ยุครัฐประหารคสช. กับบทบาทสมาคมนักข่าวฯ รักษาเสรีภาพ-ผลักดันปฏิรูปสื่อ

การทำหน้าที่ขององค์กรวิชาชีพที่ทำมาถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในยุคหลังๆ ช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ผมก็คิดว่า ก็ยังคงเป็นบทบาทที่เราต้องคงไว้และสนับสนุนต่อไป นั่นก็คือ การพยายามพัฒนาบุคลากรที่ทำงานในด้านสื่อให้มีความสามารถในแง่ของการทำหน้าที่สื่อ และเรื่องของการรักษาไว้ซึ่ง จริยธรรม คุณธรรม รวมถึงจิตสำนึกของสื่อในการที่จะต้องเป็นสื่อที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิเสรีภาพ มีความรับผิดชอบ ตรงนี้คือบทบาทขององค์กรวิชาชีพสื่อที่ต้องทำต่อไป

“วันชัย วงศ์มีชัย-อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ช่วงปี 2558 และ 2559   “และ”อดีตบรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์แนวหน้า”เล่าถึงการบทบาท-การทำงานของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยในช่วงปี 2558-2559 ซึ่งอยู่ในช่วงรัฐบาลคสช.ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นทั้งหัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรี ที่มาจากรัฐประหาร

...ในการเข้ามาร่วมทำกิจกรรมต่างๆ กับทางสมาคมนักข่าวฯนั้น ผมเข้ามาเป็นสมาชิกสมาคมนักข่าวฯและกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ ตั้งแต่ยุคยังเป็นสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ สมัยยังเป็นนักข่าวภาคสนาม ก็ได้เข้ามาร่วมเป็นกรรมการสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย  ตั้งแต่ยุคที่ตึกของสมาคมนักข่าวฯ ยังตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินนอก ซึ่งช่วงดังกล่าวยังไม่ได้รวมกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จนเป็นสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แบบปัจจุบัน โดยเป็นทั้งกรรมการสมาคมฯและฝ่ายทะเบียนให้กับสมาคมนักข่าวฯ ตอนนั้นก็พยายามเข้าไปสังคายนา ระบบสมาชิกของสมาคมนักข่าวฯ ให้เป็นระบบมากขึ้น

และต่อมาเมื่อมีการรวมกันของสองสมาคมฯจนเป็นสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยในปัจจุบัน โดยระหว่างนั้น สมาคมนักข่าวฯได้เริ่มมีการเปิดสัมพันธ์เพื่อติดต่อกับองค์กรวิชาชีพสื่อต่างประเทศ เช่นการเปิดความสัมพันธ์กับองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนประเทศลาว ตอนนั้นเป็นช่วงที่คุณสำเริง คำพะอุ เป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ จนมีการยกคณะไปที่ลาวเพื่อเยี่ยมเยียนระหว่างกัน หลังจากนั้น ก็เข้ามาเป็นกรรมการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ อีกประมาณ 2-3 รอบ

          “วันชัย-อดีตนายกสมาคมนักข่าวฯ”เล่าต่อไปว่า ต่อมา ก็เข้ามาเป็นนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศช่วงปี 2558 กับ 2559 ที่ตอนนั้นตามข้อบังคับของสมาคมนักข่าวฯ ให้เป็นนายกสมาคมนักข่าวฯได้สมัยละหนึ่งปี แต่อยู่ได้ไม่เกินสองสมัย แต่ก่อนหน้านั้น เป็นอุปนายกสมาคมนักข่าวฯมาก่อนในยุคที่มี นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ เป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ ตั้งแต่ปี 2556-2557 ก็เป็นการทำงานแบบต่อเนื่องจากอุปนายกฯสองปีแล้วมาเป็นนายกสมาคมนักข่าวฯอีกสองปี

วันชัย วงศ์มีชัย-อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ช่วงปี 2558 และ 2559 

