สมาคมนักข่าวฯ ต้องปรับตัวคุมเข้มจริยธรรม ดูแลชีวิตคนทำข่าว

"สมาคมนักข่าวฯเอง นอกจากส่งเสริมเรื่องความซื่อสัตย์ จริยธรรม ความเป็นกลางในการนำเสนอข่าวแล้ว ควรจะยกมาตรฐานของนักข่าว ส่งเสริมวิชาชีพให้พวกเขาพร้อมปรับตัวทำงานข่าวในรูปแบบสื่อที่หลากหลายมากขึ้น” ดร. สิขเรศ ศิรากานต์ กล่าว

ตั้งแต่เทคโนโลยี โลกออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตของผู้คนมากขึ้น ส่งผลให้ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องรอการรายงานจากผู้ที่เคยได้รับขนานนามว่าเป็น ฐานันดรที่ 4 “สื่อมวลชน” ในการนําเสนอข่าวสารความจริงออกสู่สาธารณชนที่มีอิทธิพลต่อการดําเนินชีวิตประจําวันของผู้คนในสังคม

ทว่าปัจจุบัน “สื่อมวลชน” ถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงบทบาทในการทำหน้าที่ของตนเอง ด้วยการเข้าไปลงเล่นในสนามเดียวกับสื่อใหม่ อย่าง เฟสบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์ อินสตราแกรม และ Youtube ที่ผู้คนให้ความสนใจและติดตาม เน้นเรื่องของความรวดเร็วในการนำเสนอข่าว เพื่อต้องการเรตติ้ง ต้องการผู้ติดตามเว็บไซต์ข่าว เพจข่าวขององค์กรสื่อตนเอง มากกว่าจะนำเสนอข่าวเชิงลึก หรือข่าวที่คำนึงถึงประโยชน์ของผู้อ่าน จนทำให้ “สื่อมวลชน” ในองค์กรสื่อ บริษัทสื่อหลายๆ แห่งไม่ได้รับความน่าเชื่อถือจากผู้คนอย่างในอดีต

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม ย่อมทำให้ “องค์กรสื่อ สื่อมวลชน” ต้องปรับตัวสร้าง Content (เนื้อหา)ที่เป็นข้อเท็จจริง มีความแปลก ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และต้องนำเสนอข่าวเชิงเจาะลึก ไม่ใช่เพียงรายงานข่าว ใครทำ อะไร ที่ไหน อย่างไร เพราะการทำอย่างนั้น ใครๆ ก็เป็นสื่อได้ อีกทั้ง สื่อมวลชนต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจในบริบทสภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างที่รู้ว่าจะไม่มีวันหวนกลับไปที่จุดเดิมได้อีก

0ปรับตัวทำงานควบคู่กัน

ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิทัลและสื่อใหม่ กล่าวว่าสื่อมวลชนและสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ทั้ง 2 ส่วนนี้จะต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องและต้องทำงานควบคู่กันเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ทศวรรษใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และที่สำคัญในแต่ละองค์กรสื่อควรจะมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในข่าวแต่ละประเภท ไม่ควรบกพร่องในการรายงานข่าวที่ไม่ใช่เพียงนำเสนอความจริง ข้อเท็จจริงเท่านั้น แต่ต้องวิเคราะห์ นำเสนอข่าวเชิงลึก

 “ในปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ประเทศได้เกิดวิกฤตการณ์ในหลายเรื่อง ทั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ แต่เมื่อเราดูนักสื่อสารมวลชน นักข่าวในองค์กรสื่อต่างๆ กลับขาดผู้ที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล กลั่นกรองข้อมูล และนำเสนอความจริงที่ถูกต้อง โดยไม่เอนเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ข่าวแต่ละประเภทขาดผู้สื่อข่าวที่เชี่ยวชาญเพาะทางในการให้ข้อมูล” ดร.สิขเรศกล่าว

นักข่าว สื่อมวลชนในองค์กรสื่อหรือสื่อเดิม อย่าง สื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ จะหยิบยกประเด็นทางโซเซียลมีเดียมานำเสนอ ซึ่งขาดความลึกซึ้ง เจาะลึกในประเด็นนั้นๆ ทำให้สื่อเดิม ไม่ได้แตกต่างจากสื่อใหม่ และถูกเรียกร้องให้กลับมาทำบทบาทสื่อที่ควรจะทำ

