“สมาคมนักข่าวเป็น back office อยู่ได้ด้วยบรรดากรรมการบริหาร และ feedback ของนักข่าวภาคสนามที่อยู่ข้างนอกที่เฝ้ามองเราอยู่ว่าสิ่งไหนต้องการให้เป็นอย่างไร เป็นเสียงสะท้อนที่ทำให้สมาคมฯ มายืนอยู่ในจุดที่ถูกต้อง ที่ทำหน้าที่บทบาทของตัวเองในฐานะขององค์กรวิชาชีพ เพราะเราประกาศตัวอยู่เสมอว่าเราดูแลเรื่องปกป้องสิทธิเสรีภาพของนักข่าว"
จากความเปลี่ยนแปลงในพายุ "ดิจิทัล ดิสรัปชั่น" ไม่ใช่แค่สำนักข่าวในแวดวงวิชาชีพที่ต้องเร่งขยับปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลงให้อยู่รอดเท่านั้น แต่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่เร่งปรับภารกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ตามบทบาทหน้าที่ในฐานะองค์กรวิชาชีพ เพื่อเดินหน้าตามเจตนารมณ์การก่อตั้งสมาคมฯ เมื่อ 23 ปีที่ผ่านมา
สำหรับภารกิจในกิจกรรมด้านต่างๆ ของสมาคมฯ ยังคงมุ่งเน้นไปที่เรื่องสวัสดิการสมาชิกที่ขยายไปถึงครอบครัว โดยเฉพาะกิจกรรมที่ได้รับความสนใจจากสมาชิกเป็นจำนวนมากในการมอบทุนการศึกษาในโครงการ "มอบทุนส่งเสริมการศึกษาแก่บุตร-ธิดาสมาชิกประจำ" ซึ่งจัดมาต่อเนื่องทุกปี ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมปลายหรือ ปวช.ในประเภท "ทุนส่งเสริมฯ"
และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับปริญญาตรี ในประเภท "ทุนการศึกษาต่อเนื่อง" ซึ่งสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมกับมูลนิธิเอสซีจี ได้จัดทำโครงการทุนการศึกษาให้กับบุตร-ธิดาสมาชิกสมาคมฯ ประเภทนี้ปีละ 10 ทุน โดยในปี 2566 จะจัดขึ้นเป็นปีที่ 15 ติดต่อกัน
ขณะเดียวกันในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศได้รับสนับสนุนจากมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ จัดทำโครงการ "ทุนการศึกษาซีพีเพื่อยุวชนครอบครัวคนข่าว" ขึ้นเป็นปีแรกในปี 2564 เพื่อมอบทุนให้บุตร-ธิดาสมาชิกสมาคมฯ จำนวน 100 ทุน โดยในปี 2566 จะจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 นอกจากนี้ในภารกิจของสมาคมฯ ยังประสานความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการมอบทุนระดับปริญญาโท อาทิ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หรือมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ไม่ใช่แค่ภารกิจการมอบทุนการศึกษาเท่านั้น แต่สมาคมฯ ยังเป็นสื่อกลางจัดกิจกรรม "ราชดำเนินเสวนา" ซึ่งจัดขึ้นในยุคที่ "กวี จงกิจถาวร" เป็นนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ช่วงปี 2543 ตามวัตถุประสงค์ที่สมาคมฯ เห็นว่า เมื่อเกิดประเด็นสำคัญในสังคมจะเปิดเวทีให้นักข่าวรับฟังแหล่งข่าวที่มีความรู้และอธิบายปรากฏการณ์ด้านนั้นถึงนักข่าวได้โดยตรง หรือหากมีกรณีเกิดข้อขัดแย้งในสังคมประเด็นใด สมาคมฯ จะเป็นสื่อกลางในการเชิญทุกฝ่ายมาเสวนาหาทางออกในเรื่องนั้น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจจากคนในสังคมและสื่อมวลชนในวงการ