          “วันชัย”เล่าถึงการทำงานในช่วงเป็นอุปนายกสมาคมนักข่าวฯ ก่อนจะมาเป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ ที่ทำให้เห็นภาพการทำงานในช่วงนั้นได้เป็นอย่างดีว่า ช่วงเป็นอุปนายกฯ สถานการณ์การเมืองช่วงนั้นค่อนข้างแหลมคม เพราะเป็นช่วงที่มีการชุมนุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกปปส. ที่เริ่มช่วงปี 2556 โดยตอนนั้นความขัดแย้งเรื่องความคิดทางการเมืองของคนในสังคมก็มีสูงมาก และต่อมาก็มีการทำรัฐประหารยึดอำนาจโดยคสช.เมื่อ 19 พ.ค. 2557 และเกิดรัฐบาลคสช.

..ต่อมาได้เข้ามาเป็นนายกสมาคมนักข่าวฯปี 2558 โดยช่วงนั้น ที่เป็นรัฐบาลทหารคสช. ทางคสช.ก็ได้สถาปนาอำนาจให้ตัวเองอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการใช้วิธีการออกประกาศ-คำสั่งหัวหน้าคสช.ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ ปี 2557 ที่ก็มีบางส่วนออกมาเพื่อใช้กำกับดูและควบคุมสื่อ

          ตอนที่ผมเข้าไปเป็นนายกสมาคมนักข่าวฯช่วงปี 2558 จึงอยู่ในช่วงรัฐบาลคสช. ที่มีการเถลิงอำนาจอย่างเต็มที่ ตอนนั้นทางสื่อเองก็อยู่ในภาวะที่ค่อนข้างระมัดระวังตัวเองสูง เพราะตอนนั้นสถานการณ์ก็เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ นอกจากนั้นตัวสื่อเอง สถานการณ์ของสื่อทั้งหลายในแง่ของ"ธุรกิจ"มันก็มีปัญหายาวนานต่อเนื่องมา เพราะตอนนั้นที่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง มีม็อบต่างๆ ผนวกกับสภาพทางเศรษฐกิจของประเทศช่วงนั้นก็ไม่ค่อยดี ก็ส่งผลมาถึงสื่อต่างๆ แล้วยังมาเจอกับการทำรัฐประหารของคสช.อีก สถานการณ์โดยรวมต่างๆ ก็ยิ่งทำให้ในเชิงธุรกิจก็ยิ่งย่ำแย่

วันชัย”บอกเล่าเรื่องราวในช่วงนั้นไว้ว่า  ตอนนั้นสื่อหลายแห่ง ได้รับผลกระทบชัดเจน ประกอบกับภูมิทัศน์สื่อที่มันเปลี่ยนแปลงไป news media ต่างๆเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ในแง่ของเชิงธุรกิจสื่อ มันก็ยิ่งย่ำแย่หนักขึ้น จนในช่วงปี 2558 ก็เริ่มมีสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหนังสือพิมพ์รายวัน-นิตยสารประสบปัญหา ได้รับผลกระทบ จนเริ่มทยอยปิดตัวลง หนังสือพิมพ์บางฉบับที่อยู่มาหลายปี ก็ต้องปิดตัวลง

          "โดยการทำหน้าที่ของสื่อในตอนนั้น ก็เลยอยู่อย่างยากลำบาก ทั้งในแง่การประคับประคองตัวเองให้อยู่รอด และขณะเดียวกัน ก็ยังมีเรื่องของกฎหมาย คำสั่งต่างๆ ที่ทำให้สื่ออาจต้องรู้สึกว่าต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้น"

          ..ในช่วงนั้น ประมาณปี 2559 ที่ผมเป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ ปีที่สอง ก็เกิดกรณี การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2559 บรรยากาศบ้านเมืองก็อยู่ในสภาวะที่ค่อนข้างซึมเศร้า

          ทั้งหมดคือสภาพโดยรวมๆ สมัยที่ผมเป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ

          ขณะเดียวกัน ตอนที่เป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ มันก็คาบเกี่ยวมาตั้งแต่เป็นอุปนายกสมาคมนักข่าวฯช่วงปี 2556-2557 ที่เราก็ได้มีการเตรียมหาทุนที่จะทำให้สมาคมนักข่าวฯมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น เพราะว่าในปี 2558 เป็นปีที่สมาคมนักข่าวฯ ครบรอบ 60 ปีของการก่อตั้ง ตอนนั้นที่นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ เป็นนายกสมาคมฯก็ตั้งโครงการ 60 ปี สมาคมนักข่าวฯ เพื่อระดมช่องทางในการหาทุนมาจัดตั้งเป็นกองทุน 60 ปี เพื่อดูแลงานด้านการพัฒนาสื่อและการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของสื่อ ตรงนี้ก็ต่อเนื่องมาในช่วงที่ผมเป็นนายกสมาคมนักข่าวฯครั้งแรกปี 2558 ที่ตอนนั้นครบรอบ 60 ปีของสมาคมนักข่าวฯพอดี โดยการระดมทุนตามที่ตั้งโครงการไว้ ก็ยอมรับว่า การหาทุนก็ค่อนข้างยากลำบากเหมือนกัน จากสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีในช่วงดังกล่าว แต่ว่าแม้กระนั้นก็ตาม ในแง่ของสมาคมนักข่าวฯ ในช่วงตั้งแต่ปี 2556-2558 เราก็สามารถระดมทุนมาได้พอสมควร จนตั้งเป็นกองทุน 60 ปีขึ้นมา ที่นำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ทั้งเรื่องการดูแลสื่อ การดูแลเรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อ

บทบาทสมาคมนักข่าวฯกับการผลักดัน”ปฏิรูปสื่อ”

          เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือในยุคคสช.มีการสื่อสารว่ารัฐบาลทหารคสช.มีความต้องการจะทำการ”ปฏิรูปประเทศ”ในด้านต่างๆ รวมถึง”ปฏิรูปสื่อ”แล้วบทบาทขององค์กรวิชาชีพสื่อและสื่อต่างๆ มีท่าทีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้อย่างไรในช่วงดังกล่าว”วันชัย-อดีตนายกสมาคมนักข่าวฯ”บอกเล่าเรื่องราวตอนนั้นไว้ว่า ที่คสช.บอกว่าจะเข้ามาปฏิรูปประเทศรวมถึงการปฏิรูปสื่อด้วยนั้น ตอนนั้น องค์กรสื่อต่างๆ ก็มีข้อถกเถียงกัน มากพอสมควร เพราะด้านหนึ่งก็มีการทาบทามตัวแทนองค์กรสื่อให้เข้าไป มีส่วนร่วมในการปฏิรูปสื่อ ผ่านกลไกของ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยตอนนั้นก็มีทั้งคนที่เห็นด้วยว่าควรมีตัวแทนจากองค์กรสื่อเข้าไป แต่ก็มีคนไม่เห็นด้วยเช่นกัน แต่ในส่วนของที่มีการคุยกันในระดับแกนนำขององค์กรสื่อและผู้อาวุโสหลายคนของวงการสื่อ ก็เห็นว่าหากเราไม่เข้าไปร่วมในการพิจารณา ปัญหามันก็อาจมีผลกระทบกับองค์กรสื่อมากกว่าที่เราวางตัวไม่เข้าไปเกี่ยวข้องเลย เพราะเขาอาจสามารถที่จะเสนออะไรก็ได้ ตามความคิดของเขาที่คิดว่า จะทำให้สื่อดีขึ้น แต่จริงๆ แล้วเราก็มีความหวาดระแวงขององค์กรสื่อที่ว่า ผู้กุมอำนาจรัฐทั้งหลาย ในเวลานั้น ทั้งวงการการเมือง วงการข้าราชการต่างๆ โดยแนวคิดหลักของคนเหล่านี้ก็คือ "อำนาจนิยม"ที่ต้องการเข้ามากำกับ หรือว่าคุมสื่อให้อยู่ในร่องในรอยที่จะเป็นประโยชน์กับฝ่ายเขา หรือต่อส่วนรวมก็แล้วแต่ มากกว่าที่จะมุ่งเน้นเรื่องเสรีภาพและความรับผิดชอบของตัวสื่อเอง

