ย้อนมองภารกิจ ‘ฝ่ายสิทธิ์’ สมาคมนักข่าวฯ มุ่งหวังบทบาท ‘สุนัขเฝ้าบ้าน’ อย่างแท้จริง

ตั้งแต่ก่อนที่ผมจะเข้ามามีบทบาทในสมาคมนักข่าวฯในฐานะกรรมการ ผมก็มีความคิดแบบนี้มาตลอดว่า ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ (หรือที่คนในสมาคมเรียกกันย่อๆว่า "ฝ่ายสิทธิ์") เปรียบเสมือนเป็นหัวใจสำคัญของสมาคมนักข่าวฯ

ธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 บอกว่า ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่จะด้อยค่าฝ่ายอื่นๆของสมาคม เพราะทุกฝ่ายย่อมมีความสำคัญด้วยกันทั้งสิ้น แต่ก็ยืนยันว่า ภารกิจปกป้องเสรีภาพและส่งเสริมจริยธรรมของสื่อมวลชน เป็นงานหลักของสมาคม (หรืออย่างน้อยก็ควรจะเป็นงานหลักของสมาคม) 

ธีรนัย บอกว่า ย้อนตั้งแต่ไปดูประวัติของสมาคม ก็จารึกไว้ว่า สมาคมนักข่าวฯ ก่อตั้งโดยกลุ่มนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ที่มีเจตนารมณ์ต่อสู้กับการพยายามครอบงำสื่อมวลชนของผู้มีอำนาจในสมัยนั้น และแม้แต่ระเบียบของสมาคม ก็บัญญัติวัตถุประสงค์ไว้ตั้งแต่ข้อแรกๆแล้วว่า สมาคมมีไว้เพื่อ “ปกป้องคุ้มครองสมาชิกของสมาคมผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ” ส่งเสริม “เสรีภาพในการแสวงหาข้อมูลข่าวสาร” พร้อมกับผดุงไว้ซึ่ง “จริยธรรมแห่งวิชาชีพ”  

ถ้าใช้ภาษาฝรั่ง ก็คงต้องเรียกว่า งานฝ่ายสิทธิ์คือ “raison d'etre” หรือ “เหตุผลแห่งการมีอยู่” ของสมาคมก็ว่าได้ หรือถ้าใช้ภาษาไทยแบบบ้านๆ ก็ต้องพูดว่า ถ้าหากสมาคมไม่ทำหน้าที่ปกป้องเสรีภาพสื่อและส่งเสริมจริยธรรมวิชาชีพ ก็ไม่รู้จะมีสมาคมไว้ทำไม

ธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

เพราะฉะนั้น เมื่อผมได้รับความไว้วางใจจากกรรมการสมาคม ให้มารับหน้าที่ด้านงานสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อในฐานะอุปนายกฝ่ายสิทธิ์ในช่วงหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา ผมจึงตระหนักอยู่เสมอว่า ฝ่ายสิทธิ์ต้อง “ทำให้ดีที่สุด” ธีรนัย ระบุพร้อมกล่าวว่า พูดอย่างกับลูกเสือสำรอง (ฮา)

ทั้งหมดทั้งมวล ธีรนัย กล่าวว่า เป็นที่มาของ “4 ยุทธศาสตร์” ของอนุสิทธิ์ที่เรากำหนดขึ้นเป็นเป้าที่ต้องทำให้ครบทุกด้านในปี 2565 ซึ่งได้แก่  ปกป้องสิทธิเสรีภาพสื่อ – ยกระดับวิชาชีพสื่อมวลชน – ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ – แสวงหาพันธมิตรหลากหลายองค์กร ภายใต้แนวคิดสำคัญ 3 อย่างคือ

หนึ่ง เรายืนยันว่าการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและรายงานข้อเท็จจริงให้สาธารณชนได้รับทราบ เป็นสิทธิ์ที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ดังนั้น การข่มขู่ คุกคาม หรือกระทำการใดๆโดยมิชอบที่มีเจตนาขัดขวางการทำหน้าที่โดยสุจริตของสื่อมวลชน เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และย่อมต้องถูกลงโทษตามกฎหมายหรือกระบวนการที่เกี่ยวข้อง