ส่วนโครงการเติมความรู้นักข่าว มีจุดเริ่มต้นในหลายโครงการ อาทิ การจัดอบรมนักข่าวใหม่ หรือการจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “นักข่าวพิราบน้อย” ที่เป็นหลักสูตรกระบวนการทำข่าว การวางแผนงาน วิธีคิดประเด็น และเน้นไปเรื่องจริยธรรมให้กับนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่เข้าอบรมก่อนเข้าสู่วงการวิชาชีพในอนาคต ซึ่งในปี 2566 จะจัดขึ้นเป็นรุ่นที่ 25 และทุกปีจะจัดประกวดผลงานข่าวแต่ละสถาบันจากโครงการพิราบน้อยด้วย
สำหรับเนื้อหาการอบรมโครงการ “นักข่าวพิราบน้อย” ในทุกปี มีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ดิจิทัลดิสรับชันในวงการสื่อมวลชน โดยเฉพาะจากการแพร่ระบาดจากไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้จัดรูปแบบออนไลน์ทุกสัปดาห์เป็นเวลา 4 ครั้ง โดยให้นักศึกษาแต่ละแห่งรวมตัวลงพื้นที่ แต่ในปี 2566 มีโอกาสที่โครงการ “นักข่าวพิราบน้อย” จะกลับมาจัดในรูปแบบเดิมอีกครั้ง
ในเรื่องนี้ "เทียมใจ ทองเมือง" ผู้จัดการสมาคมนักข่าวฯ เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนรางวัลในโครงการพิราบน้อยถือเป็นรางวัลที่ใหญ่มาก เพราะว่าทุกสถาบันมีการทำหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ แต่ในปัจจุบันแทบทุกสถาบันไม่มีหนังสือพิมพ์เป็นเล่ม เพราะถูกปรับเป็นออนไลน์หรือเว็ปไซต์ ทำให้สมาคมฯ ต้องปรับตัวไปด้วย เพราะสมาคมไม่ใช่องค์กรที่เป็นผลประโยชน์เฉพาะตัว แต่เป็นองค์กรที่เป็นผลประโยชน์ส่วนร่วมของทุกคน อย่างกรรมการสมาคมฯ ก็มาจากที่หลากหลาย ทำให้สมาคมปรับตัวมาโดยตลอด และยิ่งกรรมการที่เข้ามาก็ต้องการดูแลเรื่องสวัสดิการมาจากพื้นฐานความห่วงใยพี่น้องในวงการด้วยกัน
“สมาคมนักข่าวเป็น back office อยู่ได้ด้วยบรรดากรรมการบริหาร และ feedback ของนักข่าวภาคสนามที่อยู่ข้างนอกที่เฝ้ามองเราอยู่ว่าสิ่งไหนต้องการให้เป็นอย่างไร เป็นเสียงสะท้อนที่ทำให้สมาคมฯ มายืนอยู่ในจุดที่ถูกต้อง ที่ทำหน้าที่บทบาทของตัวเองในฐานะขององค์กรวิชาชีพ เพราะเราประกาศตัวอยู่เสมอว่าเราดูแลเรื่องปกป้องสิทธิเสรีภาพของนักข่าว"
ส่วนบริบทสมาคมฯ กับนักข่าวภาคสนาม "เทียมใจ" ยืนยันว่าสมาคมให้ความสำคัญมาโดยตลอด เพราะบทบาทหลักและหัวใจของสมาคมฯ เป็นงานที่เรียกว่าต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ซึ่งที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การรายงานข่าวในสถานการณ์ความรุนแรงและภัยพิบัติ” หรือ Safety Training ซึ่งในปี 2566 จะเข้าสู่ปีที่ 13
สำหรับจุดเริ่มต้นโครงการนี้มาจากสถานการณ์การชุมนุมในประเทศในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่พบว่านักข่าวไม่มีอุปกรณ์ป้องกันขณะลงพื้นที่ ตั้งแต่เสื้อเกราะ หมวกกันน็อก หรือปลอกแขนแสดงสัญลักษณ์การทำหน้าที่สื่อมวลชนซึ่งทำมาแล้ว 4 รุ่น ทำให้ที่ผ่านมาสมาคมฯ ทำหน้าที่ประสานไปยังแกนนำผู้ชุมนุม และฝั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ทราบว่าผู้ที่สวมปลอกแขนเหล่านี้เป็นสื่อมวลชนภาคสนามที่กำลังปฏิบัติหน้าที่
