2 ทศวรรษ ผลผลิต “พิราบน้อย” สู่คนข่าวมืออาชีพ

เหมือนกับเป็น “พันธกิจ” สำคัญที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีส่วนปั้น “นิสิต - นักศึกษา” ให้มาเป็นนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ ประดับวงการวิชาชีพสื่อมวลชนไทย

เป็นการปลูกฝังจรรยาบรรณในวิชาชีพตั้งแต่ “ต้นทาง” ในรั้วมหาวิทยาลัย จวบจนปัจจุบัน จัดอบรมต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 25 ตลอด 2 ทศวรรษ มีผู้เข้าร่วมอบรมนับพันคน

ต่อไปนี้คือเรื่องราวของ “ผลผลิต” พิราบน้อย 3 รุ่น 3 ยุค จากยุคที่เป็น Newspaper only มาสู่ยุค Online first ที่มีหลายแพลตฟอร์ม

@ จุดเริ่มต้นพิราบน้อย

ย้อนกลับไป 25 ปีก่อน สมาคมนักข่าวฯ ได้เปิดการอบรมครั้งสำคัญ ที่ทำให้นิสิต - นักศึกษาในยุคนั้น ได้รู้ “ตัวตน” ก่อนที่จะตัดสินใจมาเป็นนักข่าว

พี่เอก-มงคล บางประภา  นายกสมาคมนักข่าวหนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

พี่เอก มงคล บางประภา  นายกสมาคมนักข่าวฯ คนปัจจุบัน ซึ่งเขามีส่วนร่วมกับการอบรมพิราบน้อยตั้งแต่รุ่น 1  ย้อนความหลังการก่อตั้งให้ฟังว่า โครงการพิราบน้อยเป็นโครงการที่มีความร่วมมือระหว่างสมาคมนักข่าวฯ กับผู้สนับสนุนสมาคม

เกิดขึ้นเพราะมองว่าอยากให้มีการให้แนวทางแก่นักศึกษา ที่อยู่ต้นทาง โดยเล็งเห็นว่านักศึกษาในสายนิเทศศาสตร์และวารสารศาสตร์ มีความสนใจที่จะเป็นสื่อมวลชนในอนาคต

“ในหลักสูตรจึงมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการทำข่าว สิ่งที่นักข่าวประสบเจอในชีวิตจริง รวมถึงหลักจริยธรรมสื่อ เพราะเขาออกมาเป็นนักข่าวเขาต้องรู้ว่าเจออะไรบ้าง แรงกดดันอะไรบ้าง รับผิดชอบอะไรบ้าง ถ้ารู้แล้วว่าตัวเองไม่ใช่จะได้ไม่เสียเวลา นี่คือต้นทางแนวคิด”

“เป็นจุดเริ่มต้นของพิราบน้อยเป็นการถกร่วมกันของสมาคมนักข่าว”

มงคล ให้ความเห็นว่า แต่ในปัจจุบันอาจต้องทบทวนความคิดกันใหม่ เพราะต้นทางการเกิดสื่อสารมวลชนอาจไม่ได้จำกัดอยู่ที่สายนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์เหมือนสมัยก่อนแล้ว เพราะภูมิทัศน์สื่อ อุตสาหกรรมสื่อ ที่ต้องอาศัยสำนักข่าว สถานีโทรทัศน์ที่ใช้ต้นทุนสูงๆเริ่มเปลี่ยนไปเป็นทุกคนมีโอกาสใช้สื่อโซเชียลมีเดียผลิตข่าวสารได้  

ในอนาคตสมาคมนักข่าวฯ อาจจะต้องคุยกันอีกทีว่าไม่ควรจะจำกัดที่นักศึกษาอย่างเดียวหรือเปล่า หรือเชิญชวนคนที่เราเห็นอยู่แล้วว่าเขาสนใจอยากเป็นคนข่าว พยายามจะทำแต่ไม่มีโอกาสรับรู้ว่าการเป็นสื่อมวลชนจะต้องมีหลักคิดอย่างไร อาจเป็นการเปลี่ยนมุมมองในการจัดอบรมในอนาคต