สอง การดำเนินงานต่างๆของอนุสิทธิ์ ต้องตั้งอยู่บนหลักการด้านความเป็นกลาง (impartiality) และการไม่เลือกปฏิบัติทางใดทางหนึ่ง (inclusivity) กล่าวคือ เราดำเนินการปกป้องสิทธิ์ให้แก่สื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำที่ลิดรอนสิทธิ์ หรืออย่างน้อยก็เป็นปากเสียงเรียกร้องให้มีการตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าสื่อนั้นจะเป็นสำนักใด แขนงใด หรือฝ่ายใด และขณะเดียวกัน ไม่ว่าผู้กระทำผิดนั้นจะเป็นใคร ขั้วการเมืองใด หรือฝ่ายใด ถ้าผิดก็ต้องว่าไปตามผิดเช่นกัน

สาม เราเชื่อในกระบวนการ “กำกับดูแลกันเอง” ของสื่อมวลชน ไม่มีใครเข้าใจสื่อได้ดีกว่าสื่อด้วยกันเองครับ การปกป้องเสรีภาพสื่อก็ดี หรือกวดขันเรื่องจริยธรรมสื่อก็ดี ควรเป็นเรื่องที่องค์กรวิชาชีพสื่อและสื่อมวลชน ไม่ใช่กวักมือเรียกให้รัฐหรือกลุ่มการเมืองใดๆเข้ามาทำให้ เพื่อปิดช่องไม่ให้ใครหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างในการแทรกแซงหรือครอบงำสื่อ

“พูดถึงตรงนี้ต้องขอโน้ตเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า ด้วยเหตุผลข้างต้น ผมจึงเป็นคนส่วนน้อยในองค์กรวิชาชีพสื่อที่คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน มาตลอด เพราะผมเชื่อว่าองค์กรวิชาชีพสามารถทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาอำนาจรัฐมาเกี่ยวข้อง” ธีรนัย กล่าวและว่า

 นอกจากนี้ อนุสิทธิ์ยังได้ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ จากเดิมที่ไม่มีผู้หญิงแม้แต่คนเดียว ซึ่งสวนทางกับความเป็นจริงในวงการสื่อมวลชนที่ทั้งหญิงและชายทำงานควบคู่กัน มีการแสวงหาและชักชวนผู้สื่อข่าวหรือผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นสุภาพสตรี เข้ามาเป็นอนุกรรมการเพื่อขับเคลื่อนภารกิจ จนในปัจจุบัน จำนวนอนุกรรมการฝ่ายสิทธิ์มีสัดส่วนเกือบจะเท่ากันระหว่างหญิงกับชายแล้ว

อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อฯ บอกว่า อานิสงค์ที่ได้จากการดำเนินงานดังกล่าว ไม่เพียงแค่ส่งเสริมหลักการความเสมอภาคทางเพศเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความสามารถและความสนใจต่อสิทธิเสรีภาพ-จริยธรรมสื่อหน้าใหม่ๆ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ คนทำงานสื่อยุคใหม่ และผู้ที่มีความคิดแหวกแนวใหม่ๆ เข้ามามีบทบาทในอนุสิทธิ์มากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการ “ถ่ายเลือด” ให้คณะทำงานมีความก้าวหน้าและทันกับความท้าทายในวงการสื่อยุคปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังคงไว้ซึ่งสมาชิกรุ่นเก่าๆ ที่มีความจัดเจนในวงการสื่อมวลชน เข้าใจปัญหาและสภาพความเป็นจริงเบื้องลึกในเรื่องต่างๆ ผลที่ได้คือการแลกเปลี่ยนทัศนคติและวิธีคิด ประสานกันระหว่าง “ความคิดรุ่นใหม่” กับ “ประสบการณ์รุ่นเก่า”  เพื่อให้การดำเนินงานของอนุสิทธิ์มีสมดุลและเหมาะสมกับเหตุการณ์ต่างๆให้ได้มากที่สุดนั่นเอง

เมื่ออนุสิทธิ์จัดกระบวนการทำงานกันได้แล้ว ก็ได้เดินหน้าภารกิจต่างๆในช่วงปีที่ผ่านมา แบ่งได้เป็นประเภทใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้

