องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจึงถือได้ว่า มีความจำเป็นและมีความสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นยุคไหน ยุคปัจจุบันหรือยุคอนาคต ควรจะยังต้องมีองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนต่อไป โดยที่ตัวองค์กรวิชาชีพสื่อ ก็ต้องยกระดับและพัฒนาตัวเองต่อเนื่องเป็นระยะ เพื่อให้ทันกับภูมิทัศน์่สื่อที่เปลี่ยนแปลงไป
และอีกหนึ่งนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย "ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์"หรือ"หมอก-ไทยรัฐ"ที่เป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ ในช่วงปีพ.ศ. 2560 - 2561 เล่าให้ฟังถึงการเข้ามาทำหน้าที่นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่ช่วงดังกล่าวเป็นช่วงรัฐบาลคสช.วา หลังเป็นสมาชิกสมาคมนักข่าวฯมาได้หลายปีต่อมา ได้เริ่มเข้ามาช่วยงานสมาคมนักข่าวฯตั้งแต่ปี 2544-2545 จากนั้นก็เข้าไปเป็นกรรมการสมาคมนักข่าวฯ ที่ก็เป็นตามวาระ มีบางช่วงก็เว้นวรรคไม่ได้เป็น แล้วก็กลับมาเป็นกรรมการสมาคมฯ สลับกันไป แต่ว่าได้ไปเป็นอนุกรรมการชุดต่างๆ ของสมาคมนักข่าวฯ ทั้งอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ อนุกรรมการฝ่ายวิชาการ อนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ ฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์ เรียกได้ว่า ไปทำงานอยู่มาทุกชุดในสมาคมนักข่าวฯ เข้าไปร่วมทำงาน-ทำกิจกรรมกับสมาคมนักข่าวฯมาเกือบทุกอย่างแล้ว
...และต่อมาได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมนักข่าวฯในช่วงปี 2560-2561 ที่อยู่ในช่วงรัฐบาลคสช.ซึ่งมาจากการทำรัฐประหาร เมื่อปี 2557 ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นทั้งหัวหน้าคสช. และนายกรัฐมนตรี โดยมารับช่วงต่อ จากนายวันชัย วงศ์มีชัย ที่เป็นนายกสมาคมนักข่าวฯก่อนหน้าที่จะเข้ามา
"ปราเมศ"บอกว่า ตอนที่เข้ามาเป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ ช่วงนั้น ก็พอดีว่าทางสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ที่เกิดขึ้นในยุคคสช. มีการพิจารณาประเด็นเรื่องการหาวิธีการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ที่รวมถึงการปฏิรูปสื่อด้วย ปรากฏว่า ตอนนั้นสปท.มีการศึกษาเรื่องการให้มีร่างพรบ.เกี่ยวกับสื่อ ที่มีเนื้อหาเรื่อง "การตีทะเบียนสื่อ"ช่วงนั้นก็เลยเคลื่อนไหวกันหนัก ช่วงเข้าไปเป็นนายกสมาคมนักข่าว ฯเลยเป็นช่วงรับไม้ต่อ
..... พอมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการจะออกกฎหมายตีทะเบียนสื่อ ซึ่งแนวคิดลักษณะดังกล่าวโดยเนื้อหามันก็แรงอยู่แล้ว เลยทำให้เริ่มมีแรงปะทุเกิดขึ้น ผนวกกับช่วงยุคคสช.ดังกล่าว ฝ่ายคสช.ที่เป็นคณะรัฐประหาร มีการออกรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 และมีการให้อำนาจหัวหน้าคสช.ในการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.และประกาศคสช.ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งก็มีประกาศคสช.-คำสั่งหัวหน้าคสช. ในเรื่องเกี่ยวกับสื่อ ออกมาเยอะที่ไปกระทบกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยเฉพาะ คำสั่งที่ 97 และ 103 ที่ห้ามวิจารณ์การกระทำของคสช. โดยมีการเขียนให้อำนาจค่อนข้างเยอะ เช่นการให้เอ็กซ์เรย์สื่อ ช่วงนั้นสถานการณ์เกี่ยวกับสื่อแรงมาก ทั้งกดดัน แทรกแซง ผ่านประกาศและคำสั่งหัวหน้าคสช.