          จากความเห็นที่ต่างกันดังกล่าว สุดท้ายแล้วผลออกมาเป็นอย่างไร “อดีตนายกสมาคมนักข่าวฯ -วันชัย”เล่าให้ฟังว่า หลังจากผู้ทำงานในองค์กรสื่อหลายคน ได้ร่วมหารือและตัดสินใจกัน ก็เห็นว่าให้มีการส่งตัวแทนขององค์กรสื่อเข้าไปร่วมเป็นสมาชิกในสภาปฏิรูปประเทศ และขณะเดียวกัน หลายครั้ง ตัวแทนขององค์กรสื่อก็ได้เข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็น โดยเมื่อเห็นอะไรที่มันไม่ชอบมาพากล จากที่ตัวแทนองค์กรสื่อเข้าไปทำงานในส่วนนั้นแล้วเขาเห็นและแจ้งเรามา เราก็แสดงปฏิกิริยาในการคัดค้านหรือนำเสนอข้อโต้แย้งต่างๆ ออกไป

          จนต่อมาเมื่อสภาปฏิรูปประเทศหมดวาระไป ตอนนั้น ก็มีประเด็นที่มีการถกเถียงอภิปรายกันเยอะเรื่องที่จะเสนอให้มีการออกกฎหมาย ที่จะมากำกับดูแลสื่อทั้งหลาย ภายใต้ชื่อที่จะมีการจัดตั้งกันขึ้นมาเช่น “สภาวิชาชีพสื่อมวลชน” ที่มีการเสนอหลักการบางอย่างที่องค์กรวิชาชีพสื่อเห็นว่า เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ เพราะองค์ประกอบของคนที่จะเข้ามาเป็นกรรมการในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนที่เป็นตัวแทนจากภาครัฐ พบว่าเข้ามาในสัดส่วนที่สูง จนเรียกได้ว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่ขององค์กรที่ตั้งขึ้นมา ที่จะเข้ามากำหนดทิศทางหลายอย่างที่เป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน อีกทั้งอำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพสื่อฯที่มีแนวคิดจะตั้งขึ้นมาเวลานั้น มีแนวคิดที่สามารถให้คุณให้โทษรวมถึงเรื่องของการที่จะมีการให้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจสื่อ ที่เราเห็นว่าเป็นเรื่องที่อันตราย ที่เสี่ยงต่อการที่จะมีการควบคุมสื่อจนทำให้ การทำหน้าที่ตามสิทธิเสรีภาพของสื่อที่ควรจะมี สุดท้ายมันอาจจะไม่เกิดขึ้น ทำให้ตัวรัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่างช่วงนั้น รวมถึงคำประกาศของคสช.ที่เคยประกาศไว้ตอนเข้ามาใหม่ๆ ว่าจะให้สิทธิเสรีภาพสุดท้ายมันก็จะไม่เป็นจริงตามที่เคยกล่าวอ้าง ทำให้องค์กรวิชาชีพสื่อรับไม่ได้ ทำให้ในช่วงปี 2559 เมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ หมดวาระลงไป ต่อมา คสช.ก็ตั้ง สภาขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศหรือสปท.ขึ้นมา ก็ได้มีความพยายามผลักดันกฎหมายให้มีสภาวิชาชีพสื่อฯ โดยให้มีหลักการตามที่บอกข้างต้นอันเป็นเรื่องที่องค์กรวิชาชีพสื่อฯรับไม่ได้ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวคัดค้าน