พี่เอก - มงคล เป็นพี่เลี้ยงพิราบน้อย ตั้งแต่รุ่นที่ 1 ถึงรุ่นที่ 10 ก่อนแตะมือให้กับพี่เลี้ยงชุดใหม่

@ เปิดโลงวงการข่าว

มาถึง ตู่ - ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล บรรณาธิการรายการ tomorrow ในช่อง youtube ของ สำนักข่าว today พิราบน้อยรุ่น 2

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ขณะเป็นนักศึกษา ชั้นปีที่ 2  คณะมนุษยศาสตร์ เอกสื่อสารมวลชน ม.รามคำแหง เธอได้ทราบข่าวการอบรมพิราบน้อยจากบอร์ดคณะ ก่อนที่อาจารย์ที่มาสอนในห้องก็แจ้งว่ามีโครงการนี้ ใครสนใจให้มาลงทะเบียน  คัดเลือกที่ภาควิชา

ตู่ - ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล พิราบน้อยรุ่น 2

ชลาทิพย์ เล่าว่า ตอนไปสัมภาษณ์ มีอาจารย์ 3 คน เรียกไปสัมภาษณ์  อาจารย์ถามว่าทำไมถึงอยากเข้าร่วม เราก็บอกว่าเปิดโลกในวงการข่าว คิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ไม่รู้ไปเป็นนักข่าวได้อย่างไร ในเมื่อมีเวิร์คช็อปก็อยากฝึก อยากรู้ว่าเราเป็นนักข่าวได้ไหม

“อาจารย์เอาหนังสือพิมพ์มาวาง 3 ฉบับ แล้วให้อธิบายความแตกต่างของหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับให้ฟัง และถามทัศนคติว่าทำไมถึงอยากเป็นนักข่าว”

“พอผ่านการคัดเลือก เมื่อไปถึงการอบรมเขาจัดกลุ่มย่อยๆ แล้วให้เราไปตามแต่ละฐาน แต่ละฐานมีพี่นักข่าวประจำ   ถ้าจำไม่ผิดมี 2-3 ฐาน ชอบที่สุดคือฐานที่พี่เสาวรส รณเกียรติ (หัวหน้าข่าวเศรษฐกิจ มติชนสมัยนั้น) ดูแล  เขายกเคสข่าวที่เป็นข่าวกึ่งเศรษฐกิจ กึ่งสิ่งแวดล้อมมาถามเรา ชวนให้เราถกว่าประเด็นของเรื่องนี้คืออะไร ใครคือผู้เดือดร้อน ใครคือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง”

“เป็นการสอนมากกว่า ฐานของพี่เสาวรสสนุกมาก เขายกเคสโรงงานแห่งหนึ่งที่จะก่อตั้งโรงงานไฟฟ้า ก่อตั้งในพื้นที่ต่างจังหวัด เป็นข้อพิพาทในชุมชน เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม มีการไล่ที่ชาวบ้าน เขาสอนเราให้มีวิธีคิดว่า พอเกิดเคสอย่างนี้ คุณจะมองประเด็นยังไง จำได้ว่าเขา open mind เราไม่กลัวอะไรเลย พี่เขาเปิดให้โยนความคิดเห็น สุดท้ายเขาก็จะสรุปว่ามันน่าจะเป็นยังไง บอกเราวิธีดูประเด็น”

“ส่วนฐานของพี่เอก มงคล บางประภา พี่ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ รวมถึงพี่ๆ แต่ละคนเตรียมเรื่องไว้เล่า มีกิจกรรมพบเพื่อนนักข่าว เป็นการอบรม  2 วัน 1 คืน ที่โคราช เราก็ได้มาเจอนักข่าวจริงๆ เสียที และมารีเช็คตัวเองว่าสนใจจริงไหม โอเคมาทางนี้แหละถูกแล้ว เมื่อกลับไปเรียนต่ออีกปี เราก็รู้แล้วว่าเราอยากเป็นนักข่าว”

“ส่วนสิ่งที่ได้จากการอบรมแล้วนำไปใช้ คือ หลักคิด ความเชื่อ ทัศนคติต่างๆ  แต่งานข่าว คืองาน job in the training มากกว่า”