และจังหวะเดียวกันนั้น ทางสปท. ก็ไปยกร่าง กฎหมายเกี่ยวกับสื่อออกมาพอดี ซึ่งปกติองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ไม่ใช่แค่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แต่องค์กรอื่นเช่นสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ก็จับตาอยู่แล้วเพราะเป็นเรื่องที่มีการมองกันว่า จะเป็นการออกกฎหมายที่จะมีผลกระทบกับสื่อ พอพบว่าแนวทางที่ฝ่ายสปท.จะทำมีแนวคิดเรื่องการให้ตีทะเบียนสื่อ ที่หมายถึง คนที่จะมาเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ ต้องมีใบอนุญาต และใบอนุญาตสามารถถูกเพิกถอนได้จากกลุ่มบุคคลที่เข้ามามีอำนาจตรงนี้จากร่างกฎหมายที่ตอนนั้นเขากำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการทำกฎหมายออกมา ที่พบว่า แนวคิดการให้มีคณะกรรมการดังกล่าว จะให้มีตัวแทนจากภาครัฐเข้ามาร่วมเป็นกรรมการด้วย ตรงนี้ได้ถูกจับจ้องว่าจะเข้าข่ายเป็นการ"แทรกแซง"โดยฝ่ายภาครัฐ ทำให้ต่อมา ทางองค์กรวิชาชีพสื่อ ฯ ก็ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านเรื่องนี้กันอย่างมาก
“ปราเมศ”บอกเล่าต่อไปว่า ตอนนั้นที่เข้าไปเป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ ก็มีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้กันอย่างหนัก ซึ่งจุดเริ่มต้นในการเคลื่อนไหว ก็มาจากไอเดีย ความเห็นของสมาชิกสมาคมนักข่าวฯ และคนที่ทำงานสื่อในเวลานั้น รวมถึงจากองค์กรอื่นๆ จนทำให้มีแนวร่วมมาเคลื่อนไหวในประเด็นดังกล่าวร่วมๆ 30 องค์กร จนสุดท้าย แนวคิดให้มีการตีทะเบียนสื่อ ก็ถูกพับไป แต่ก็ยังมีแนวคิดในการยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับสื่ออยู่ ที่ก็ต่อเนื่องมาจนกลายมาเป็น ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ... ซึ่งคณะรัฐมนตรี เสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธุ์ 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเนื้อหาในร่างพรบ.ส่งเสริมเสริมจริยธรรมฯ ดังกล่าว พบว่ายังมีความคลุมเคลืออยู่หลายประเด็น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนฯ ก็ไม่อยากให้มีกฎหมายลักษณะดังกล่าว เพราะเห็นว่าในความเป็นจริง มีกฎหมายอื่นๆ ที่สามารถใช้ลงโทษสื่อที่ทำผิดได้อยู่แล้ว
....อย่างกรณีเรื่อง"จริยธรรมสื่อ"ก็มีสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่ทำหน้าที่ในส่วนดังกล่าว สามารถไปยื่นเรื่องร้องเรียนได้ หรือการฟ้องหมิ่นประมาท -การดำเนินการเอาผิดตามพรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ทำให้คนในวงการสื่อบางส่วนก็ไม่อยากให้มีกฎหมายลักษณะดังกล่าวออกมา แต่พอดีว่า บริบทเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของการปฏิรูปสื่อ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่แม้ว่าร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ฯ จะไม่สามารถออกมาได้ในสมัยประชุมรัฐสภาที่ปิดสมัยประชุมไปเมื่อเดือนกุมภาพันธุ์ 2566 แต่เมื่อมีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเรื่องการปฏิรูป ทำให้ หากจะมีการนำเสนอร่างพรบ.ลักษณะดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในอนาคต ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องสู้กันอีกยาว
ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น คือประเด็นที่ตอนที่เป็นนายกสมาคมนักข่าวฯช่วงปี 2560-2561 ได้เคลื่อนไหวต่อสู้ในเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องหลักๆ ในช่วงสองปีของการเป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ
"ปราเมศ-อดีตนายกสมาคมนักข่าวฯจากไทยรัฐ"เล่าถึงการทำงานในฐานะนายกสมาคมนักข่าวฯในช่วงปี 2560-2561 อีกว่า นอกจากนี้ในช่วงดังกล่าว ก็เป็นช่วงที่มีสื่อบางแขนง เช่น สถานีโทรทัศน์บางสถานีเช่น Voice TV ถูกคำสั่งคสช.ให้ระงับการเผยแพร่หรือออกอากาศ ที่ก็จะมีคำสั่งลักษณะดังกล่าว ออกมาเป็นระยะๆ ในช่วงคสช. แต่ที่แรงในยุคเป็นนายกสมาคมนักข่าว ฯก็คือเรื่องของความพยายามออกกฎหมายที่จะมาตีทะเบียนสื่อ ที่สมาคมนักข่าวฯ ได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านไม่เห็นด้วย
ส่วนเรื่องที่มีการเรียกร้องให้สมาคมนักข่าวฯ เข้าไปดูเรื่องการเสนอข่าวของสื่อมวลชน ช่วงที่ทำหน้าที่นายกสมาคมนักข่าวฯ ก็มีเช่นกัน โดยเฉพาะกรณีการเสนอข่าว"เด็ก 13 ชีวิตทีมหมูป่า ติดในถ้ำหลวง ที่จังหวัดเชียงราย"เมื่อปี 2561 ที่สื่อนำเสนอข่าวและมีเสียงวิจารณ์ว่ามีการละเมิดอะไรต่างๆ
"ปราเมศ"กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ก็มีเรื่องภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้สื่อต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป ซึ่งในส่วนหนึ่ง ก็มีเรื่องที่ตัวนักข่าวหรือตัวแทนองค์กรสื่อแต่ละแห่งที่เข้าไปเป็นกรรมการสมาคมนักข่าวฯ ที่ส่วนใหญ่ก็มีงานประจำเยอะอยู่แล้วทำให้อาจไม่ค่อยมีเวลาในการร่วมทำกิจกรรมต่างๆของสมาคมนักข่าวฯ ก็ทำให้ช่วงที่เป็นนายกสมาคมนักข่าวฯปี 2560-2561 ทางบอร์ดสมาคมนักข่าวฯ ก็มีแนวคิดเรื่อง"การปรับโครงสร้างสมาคมนักข่าวฯ"ใหม่ เพื่อที่จะทำให้การทำงานของสมาคมนักข่าวฯ ขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ โดยฝ่ายเจ้าหน้าที่ประจำของสมาคมนักข่าวฯ ให้ทำหน้าที่หลักในส่วนนี้ แล้วให้กรรมการสมาคมนักข่าวฯดูเรื่องนโยบายภาพรวมของสมาคมนักข่าวฯ รวมถึงการคิดหรือดำเนินการโปรเจคต์เฉพาะที่คิดกันขึ้นมา จนต่อมา ช่วงกลางปี 2561 ก็มีการปรับโครงสร้างการบริหารสมาคมนักข่าวฯ โดยมีตำแหน่ง"ผู้อำนวยการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย"คอยทำหน้าที่บริหารงานสมาคมนักข่าวฯ -บริหารงานบุคคลในสมาคมนักข่าวฯ -ดูแลเรื่องสวัสดิการสมาชิกสมาคมนักข่าวฯ -พิจารณาเรื่องการหาทุนดำเนินงานให้กับสมาคมนักข่าวฯ -การพัฒนาสมาชิกสมาคมนักข่าวฯแต่สุดท้ายแล้วด้วยวัฒนธรรมองค์กรกับการปรับโครงสร้าง
แนวคิดดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดี แต่พอดีว่าติดขัดบางอย่าง เลยทำให้มีผอ.สมาคมนักข่าวฯ เพียงแค่สองคนในช่วงที่เริ่มปรับโครงสร้าง จากนั้นก็ได้พักโครงสร้างดังกล่าวไว้ก่อน แต่ก็ยังเห็นว่าโครงสร้างลักษณะดังกล่าวมีความจำเป็น เพราะทำให้การขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ของสมาคมนักข่าวฯ ดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว จะได้ไม่ให้กรรมการฯลงมาทำทุกภารกิจ เพราะกรรมการแต่ละคนก็มีงานประจำในองค์กรของตัวเองทำให้มีเวลาน้อย ก็คิดว่าในอนาคตทางกรรมการสมาคมนักข่าวฯอาจต้องคิดเรื่องการขับเคลื่อนสมาคมนักข่าวฯต่อไปว่าจะทำในรูปแบบอย่างไรในบริบทสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะในองค์กรต่างๆ ยุคปัจจุบัน จะพบว่า การขับเคลื่อนองค์กรจะให้ทางบุคลากรของสำนักงานเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักมากกว่าจะให้บอร์ดหรือคณะกรรมการบริหารเป็นผู้ขับเคลื่อน ส่วนคณะกรรมการบริหารก็จะดูเชิงนโยบายภาพรวมเป็นหลักไป ก็คิดว่าในอนาคตทางสมาคมนักข่าวฯอาจต้องกลับมาคุยเรื่องการขับเคลื่อนสมาคมนักข่าวฯในรูปแบบใหม่จะทำอย่างไรต่อไป
เสียงสะท้อน การทำงานองค์กรสื่อฯ ช่วงรัฐบาลทหารกับรัฐบาลเลือกตั้ง สิ่งที่แตกต่างกันคืออะไร?