          "ตอนนั้นสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ ฯ คือหนึ่งในแกนนำที่ร่วม กับองค์กรวิชาชีพสื่ออื่นๆ ได้ออกมาต่อสู้เคลื่อนไหวคัดค้านเรื่องนี้"

          นอกจากนี้ในยุคคสช.ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ พบว่าก็ได้มีการออกประกาศและคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่มีเนื้อหา ที่ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่รัฐในการเข้ามากำกับดูแลสื่อค่อนข้างมาก และเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย มันก็ทำให้มีการใช้อำนาจเหล่านั้นในลักษณะที่เราเห็นว่า ค่อนข้างเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อหลายกรณี อย่างเช่นการออกคำสั่งเรียกตัวคนในองค์กรสื่อไปรายงานตัว หรือการมีหนังสือตักเตือนสื่อหรือเรียกไปพบเจ้าหน้าที่ ตลอดจนการใช้องค์กรรัฐในเวลานั้นเช่นคณะกรรมการกสทช. เข้ามาแทรกแซงเช่นการพักใบอนุญาตประกอบการ หรือการมีหนังสือตักเตือน กับสื่อที่ถูกมองว่านำเสนอเนื้อหาที่ไม่ได้เป็นไปตามสิ่งที่รัฐบาลเวลานั้นต้องการ

.... ทำให้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ก็แสดงท่าทีในการคัดค้านการใช้อำนาจต่างๆในช่วงนั้น และพยายามที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลคสช.เวลานั้นยกเลิกการใช้อำนาจลักษณะดังกล่าวตลอดจนให้ยกเลิกตัวกฎหมาย และคำสั่งของคสช.ที่มีปัญหาดังกล่าว โดยมีการแสดงออกในหลายลักษณะเช่นการไปยื่นหนังสือต่อพลเอกประยุทธ์ที่เป็นทั้งหัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 3 พฤษภาคม 2559 ที่เป็นวันสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนโลก เป็นต้น

          "วันชัย-อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย"กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ในช่วงที่ตัวเขาเป็นนายกสมาคมนักข่าวฯช่วงดังกล่าว ก็ได้มีการแสดงออกถึงความเป็นคนไทย ที่มีความจงรักภักดี ต่อกรณีการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯรัชกาลที่ 9 โดยองค์กรสื่อ คือสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เราก็เป็นแกนนำสำคัญในการผสานกับองค์กรสื่อต่างๆ ในการจัดงานเพื่อรำลึกถึงพระองค์ท่านฯ ที่เป็นงานใหญ่ เพื่อร่วมกันไว้อาลัยให้กับพระองค์ท่านฯ

เสียงสะท้อน ข้อแตกต่างเสรีภาพสื่อยุคเลือกตั้ง-รัฐบาลทหาร

-ในฐานะที่อยู่ในวงการสื่อมายาวนานและร่วมเป็นกรรมการสมาคมฯ เป็นนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ ที่ผ่านทั้งช่วงที่เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กับรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร มองว่า บทบาทขององค์กรวิชาชีพสื่อ ฯ ในยุครัฐบาลเลือกตั้งกับยุครัฐบาลทหาร แตกต่างกันอย่างไรในการเคลื่อนไหวเรื่องต่างๆ ?

          แน่นอนว่ายุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนย่อมมีมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร เพราะกฎหมาย ระเบียบอะไรต่างๆ ที่มี ก็มีการใช้อย่างระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ถืออำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลเผด็จการทหาร ก็มักจะมองสื่อด้วยทัศนคติเชิงลบและบทบาทของสื่อที่สำคัญก็คือบทบาทในการทำหน้าที่ตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ การทำงานของผู้มีอำนาจทั้งหลาย ที่แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่พึงพอใจของผู้มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย หรือรัฐบาลทหาร ก็ตาม

          สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็มีลักษณะเช่นการเข้ามาแทรกแซงบ้าง หรือการใช้อำนาจที่มีอยู่เข้ามากำกับสื่อ อย่างในยุคหนึ่งมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่มีเครื่องมือที่หลงเหลือมาจากรัฐบาลเผด็จการทหาร อย่างยุคหนึ่งเคยมี"ปร.42"ที่ออกมาโดยคณะปฏิรูปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ที่เป็นคณะที่เข้ามาหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แต่แม้ต่อมาจะหมดยุครัฐบาลเผด็จการทหาร มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลายชุด แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งปร. 42 ที่แม้จะไม่ได้มีการใช้อย่างโจ๋งครึ๋ม แต่ก็มีบ้าง จนมาถึงช่วงรัฐบาลประชาธิปไตยอย่างรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ก็มีการนำปร. 42 มาใช้ในการปิดหนังสือพิมพ์ อย่างหนังสือพิมพ์ที่ผมเคยสังกัดคือ แนวหน้า ก็เคยโดนปิดด้วยการใช้ปร.42

          เลยทำให้ตอนนั้น วงการสื่อก็มีการรวมตัวกันของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเวลานั้นเพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิก ปร. 42 ก็มีการเคลื่อนไหว มีการต่อสู้ จนนำไปสู่การจัดตั้งสภาการหนังสือพิมพ์ฯ และต่อมารัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ยกเลิกปร. 42 และหันมาใช้กฎหมายพรบ.การพิมพ์พ.ศ.2484 ที่แม้อำนาจจะไม่ได้มีมากมาย แต่ก็ยังคงรบกวนจิตใจ รบกวนการทำงานของสื่อพอสมควร ภายใต้รัฐบาลที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลเผด็จการ อย่างเช่นการให้อำนาจกับเจ้าพนักงานตำรวจที่ตอนนั้นเป็นเจ้าพนักงานการพิมพ์ฯ ในการตักเตือน ในการส่งหนังสือขึ้นมาตักเตือนไปยังองค์กรสื่อต่างๆอยู่บ่อยครั้ง แต่บรรยากาศของรัฐบาลประชาธิปไตยก็ยังดีตรงที่ กฎหมายต่างๆที่ใช้ ไม่ได้รุนแรงอะไร ก็อาจแค่รบกวนการทำงาน แต่ก็อาจมีการใช้วิธีอื่น

          "วันชัย"บอกว่า วิธีการแทรกแซงสื่อด้วยวิธีการอื่นที่ไม่ได้ใช้กฎหมาย เรื่องที่เจอกันมากโดยเฉพาะรัฐบาลพลเรือนที่มีอำนาจค่อนข้างมากอย่างยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ก็คือการใช้อำนาจรัฐตัดงบประมาณรายจ่ายต่างๆ เช่นการตัดงบรายจ่ายของภาครัฐ ที่หน่วยงานรัฐจะมีการตัดงบโฆษณาประชาสัมพันธ์กับสื่อที่ถูกมองว่าเป็นศัตรู หรือมองว่าเป็นอริกับรัฐบาล คือเป็นสื่อที่มักมองว่ารัฐบาลไม่ดี ก็เป็นการแทรกแซงอีกรูปแบบหนึ่ง

          แต่สำหรับรัฐบาลทหาร ด้วยความที่มีอำนาจรัฐมาก และใช้อย่างเต็มที่ ก็จะใช้ในลักษณะการออกกฎหมายที่เป็นคำสั่งพิเศษขึ้นมา ที่มีอำนาจล้นฟ้าในการหวังจะเข้ามากำกับสื่ออย่างเต็มที่ มันก็ทำให้ผู้บริหารสื่อ นายทุนสื่อทั้งหลาย ก็มีความหวั่นเกรงต่อผลที่องค์กรสื่อจะได้รับมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเยอะ จนส่งผลมาถึงการทำงานของสื่อ -นักข่าวที่ต้องระมัดระวังตัวสูงขึ้น ทำงานได้ไม่เต็มที่เพราะอาจเกรงกลัวต่อภัยมืดที่อาจมีมากกว่าช่วงรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย

ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไปองค์กรวิชาชีพต้องปรับแบบไหน ?