สุดท้าย ชลาทิพย์ ฝากถึงสมาคมนักข่าวฯ ว่า พอเราเข้ามาสู่เส้นทางจริงๆ ก็อยู่ห่างสมาคมโดยปริยาย ไม่ได้ยุ่งกับสมาคม และสมาคมไม่ได้มาติดต่อเรา อาจจะมีเคยเรียกให้เราไปพูดให้น้องๆ ฟัง และเคยได้ช่วยงานทางอ้อมเขียนงานทางอ้อมให้จุลสารราชดำเนิน แต่เรามองว่า เป็นเรื่องยุคนั้นเรารู้จักกับใครเลยมาชวนเราไปเขียน

สมาคมจึงเป็นเรื่องคอนเนคชั่นของวงหนึ่ง ยังไม่เป็นภาพที่หน่วยงานองค์กร หรือ สื่อทั้งหมดจะเข้าไป แต่เป็นภาพของคนกลุ่มหนึ่งที่ใกล้ชิดกับนักข่าวที่รู้จักที่ยังเกี่ยวข้องกับสมาคมฯ คิดว่าคนอื่นๆ ที่รายล้อมเราไม่เห็นเชื่อมโยงกับสมาคมฯ ไม่ได้เชื่อมโยงกับนักข่าวหมู่มาก พอห่างไกลจึงไม่เกิดความรู้สึกว่าอยากจะมีส่วนร่วมกับสมาคม

ในขณะที่เรามาในยุคนี้เราเห็นว่ามีสื่อรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้น ก็ยิ่งห่างเข้าไปอีก สมาคมเข้าใกล้เด็กมหาลัยที่เรียนสื่อสาร แต่ห่างกับนักข่าวภาคสนาม ด้วยตัวงานข่าวอาจไม่ถึงวงของสมาคม ยิ่งเห็นเป็นสื่อใหม่ สมาคมก็น่าจะปรับตัวในการทำงานร่วมกับสื่อรุ่นใหม่ๆ มากขึ้นด้วยหรือเปล่า

“เพราะแนวคิดของคนทำสื่อใหม่ ก็อาจมีแนวคิดที่เราจะต้องปรับแนวทางการสื่อสารกับสื่อใหม่มากขึ้น เพราะวิถีคนทำสื่อ เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ส่วนหนึ่ง หลอมรวมสื่อ การทำแบบเดิมอาจไม่เกิดการหลอมรวมนักข่าวรุ่นใหม่ๆ หรือ คนทำสื่อใหม่เข้ามามีส่วนร่วมกับสมาคม” เธอทิ้งท้าย เป็นเสียงสะท้อนจากพิราบน้อยรุ่น 2

@ ตามความฝัน   

พนัสชัย คงศิริขันต์ หรือ “กุ๊ก” พิราบน้อยรุ่น10  ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการข่าวการเมือง วอยซ์ออนไลน์ สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี

เขาเล่าว่า ปี 2550 ตอนนั้นรู้จักพิราบน้อยรุ่นที่ 9 เมื่อปี 2549  เลยสนใจติดตามโครงการนี้ของสมาคมฯ มาตลอด พอตอนนั้นผมอยู่ปี 4 ที่คณะวิทยาการจัดการ โปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ แขนงวารศาสตร์ ม.ราชภัฏสวนดุสิต ในขณะนั้น อาจารย์ที่ปรึกษาเลยส่งรายละเอียดโครงการอบรมพิราบน้อยให้ ตอนนั้นให้พิราบน้อยให้เขียนบทความเรื่องการต่อสู้ของสองสื่อ คือเอเอสทีวี และพีทีวี ของสองค่ายถ้าจำไม่ผิด

พนัสชัย คงศิริขันต์ หรือ “กุ๊ก” พิราบน้อยรุ่น10

เลยส่งบทความผ่านอาจารย์ไป และส่งอีกทางผ่านทางสมาคมนักข่าวฯ ปรากฎได้รับคัดเลือกจากสมาคมนักข่าวฯเป็นโควต้าสมาคมฯ ไปอบรม ตอนนั้นมีเพื่อนอีกคน ชื่อ  เอก อัครพล นิยมญาติ เขียนส่งบทความไปผ่านทางอาจารย์ที่ปรึกษา ก็ติดเข้าอบรมไปด้วยกัน