-เป็นกรรมการสมาคมนักข่าวฯมาหลายยุค ก่อนจะมาเป็นนายกสมาคมนักข่าวฯในยุครัฐบาลคสช.ที่มาจากรัฐประหาร คิดว่าความแตกต่างในการทำงานระหว่างยุครัฐบาลมาจากการเลือกตั้งกับยุครัฐบาลทหาร แตกต่างกันอย่างไร?
รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง การคุกคามสื่อ มีนัยยะและมีมิติที่แตกต่างกัน เรียกได้ว่ามีทุกยุคทั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อย่างรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ก็ใช้อำนาจต่างๆ ที่เบ็ดเสร็จคือประกาศและคำสั่งหัวหน้าคสช.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 หรือมีการเรียกคนในองค์กรสื่อบางแห่งไปคุยไปพบ ก็อาจเข้าข่ายคุกคามเพราะการเรียกลักษณะดังกล่าวก็ไม่ค่อยเหมาะสม
ส่วนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็จะใช้วิธีการคือ กดดันหรือแทรกแซงไม่ให้สื่อบางแห่งได้รับโฆษณาหรือใช้วิธีการฟ้องร้องโดยตรงที่ก็เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย ก็จะแตกต่างกันตรงนี้ บริบทต่างกัน
อย่างยุคคสช.จะพบว่าสื่อที่เป็นสื่อทีวีการเมือง ก็จะโดนคำสั่งปิดหรือให้ระวังการเผยแพร่ออกมาเป็นระยะ แต่ในยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะไม่มีเรื่องลักษณะนี้ แต่หากเป็นยุครัฐบาลเลือกตั้งจะทำแบบนี้ไม่ได้ แต่ก็ไปใช้วิธีการอื่นๆ เช่นการฟ้องร้อง
"สรุปได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง องค์กรสื่อทุกองค์กรหรือคนที่ทำงานด้านสื่อ ก็ต้องระแวดระวังเป็นระยะ เพราะอำนาจของรัฐบาลย่อมมีโอกาสหาช่องทางจะเข้ามาแทรกแซงสื่อได้ทุกโอกาส
โดยที่พบก็คือ รัฐบาลที่เข้ามาช่วงแรกๆ จะไม่ค่อยอยากมีปัญหากับสื่อ แต่พอเริ่มเข้าสู่ปีที่ 2 ปีที่ 3 ก็จะเริ่มมีให้เห็นเป็นระยะ เนื่องจากระบบการเลือกตั้งของเรายังไม่โปร่งใสร้อยเปอร์เซ็นต์ทำให้คนที่เข้ามามีอำนาจ ก็พยายามหาวิธีการเข้ามาถอนทุนคืน พอถูกสื่อตั้งคำถามตรวจสอบ ก็เป็นเรื่องปกติ ที่อาจะมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง จนมีการใช้อำนาจเข้ามาแทรกแซงสื่อ"อดีตนายกสมาคมนักข่าวฯระบุ
"ปราเมศ"กล่าวย้ำว่า องค์กรวิชาชีพสื่อ ฯ มีบทบาทและมีความสำคัญมาทุกยุคสมัย ยิ่งยุคปัจจุบันที่เป็นยุคซึ่งแพลตฟอร์มสื่อต่างๆ มีมากและมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนก็เห็นตรงกันว่า หากไม่มีองค์กรวิชาชีพสื่อ จะทำให้สมาชิกหรือนักข่าว สื่อมวลชน จะยิ่งเหนื่อยมากขึ้นเพราะเท่าที่สัมผัสได้ สื่อทั้งสื่อหลักหรือสื่อทางกลเลือกต่างๆ การพัฒนาศักยภาพนักข่าว พบว่าบางองค์กรก็ไม่ให้ค่อยให้ความสำคัญหรือไม่ให้เวลานักข่าว มาเข้าร่วมการพัฒนาศักยภาพ-ทักษะของนักข่าว เพื่อยกระดับนักข่าว สมาคมนักข่าวฯ จึงเป็นตัวหลักในการเป็นศูนย์กลางในการที่จะช่วยพัฒนาทักษะให้นักข่าว