          -จากสภาพภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไปมาก มองว่าองค์กรวิชาชีพสื่อ ควรต้องปรับการทำงานอย่างไรให้สอดคล้องกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ ของสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก?

          ต้องบอกก่อนว่าปัจจุบันก็ห่างจากองค์กรสื่อมาหลายปี ก็มองอยู่ห่างๆ แต่ก็เห็นถึงความยากลำบากของธุรกิจสื่อและตัวองค์กรที่ทำสื่อ ตลอดจนองค์กรวิชาชีพสื่อด้วย ทำให้บางครั้งเรื่องที่คนในวงการคาดหวังอยากให้องค์กรวิชาชีพสื่อทำอะไรต่างๆ เรื่องเหล่านี้ ในฐานะที่เคยทำงานอยู่ในองค์กรวิชาชีพสื่อ อยากบอกว่าเรื่องพวกนี้เราก็เคยคิดกันมา แม้แต่ตอนที่ตัวผมยังอยู่ในวงการสื่อและบริหารสื่อ ก็เคยคิด แต่พอเอาเข้าจริงหลายเรื่องที่เคยคิดกันหรือเคยพูดกันมันก็เหมือนอุดมคติ ที่มีข้อจำกัดหลายอย่างทำให้ไม่สามารถทำได้จริง

          มันก็เหมือนกับที่องค์กรวิชาชีพสื่อ มักถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนในวงการสื่อด้วยกัน เช่นบอกว่าเป็น”เสือกระดาษ”อะไรแบบนี้ ซึ่งการจะทำอะไรแบบนั้นได้ บางทีมันก็ต้องมีกฎหมาย แต่องค์กรวิชาชีพสื่อไม่ได้อำนาจตามกฎหมายในมือ มันก็ขัดกับเจตนาของเราอีก เพราะหากจะให้องค์กรสื่อมีอำนาจแบบนั้น  แล้วมันจะต้องมีกฎหมายมารับรองอำนาจขององค์กรสื่อ แล้วองค์กรสื่อตรงนี้จะทำหน้าที่ได้อย่างไรในลักษณะที่จะไปกระทบกับเสรีภาพของสื่อด้วยกัน มันก็เป็นเรื่องที่หลายครั้งมันก็จนใจ สำหรับองค์กรสื่อเอง

          อย่างไรก็ตาม การทำหน้าที่ขององค์กรวิชาชีพที่ทำมาถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในยุคหลังๆ ช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ผมก็คิดว่า ก็ยังคงเป็นบทบาทที่เราต้องคงไว้และสนับสนุนต่อไป นั่นก็คือ การพยายามพัฒนาบุคลากรที่ทำงานในด้านสื่อให้มีความสามารถในแง่ของการทำหน้าที่สื่อ และเรื่องของการรักษาไว้ซึ่ง จริยธรรม คุณธรรม รวมถึงจิตสำนึกของสื่อในการที่จะต้องเป็นสื่อที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิเสรีภาพ มีความรับผิดชอบ ตรงนี้คือบทบาทขององค์กรวิชาชีพสื่อที่ต้องทำต่อไป แต่จะได้ดีมากน้อยแค่ไหนในแต่ละช่วง แต่ละเวลา มันก็คงขึ้นอยู่กับอะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะความตั้งใจจริงของคนที่เข้ามาเป็นกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯและองค์กรวิชาชีพสื่ออื่นๆ

