ชวนอ่าน 13 หนังสือทรงคุณค่าโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 

อีกหนึ่งในบทบาทหน้าที่ของสมาคมนักข่าวนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คือการบันทึกเรื่องราวในแต่ละยุคสมัยผ่านรูปแบบ “หนังสือ” เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถติดตามอ่าน ​ค้นคว้าหาข้อมูล หรือสืบค้นสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา โดยบอกเล่าจากสิ่งที่นักข่าวที่พบเห็นเหตุการณ์ด้วยตัวเอง ควบคู่ไปกับการหาข้อมูลเพิ่มเติมผ่านการเก็บข้อมูล พูดคุย สัมภาษณ์ บุคคลสำคัญที่เป็นแหล่งข่าว และนำมาเรียบเรียงเพื่อให้เห็นภาพรวมจากมุมมองที่รอบด้านชัดเจน

หนังสือหลายเล่มจึงเรียกได้ว่าเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่า ในการถ่ายทอดเรื่องราว มุมมอง ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา และหลายเล่มเป็นเหมือนเรื่องราวที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ  หรือเป็นเหมือนคู่มือการทำงานของนักข่าวรุ่นหลัง ผ่านเนื้อหาข้อมูลที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันระดมความคิดความเห็น ถอดบทเรียนจนกลายเป็นแนวทางปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้ในสนามข่าวได้อย่างปลอดภัย ​โดยตั้งแต่ พ.ศ. 2516  เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันมีหนังสือที่จัดทำโดยสมาคมนักข่าวทั้งหมด 13 เล่มได้แก่

1 เบื้องแรกประชาธิปตัย 

(2516: สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย)

บันทึกประวัติศาสตร์เล่มสำคัญของนักหนังสือพิมพ์ในยุคเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งร่วมกันจัดทำขึ้นในนามของสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ​พิมพ์ออกมาผยแพร่ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2516 หลังจากเหตุการณ์ "14 ตุลาฯ"  หนังสือเล่มนี้ ได้อธิบายปรากฎการณ์ทางการเมือง และข้อขัดแย้งของบุคคลในทางการเมืองตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงรัฐประหารในเดือนกันยายน 2500  ไม่เพียงแค่เป็นเรื่องราวทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไทย แต่เป็นความภาคภูมิใจของคนข่าวที่ได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่จากบุคคลสำคัญๆหลายท่าน​ให้เป็นผู้บันทึก และถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลัง ได้เก็บข้อมูลศึกษาวิวัฒนาแห่งการปกครอง

โดยบทแรกเป็นการนำเรื่องที่ “สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี” พระราชินีใน “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ได้พระราชทานสัมภาษณ์กับคณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ ซึ่งได้ตรัสถึงการเมืองช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง เหตุการณ์ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก่อนการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับ 27 มิถุนายน กระทั่งวันที่ทั้งสองพระองค์ตัดสินพระทัยเสด็จไปประยังประเทศอังกฤษ จนในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติในที่สุด

​'เบื้องแรกประชาธิปตัย' ที่สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยได้จัดพิมพ์ขึ้นมาเป็นรูปเล่มนี้ จึงเป็นที่รวมความทรงจำ บันทึก ทรรศนะคติ และความรู้สึกนึกคิดของบุคคลผู้ใกล้ชิดเหตุการณ์และผู้มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครองคร้ังแรกและครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปตัย ​ ​อันจะทำให้เห็นขั้นตอนของวิวัฒนาการแห่งการปกครอง​ผ่านมุมมองความสำเร็จ ความล้มเหลว ความปั่นป่วน ผันผวน และความล้มลุกคลุกคลานของประชาธิปตัยเมืองไทย  

2. เครื่องต้นก้นครัว  

(2530: สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย)

หนังสือเล่มถัดมาที่ทางสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย จัดพิมพ์ขึ้น  คือ  "เครื่องต้น ก้นครัว" โดยเริ่มต้นจากวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายหาทุน เพื่อนำไปจัดสวัสดิการให้กับนักข่าว ​ ความพิเศษของเนื้อหาภายในหนังสือฉบับนี้ อยู่ตรงที่ได้รับ ความกรุณาจาก ‘ต้นเครื่อง’ ของพระตำหนักจิตรลดารโหฐานที่มาให้ข้อมูลรายละเอียดของเครื่องต้น ทั้งในยามปกติและในเวลาที่ต้องเสด็จพระราชดำเนินไปในท้องถิ่นทุรกันดาร