0องค์กรสื่อควรมีอุดมการณ์นิยม 20%

ดร.สิขเรศ กล่าวต่อว่าปัญหาของแวดวงสื่อมวลชนเป็นปัญหาคลาสสิกที่เกิดขึ้นมาหลายสิบปี และไม่สามารถแก้ได้ คือ การสร้างความสมดุลระหว่างวิชาชีพกับธุรกิจ เพราะต้องยอมรับว่าทั้งองค์กรสื่อเอง สมาคมนักข่าวฯเอง ส่วนหนึ่งก็เป็นในรูปแบบธุรกิจ โดยเฉพาะองค์กรสื่อ การทำหน้าที่ การนำเสนอประเด็นส่วนหนึ่งต้องคำนึงถึงความต้องการของสังคม ความชอบของคนในสังคม นักวิชาชีพเองต้องหาคำตอบ สร้างดุลยภาพให้เกิดขึ้น

 “ผมไม่ได้เสนอว่าองค์กรสื่อ สื่อมวลชน สมาคมนักข่าวฯ ต้องเป็นอุดมการณ์นิยมเกินไป แต่สัดส่วนในการนำเสนอข่าวสารควรจะมีหลายมิติ ทั้งเกี่ยวกับเรตติ้ง ความสนใจสาธารณะ ยอดวิว และควรจะมีการนำเสนอข่าวเชิงวิชาการ เชิงเจาะลึกควบคู่ร่วมด้วย เพราะเข้าใจว่าองค์กรสื่อก็เป็นเสมือนหนึ่งในองค์กรธุรกิจที่มีความจำเป็นต้องเอาใจทุน เอาใจตลาด ในกองบรรณาธิการ โต๊ะข่าว ควรส่งอรรถประโยชน์ในอุดมการณ์นิยม เพียง 20% เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาทุนนิยมและต้องเป็นอุดมการณ์นิยมอย่างมีเหตุมีผล ซึ่งกองบรรณาธิการต้องมีการนำเสนอข่าวในรูปแบบนี้” ดร.สิขเรศ กล่าว

ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิทัลและสื่อใหม่

"สมาคมนักข่าวฯเอง นอกจากส่งเสริมเรื่องความซื่อสัตย์ จริยธรรม ความเป็นกลางในการนำเสนอข่าวแล้ว ควรจะยกมาตรฐานของนักข่าว ส่งเสริมวิชาชีพให้พวกเขาพร้อมปรับตัวทำงานข่าวในรูปแบบสื่อที่หลากหลายมากขึ้น”

0สมาคมนักข่าวฯ ยกมาตรฐานคนทำข่าว

ยุคสมัยที่เปลี่ยนทำให้ทุกคนเข้าใจนักข่าว เข้าใจองค์กรสื่อ สมาคมนักข่าวฯ มากขึ้นว่าส่วนหนึ่งต้องขับเคลื่อนในรูปแบบของธุรกิจสื่อ และเชื่อว่านายทุน นักวิชาการเอง และประชาชนเองเข้าใจเรื่องเหล่านี้ เพียงแต่ควรมีการกำหนดหลักการ สัดส่วนในการนำเสนอข่าวอย่างชัดเจน อาทิ ใน 1 เดือน ควรมีข่าวเจาะลึกประเด็นนั้นๆ อย่างละ 1-2 ข่าว เป็นต้น

ดร.สิขเรศ กล่าวต่อไปว่า สำหรับภาพรวมของสมาคมนักข่าวฯ นั้น ในปัจจุบันยังคงทำหน้าที่ตามบทบาทเดิมๆ เช่น บทบาทการส่งเสริมจริยธรรม จรรยาบรรณ อบรม ส่วนการกำกับดูแลในส่วนอื่นๆ ยังมีน้อยอยู่ ยิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านจะเห็นบทบาทของสมาคมนักข่าวฯ มีความเข้มข้นที่ลดลง และไม่ได้ส่งผลต่อการทำงานของนักข่าวในแต่ละองค์กร

“ตอนนี้บทบาทที่สำคัญของสมาคมนักข่าวฯ คือการเตรียมพร้อมนักวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพ สู่ทศวรรษใหม่ เพราะขณะนี้