@ด้านการปกป้องเสรีภาพ

- ติดตามเหตุการณ์ลิดรอนหรือคุกคามสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน พร้อมเรียกร้องให้มีการตรวจสอบเหตุที่เกิดขึ้นตามกระบวนการ เช่น กรณีผู้สื่อข่าวจากต่างสำนักจำนวนอย่างน้อย 4 ราย ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในเหตุปะทะกับผู้ชุมนุมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 กรณีช่างภาพอิสระถูกทำร้ายหลังถ่ายภาพการชุมนุมใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นต้น

- เป็นองค์กรหลักในการจัดทำและกำกับ “ปลอกแขนแสดงสัญลักษณ์” สำหรับสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง เป็นเครื่องบ่งบอกชัดเจนว่า ผู้สวมใส่มีสถานะเป็นสื่อ ทำหน้าที่ถ่ายทอดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้สาธารณชนได้รับทราบ ไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับใครทั้งสิ้น  จึงสมควรได้รับสิทธิ์ในการปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากการคุกคามและการใช้ความรุนแรง แต่ขณะเดียวกัน อนุสิทธิ์ก็ได้เรียกร้องให้ต้นสังกัด จัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายให้คนทำงานภาคสนามอย่างเหมาะสมด้วย เพื่อลดความเสี่ยงของคนทำงานอีกทางหนึ่ง

- หารือร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อชี้แจงให้เจ้าหน้าที่ได้เข้าใจเกี่ยวกับบทบาทและสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในพื้นที่ชุมนุม พร้อมๆกับหาทางออกร่วมกันในการลดเงื่อนไขความรุนแรง อย่างไรก็ตาม ก็ต้องพูดตรงไปตรงมาว่า ที่ผ่านมาตำรวจยังไม่ค่อยให้ความร่วมมือเท่าที่ควร และคนทำงานภาคสนามยังพบเจอปัญหาเดิมๆซ้ำซากจากเจ้าหน้าที่บางส่วน แต่อนุสิทธิ์ก็จำเป็นต้องหาโอกาสย้ำเตือนกับตำรวจต่อไป

@ด้านการส่งเสริมจริยธรรม

 -  จัดงานเสวนาและการอบรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นความเข้าใจในจริยธรรมสื่อมวลชน เช่น งานเสวนาถอดบทเรียนกรณี “หลวงปู่แสง” สำหรับสื่อมวลชนกระแสหลักโดยเฉพาะในสาขาวิชาชีพข่าวทีวี และการอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับกลุ่ม “ผู้สื่อข่าวพลเมือง” เพื่อเสริมสร้างให้สื่อขนาดเล็กและประชาชนที่สนใจทำหน้าที่สื่อสารมวลชน มีศักยภาพ จริยธรรมวิชาชีพ และความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น ด้วยความหวังว่ากลุ่มสื่อใหม่ๆเหล่านี้ จะช่วยเป็นสื่อทางเลือกที่รายงานข่าวคุณภาพให้ประชาชนได้รับทราบ และยกระดับการแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ให้แก่วงการสื่อโดยรวม 

-  เผยแพร่แนวทางการรายงานข่าวเหตุการณ์สำคัญอย่างเหมาะสมตามหลักจริยธรรม ยึดเอาประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง และเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา เช่น สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน และการสังหารหมู่หรือกราดยิง เป็นต้น

@ด้านความร่วมมือต่างประเทศ

-  เป็นส่วนหนึ่งของการอบรมและฝึกฝนภาคสนามร่วมกับตำรวจควบคุมฝูงชน ณ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ จังหวัดนครปฐม โดยมีองค์การ “ยูเนสโก้” จากสหประชาชาติเป็นเจ้าภาพ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับสื่อมวลชน และการอบรม "การรายงานข่าวการเมือง ด้วยมิติความยุติธรรมทางเพศ" ร่วมกับมูลนิธิ Westminster Foundation for Democracy จากสหราชอาณาจักร

- พูดคุยและให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์สื่อกับบรรดาหน่วยงานต่างประเทศ ตลอดจนสถานทูตต่างๆ ที่ปฏิบัติงานในประเทศไทย เพื่อจะได้เข้าใจปัญหาและความท้าทายด้านสิทธิเสรีภาพและจริยธรรมสื่อมวลชนในประเทศไทย

- เชื่อมความสัมพันธ์กับองค์กรด้านสิทธิเสรีภาพทั้งในภูมิภาคและระดับโลก เช่น พันธมิตรสื่อมวลชนอิสระแห่งประเทศอินโดนีเซีย (AJI) ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นเจ้าภาพใหญ่ในโครงการเฝ้าระวังสิทธิเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เครือข่ายเสรีภาพสื่อสากล (IFEX) และสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ประจำประเทศไทย เป็นต้น