ก่อนหน้านี้ คุณหญิงประสานสุข ตันติเวชกุล หัวหน้าต้นเครื่องไทย พระราชวังสวนจิตรลดา หรือต้นเครื่อง สำนักพระราชวัง  ได้ให้สัมภาษณ์ถึงของเสวยสำหรับ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ร.9) ไว้ว่า ท่านเสวยง่าย เสวยได้ทุกอย่างที่ตั้งเครื่องถวาย เพียงแต่ไม่ทรงโปรดรสจัด ทุกประเภท ไม่โปรดรสจัด ไม่ว่าเครื่องต้นเกี่ยวกับอะไร

นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก ม.ล.สุดารัตน์ สนิทวงศ์ ​มาช่วยถ่ายทอดเรื่องการปรุงอาหารและเครื่องเสวย ของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และมอบสูตรอาหารที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากครัวจิตรลดา เนื้อหาภายในเล่มยังมีบุคคลสำคัญในแวดวงต่าง ๆ มาพูดถึงเมนูเด็ด ทั้ง ชวน หลีกภัย, สมเกียรติ อ่อนวิมล, พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์, ท่านผู้หญิง ชนัตถ์ ปิยะอุย  ฯลฯ นับเป็นอีกเรื่องราวที่หาอ่านได้ยาก  

3. บันทึกเหยี่ยวข่าว ณ สมรภูมิถนนราชดำเนิน พฤษภาคม 2535

(2535: สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย)

หนังสือประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกเล่มหนึ่งที่รวมเรื่องราวจากหตุการณ์พฤษภาทมิฬ อย่างละเอียด รอบด้าน ทุกแง่มุม ด้วยข้อเขียนและรูปภาพภาพจากนักข่าวและช่างภาพในพื้นที่ ที่ร่วมบันทึกเส้นทางสู่ประชาธิปไตยของบ้านเมือง ของประชาชนที่ออกมาร่วมชุมนุมแสดงพลังคัดค้านการกลับมามีอำนาจของเผด็จการ จนมีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต สูญหายรวมหลายร้อยคน ขณะที่สื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาดังกล่าวก็ได้รับบาดเจ็บถึง 33 คน 

เหตุการณ์การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่ถูกขนานนามว่า  “พฤษภาทมิฬ”  เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 17 -20 พฤษภาคม 2535 การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในเวลานั้น ต้องเผชิญกับแรงเสียดทานอย่างหนัก เมื่อต้องทำหน้าที่รายงานข่าวสารข้อมูลอย่างรอบด้าน ตรงไปตรงมา โดยเฉพาะในช่วงการสืบทอดอำนาจของกลุ่ม รสช. กับการตั้งพรรคการเมืองมารองรับอำนาจ มีส่วนชี้นำการร่างรัฐธรรมนูญ  และมีบทบาทในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงพลังของประชาชนกับการต่อสู้กับเผด็จการ เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย ทางสมาคมนักข่าวฯ จึงเห็นสมควรที่จะจัดทำหนังสือ “บันทึกเหยี่ยวข่าว ณ สมรภูมิถนนราชดำเนิน พฤษภาคม 2535”  เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์ย้ำเตือนความทรงจำและ รวบรวมข้อมูลที่นักข่าว ช่างภาพซึ่งปฏิบัติหน้าที่ขณะนั้นได้พบเห็นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป

4.  ๔ ทศวรรษภาพข่าวไทย

(2538: สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย)

ภาพบางภาพก็สื่อสารความหมายได้มากกว่าตัวอักษร เพราะภาพสามารถให้ทั้งรายละเอียด อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดกับผู้อ่านได้ครบถ้วน โดยม่ต้องใช้เนื้อที่ในการบรรยายความมากมาย ยิ่งเป็นภาพข่าว ย่อมสามารถบอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ในขณะนั้น ๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร

ภาพข่าวจึงเปรียบเสมือนบันทึกประวัติศาสตร์สะท้อนความเป็นไปของสังคมในแต่ละยุคสมัย  แนวความคิดนี้จึงเป็นที่มาสู่การจัดทำหนังสือ “ 4 ทศวรรษภาพข่าวไทย” โดยการรวบรวมภาพข่าวต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน​  เรียบเรียงเป็นหมวดหมู่ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1  พ.ศ. 2498 เรื่อยมาจนถึงทศวรรษที่ 4 ช่วงพ.ศ.​2537   เพื่อให้ภาพข่าวที่มีกระจัดกระจายมากมายได้มารวมอยู่ที่เดียวด้วยเป้าหมายเพื่อการบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา

