ปรับโฉมสมาคมนักข่าวฯ เท่าทันองค์กรสื่อ โลกยุคดิจิทัล

อาชีพนักข่าว สื่อมวลชน เป็นอาชีพที่ไม่มีสินค้าชัดเจน แต่เป็นอาชีพที่ขายความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะทำให้องค์กรสื่อน่าเชื่อถือได้ ต้องมีการนำเสนอข่าวตามความจริง มีการวิเคราะห์ข่าวเจาะลึก มีความแม่นยำของเนื้อหา โดยผ่านการรีเช็กอย่างถูกต้อง

เมื่อ “สื่อมวลชน องค์กรสื่อ”แตกต่างไปจากอดีต จนทำให้เกิดคำถามว่าบทบาทหน้าที่ การทำงานของสื่อ องค์กรสื่อในปัจจุบันควรเป็นอย่างไร? และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หน่วยงานกำกับ ดูแล ควบคุมการทำงานของสื่อได้ทำตามหน้าที่หรือไม่ ? และควรปรับตัวอย่างไร?ให้คงอยู่ ภายใต้ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปของผู้คน และเทคโนโลยี

บทบาทของสื่อมวลชน องค์กรสื่อ และสมาคมนักข่าวฯ นั้นจะมีความเหมือนในเรื่องของการดำรงซึ่งอุดมการณ์วิชาชีพ จริยธรรม จรรยาบรรณของคนทำข่าว โดยรูปแบบการทำงานเป็นไปตามบทบาทหน้าที่ และในทางปฎิบัติย่อมต่างกัน ยุคดิจิทัลดิสรัปชั่นส่งผลให้ “สื่อมวลชนไทย” ต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปตามเดิมอย่างมาก ซึ่งสื่อจำนวนไม่น้อยที่ยกเครื่องกลยุทธ์การทำงานและนำเสนอข่าวสารเนื้อหาต่างๆ ที่แตกต่างไปอย่าง ปรับเข้าสู่สื่อที่ใช้ช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางหลักในการสื่อสาร

0นักข่าวไม่มีสินค้า ขายความน่าเชื่อถือ

       “องค์กรสื่อ สื่อมวลชน”ต้องทำหน้าที่ไม่ใช่เพียงการนำเสนอข่าวเท่านั้น แต่ต้องเชี่ยวชาญในสายข่าวของตนเอง ในบทสัมภาษณ์นี้ “นพฤทธิ์ กมลสุวรรณ ผู้สื่อข่าวเทคโนโลยี SPRiNG News , พิธีกรรายการ SPRiNG Digital Life และ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ BrickinfoTV.com” ค่อยๆ คลี่ถึงบทบาทของนักข่าว องค์กรสื่อ และสมาคมนักข่าวฯ ที่ควรจะเป็น

      “จากการทำงานในแวดวงสื่อมาประมาณ 5 ปี ตั้งแต่การทำโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ และออนไลน์ ต้องยอมรับว่าขณะนี้สื่อมวลชน องค์กรสื่อทำงานได้ง่ายขึ้นแต่มีความท้าทายมากขึ้น ซึ่งในส่วนที่ทำงานง่ายขึ้น เพราะสามารถหาข้อมูลได้จากสื่อใหม่ อย่าง เฟสบุ๊ก ทวิตเตอร์ สื่อออนไลน์ได้ตลอดเวลา จนทำให้สื่อมวลชนทำงานแข่งกันเวลา และทำงานกับสื่อใหม่มากขึ้น จนทำให้ต้องแลกกับความแม่นยำ หลายกรณีนักข่าวเขียนข่าวจากโลกออนไลน์ โดยที่ไม่ได้กลั่นกรอง เพียงนำเสนอให้เข้าถึงผู้อ่านมากที่สุด เพื่อเรตติ้ง เพื่อยอดวิว”นพฤทธิ์ กล่าว

    ทุกองค์กรสื่อต้องทำงานแข่งกับเวลา และต้องการยอดวิวเพื่อความอยู่รอด เพื่อรายได้ขององค์กร เพราะองค์กรสื่อในปัจจุบันล้วนมีนายทุนเป็นผู้สนับสนุน