ตอนนั้นผมสนใจอยากเป็นนักข่าวอยู่แล้ว สนใจข่าวการเมือง งานข่าว หนังสือพิมพ์ งานเขียน งานบทความพอมีความสนใจ เพราะเคยเขียนบทความลงหน้าบทความของ นสพ.ผู้จัดการรายวัน และ นสพ.มติชนรายวัน ได้รับเลือกลง  ตอนนั้นจำได้ว่าสมัครไปพิราบน้อย รุ่น 10 เพราะอยากได้ทักษะและวิชาจากรุ่นพี่ที่เป็นนักข่าวและสื่อก็เลยลองไปดู จำได้ว่าไปเข้าข่ายอยู่ 4 วัน 3 คืนที่ภูเขางามรีสอร์ต จ.นครนายก ช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน 2550

พนัสชัย เล่าถึงการอบรมของรุ่น 10 ว่า ตอนนั้นมีเพื่อนๆ ในระดับเดียวกันไปกันน่าจะเกิน 50 คน ทั่วประเทศ ตัวแทนสถาบันละ 2 คน บางสถาบันก็มา 4 คน ก็มี  ผมไปกับเพื่อนสองคน ตัวแทน ม.ราชภัฏสวนดุสิต ไปถึงก็ให้อบรมกับทรูฯ สร้างแรงบันดาลใจการเป็นนักข่าวก่อนเดินทาง แล้วไปถึง จ.นครนายก ก็แบ่งกลุ่มกันว่าอยู่สีไหน

ผมอยูู่สีขาว จำได้ว่า เขาแบ่งกันเพื่อให้จับกลุ่มทำ นสพ.กำแพง โดยทำข่าวในรอบๆ พื้นที่ของที่พัก มีทั้งข่าวสังคม ข่าวการเมืองท้องถิ่น ข่าวเศรษฐกิจ และข่าวอาชญากรรม

รุ่นพี่ที่เป็นนักข่าวตอนนั้นมีพี่โอ๋ หทัยกาญจน์  ตรีสุวรรณ อยู่มติชนตอนนั้น พี่โอ๋ มนตรี จุ้ยม่วงศรี มติชน พี่ออฟ นันทสิทธิ์ ช่างภาพเนชั่นตอนนั้น มีพี่เสถียรนักข่าวเนชั่น ตอนนี้เป็นผู้บริหารอยู่พีพีทีวี ส่วนใหญ่เป็นคนข่าวการเมืองไปช่วยอบรม  

รุ่นพี่ก็สอนการเป็นนักข่าวเป็นสื่อมวลชน อบรมและทำกิจกรรมต่างๆ ในค่าย จำได้ตอนนั้นก็สนุกๆ ดี ทำให้รู้สึกว่าเป็นค่ายที่ทำกิจกรรมวางแผนกันมาดี และมีทั้งเสียงหัวเราะ เสียงดีใจ เสียงร้องไห้ในวันสุุดท้าย

“การอบรมให้ทักษะการเป็นสื่อมวลชนที่แต่ละคนอยากจะเดินตามฝันไปหาอาชีพที่ตัวเองต้องการหรือไม่ หรือว่าไม่ใช่ทางที่ใช่ บางคนก็ไม่ได้ทำอาชีพนักข่าวหรือสื่อมวลชนแม้จะผ่านการอบรมไปแล้ว แต่เพื่อนผมในค่ายมีกลุ่มหนึ่งที่ยังเป็นนักข่าวจนถึงปัจจุบันรวมถึงเพื่อนผม เอก และผม ยังเป็นสื่อมวลชนทำงานข่าวอยู่  ในค่ายพิราบน้อยทำให้ผมพบเจอคนเก่งๆ อยู่”

“และในค่ายนั้นทำให้ผมรู้สึกประทับใจกับเพื่อนบางคนที่อยูู่ต่างมหาวิทยาลัย แม้จะไม่ได้อยู่สถาบันเดียวกัน และอยากพูดคุยและทำความรู้จักเพื่อเป็นเครือข่ายในอนาคต บางคนเลิกค่าย มาคบกันเป็นแฟนก็มี แต่ไม่แน่ใจว่ายังเป็นแฟนกันไหมนะครับ”