อีกมุมหนึ่งยังเป็นประโยชน์ในแง่มุมวิชาการ และวิชาชีพทางด้านการหนังสือพิมพ์ การถ่ายภาพ สอดรับไปกับการจัดประกวดภาพข่าวยอดเยี่ยมประจำปีของมูลนิธิอิศรา อมันตกุล พร้อมกับการถ่ายทอดเรื่องราวแนวคิด ตลอดจนเทคนิคการถ่ายภาพจากช่างภาพมือรางวัล ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดไฟแห่งการแสวงหาความจริง และการรายงานความจริงผ่านเลนส์และมุมมองที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

5. Investigative Journalism ข่าวเจาะ-เจาะข่าว ถอดประสบการณ์และเทคนิคข่าวเชิงสืบสวน

(2550: สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย)​

จากความเชื่อมั่นในพลังอำนาจของข่าวสาร ที่สามารถสะท้อนถึงอานุภาพแห่ง ‘ความจริง’ ผ่านกลไกการขุดคุ้ยออกมาเปิดเผย ให้เป็นที่รับรู้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน กว้างขวาง สุดท้าย ความจริงนั้นจะเป็นเครื่องมือช่วยจรรโลงสังคมให้ดำเนินไปด้วยความถูกต้อง เป็นที่มาของหนังสือเล่มนี้ ​กับการร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคนิค ประสบการณ์ ให้เป็นแนวทางให้นักข่าวรุ่นหลังได้ศึกษาและพัฒนศักยภาพในการรายงานข่าวเชิงสืบสวนท่ามกลางแรงเสียดทานนานารูปแบบในสังคมไทย

สาระของหนังสือเล่มนี้ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ การถอดประสบการณ์การรายงานข่าวเชิงสืบสวน 2 กรณีศึกษา ได้แก่ “ผ่าขบวนการเอื้อประโยชน์ ขายหุ้น ‘ชินคอร์ป’  73,000 ล้าน และ “บูรณาโกง” รถดับเพลิง 6,800 ล้าน ส่วนที่สองคือ เทคนิคกการรายงานข่าวสืบสวน ส่วนที่สามและสี่เป็นการประมวลภาพการรายงานข่าวสืบสวนในรอบ 30 กว่าปี และกรณีศึกษาของข่าวสืบสวนที่น่าสนใจ

ทั้งหมดได้รับความร่วมมือจากนักข่าวมือข่าวเจาะที่มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ ร่วมกับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพสื่อ ที่ร่วมแสดงความคิดเห็น เพิ่มเติมองค์ความรู้ระหว่างการสัมมนาถอดประสบการณ์ “ข่าวเจาะ-เจาะข่าว”  โดยสถาบันอิศรา ที่ช่วยทำให้หนังสือเล่มนี้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

6.  เมื่อฟ้าหม่น เจดีย์หักที่ปักษ์ใต้

(2550 : สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย)

เมื่อฟ้าหม่น เจดีย์หัก ที่ปักษ์ใต้ เป็นเรื่องราวเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนักได้ข่าวรุ่นใหม่จาก “ศูนย์ข่าวอิศรา”  มาร่วมถ่ายทอดประเด็นและแง่มุมต่าง ๆ โดยได้ วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย มาเป็นบรรณาธิการ ซึ่งแตกต่างจากการรายงานข่าวทั่วไปที่เน้นไปยังประเด็นความรุนแรง มาเป็นการรายงานข่าวในมิติอื่น ๆ ที่รอบด้านเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนที่เกิดขึ้นในพื้นที่

อีกทั้งยังแผงมิติความเป็นมนุษย์ ความรู้สึกนึกคิด ความทุกข์ ความใฝ่ฝันถึงสันติภาพ  หน้าที่ความเข้มแข็ง ความเสียสละ อดทนรื่องราวความรัก ความห่วงใยของผู้คนในสังคมพหุวัฒนธรรมที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่กันมาด้วยความรักความเข้าใจที่มีต่อกัน  อีกมุมหนึ่งยังได้เล่าถึงเครือญาติของผู้สูญเสียที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อมีชีวิตอยู่หลังสูญเสียสามีหรือญาติพี่น้องไปจากเหตุรุนแรง​​

