข้าใจของแต่ละฝ่ายให้เคารพการปฏิบัติหน้าที่ของกันและกัน รวมถึงการทำงานของนักข่าวเอง ต้องไม่ทำในลักษณะยั่วยุผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐ เหมือนกับว่าอยู่ในที่ในทางของตัวเองที่ปลอดภัย ไม่ใช่ว่าจะเข้าไปรายงานข่าว ไปเก็บภาพอะไรต่างๆ แล้วนำตัวเองเข้าไปอยู่ในจุดที่เป็นอันตราย เรื่องแบบนี้ เราก็ต้องสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นด้วยในช่วงนั้น

ช่วงนั้น ก็เป็นช่วงที่หนักสำหรับการทำหน้าที่นายกสมาคมนักข่าวฯ ในเวลานั้นโดยเฉพาะเรื่องการประสานงานกับฝ่ายต่างๆ  ซึ่งเราก็พยายามทำหน้าที่ของเราอย่างดีที่สุด ที่โดยภาพรวมแต่ละฝ่ายก็ให้ความร่วมมือกับทางสมาคมนักข่าวฯด้วยดี อย่างเช่นฝ่ายตำรวจเอง ที่ช่วงดังกล่าว พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นผบ.ตร. ที่ก็ค่อนข้างจะมีความเข้าใจถึงเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน เช่นให้หลักประกันเรื่องความปลอดภัยกับการทำงานของสื่อด้วยระดับหนึ่ง รวมถึงความปลอดภัยของผู้ชุมนุมที่พยายามจะมีความเข้าใจเรื่องความเห็นต่างทางการเมืองในช่วงดังกล่าว การทำหน้าที่นายกสมาคมนักข่าวฯในสถานการณ์เวลานั้น ก็ไม่ได้ยากมาก แต่ว่าต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิด

      “นาตยา เชษฐโชติรส อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย" เล่าให้ฟังถึงเรื่องการทำงานของสื่อมวลชน ในช่วงที่เป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ ช่วงปี 2550-2551 อันเป็นช่วงเวลาที่ขณะนั้นมีความขัดแย้งทางการเมืองของคนในสังคมค่อนข้างสูงว่า เรื่องการทำงานของสื่อที่ทำให้สุ่มเสี่ยงจะได้รับอันตรายถึงชีวิต ซึ่งมีนักข่าว-สื่อที่ทำข่าวอยู่ต่างจังหวัดเช่นในพื้นที่อย่างระยอง ตราด ที่เขาก็ร้องเรียนมายังเราว่า ในช่วงที่การเมืองไทยอยู่ในช่วงสถานการณ์ที่เป็นรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารปี 2549 ในยุคคมช. ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร มีอำนาจมากกว่าตำรวจ ก็มีการบิดเบือนการใช้อำนาจมากในระดับพื้นที่เช่นมีการข่มขู่ คุกคามสื่อในระดับพื้นที่ 

...ทางเราก็เลยนำสิ่งที่เกิดขึ้นไปร้องเรียนกับ พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคมช.และพลเอก วินัย ภัททิยกุล เลขาธิการคมช.  เพื่อให้มีการระมัดระวังการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชาในเรื่องนี้ เพราะเรื่องแบบนี้มันอันตรายถึงชีวิต เราก็ไปบอกเขาว่ามีคนจับจ้องเขาอยู่ อย่าทำในสิ่งที่จะละเมิดกฎหมาย ซึ่งทางทหารตอนนั้น ฝ่ายคมช.  เขาก็เทกแอ็คชั่นสั่งให้หยุดเรื่องที่ไม่ดีแบบนั้นได้ เราก็ดีใจที่ในบทบาทการทำงานของเรา ช่วยทำให้สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับสื่อมันเบาบางลงไปได้

นาตยา เชษฐโชติรส นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ. 2549, 2550, 2551

-เป็นนายกสมาคมนักข่าวฯในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหาร พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คือรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ในแง่ของการทำงานของสื่อ สิทธิเสรีภาพของสื่อ ระหว่างรัฐบาลทหารกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีความแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน?