“ส่วนเบางคนก็เกือบได้คบกัน แต่ด้วยเหตุผลบางประการทำให้เพื่อนๆ ต่างเดินทางไปตามเส้นทางของตัวเอง แต่ที่เป็นนักข่าวส่วนใหญ่ของพิราบน้อยรุ่น10 ผมเห็นแต่ละคนเติบโตในหน้าที่การงานที่ดีมากๆ บางคนเป็น บรรณาธิการ บางคนเป็นนักข่าวอาวุโส  อยู่ในวงการมา 15-16 ปี เป็นหัวหน้าคน เป็นคนที่ถ่ายทอดวิชาชีพให้น้องๆในรุ่นต่อๆมา ได้ ต้องบอกว่านี่คือผลผลิตอย่างหนึ่งของ ค่ายพิราบน้อย ที่มีมาตลอด 20 ปี”

พนัสชัย เล่าต่อว่า หลังอบรมเสร็จ ก็มุ่งตรงว่าจะไปฝึกงานเนชั่น นสพ.คมชัดลึกทันที ได้ทำข่าวสังคม สกู๊ป ข่าวแนวสืบสวนนิดหน่อย ก็ทำให้ได้ฝึกทักษะการเป็นนักข่าว และนำสิ่งที่เคยได้รับการอบรมพิราบน้อยมาปฏิบัติด้วย ก็คิดว่าถ้าจบ ป.ตรี ก็คิดตั้งแต่ตอนนั้นว่าต้องเดินทางอาชีพนักข่าวนักหนังสือพิมพ์

โดยคิดว่าตัวเองน่าจะทำข่าวการเมืองได้ เพราะเป็นคนชอบอ่านข่าวการเมืองซื้อหนังสือพิมพ์ทุุกวัน มติชน จะพกอ่านทุกวัน รวมทั้งติดตามข่าวการเมืองจากผู้จัดการด้วย เพราะข่าวช่วงนั้นสถานการณ์ทางการเมืองเข้มข้นมาก

“การอบรมทำให้เรานำมาปรับใช้ในอาชีพนักข่าว การฝึกจับประเด็น การเรียนรู้จากพี่ๆ ในค่าย และพอจบออกมาผมก็เป็นนักข่าวการเมือง นสพ.มติชนรายวัน อยู่ที่นั่น 6 ปี   2550-2556 ได้เจอพี่โอ๋ หทัยกาญจน์ พี่เลี้ยงที่อบรมในค่ายพิราบน้อย ความเข้มข้นทักษะการสัมภาษณ์แหล่งข่าวและการเขียนบทวิเคราะห์ บทความ สกู๊ป ก็ได้ส่งตรงจากพี่ๆในสนามข่าวและรุ่นพี่พิราบน้อยที่เคยเป็นพี่เลี้ยงเราอย่างมาก”

พนัสชัย ฝากถึงสมาคมนักข่าวว่า  อย่าลืมคนที่เคยเป็นผลผลิตของค่ายพิราบน้อยรุ่นที่ 10 หรือรุ่นอื่นๆ โดยเฉพาะคนที่ยังเป็นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ หรือนักข่าวยุคใหม่ในโลกมัลติมีเดีย ออนไลน์

คนเหล่านี้พร้อมที่จะช่วยสมาคมนักข่าวฯ อยู่เสมอ นี่คือผลพลอยได้ที่สมาคมฯ ได้ผลิตคนข่าวให้กับสังคม เพราะรุ่นพี่รุ่นน้องจากพิราบน้อยผมเชื่อว่า พวกเขาและเธอพร้อมจะให้ประสบการณ์น้องๆในวงการ และน้องๆที่กำลังเรียน และตัดสินใจให้ดีต่อชีวิตว่าควรจะเข้าวงการทำงานผู้สื่อข่าว สื่อสารมวลชนหรือไม่

และผมเชื่อว่าแต่ละคนล้วนมีประสบการณ์แบบแตกต่างกัน ที่น่าจะมาเล่าให้รุ่นน้องในอนาคตได้รับรู้ และควรที่จะทำอาชีพสื่อสารมวลชนหรือไม่