    นพฤทธิ์ กล่าวต่อว่าอาชีพนักข่าว สื่อมวลชน เป็นอาชีพที่ไม่มีสินค้าชัดเจน แต่เป็นอาชีพที่ขายความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะทำให้องค์กรสื่อน่าเชื่อถือได้ ต้องมีการนำเสนอข่าวตามความจริง มีการวิเคราะห์ข่าวเจาะลึก มีความแม่นยำของเนื้อหา โดยผ่านการรีเช็กอย่างถูกต้อง ที่สำคัญ สื่อมวลชน องค์กรสื่อต้องเป็นกระจกสะท้อนสังคม นำเสนอข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อผู้อ่าน ซึ่งต้องไม่คล้อยตามกระแสมากจนเกินไป

    “การทำข่าวออนไลน์ นักข่าวต้องปรับตัวค่อนข้างมาก และการทำข่าวต้องอิงกับแฮชแท็ก(Hashtag) เพื่อทำให้คนค้นหาข่าวของเราเจอ ทำให้บางครั้งการพาดหัวข่าว หรือเนื้อข่าวต้องปรับเปลี่ยนไปตามแฮชแท็ก เช่น ข่าวสายชาร์ตดูดเงิน ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นสายชาร์ตดูดข้อมูล นักข่าวต้องพิมพ์ตามคีย์เวิด ตามที่สังคมเข้าใจ แต่ในเนื้อก็ต้องนำเสนอข่าวตรงกับข้อเท็จจริง และควรมีการเพิ่มเติมความรู้ให้แก่ประชาชนเข้าใจอย่างตรงไปตรงมา” นพฤทธิ์ กล่าว

นพฤทธิ์ กมลสุวรรณ ผู้สื่อข่าวเทคโนโลยี SPRiNG News , พิธีกรรายการ SPRiNG Digital Life และ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ BrickinfoTV.com”

ควรจะเพิ่มคนรุ่นใหม่เข้าสู่องค์กร เพราะปัจจุบันสื่อเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการมีเพียงคนรุ่นเก่าอยู่อาจจะทำให้ไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสื่อต่างๆ ขณะเดียวกันควรมีการเชื่อมต่อคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่เข้าด้วยกัน เนื่องจากการทำงานจะมีความหลากหลายเจนมากขึ้น

0สมาคมนักข่าวฯ ต้องดูแลสื่อใหม่-สื่อเก่า

     ในส่วนของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยนั้น ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี “นพฤทธิ์” มองว่ายังคงทำหน้าที่แบบตรงไปตรงมา และจะมุ่งเรื่องของการส่งเสริมจริยธรรม จรรยาบรรณสื่อมากกว่า การเรียกร้องสิทธิ หรือสวัสดิการสำหรับนักข่าว ทั้งสื่อใหม่ สื่อเก่า

     นพฤทธิ์ กล่าวอีกว่าสมาคมนักข่าวฯ จะกำกับดูแลสื่อเก่ามากกว่าสื่อใหม่ ทั้งที่สื่อใหม่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของประชาชนมากขึ้น เพราะด้วยความรวดเร็วจนทำให้บางครั้งขาดความแม่นยำ น่าเชื่อถือ รวมถึงสิทธิ เสรีภาพสื่อ และจรรยาบรรณ คนทำข่าวในสื่อใหม่อาจจะไม่ได้ถูกควบคุมโดยสมาคมนักข่าวฯ ดังนั้น โดยส่วนตัวมองว่าสมาคมนักข่าวฯ ที่ผ่านมา ทำหน้าที่ดูแลสื่อเก่ามากกว่าสื่อใหม่

ขณะเดียวกันภาครัฐเองก็ก้าวตามไม่ทันสื่อใหม่น การที่มีสื่อโซเชียลเข้ามา มีนักเฟซบุ๊กไลฟ์เข้ามา และการเปลี่ยนแปลงอัลกอริทึมของ Google , Facebook และสื่อโซเชียลอื่น ๆ ทำให้คนข่าวติด “กับดักอัลกอริทึม” คือ การที่ต้องคล้อยตามกระแสโซเชียล คล้อยตามกระแส Google จนทำให้เราหลงลืมความเป็นตัวตนของนักข่าวไป