          ส่วนเรื่อง ปฏิรูปสื่ออะไรต่างๆ พูดจากใจจริง ทุกวันนี้หลังจากเคยผ่านช่วงที่มีการตั้งสภาปฏิรูปอะไรต่างๆในยุคคสช. และมองตามความเป็นจริง ผมก็ไม่คิดว่ามันจะปฏิรูปสื่อได้ด้วยการที่ไปนั่งประชุมหารือแล้วก็ทำข้อเสนออะไรต่างๆ ออกมาเพราะว่า ข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้มันดูแล้วไม่ได้มีอะไรที่จะมีผลร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมันก็มีทั้งด้านบวก ด้านลบ และคนที่นำไปใช้ว่าเขานำไปใช้ด้วยเจตนาดีแค่ไหน หรือว่าเจตนาแค่นำมาใช้เป็นไม้ประดับหรือว่ามีเจตนาแอบแฝงไว้ ทำให้ เอาเข้าจริงๆ แล้ว มันก็เป็นเรื่องลำบากที่จะไปหวังพึ่งพิงข้อเสนอการปฏิรูปทั้งหลาย

          ขณะเดียวกัน หากจะมีคำถามว่าแล้วตัวองค์กรวิชาชีพสื่อ จะต้องปฏิรูปตัวเองกันอย่างไร มันก็เป็นเรื่องที่องค์กรสื่อ หากมองจากความเป็นจริง คนที่ทำงานในส่วนนี้ก็อาจเป็นคนที่มีความคิดความอ่านแต่ไม่ใช่ว่าเป็นสื่อทั้งหมด ความคิดความอ่านตรงนี้เรามี แต่พอเราจะผลักดันออกไป ก็พบว่าผลักดันได้ระดับหนึ่งแต่มันไม่สามารถที่จะผลักดันแล้วทำให้องคาพยพทั้งหมดของสื่อทั้งหลายทำตามได้อย่างเต็มที่มันก็เลยเป็นปัญหาว่า อย่างเช่นสมมุติว่า สภาการหนังสือพิมพ์ฯที่ตอนนี้เป็นสภาวิชาชีพ ฯ ที่มีการออกข้อกำหนดหรือประกาศด้านจริยธรรมอะไรต่างๆ ออกมาเพื่อให้สื่อทั้งหลายทำงานบนความรับผิดชอบและจริยธรรม แต่เอาเข้าจริงๆ มันก็ไม่สามารถบังคับได้เต็มที่ก็กลายเป็นเรื่องของการถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น เสือกระดาษ

          ผมจึงมองด้วยความเข้าใจว่าสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงหรือทำให้เกิดการปฏิรูปสื่อ มันอาจไม่ใช่เฉพาะตัวเรา หรือข้อเสนอจากสภาวิชาชีพอะไรต่างๆ ที่จะตั้งขึ้นมา แต่ความเคลื่อนไหวของสังคมเองที่มันจะเป็นตัวทำให้เกิดการปฏิรูปสื่อเอง อย่างทุกวันนี้ที่สื่อต่างๆ โดน Nes Media ต่างๆ เข้ามา จนส่งผลกระทบกับตัวเองทำให้สื่อต้องปรับตัว เพียงแต่ว่าตัวสื่อเองจะปฏิรูปไปทางไหน บางรายก็กลายเป็นว่าทำอย่างไรก็ได้เพื่อหวังให้เรตติ้งการติดตามจากผู้บริโภคสื่อในช่องทางของตัวเองมีเรตติ้งเยอะขึ้น ซึ่งมันก็ไม่ใช่

          “การที่เราจะยืนหยัดในเรื่องที่ดีๆ มันก็ต้องอาศัยจิตใจและการปลูกฝัง ซึ่งองค์กรวิชาชีพสื่อ ต้องมีบทบาทในจุดนี้มากยิ่งขึ้นว่าจะทำอย่างไรที่จะปลูกฝังจิตสำนึกที่ดี ให้กับคนที่ทำงานด้านสื่อมากยิ่งขึ้น”

หมายเหตุ เนื้อหามาจาก หนังสือวันนักข่าว 2566