ขณะเดียวกันสมาคมฯ ยังทำหน้าที่ประสานไปถึงกองบรรณาธิการและผู้บริหารสำนักข่าว เพื่อนำความคิดเห็นของนักข่าวภาคสนามส่งไปถึงหัวหน้างานโดยตรงทั้งเรื่องสวัสดิการ และอุปกรณ์ดูแลความปลอดภัย หรือเรื่องที่เป็นคดีความระหว่างการทำงาน สมาคมฯ ก็มีการช่วยเหลือโดยมีสภาทนายความเป็นที่ปรึกษา เนื่องจากโจทย์ของสมาคมฯต้องคิดว่า เราทำงานเพื่อบรรดาพี่น้องสื่อมวลชนในวงการ
ส่วนเรื่องการปรับตัวของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ที่ผ่านมา ถือเป็นภารกิจหลักที่ต้องเดินตามยุทธศาสตร์ในอนาคต และการปรับตัวองค์กรภายในจากระบบอะนาล็อกมาเป็นระบบออนไลน์ให้มากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นสำคัญในการชำระเงินของสมาชิกประจำปี ก็เปลี่ยนจากเดิมเคยชำระที่สมาคมฯ มาเป็นระบบจ่ายผ่านธนาคารออนไลน์ โดยมีเจ่าหน้าที่ส่งใบเสร็จกลับไปที่สมาชิกผ่านอีเมลล์ที่แจ้งกับสมาคมฯ ไว้
หรือกระทั่งการจัดอบรมหลักสูตรต่างๆ ที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้จัดขึ้นต่อเนื่องตามสถานการณ์ขณะนั้น อาทิ หลักสูตรขายให้ปัง! ด้วยพลัง content , หลักสูตร ภาษาจีนพื้นฐานและหลักสูตรภาษาจีนสนทนาระดับกลาง , หลักสูตรอเมริกายุคไบเดน : สิ่งที่สื่อไทยควรรู้ , หลักสูตรสร้างอาชีพอาชีพสำหรับสื่อมวลชน , หลักสูตรจัดฝึกอบรมบุคลิกภาพสื่อ โดยหลักสูตรใดที่เคยจัดในรูปแบบ on-site จะสามารถปรับรูปแบบเป็นอบรม online ได้เช่นกัน
ที่สำคัญสื่อหลักยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนไป ทำให้สำนักข่าวหลายแห่งยุติการผลิตหนังสือพิมพ์เพื่อปรับเป็นเว็ปไซต์หรืออนไลน์มากขึ้น เป็นสิ่งสำคัญทำให้สมาคมฯ ปรับตัวเปิดรับสมาชิกสามัญจากเว็ปไซต์เพิ่มเติม ทำให้สมาชิกที่เป็นสำนักข่าวออนไลน์สามารถมีสิทธิ์ออกเสียง และมีตัวแทนเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการสมาคมฯได้ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่กรรมการสมาคมฯทั้ง 15 คน และเจ้าหน้าที่สมาคมฯ ยึดหลักวิถีใหม่ประชุมในรูปแบบ Zoom จากเดิมที่ต้องมาประชุมที่ทำการสมาคมฯ ถนนสามเสน
นอกจากนี้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ยังปรับตัวการผลิตสื่อในสังกัดเรียกว่า "จุลสารราชดำเนิน" ซึ่งเป็นสื่อกลางทำหน้าที่เผยแพร่ความเคลื่อนไหวของสื่อมวลชนในวงการทุกด้านในรูปเล่มนิตยสาร ปรับเปลี่ยนเป็นการเผยแพร่เนื้อหาผ่าน Facebook และเว็ปไซต์สมาคมฯ ซึ่งมาจากทีมนักข่าวกลุ่มหนึ่งที่เกาะติดประเด็นเหล่านี้มาเผยแพร่
ขณะเดียกันยังมีรายการ "ช่วยกันคิดทิศทางข่าว" ทุกวันอาทิตย์เวลา 11.00-12.00 น. โดยความร่วมมือกับคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5 ซึ่งเป็นการจัดรายการวิทยุที่มาจากผู้สื่อข่าวภาคสนาม ที่ได้รับการคัดเลือกประเด็นและผู้จัดผ่านระบยบรรณาธิการ เพื่อเลือกประเด็นการพูดคุยผ่านการหมุนเวียนผู้จัดแต่ละสัปดาห์ ในทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ สมาคมฯ ยังเปิดแอคเคาท์ขององค์กรนอกเหนือจากเพจ Facebook ยังมีไลน์ official Youtube Twitter หรือ Blockdit ถือเป็นการปรับตัวของสมาคมฯ ให้เข้าตามยุคสมัยเพื่อใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้เข้าถึงทุกคนให้มากที่สุด