วิมลพรรณ ระบุใน  คำนำของหนังสือเล่มนี้ว่า ภารกิจทางสังคมของสมาคมนักข่าวฯ ที่จะต้องเข้าไปแบกรับหน้าที่บริหารข่าวสารให้มีความรอบด้าน เป็นจริงและเป็นธรรม เพื่อนำความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับสังคมไทยอันจะนำสันติสุขมาสู่จังหวัดชายแดนใต้นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ไกลเกินหวัง

7.  สนามข่าวสีแดงเรียนรู้โต๊ะข่าวภาคใต้

(2550:  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย)

สนามข่าวสีแดง เรียนรู้โต๊ะข่าวภาคใต้ เป็นอีกเจตนารมณ์ของสมาคมนักข่าวฯ ถอดบทเรียนประสบการณ์การทำงานของ ศูนย์ข่าวอิศราและคนในสนามข่าว โดยคาดหวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนในแวดวงสื่อมวลชน ทั้งผู้ปฏิบัติงาน และผู้ที่ศึกษาทางด้านสื่อมวลชน รวมทั้งผู้ที่สนใจอื่น ๆ

เนื้อหาภายในเล่ม​ประกอบด้วยการเริ่มต้นอธิบายถึง  "สื่อใหม่" ที่เล่าที่มาที่ไปถึงการเกิดขึ้นของศูนย์ข่าวอิศรา การบริหารกอง บ.ก.ศูนย์ข่าวอิศรา ถัดมากล่าวถึงข้อควรรู้อย่างกว้าง ๆ ในประเด็น วิถีชุมชน การเรียนรู้ความแตกต่าง ก่อนเข้าสู่เนื้อหาหลัก ในชุด “ชนความจริง : การรายงานข่าวในสถานการณ์เผชิญหน้า”

โดย รวบรวม 7 กรณีที่เคย​เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ นำมาวิเคราะห์เปิดเผยเบื้องหลังและถอดบทเรียนจากการทำงาน ที่จะได้เรียนรู้ทั้งเรื่องการทำงานในสนามข่าวสีแดง ถ่วงดุลข่าวในภาวะความขัดแย้ง และมุมองนักวิชาการ รวมทั้งฐานคิดเรื่องนักข่าวสันติภาพ (Peace Journalist)

8. บันทึกคนข่าว 7 ตุลา ข้อเท็จจริงที่แตกต่าง

(2551: สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย)

จากเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือกลุ่มคนเสื้อเหลือง ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จน มีผู้บาดเจ็บ 443 คน เสียชีวิต 2 คน สมาคมนักข่าวฯ มีแนวคิดที่จะบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นผ่านนักข่าวและช่างภาพที่อยู่ในเหตุการณ์ โดยยึดหลักการเขียนความจริงจากสิ่งที่เห็น โดยปราศจากมุมมอง ทัศนคติ ความคิดเห็นเกี่ยวข้องแต่ประการใด

จากคำถามหลักๆ ว่า ‘คุณ’ หรือ นักข่าวและช่างภาพที่เสี่ยงชีวิตอยู่เกิดเหตุในวันนั้นกว่า 20 ชีวิต  อยู่ตรงไหน เห็นอะไรบ้าง  ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ เริ่มตั้งแต่การลำดับเหตุการณ์    นาทีต่อนาที  พร้อมกับเนื้อหาที่ช่วยสะท้อนภาพที่เกิดขึ้นในวันนั้นในแง่มุมต่าง ๆ เช่น ​ 

​ตุลา ลืมไม่ลง : หัสยา ชาติมนตรี สำนักข่าวเนชั่น  ไอ้เสือเผ่น !! : ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  ตัดช่องน้อย : จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง หนังสือพิมพ์แนวหน้า กำแพงความรู้สึก บทบันทึกจากซอยสวนอ้อยถึงเพลงชาติ "วิกฤตการเมือง" เหนื่อยทั้งกาย เหนื่อยทั้งใจ : มานพ ทิพย์โอสถ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ขอร่วมประวัติศาสตร์  ไม่ขอเป็นประวัติศาสตร์ : โอฬาร เลิศรัตนดำรงกุล หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

9.  คู่มือสื่อมวลชนไทย-ลาว

(2551: สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย)