      คือจริงๆ แล้วหากเราพูดไป อาจไม่เป็นที่ถูกใจ แต่อยากขอพูดตรงๆ ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องแน่นอน กับการที่ทหาร นำกำลังเข้ามายึดอำนาจ ทำรัฐประหาร เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง

      แต่เราต้องยอมรับความจริงว่า ก่อนหน้านั้นในรัฐบาลยุคที่มีนักการเมือง ที่ก็คือรัฐบาลยุคคุณทักษิณ ชินวัตร ก็ไม่ใช่ว่าสื่อจะมีเสรีภาพได้อย่างเต็มที่ อย่าง"บางกอกโพสต์"เอง เป็นสื่อที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ที่เราไม่มีความเป็นอิสระเพียงพอในการนำเสนอข่าว หากเรานำเสนอข่าวในเชิงการตรวจสอบรัฐบาล เนื่องจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ การเสนอข่าวจะมีผลกระทบมาก ในระดับสากลด้วย ไม่ใช่แค่ภายในประเทศเท่านั้น ในยุคนั้น สื่อหลัก มีอิทธิพลมาก ไม่เหมือนในยุคปัจจุบัน ที่ถูกดิสรัปชั่น โดยสื่อออนไลน์ต่างๆ

      บางกอกโพสต์ พอเราลงข่าวที่เราตรวจสอบรัฐบาล แบบว่าเกาะติดใกล้ชิด ที่ไม่ใช่ว่าเราจะใกล้ชิดมากไปกว่าหนังสือพิมพ์ภาษาไทย แต่เนื่องจากเมื่อเสนอไปแล้วมันมีผลต่อความน่าเชื่อถือและภาพพจน์ของรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีในระดับสากล มันมีผลสูงมากที่ทำให้ เราก็เลยถูกจับตาถูกแทรกแซง จากผู้มีอำนาจสูงสุดของรัฐบาลในเวลานั้น และพรรคพวกบริวารของนายกรัฐมนตรีด้วย ไม่ใช่ว่าตัวนายกฯจะลงมา

      มันก็ทำให้เราเกิดการเปรียบเทียบว่าในรัฐบาลประชาธิปไตย ที่มาจากการเลือกตั้ง ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นได้ส.ส.เข้ามา 377เสียง(การเลือกตั้งเมื่อปี 2548) แต่ทำไมคุณถึงอยู่ไม่ได้ อยู่ได้แค่ไม่กี่เดือน ก็ต้องไป

      ระหว่างนั้น รัฐบาลประชาธิปไตยทำอะไรกับสื่อบ้าง คือหากเป็นสื่อที่ไม่ได้ลงข่าวที่เป็นที่น่าพอใจของรัฐบาล ได้รับผลกระทบเต็มๆ โดนแทรกแซงจริงๆ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง มีคณะรัฐประหารเข้ามา ตัวเขาเอง ก็รู้ว่าตัวเขามีจุดอ่อน ที่เข้ามาโดยไม่ถูกต้อง เขากลับไม่กล้าที่จะคุกคามหรือทำอะไรเรา อันนี้พูดถึงสื่อกระแสหลัก ไม่ได้พูดถึงสื่อท้องถิ่นที่อาจจะมีกระทบกระทั่งจากเรื่องต่างๆเช่น สภาพสังคม อย่างที่เราเล่าไว้ตอนต้นว่าสื่อต่างจังหวัดถูกทหารในพื้นที่คุกคาม แต่สำหรับสื่อในส่วนกลาง อย่างพวกสื่อกระแสหลักหลายฉบับก็ไม่ได้รับผลกระทบอะไร อาจจะมีบ้างเช่น คณะรัฐประหาร คมช. เขาเชิญสื่อไปร่วมหารือประชุมขอความร่วมมือ แต่เราก็ยังมีความเป็นอิสระของเรา ไม่ใช่ว่าจะลงแต่ข่าวคมช.หรือรัฐบาลคมช.ดีอะไรต่างๆ ยืนยันว่าไม่ใช่ สื่อก็มีการหน้าที่เหมือนเดิม มีอะไรก็ท้วงติง