      “ส่วนตัวเชื่อว่าหน้าที่ของสมาคมฯหลังจากนี้ นอกจากการรักษาสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน (ที่ทำได้ดีอยู่แล้ว) คือ การสร้างเสริมการรู้เท่าทันสื่อยุคใหม่ ไม่คล้อยตามกระแสโซเชียล หรือ ใส่ความรู้ความเป็นสำนักข่าวลงไปในเนื้อข่าวมากกว่า แค่รายงานว่า สิ่งนั้น ๆ เป็นกระแส เช่น กรณีของเพลง ทรงอย่างแบด (Bad Boy) ของ เปเปอร์ เพลนส์ หลายสำนักข่าวทำออกมาได้ดีมากในการหาสูตรสำเร็จว่าเพลงนี้ทำไมถึงดังในหมู่ “วัยรุ่นฟันน้ำนม” จนเป็นกระแสในสังคม ซึ่งเป็นการต่อยอดมากกว่าแค่รายงานว่า เพลงนี้ดัง” นพฤทธิ์ กล่าว

0ควรเพิ่มคนรุ่นใหม่ เข้าในสมาคมนักข่าวฯ

   นพฤทธิ์ กล่าวด้วยว่าสิ่งที่สมาคมนักข่าวฯ ควรทำในอนาคต คือการเรียกร้องอธิปไตยในแพลตฟอร์มต่างชาติที่มาสร้างรายได้ในประเทศไทย เช่น Facebook Google และ LINE ที่ปรับลดอัลกอริทึม หรือระบบการขึ้นฟีด ซึ่งเป็นช่องทางหลักในการดึงคนเข้าสู่หน้าเว็บไซต์ของสำนักข่าว เพราะปัจจุบันหลายสำนักข่าวถูกลดการมองเห็นเพจ ข่าวดี ๆ ไม่มีคนดู ซึ่งศาลในบางประเทศสั่งให้แพลตฟอร์มจ่ายเงินให้สำนักข่าวด้วยก็มี เพราะมองว่าสำนักข่าวผลิตคอนเทนต์มาป้อนให้แพลตฟอร์มนำไปสร้างรายได้ต่อ

     ขณะเดียวกันการเปิดให้ประชาชนสามารถอ่านข่าวอย่างเสรีก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่แพลตฟอร์มควรทำ มากกว่าการคัดเนื้อหาโดยตัวแพลตฟอร์มเองที่คิดว่าจะเป็นกระแสและมีคนอ่านลงในพลตฟอร์มตัวเอง อย่างของ LINE TODAY

      “สมาคมนักข่าวฯ ควรจะเพิ่มคนรุ่นใหม่เข้าสู่องค์กร เพราะปัจจุบันสื่อเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการมีเพียงคนรุ่นเก่าอยู่อาจจะทำให้ไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสื่อต่างๆ ขณะเดียวกันควรมีการเชื่อมต่อคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่เข้าด้วยกัน เนื่องจากการทำงานจะมีความหลากหลายเจนมากขึ้น บางทีการไม่มีคนรุ่นใหม่ อาจทำให้ขาดไอเดียใหม่ๆ ควรผสมผสานกับความเก๋าของพี่ๆ ในสนามและความทันสมัย ไอเดียของคนรุ่นใหม่ด้วยกัน เพื่อทำให้สมาคมนักข่าวฯ ปรับตัว และก้าวทันเทคโนโลยีมากขึ้น” นพฤทธิ์ กล่าว

     สมาคมนักข่าวฯ ต้องทำงานร่วมกับหลายๆ องค์กร และไม่ได้เป็นองค์กรที่สามารถควบคุมองค์กรสื่อได้อย่างชัดเจน ควรจะเพิ่มบทบาทของตัวเองให้มากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการดูแลกำกับสื่อ มีขอบเขตที่ชัดเจน และเพิ่มสวัสดิการ เรียกร้องแทนองค์กรสื่อ เพื่อความอยู่รอดของสื่อและเป็นองค์กรสื่อที่มีคุณภาพ

หมายเหตุ เนื้อหามาจาก หนังสือวันนักข่าว 2566