จากการเดินทางไปเปิดศักราชแห่งความสัมพันธ์ของสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าวแห่งประเทศลาวเมื่อปี 2529  นำมาสู่การเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน จนกระทั่งตกผลึกเป็นรูปธรรมเกิดเป็น "คู่มือสื่อมวลชนไทย-ลาว" ที่มีเนื้อหาครอบคลุมทั้งประวัติศาสตร์ การเมือง การปกครอง ตลอดจนสังคมและวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักข่าวจากทุกมุมโลกที่ประสงค์จะเข้ามารายงานข่าวทั้งสองประเทศ ได้ประโยชน์จากการศึกษาคู่มือเล่มนี้ ซึ่งผ่านขั้นตอนการทำงานทั้งการค้นคว้าและสัมภาษณ์นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ด้านภาษาศาสตร์ ของทั้งสองประเทศ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถทำได้ในเวลาอันรวดเร็ว

จนสุดท้ายได้ปรับเนื้อหาโดยตัดประเด็นประวัติศาสตร์และการเมืองออก และเน้นไปที่การเป็นหนังสือคู่มือคำศัพท์ไทย-ลาว เป็นด้านหลัก โดยจะเน้นไปที่คำไทย - ลาว ที่พึงระมัดระวัง คำศัพท์ทั่วไป ตลอดจนกรอบการผ่านแดนตามข้อตกลงระหว่างไทยลาว และทำเนียบสื่อมวลชนไทย - ลาว

10.  คู่มือการรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง

(2552: สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ในช่วงที่สังคมไทยเผชิญกับความรุนแรงจากการชุมนุมทางการเมือง ‘นักข่าว’ มักถูกโจมตีว่าไม่เป็นกลาง เลือกข้าง อีกทั้งยังต้องเผชิญกับแรงเสียดทาน นักข่าวบางคนถูกทำร้ายโดยกลุ่มผู้ชุมนุมที่ไร้เหตุผล หลายครั้งที่ต้องอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงอันตรายจากทั้งระเบิดแก๊สน้ำตา ระเบิดปิงปอง และอาวุธของกลุ่มผู้ชุมนุม

จากเสียงสะท้อนของนักข่าวในวงเสวนาหลายครั้ง ทำให้สมาคมนักข่าวฯ ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องจัดทำคู่มือรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งให้สำเร็จ อย่างน้อยก็ใช้เป็นคู่มือของนักข่าว ก่อนเข้าสู่สนามข่าว เพื่อการรายงานข่าวได้อย่างถูกต้อง รอบด้าน และเป็นธรรม  แม้ในต่างประเทศจะมีคู่มือจำนวนมาก แต่ประเทศไทยยังไม่มีการรวบรมเนื้อหาในลักษณะนี้ออกมาเป็นรูปเล่ม จนทำให้นักข่าวในสนามต้องเรียนรู้ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง

นำมาสู่การสัมมนาระดมสมองจากหลายภาคส่วน ทั้งผู้สื่อข่าวจากโต๊ะข่าวภาคใต้ ศูนย์ข่าวอิศรา สถาบันอิศรา ตัวแทนสมาคมนักข่าวฯ สื่อมวลชน นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์  ตัวแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกองทัพ จนตกผลึกเป็นคู่มือการรายงานข่าวสถานการณ์ความขัดแย้งซึ่งพุ่งเป้าไปยัง 4 สถานการณ์ใหญ่ คือ ความขัดแย้งจากปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง สถานการณ์ความขัดแย้งจากปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ สถานการณ์ความขัดแย้งจากกรณีรัฐกับคนชายขอบ

11. หมายเหตุประเทศไทย ร.ศ.๒๒๙ (2553: สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย)

หนังสือภาพเล่มนี้เป็นความร่วมมือของช่างภาพเกือบ 100 ชีวิต จากทุกสำนักพิมพ์ ที่ได้นำภาพที่พวกเขาต้องเสี่ยงชีวิตบันทึกไว้กว่า  10,000 ภาพ เลือกให้เหลือ 300 ภาพ มอบให้กับสมาคมนักข่าวฯ บันทึกเป็นหนังสือภาพ เพื่อเป็นพยานทางประวัติศาสตร์ของความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองไทยในปี 2553

คณะทำงานหนังสือภาพเหตุการณ์การชุมนุม นปช. พ.ศ​. 2553 ได้พิจารณาคัดเลือกภาพอย่างละเอียดรอบคอบ หลีกเลี่ยงภาพของผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัสที่เต็มไปด้วยเลือด พร้อมกับให้ความสำคัญกับทุกฝ่าย ทุกเหตุการณ์ โดยเรียงลำดับภาพตามวันเวลา สถานที่เกิดเหตุตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายของเหตุการณ์