“อยากจะบอกว่าสมาคมนักข่าวอย่าเลิก อย่าล้มโครงการพิราบน้อย ขอให้เดินหน้าต่อไปครับ ไม่ว่าจะเป็นพี่แดง พี่เล็ก พี่ๆเหล่านี้คือคนที่เป็นกำลังสำคัญและเป็นฟันเฟืองที่มีค่าต่อวงการ เพราะอยู่เบื้องหลังปิดทองหลังพระ จนทำให้สื่อสารมวลชนมีคนออกมาทำงานให้สังคมได้รับรู้ข่าวสารอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าคุณจะเลือกทำงานข่าวค่ายไหน แต่คุณก็คือนักข่าวนักวิชาชีพสื่อสารมวลชนมาตั้งแต่ก้าวเท้าเข้ามาแล้ว เชื่อว่าทุกคนจะเป็นนักข่าวไปจนตาย เพราะไม่ว่าคุณจะเลิกทำอาชีพนักข่าวแล้วก็ตาม แต่จิตวิญญาณลมหายใจทุกคนที่เคยเป็นนักข่าว ผมเชื่อว่าเขายังมีวิญญาณคนข่าวอยู่ในทุกแห่ง แม้จะเปลี่ยนเส้นทางสายงานก็ตาม”

@ สมาคมฯ ต้องปรับให้ทันสมัย

ขณะที่ ตอง - พรธิดา เจดีย์พราหมณ์ พิราบน้อย รุ่น 20 ปัจจุบันผู้สื่อข่าวไทยรัฐทีวี บอกว่า สิ่งที่ได้จากการอบรมพิราบน้อย สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตการทำงานนักข่าวได้จริงๆ ทุกอย่าง ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ทั้งในเรื่องของจรรยาบรรณ ภาคปฏิบัติ รวมถึงมนุษยสัมพันธ์ในสังคมที่เราอยู่ อย่างการเป็นนักข่าวสังคมอาจจะไม่ได้กว้างมาก เนื่องจากมีสื่อในประเทศไทยเพียงไม่กี่ช่อง กี่สำนัก ทำให้ทุกคนรู้จักกันหมด

ตอง - พรธิดา เจดีย์พราหมณ์ พิราบน้อย รุ่น 20

เธอย้อนความหลังเส้นทางก่อนเข้าร่วมอบรม “พิราบน้อย” ว่า ส่วนตัวยอมรับว่า ไม่ได้ตั้งใจอยากเป็นนักข่าวหรืออยากมาเรียนข่าว เพราะมีภาพจำในวัยเด็กว่า นักข่าวชอบยุ่งเรื่องของชาวบ้าน และที่เลือกเรียนวารสาร เพราะอยากเป็นนักเขียนหนังสือนั่งนิ่งๆ คนเดียวอยู่ในห้องเงียบๆ

“แต่สุดท้ายรู้ตัวอีกที สาขาวารสารสนเทศ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ต้องเรียนเกี่ยวกับการเป็นนักข่าว ซึ่งตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไรจึงเข้ามาเรียน ทำให้รู้ว่าข่าวบางประเภทไม่ได้ยุ่งเรื่องของชาวบ้านอย่างเดียว แต่สามารถเป็นประโยชน์ให้สังคมได้ จึงเปิดใจและไม่ปิดกั้นอีกต่อไป จากนั้นก็ได้เรียนและฝึกงานข่าว ในขณะที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 โดยไปฝึกงานที่สถานีโทรทัศน์พีพีทีวีช่อง 36 จากนั้นก็เริ่มเข้าทำงานที่ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ และเปลี่ยนมาที่สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี 36 จนปัจจุบันอยู่ที่ไทยรัฐทีวีช่อง 32”

ส่วนกิจกรรมตอนอบรม จำได้ว่า พี่ในค่ายจะให้ทำกิจกรรมเวิร์คช็อปเกี่ยวกับงานข่าว ทั้งฝึกในเรื่องของความเร็วในการคิดประเด็น การมองประเด็นให้ออก การสร้างสถานการณ์จำลองจริงๆ ซึ่งในรุ่นที่ 20 มีการจำลองสถานการณ์คล้ายกับเหตุการณ์มีผู้วางระเบิดหรือถูกยิงและบาดเจ็บ