แต่อันนี้เราก็ไม่สามารถให้หลักประกันได้ว่าเขาจะดีเหมือนกันหมดกับทุกฉบับหรือไม่ ก็อาจจะมีสื่อ-หนังสือพิมพ์ที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้ามาโดยวิธีรัฐประหารแล้วเขาก็วิพากษ์วิจารณ์ ก็คงมีบ้างที่เขาได้รับผลกระทบต่างๆ เช่นก็อาจมีการบอกสปอนเซอร์ กลุ่มทุนที่สนับสนุน ที่ไปซื้อโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือแม้แต่กับภาครัฐ ที่เคยซื้อโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือสื่อบางแห่ง ก็อาจถูกตัดทอนงบลง  ที่มีสำหรับสื่อที่ได้รับผลกระทบจากคณะรัฐประหาร ซึ่งก็ด้วยความเห็นใจ แต่เราก็จะไปแทรกแซงอะไรไม่ได้ จะไปบอกว่าให้เหมือนเดิม เราไม่มีสิทธิ์ไปทำได้  เพราะในฐานะผู้นำองค์กรวิชาชีพสื่อ บทบาทเราก็คือการดูแลเรื่องสิทธิเสรีภาพ -สวัสดิการของสมาชิกสมาคมนักข่าวฯ แต่ว่าหลังจากหมดยุคคมช.ที่มีการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 และได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หลายอย่างที่เกี่ยวกับสื่อ เท่าที่จำได้ ก็น่าจะดีขึ้น หลายเรื่องก็กลับไปเหมือนเดิม คืออาจไม่เหมือนเดิม แต่ก็ดีกว่าในยุคคมช.

      "ในช่วงนั้น ในแง่ของสิทธิเสรีภาพ มันมีทั้งส่วนที่ได้รับผลกระทบ และไม่ได้รับผลกระทบ อย่างในส่วนของบางกอกโพสต์ ในช่วงที่เราทำหน้าที่อยู่ ก็ไม่ได้มีปัญหาในส่วนนี้ ในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเป็นอิสระในการเสนอข่าว ทุกอย่างเหมือนเดิม ซึ่งเราก็คิดว่าตอนนั้นเขาเองก็มีหลายส่วนที่ไม่กล้าเข้ามาทำอะไร"

-ในฐานะที่เป็นสมาชิกสมาคมนักข่าวฯมาตั้งแต่ยุคยังเป็นสมาคมนักข่าวฯอยู่ที่ถนนราชดำเนิน จนต่อมาเป็นสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ มองว่าที่ผ่านมา บทบาทการเคลื่อนไหวการทำกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมนักข่าวฯ ในอดีตเช่นการเรียกร้องให้ยกเลิกปร. 42 หรือการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อ ถือว่าสมาคมนักข่าวฯ ได้ทำหน้าที่ในส่วนนี้อย่างไรบ้าง?

      ก็พบเห็นว่า บทบาทดังกล่าวมีการพัฒนาแบบก้าวหน้าไปเรื่อยๆ จากที่เป็นสมาคมเล็กๆ สมาชิกก็ไม่ได้มาก ยุคนั้นที่เราเริ่มเข้าไปเป็นสมาชิก ก็ยังถือว่าเด็กมาก เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นผู้อาวุโส ต่อมาก็ได้เป็นบอร์ดกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ ตั้งแต่อายุยังน้อยมากในยุคนั้น ตอนนั้นประมาณ 25-26 ปี ก็เป็นเหรัญญิกสมาคมนักข่าวฯแล้ว ก็เห็นมาตลอดว่าสมาคมนักข่าวฯเรา มีการพัฒนามาโดยตลอด ในการเป็นหัวหอกขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้เช่นการเคลื่อนไหวเพื่อให้ยกเลิกปร. 42  การเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพสื่อ การเพิ่มสวัสดิการสมาชิก ก็มีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนทำให้สมาคมนักข่าวฯ เป็นที่รู้จักของสังคมภายนอก

รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์กับสมาคมนักข่าวฯในบางประเทศเช่น การเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสมาคมนักข่าวฯของประเทศไทยกับสมาคมนักข่าวของประเทศจีน รวมถึงกับองค์กรวิชาชีพสื่อของประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม ลาว กัมพูชา เป็นต้น จนสร้างภาคีเครือข่ายระหว่างกัน ก็เป็นความเติบโตของสมาคมนักข่าวฯที่ทำให้ก้าวไปสู่อินเตอร์มากขึ้น การส่งตัวแทนไปร่วมประชุมองค์กรวิชาชีพสื่อในต่างประเทศ หรือการส่งนักข่าวไทยของเราไปเรียนรู้ที่ประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นความร่วมมือกับ NHK เพื่อศึกษาเรียนรู้เรื่องการเสนอข่าวที่เป็นสากลมากขึ้น   เป็นต้น

      "อย่างในช่วงการเคลื่อนไหวยกเลิกปร.42 ช่วงนั้น ก็ต่อสู้เคลื่อนไหวกันหนักกับฝ่ายต่างๆ จนมีการยกเลิกปร. 42 โดยบทบาทของสมาคมนักข่าวฯ ก็ได้ต่อสู้ในเรื่องเสรีภาพให้กับคนรุ่นหลังๆได้มาตลอด โดยได้ทำหน้าที่ในส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี ภายใต้ความมุ่งมั่น ความเสียสละ ของคนในแต่ยุค ซึ่งบางท่านปัจจุบันก็ยังชีวิต แต่บางท่านก็ได้ล่วงลับไปแล้ว"

 -เรื่องที่คนอาจยังไม่เข้าใจบทบาทของสมาคมนักข่าวฯ ในเรื่องกรณีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเสนอข่าวของสื่อมวลชน ทั้งข่าว ภาพ การพาดหัว แล้วอยากให้สมาคมนักข่าวฯ ช่วยตรวจสอบหรือรับข้อร้องเรียนต่างๆ จริงๆ แล้วบทบาทของสมาคมนักข่าวฯ มีในส่วนนี้มากน้อยแค่ไหน?

      บทบาทการตรวจสอบ หรือการควบคุมกันเอง ในด้านจริยธรรมสื่อ ไม่ใช่หน้าที่ของสมาคมนักข่าวฯ แต่ปัจจุบันเป็นหน้าที่ของ"สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ"เพราะสมาคมนักข่าวฯ ทำในเรื่องการปกป้องสิทธิเสรีภาพสื่อและการดูแลสวัสดิการสมาชิก

      เรื่องการปกป้องสิทธิเสรีภาพสื่อ เราทำเต็มที่ การสร้างสวัสดิการให้มวลหมู่สมาชิก เราก็ทำเต็มที่เหมือนกัน เช่นการหารายได้ที่ชอบธรรม ที่จะเข้ามาช่วยสมาชิกที่ยังต้องการความช่วยเหลือเช่นยามเจ็บไข้ได้ป่วย หรือทุนการศึกษาส่งบุตรเรียนหนังสือ เราก็ทำมาให้ ซึ่งสมาคมนักข่าวฯพยายามทำอย่างดีที่สุดแล้วภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ

 และยิ่งสภาวะเศรษฐกิจก็ถดถอยลงไปเรื่อยๆ ความยากลำบากในการหาผู้สนับสนุน มันก็ยากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดทำกิจกรรมต่างๆ มันก็มีค่าใช้จ่าย เรื่องนี้ เราคิดว่าเป็นปัญหาในทางปฏิบัติจริงๆ กับความอยู่รอดของสมาคมฯก็ดี เพื่อให้สามารถดำรงอยู่ได้ กับการทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อมวลหมู่สมาชิก หลายคนต้องช่วยกัน เพราะยังมีกิจกรรมหรือบทบาทอะไรหลายอย่างที่ยังท้าทายสมาคมนักข่าวฯอยู่ แม้ว่าวันนี้สถานการณ์จะเปลี่ยนไป อย่างสถานการณ์ที่ต้องเผชิญหน้า ต่อไปอาจไม่ใช่เรื่องของการต่อสู้เรื่องไม่ให้สื่อถูกข่มขู่คุกคาม แบบก่อนหน้านี้ แต่เปลี่ยนมาเป็นเรื่องสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจที่มีผลกระทบ ทางกรรมการสมาคมนักข่าวฯทุกคน ต้องร่วมแรงร่วมใจกัน ที่จะช่วยกันในจุดที่ตัวเองจะช่วยได้

-คิดว่าจากบริบทสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป ทางองค์กรวิชาชีพสื่อ สมาคมนักข่าวฯควรต้องปรับบทบาทหรือทำงานเชิงรุกในด้านใดบ้าง ตามบริบทสื่อที่เปลี่ยนไป เช่นเรื่องการดูแลสวัสดิการสมาชิก หรือการพัฒนาอบรบเพิ่มทักษะให้กับสื่อ ?

      ทางสมาคมนักข่าวฯ ได้ทำในส่วนต่างๆ ตามที่ตั้งคำถามไว้อยู่แล้ว เพียงแต่การสร้างการยอมรับและความเชื่อถือ ความไว้วางใจจากสังคม นักข่าวทุกคนต้องทำ คือเราต้องเริ่มต้นที่ตัวเอง โดยเป็นนักข่าวที่มีความเข้มแข็งในด้านจริยธรรมสื่อ การทำหน้าที่เสนอข่าว เราต้องทำอย่างเป็นธรรมจริงๆ เราต้องให้โอกาสทุกคนที่ถูกพาดพิงอยู่ในข่าว ให้เขาได้มีพื้นที่ในการแก้ต่างหรือการแสดงความคิดเห็น เราต้องให้พื้นที่เขา ไม่ควรจะมีธงไว้แล้วว่า ฝ่ายนี้ผิด อีกฝ่ายถูก เราต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

เพราะการมีจริยธรรมสื่อที่เข้มแข็ง จะเป็นเกราะป้องกันตัวสื่อเองที่ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากสังคมเพราะเขาจะรู้ได้เลยว่า เวลาเราเสนอข่าวออกไป เราเป็นกลาง เราเป็นธรรมจริงๆ ข่าวของเราถูกต้องน่าเชื่อถือ อันนี้คือสิ่งที่จะทำให้สื่อทุกสื่อที่สมาชิกสมาคมนักข่าวฯสังกัดอยู่ ซึ่งได้พยายาทำหน้าที่อย่างดีที่สุด มันจะสร้างมูลค่า ความน่าเชื่อถือให้กับสื่อของตัวเอง ถ้าเราทำหน้าที่บนความรับผิดชอบและสร้างความไว้วางใจ เพราะเมื่อสื่อได้รับความไว้วางใจ ก็จะทำให้ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายต่างๆตามมาเอง 

"การทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อมวลหมู่สมาชิก หลายคนต้องช่วยกัน เพราะยังมีกิจกรรมหรือบทบาทอะไรหลายอย่างที่ยังท้าทายสมาคมนักข่าวฯอยู่ แม้ว่าวันนี้สถานการณ์จะเปลี่ยนไป อย่างสถานการณ์ที่ต้องเผชิญหน้า ต่อไปอาจไม่ใช่เรื่องของการต่อสู้เรื่องไม่ให้สื่อถูกข่มขู่คุกคาม แบบก่อนหน้านี้ แต่เปลี่ยนมาเป็นเรื่องสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจที่มีผลกระทบ ทางกรรมการสมาคมนักข่าวฯทุกคน ต้องร่วมแรงร่วมใจกัน ที่จะช่วยกันในจุดที่ตัวเองจะช่วยได้"

หมายเหตุ เนื้อหามาจาก หนังสือวันนักข่าว 2566