ภาพแต่ละภาพในหนังสือเล่มนี้ คณะทำงานและช่างภาพ ต้องการบันทึกประวัติศาสตร์เพื่อให้คนไทยมีความทรงจำและบทเรียนร่วมกันเพื่อป้องกัรนความรุนแรงที่ไม่ควรเกิดขึ้นจากความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันของคนไทย และร่วมตระหนักว่าสังคมประชาธิปไตยนั้นเห็นแตกต่างกันได้โดยไม่ใช้ความรุนแรง

12. คือ… คนหนังสือพิมพ์

(2558: สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย)

ในโอกาสฉลองครบรอบ 60 ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดทำหนังสือ คือ… คนหนังสือพิมพ์ ด้วยเป้าหมายที่ต้องการบันทึกประวัติของคนหนังสือพิมพ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติ และเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ในวิชาชีพ ตลอดจนสะท้อนภาพเหตุการณ์บ้านเมืองในยุคสมัยของท่านเหล่านั้น

ทั้งนี้ คณะผู้จัดทำได้เลือกเฟ้น นักหนังสือพิมพ์ 16 คน ที่มีส่วนร่วมเป็น “ผู้ถางทาง เส้นทางค้นข่าว” หลายคนก้าวเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ในยุคที่ประเทศไทยยังเป็นระบอบเผด็จการ หนังสือพิมพ์ยังถูกอำนาจรัฐตีกรอบ จำกัดการทำหน้าที่ หลายคนเผชิญกับการคุมคามจากอำนาจรัฐด้วยตัวเอง จนถึงขั้นติดคุกติดตะราง หลายคนมีประสบการณ์การทำงานที่ต่อสู้ในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ในช่วงที่บ้านเมืองอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน

หนังสือฉบับนี้ถือเป็นบันทึกประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพขององค์กรสื่อในแต่ละยุคแต่ละสมัย ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ทั้งการรณรงค์ยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 และคำสั่งปฏิรูปฉบับที่ 42 พ.ศ.​ 2519 อันขัดกับหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชนตามรัฐธรรมนูญ  และยังคมเป็นภารกิจที่สำคัญของสมาคมฯ มาจนถึงปัจจุบัน

13. เส้นทาง… คนหนังสือพิมพ์

(2559: สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย)

ภาคต่อจาก ‘คือ… คนหนังสือพิมพ์’  ที่ยังคงแนวคิดการบันทึกประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตของผู้อาวุโส คนหนังสือพิมพ์ด้วยเจตนารมณ์ยกย่องเชิดชูเกียรติ พร้อมนำประสบการณ์ในวิชาชีพมาถ่ายทอดให้กับคนข่าวในยุคหลัง หวังให้เกิดเป็นแรงบันดาลใขในการทำหน้าที่สื่อมวลชนที่แท้จริง ในการทำหน้าที่อย่างคำนึงถึงหลักจรรยาบรรณและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ พร้อมกับการต่อสู้เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน

สำหรับ ‘เส้นทาง… คนหนังสือพิมพ์’ อาจเรียนได้ว่าเป็น บันทึก ‘รอยต่อ… ประวัติศาสตร์”​ ระหว่างนักหนังสือพิมพ์ ‘รุ่นเก่า’ และ ‘รุ่นใหม่’  จากประสบการณ์ตรงในช่วงการทำหน้าที่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยไม่ว่าจะเป็นยุค  14 ตุลาฯ 2516 ยุคแห่งการขับไล่เผด็จการช่วง 6 ตุลาฯ 2519 เรื่อยมาจนถึงเหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจอย่างช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 ผ่านคำบอกเล่าจากนักข่าว 17 คน ที่มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวการทำหน้าที่ในช่วงเวลานั้น ​

 รวมไปถึงแง่คิดมุมมองของการปรับตัวสู่อนาคตของคนในวงการสื่อมวลชน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในสนามข่าว และการทำหน้าที่อย่างเป็นมืออาชีพเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง  โดยมีมุมมองจากทั้งกลุ่มของผู้ก่อตั้งธุรกิจและนักหนังสือพิมพ์ ที่มาร่วมกันต่อจิ๊กซอว์ให้เป็นภาพของวงการหนังสือพิมพ์ได้อย่างชัดเจน

หมายเหตุ เนื้อหามาจาก หนังสือวันนักข่าว 2566