สมาคมนักข่าวฯ และองค์กรวิชาชีพสื่อต่างๆ จึงต้องดำรงอยู่ต่อไปเพื่อให้สมาชิกหรือตัวนักข่าว ได้ยกระดับและพัฒนาทักษะตัวเองขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการเรียนรู้แพลตฟอร์มสื่อต่างๆ จนทำให้ตัวนักข่าวเมื่อได้รับการพัฒนาทักษะดังกล่าว ก็จะนำสิ่งที่ได้กลับไปช่วยการทำงานให้กับองค์กรสื่อต้นสังกัด ที่จะทำให้องค์กรหรือบริษัทต้นสังกัดได้รับการยกระดับหรือพัฒนาการเสนอข่าวของตัวเองง ที่สุดท้ายจะส่งผลดีต่อสังคมตามไปด้วย
นอกจากนี้ ในเรื่องของสวัสดิการต่างๆ ที่เมื่อตัวนักข่าวหรือคนที่ทำงานในองค์กรสื่อฯ เมื่อมาสมัครเป็นสมาชิกสมาคมนักข่าวฯ ก็จะมีสวัสดิการต่างๆ ให้เพื่อพอที่จะช่วยเหลือหรือแบ่งเบาภาระสมาชิกในบางเรื่องได้เช่น ยามเจ็บไข้ได้ป่วย หรือได้รับสิทธิในการเข้าไปอบรมโครงการต่างๆ หรือการมอบทุนการศึกษาให้กับบุตรของสมาชิกฯ แต่ละปี
..รวมถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ที่หากไม่มีองค์กรวิชาชีพสื่อ จะทำให้หากเกิดกรณีที่รัฐ -อำนาจรัฐ หรือการใช้อำนาจของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดก็แล้วแต่ เวลากระทำอะไรที่เข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อ ซึ่งหากไม่มีองค์กรวิชาชีพสื่อที่เป็นตัวกลาง ก็จะทำให้ตัวนักข่าว หากเกิดกรณีถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพในการทำงาน ทางองค์กรวิชาชีพสื่อ ก็จะได้เข้าไปช่วยเหลือ โดยเฉพาะหากฝ่ายที่เป็นฝ่ายละเมิดสิทธิ เป็นฝ่ายภาครัฐ ก็จะทำให้องค์กรวิชาชีพสื่อ จะได้ออกมาเคลื่อนไหวอะไรต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ภาครัฐทำไม่ถูกต้องอย่างไร ซึ่งหากไม่มีองค์กรวิชาชีพอยู่ สิ่งเหล่านี้จะไม่มีเลย สุดท้าย ผลกระทบก็จะไปอยู่ที่องค์กรต้นสังกัดของตัวนักข่าวหรือสื่อมวลชนเอง และก็จะมีผลไปถึงการได้รับข่าวสารของประชาชนเองด้วย เพราะหากตัวนักข่าวภาคสนามหรือตัวนักข่าวในกองบรรณาธิการ ได้รับผลกระทบโดยจำกัดสิทธิเสรีภาพ หรือถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ แล้วทางต้นสังกัดไม่ทำอะไรไม่ช่วยเหลือ แล้วก็ไม่มีองค์กรวิชาชีพสื่อฯ ก็จะทำให้เขาไม่รู้ว่าจะไปพึ่งพาใครได้ จนอาจไปมีผลต่อจิตใจตัวเองในการทำหน้าที่ แล้วก็จะไปกระทบกับการรายงานข่าวได้
"ดังนั้นองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจึงถือได้ว่า มีความจำเป็นและมีความสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นยุคไหน ยุคปัจจุบันหรือยุคอนาคต ควรจะยังต้องมีองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนต่อไป โดยที่ตัวองค์กรวิชาชีพสื่อ ก็ต้องยกระดับและพัฒนาตัวเองต่อเนื่องเป็นระยะ เพื่อให้ทันกับภูมิทัศน์่สื่อที่เปลี่ยนแปลงไป "ปราเมศ อดีตนายกสมาคมนักข่าวฯ กล่าวทิ้งท้าย