“จะเห็นได้ว่าครอบคลุมครบทั้ง 4 ยุทธศาสตร์ที่อนุสิทธิ์ได้ตั้งไว้ ซึ่งผมต้องขอบคุณเพื่อนๆและพี่น้องในฝ่ายสิทธิ์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นกรรมการสมาคมท่านอื่นๆ บรรดาท่านที่ปรึกษา และอนุกรรมการฝ่ายสิทธิ์ โดยเฉพาะคนทำงานสื่อรุ่นใหม่(แถมไฟแรง)ที่ผมขออนุญาตเอ่ยชื่อมา ณ ที่นี้ อย่าง “พลอย - วศินี พบูประภา” จาก WorkpointTODAY, “ผักกาด -  จามาศ โฆษิตวิชญ” จาก PlusSeven, “เพนท์ - ศวิตา พูลเสถียร” จาก The Standard และ “หนู - นลัทพร ไกรฤกษ์” จาก ThisAble.Me

และที่ขาดไม่ได้ก็คือ “สตาฟ” หรือเจ้าหน้าที่ประจำของสมาคมนักข่าวฯทุกคน ซึ่งปีกว่าที่ผ่านมาต้องเหนื่อยกว่าเดิมเป็นพิเศษ เพราะอนุสิทธิ์เราเคลื่อนไหวกันในหลายเรื่องหลายประเด็น ช่างสรรหาภาระมาให้สตาฟอยู่เรื่อย (ฮา) แต่เจ้าหน้าที่ทุกคนก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในทุกโอกาส ทำให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงมาได้โดยตลอด” ธีรนัย กล่าว

ทั้งนี้ ธีรนัย กล่าวย้ำว่า แต่แน่นอนว่า ภารกิจของอนุสิทธิ์ต้องเดินหน้าอีกเรื่อยๆ ไม่ควรหยุดแค่นี้ เพราะทั้งตัวอนุสิทธิ์และตัวสมาคม ควรมีบทบาทเป็น "watchdog" หรือองค์กร “สุนัขเฝ้าบ้าน” ในระยะยาวสืบไป กล่าวคือ เป็นองค์กรที่คอยส่งเสียง (ถ้าใช้ภาษาอินเตอร์เน็ตสมัยนี้ ต้องเรียกว่า “คอลเอาท์”) เมื่อมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน หรือละเมิดจริยธรรมสื่อมวลชนอย่างรุนแรง ไม่ว่าผู้กระทำนั้นจะเป็นใคร หรือสถานะใด หรือฝ่ายใด หรือขั้วการเมืองใด

ธีรนัย กล่าวต่อไปว่า จริงอยู่ว่า สมาคมนักข่าวฯและองค์กรวิชาชีพสื่ออื่นๆ มักจะถูกวิจารณ์เป็นประจำว่า มีสถานะไม่ต่างจาก “เสือกระดาษ” เพราะไม่ได้มีอำนาจลงโทษหรือเอาผิดใครได้