การดิสรัปชั่น การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา กองบรรณาธิการต้องประสบปัญหาการใช้วิทยาการข้อมูลในการรายงานข่าวให้มีประสิทธิภาพ การฝึกนักข่าวให้สามารถทำงานที่หลากหลายแต่ยังคงจริยธรรมสื่อเอาไว้ ดังนั้น สมาคมนักข่าวฯเอง นอกจากส่งเสริมเรื่องความซื่อสัตย์ จริยธรรม ความเป็นกลางในการนำเสนอข่าวแล้ว ควรจะยกมาตรฐานของนักข่าว ส่งเสริมวิชาชีพให้พวกเขาพร้อมปรับตัวทำงานข่าวในรูปแบบสื่อที่หลากหลายมากขึ้น”ดร.สิขเรศ กล่าว

0ดูแลสวัสดิการ สร้างความมั่นคงอาชีพ

ดร.สิขเรศ กล่าวอีกว่าสิ่งที่อยากให้สมาคมนักข่าวฯ ดำเนินการมากที่สุดในตอนนี้ คือการ ยกมาตรฐานของแรงงานของนักข่าว ทั้งในเรื่องการทำงาน และความมั่นคงอยู่รอดของคนทำข่าว เพราะในปัจจุบันบางองค์กรสื่ออาจมีสหภาพแรงงานแต่อาจจะไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ช่วยนักข่าว คนทำข่าวไม่ได้อย่างแท้จริง ขณะเดียวกัน เรื่องสวัสดิการ ความมั่นคงของอาชีพนี้ ความมั่นคงด้านคุณภาพชีวิตของนักข่าวยังมีน้อยอยู่เมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ อยากให้นักข่าว นักวิชาชีพอยู่ในกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ และสมาคมนักข่าวฯ ควรจะผลักดันในเรื่องนี้ รวมถึงการสร้างความมั่นด้านอาชีพ คุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

ในความเป็นจริง อาชีพนักข่าวไม่ค่อยมีเรื่องของสวัสดิภาพ หรือสวัสดิการแรงงานที่ดี โดยเฉพาะนักข่าวที่ต้องลงสนามข่าว ผู้ประกอบการ องค์กรสื่อ หรือแม้แต่สมาคมนักข่าวฯ จะเหลียวแลน้อย ทั้งด้านสวัสดิการ การพัฒนาองค์ความรู้ ตอนนี้องค์กรสื่อย้ายจากระบบจากแอนะล็อกมาเป็นดิจิตอล 10 กว่าปีแล้ว แต่ยังมีนักข่าวที่ขาดองค์ความรู้ในการใช้เครื่องมือ ในการปรับตัวเข้าสู่การทำงานใหม่ๆ

 "อยากแนะนำสมาคมนักข่าวให้ปรับเปลี่ยน ไม่ได้การเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการแต่ควรมีรูปแบบ วิธีคิดใหม่ๆ ในการดูแลองค์กรสื่อ และนักข่าว เช่น เรื่องปัญหาจริยธรรมจรรยาบรรณสื่อ ต้องมีวิธีการใหม่ๆ ที่จะทำให้เกิดการไม่ทำผิดซ้ำ ควรมีบทลงโทษที่ชัดเจน เพื่อยกเกียรติภูมิ ยกมาตรฐานวิชาชีพสื่อที่ต้องอาศัยความน่าเชื่อถือ  เกียรติภูมิ หรือคุณค่าวิชาชีพ ถ้าสมาคมนักข่าวฯสามารถส่งเสริมให้นักข่าวทำหน้าที่ได้อย่างมีเสถียรภาพจะนำไปสู่การสร้างคุณค่า หรือมาตรฐานวิชาชีพได้"