โดยให้เราฝึกทดลองว่า เราจะทำอย่างไรในสถานการณ์ นั้นและสามารถที่จะรายงานข้อมูลอะไรออกไปได้บ้าง เนื่องจากบางข้อมูลไม่สามารถที่จะรายงานผ่านสื่อมวลชนได้ รวมถึงยังให้ลงพื้นที่หาประเด็นหาแหล่งข่าวพร้อมกับสัมภาษณ์เหมือนเป็นนักข่าวจริงๆ

 “หลังจากอบรมเสร็จเราก็มีความอยากเป็นนักข่าวในระดับหนึ่ง เพราะก็กำลังอยู่ในช่วงค้นหาตัวเอง จนสุดท้ายก็ยังทำงานในอาชีพนักข่าวอยู่”

“ในฐานะที่เคยอบรมกิจกรรมของสมาคม คิดว่าในเรื่องของการอบรมค่ายต่างๆ รู้สึกว่าดีแล้ว ทั้งพี่ๆ บุคลากรที่เป็นวิทยากร ล้วนแล้วแต่เป็นคนเก่งและมีคุณภาพอยู่ในวงการ ส่วนสมาคมนักข่าว ในภาพรวมที่มองจากภายนอกอยากให้ดูมีความทันสมัยมากกว่านี้”

@ อัพเกรดคนสื่อ

นอกจากกิจกรรม “อบรมพิราบน้อย” ที่ต่อเนื่องมา 25 รุ่น ยังมีกิจกรรมอบรมของสมาคมที่น่าสนใจ กำเนิดขึ้นมาในช่วงที่เกิดความผันผวน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่อุตสาหกรรมสื่อที่เปลี่ยนภูมิทัศน์แบบ 180 องศา นักข่าวจึงต้องเสริมความรู้

มงคล กล่าวในฐานะนายกสมาคมนักข่าวฯ ว่า หลักๆ โครงสร้างการบริหารซึ่งตอบสนองโจทย์ของสมาคมมี 4 ด้านหลัก 1.เชิงวิชาการ 2.เชิงสิทธิเสรีภาพ 3.เชิงสวัสดิการของสมาชิก 4.ความสัมพันธ์ขององค์กรอื่นระหว่างประเทศ

หลายๆ โครงการ อย่างพิราบน้อยอยู่ในโครงสร้างเชิงวิชาการ ทั้งหมดนี้คือพันธกิจในการสร้างโอกาสให้กับผู้สื่อข่าว จากข้อเท็จจริงในสังคมไทย เวลาสื่อมวลชนเข้าไปในสำนักงานจะไม่มีโอกาสพัฒนาในเชิงวิชาชีพ แม้บางแห่งจะมีการอบรมต่างๆ แต่ส่วนใหญ่จะไม่มี

ดังนั้น จะมีโครงการหลากหลายที่เกี่ยวกับอาชีพสื่อมวลชนโดยตรง เช่น ในอดีตมีการอบรมการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน

อบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร การรายงานข่าวในภาวะวิกฤตและสาธารณภัย ที่มีมาเกิน 10 รุ่น ตอบโจทย์การชุมนุมที่รุนแรงมากขึ้นในระยะ 10 ปีให้หลัง

สำหรับหลักสูตรที่อัพเกรดความรู้ของสื่อมวลชน ตัวอย่างเช่น โครงการอบรมหลักสูตร อเมริกายุคไบเดน: สิ่งที่สื่อไทยควรรู้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย  

โครงการมองจีนยุคใหม่ ความท้าทายที่สื่อไทยควรรู้ การสนับสนุนงบประมาณจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำราชอาณาจักรไทย

โครงการเรียนรู้วัฒนธรรมอิสราเอลสำหรับสื่อมวลชนไทย เนื่องจากว่าอิสราเอลเป็นชาติที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ดนตรี ศิลปะ อาหาร ภาษา และประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะวัฒนธรรมอาหารอิสราเอล