“ในประเด็นนี้ ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ ท่านได้กรุณาตั้งโจทย์ให้สมาคมไว้ว่า สมาคมนักข่าวฯต้องสามารถมีมาตรการจัดการกับสื่อที่กระทำผิดจริยธรรมซ้ำซาก และมีบทลงโทษที่ชัดเจน (ดูบทความ “สมาคมนักข่าวฯ ต้องปรับตัว คุมเข้มจริยธรรม ดูแลชีวิตคนทำข่าว”) ผมถือโอกาสนี้ตอบอาจารย์ท่านไปด้วยเลยว่า ถ้าหากพูดถึงบทลงโทษนั้น คงเกินกำลังของอนุสิทธิ์ เพราะด้วยสถานะ “เสือกระดาษ” คงไม่สามารถทำอะไรใครได้เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะทั้งคนที่ละเมิดเสรีภาพสื่อ หรือละเมิดจริยธรรมสื่อ แต่สมาคมก็ควรเป็นเสือกระดาษที่ทำหน้าที่จริงๆ คอยส่งเสียงตลอด อย่างน้อยที่สุดน่าจะช่วย “เขียนเสือให้วัวกลัว” ได้อยู่บ้าง เพราะสมาคมก็เป็นองค์กรวิชาชีพ ที่มีพันธกิจในการผดุงไว้ซึ่งเสรีภาพสื่อและจริยธรรมสื่อโดยตรง  โดยเฉพาะในบ้านเมืองสมัยปัจจุบัน ที่สื่อต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กฎหมายที่ผมเห็นว่ามีเนื้อหาและการบังคับใช้ที่กระทบต่อเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและนำเสนอข้อมูลข่าวสาร อันได้แก่ กฎหมายมาตรา 112, กฎหมายหมิ่นประมาท, และพ.ร.บ.ความผิดทางคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ถึงแม้จะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็เป็นการบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นไว้ในประวัติศาสตร์ ให้ชนรุ่นหลังได้รับทราบสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และส่งสัญญาณให้สื่อที่พยายามใช้เสรีภาพ (เท่าที่ทำได้) และยึดมั่นจริยธรรมอยู่ในขณะนี้ ได้รับทราบว่าพวกเขาไม่ได้ต่อสู้หรือทวนกระแสอยู่อย่างโดดเดี่ยวครับ” ธีรนัย กล่าว

ท้ายสุดนี้ ธีรนัย กล่าวย้ำว่า เสรีภาพสื่อกับจริยธรรมสื่อ เป็นสิ่งที่ต้องมาคู่กัน และสมาคมสามารถขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมทั้งสองหลักการได้พร้อมๆ กัน ไม่ควรละทิ้งอันใดอันหนึ่งไป ในฐานะองค์กร “สุนัขเฝ้าบ้าน” ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว “ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า ถ้าหากมีเสรีภาพ จะไม่มีข่าวไร้สาระ ข่าวคลิกเบต ข่าวดราม่าดารา เพราะแม้แต่ในประเทศประชาธิปไตยที่สื่อมวลชนมีเสรีภาพพอสมควร เราก็ยังเห็นข่าวประเภทนั้นเป็นประจำเหมือนกัน ดังนั้น เสรีภาพสื่อไม่ได้ทำให้สื่อไร้คุณภาพน้อยลงหรือหายสาบสูญเสมอไป ดูสหรัฐอเมริกา หรือสหราชอาณาจักรเป็นตัวอย่าง แต่ขณะเดียวกัน ในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา หรือสหราชอาณาจักร ก็มีสื่อคุณภาพ สื่อที่ปกป้องผลประโยชน์แห่งสาธารณะ และสื่อที่ยึดมั่นในหลักจริยธรรม จนกลายเป็นมาตรฐานของวิชาชีพสากล เป็นเพราะในประเทศเหล่านั้นเสรีภาพสื่อได้รับการคุ้มครองอย่างจริงจังนั่นเอง จึงเป็นเงื่อนไขที่ทำให้สื่อคุณภาพเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้ สามารถทำงานได้ และอยู่รอดมาได้โดยที่ไม่ต้องกลัวที่จะโดนผู้มีอำนาจสั่งปิดหรือ “จอดำ” เสียก่อน แบบที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลายๆประเทศที่เสรีภาพสื่อด้อยกว่า ฉันใดก็ฉันนั้นครับ ถ้าหากในประเทศไทยของเรามีเสรีภาพสื่อ สื่อคุณภาพจะมีโอกาสฟูมฟักขึ้นมาอย่างยั่งยืนเช่นกัน เพราะถ้าหากไม่มีเสรีภาพสื่อ ก็ไม่มีทางที่จริยธรรมสื่อจะกลายเป็นมาตรฐาน (norm) ที่สื่อมวลชนหลายแห่งยึดเอามาปฏิบัติ เนื่องจากเขาคำนวณแล้วว่า ทำงานมีจริยธรรมแต่โดนเพ่งเล็งหรือโดนเล่นงาน โดยที่ไม่มีใครส่งเสียงหรือยื่นมือช่วยเหลือ ไม่คุ้มกันแน่ๆ สู้ไปขายข่าวไร้สาระไปวันๆ หรือเสนอข่าวเอาใจนายทุนและผู้มีอำนาจอย่างเดียวดีกว่า” ธีรนัย กล่าวทิ้งท้าย

หมายเหตุ เนื้อหามาจาก หนังสือวันนักข่าว 2566