0 3หลักที่นักข่าวรุ่นใหม่ต้องนำมาใช้

ดร.สิขเรศ กล่าวด้วยว่า องค์กรสื่อมีทั้งนักข่าวรุ่นเก่าและนักข่าวรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องทำงานควบคู่หลากหลายวัย ดังนั้น อยากฝากถึงนักข่าวรุ่นใหม่ ควรใช้ 3 หลักในการปฎิบัติงาน คือ ถอดแบบ เรียนรู้ และยกเลิก โดยถอดแบบ การนำสิ่งดีๆ ของรุ่นพี่มาใช้เป็นแนวในการทำงาน เรียนรู้ ควรจะเรียนรู้เฉพาะในเรื่องดีๆ จากรุ่นพี่นักข่าว กองบรรณาธิการ และยกเลิก ละเว้นในสิ่งที่ไม่ควรทำ ซึ่งการทำงานข่าวตั้งแต่การผลิต การรายงานข่าว การลงพื้นที่ภาคส่วน ต้องไม่มีการแทรกแซงจากการเมือง จากภาคธุรกิจ และไม่คำนึงถึงความใกล้ชิด สนิทสนมกับแหล่งข่าว เรื่องเหล่านี้ส่วนใหญ่นักข่าวรุ่นเก่าจะชอบทำ

 “วิถีปฎิบัติแก่นักการเมือง นักธุรกิจ แหล่งทุน ควรมีการแบ่งแยกออกจากกันอย่างชัดเจน ไม่อยากให้นักข่าวไม่ว่าจะรุ่นเก่า หรือรุ่นใหม่ไปด้อยค่าวิชาชีพ หลายๆเรื่องเป็นวิถีปฎิบัติที่นักข่าวรุ่นเก่าชอบทำซึ่งอาจทำให้เชิงคุณค่าในศักดิ์ศรีและวิชาชีพลดลง นักข่าวรุ่นใหม่ควรละเว้น ขณะเดียวกัน นักข่าวรุ่นเก่าควรจะเปิดใจ ทำงานร่วมกับเด็กรุ่นใหม่

ควรผลักดันให้องค์กรสื่อมีธรรมาภิบาลในการทำงาน และควรเปิดรับคนรุ่นใหม่เข้ามาในสมาคมนักข่าวฯ เพื่อให้เกิดความหลากหลาย และให้เท่าทันกับโลกที่ปรับเปลี่ยนไป

0เปิดโอกาสคนรุ่นใหม่ สู่สมาคมนักข่าวฯ

ดร.สิขเรศ กล่าวทิ้งท้ายว่า อาชีพไหนก็ต่างมีนักธุรกิจ นายทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะนั่นเป็นความอยู่รอดขององค์กร ซึ่งองค์กรสื่อ และสมาคมนักข่าวฯต้องยอมรับดุลยภาพ อุดมการณ์วิชาชีพ และรับมือกับทุนนิยมให้ได้ โดยที่องค์กรสื่อ สมาคมนักข่าวฯ ต้องขับเคลื่อนการทำหน้าที่สื่อ การผลิตเนื้อหา นำเสนอข้อเท็จจริงที่สร้างประโยชน์ให้แก่สังคม และควรมีข้อตกลงเงื่อนไขที่ชัดเจนกับนายทุน ต้องยึดหลักปฎิบัติในการทำหน้าที่สื่อ หากจำเป็นต้องลงโฆษณาในสื่อไม่ว่าจะ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ ก็ระบุให้ชัดเจนว่าเป็นโฆษณา และควรมีเส้นมาตรฐานในการทำงานไว้

 “สมาคมนักข่าวฯ ควรผลักดันให้องค์กรสื่อมีธรรมาภิบาลในการทำงาน และควรเปิดรับคนรุ่นใหม่เข้ามาในสมาคมนักข่าวฯ เพื่อให้เกิดความหลากหลาย และให้เท่าทันกับโลกที่ปรับเปลี่ยนไป ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าบทบาทภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมกับสมาคมนักข่าวฯ มากน้อยขนาดไหน แต่ควรมีขอบเขตการทำงานที่ชัดเจน กรอบข้อตกลงร่วมกันโดยที่ภาคธุรกิจต้องไม่แทรกแซง ซึ่งกลุ่มนายทุน ภาคธุรกิจในปัจจุบันมีความเข้าใจองค์กรสื่อ สมาคมนักข่าวฯ คนทำข่าวมากขึ้น และประชาชนก็มีความตื่นตัวเกี่ยวกับการทำหน้าที่สื่อพอสมควร สื่อควรทำหน้าที่โดยสุจริต ยึดจริยธรรมจรรยาบรรณวิชาชีพให้ได้มากที่สุด” ดร.สิขเรศ กล่าวทิ้งท้าย

หมายเหตุ เนื้อหามาจาก หนังสือวันนักข่าว 2566