กับคำถามว่าทำไม “นักข่าว” ต้องเรียนหลักสูตรนี้ มงคล อธิบายว่า จีนกับสหรัฐฯ เรารู้กันว่าเป็นมหาอำนาจ ซึ่งหลักสูตรจีนเกิดขึ้นประมาณ 4 ปีแล้ว แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เราก็รู้ว่าตั้งแต่จีนเปิดประเทศ ผลทางเศรษฐกิจ อิทธิพลทางเทคโนโลยี การท่องเที่ยวเกี่ยวข้องกับประเทศไทยอย่างใกล้ชิดมาก จึงทำให้เราต้องคุยกันว่า เราควรเตรียมนักข่าวของเราให้มีพื้นฐานและมีมุมมองที่มองจีนบนหลักการว่า เราควรมองจีนด้วยสายตาของเราเอง ไม่ใช่มองผ่านสื่อฟากตะวันตก

ซึ่งเขาอาจมีทัศนคติที่ใส่แว่นมีสี ซึ่งหลักคิดนี้เราไปคุยกับสถานทูตจีนยุคหลังๆ ที่มีคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่ไปเรียนเมืองนอก มีความเข้าใจมากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐจีนยุคเก่าที่ conservative มากๆ สมัยก่อนถ้าดีลอะไรกับจีนต้องผ่านรัฐบาลกลางเป็นเส้นตรงตลอด

แต่พอคนยุคใหม่ของจีนเข้ามา เขารู้ว่าวิธีการที่ดีที่สุดที่จะทำให้คนต่างชาติรู้จักจีน คือให้โอกาสคนต่างชาติได้มองเห็นจีนด้วยตัวเอง ไม่ใช่จะไปโชว์ภาพตัวเองให้คนอื่นดู จึงสมประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่ เราเป็นอิสระในการกำหนดและรู้เท่าทัน

ส่วนสหรัฐฯ เหตุผลเดียวกับจีน เราไปบอกสหรัฐฯ ว่า เป็นประเทศมหาอำนาจที่มีอิทธิพลในพื้นที่เอเซีย-แปซิฟิกอยู่ และความสนใจของสื่อมวลชน ข่าวคราวที่เกี่ยวกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะบนเวทีใหญ่ของมหาอำนาจ เรามองว่าเราให้นักข่าวได้เรียนรู้จีนแล้วก็ควรจะบาลานซ์เรื่องของการรู้เท่าทันมหาอำนาจด้วยกัน

ส่วนอิสราเอล เป็นการร่วมมือใหม่มากที่เพิ่งเกิดขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับเอกอัครราชทูตอิสราเอล การรู้จักแนวคิดที่มาของอาหาร เรียนรู้วัฒนธรรมอิสราเอลผ่านอาหารอิสราเอล

แล้วนักข่าวที่อบรมจะได้อะไร นายกสมาคมนักข่าวฯ กล่าวว่า เท่าที่สัมผัส หลายคนตอบสะท้อนกลับมาว่า ทำให้เกิดมุมมองที่แปลกกว่าเดิม หลักสูตรจีน ได้เรียนรู้และได้สัมผัสเอง ก่อนโควิด-19 ได้มีการเดินทางไปจีน 2 รุ่น ไปดูอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ทั้ง เทนเซน หัวเหว่ย ดูการบริหารกิจการของเซียงไฮ้ การทำรถไฟใต้ดินของเขา ก็จะเห็นเทคโนโลยีเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม

บังเอิญสถานทูตจีนตั้งเป็นนโยบายหลักว่าจะสนับสนุนทุกปี โดยยอมรับภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเขาจะไม่เข้ามาแทรกแซงว่าเราจะเชิญใครเป็นวิทยากร ไม่ว่าจะโปรจีนหรือไม่โปรจีนก็ตาม กำหนดหัวข้อ การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ได้ทั้งหมด การให้ความอิสระทำให้การดำเนินงานเกิดขึ้นได้

โมเดลนี้เราพยายามไปทำกับสถานทูตสหรัฐฯ อยู่เหมือนกัน แต่กลายเป็นว่าเขามองว่าการใช้งบประมาณแผ่นดินของเขา เขาต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง จึงทำให้แนวคิดอาจไม่ได้เกิดขึ้นง่ายเท่ากับหลักสูตรจีน

ทั้งหมดเป็นผลผลิตจากหลักสูตรต่างๆ ของสมาคมนักข่าวฯ

หมายเหตุ เนื้อหามาจาก หนังสือวันนักข่าว 2566