ชิงดำ “ประธานสภา” : ก้าวไกล Vs เพื่อไทย

“ประธานสภาผู้แทนราษฎร" มีบทบาทสำคัญ เป็นเกียรติสูงสุดสำหรับฝ่ายนิติบัญญัติ ภารกิจทั้งหมดที่เป็นของรัฐสภา ประธานรัฐสภา หรือประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นคนเดียวกัน มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง เป็นศักดิ์เป็นศรีบารมีทางการเมืองสูง”


2 พรรคชิงประมุขนิติบัญญัติ เพราะ "ชนะไม่ขาด!"

“เสาวลักษณ์ วัฒนศิลป์" บรรณาธิการข่าวการเมือง ไทยพีบีเอส วิเคราะห์เบื้องหลังเหตุผลที่พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล พยายามช่วงชิงตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ผ่าน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า ทั้ง 2 พรรค กำลังต่อรองตำแหน่งเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ท่ามกลางการจับตามองว่า จะตกลงกันอย่างไร แต่ในอดีตส่วนใหญ่แล้ว ไม่มีปัญหาเกิดขึ้นแบบที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ เพราะตามปกติพรรคอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาลพรรคอันดับ 2 ก็เป็นผู้นำฝ่ายค้าน แต่คราวนี้พรรคอันดับ 1 กับพรรคอันดับ 2 มีสัดส่วนจำนวน ส.ส.ใกล้เคียงกันมาก

"เสาวลักษณ์" ยังมองว่า คุณสมบัติของคนที่จะดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร จะต้องมี “บารมีทางการเมืองสูง” แม่นข้อบังคับกฎหมาย มีไหวพริบดี รับมือกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เสนอญัตติต่าง ๆ และวางเกม-กลไก ที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บางคนบอกว่า ถ้ามีความแม่นยำ ข้อกฎหมายแน่น ไหวพริบเร็ว การทำงานก็จะเป็นไปอย่างราบรื่น แต่บางคนบอกว่าไม่ต้องถึงขั้นแม่นข้อบังคับมาก เพราะมีฝ่ายเลขาธิการสภาฯ และเจ้าหน้าที่รัฐสภา คอยควบคุมช่วยงาน จึงทำให้มองยากว่า จากเหตุผลของทั้ง 2 ฝ่าย วใครพูดแล้วถูกต้องเหมาะสมกว่ากัน เพราะคนรุ่นใหม่ก็ทำหน้าที่นี้ได้ ส่วนคนรุ่นอาวุโส ก็มีประสบการณ์ทำได้เช่นกัน และในอดีตมีทั้งผู้อาวุโส และคนที่น้อยประสบการณ์ แต่แม่นข้อกฎหมายแล้วเข้าใจระบบก็ทำงานนี้ได้

“เก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรมีบทบาทสำคัญ เป็นเกียรติสูงสุดสำหรับฝ่ายนิติบัญญัติ ภารกิจทั้งหมดที่เป็นของรัฐสภา ประธานรัฐสภา หรือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นคน ๆ เดียวกัน มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง หรือภารกิจรัฐสภาระหว่างประเทศ ก็เป็นหน้าที่ของประธานรัฐสภา มีความสำคัญเป็นหน้าเป็นตา เป็นศักดิ์เป็นศรีบารมีทางการเมืองสูง และบทบาทของผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติ ถือเป็นดุลอำนาจหนึ่ง มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบฝ่ายบริหาร ผ่านกลไกกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาตรวจสอบติดตามปัญหาฝ่ายบริหาร หรือตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ รวมถึงการตรวจสอบผ่านการตั้งกระทู้สด และกระทู้ทั่วไป ที่สำคัญ คือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยังเป็นผู้บรรจุญัตติอภิปรายทั่วไป และญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล, บรรจุร่างกฎหมายสำคัญ ๆ เข้าสู่ที่ประชุม ซึ่งแม้ว่า การลงมติจะเป็นหน้าที่ของ ส.ส.แต่คนที่ดูแลควบคุมให้การพิจารณากฎหมายราบรื่นไปได้ คือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร" เสาวลักษณ์ ระบุ

"ก้าวไกล" หวังนั่งประธานสภาฯ ดันนโยบายพรรค

ส่วนการที่พรรคก้าวไกลให้เหตุผลความต้องการครอบครองเก้าอี้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อผลักดันกฎหมายสำคัญตามนโยบายของพรรคก้าวไกล ที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชนนั้น "เสาวลักษณ์" อธิบายว่า พรรคก้าวไกล เคยยกตัวอย่างเรื่องการเสนอร่างกฎหมาย 5 ฉบับ ซึ่ง 1 ในนั้น คือการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งในมุมของพรรคก้าวไกล มองว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะต้องบรรจุวาระการพิจารณาร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้ที่ประชุม ส.ส.พิจารณาว่า จะเห็นชอบตามที่พรรคก้าวไกลเสนอหรือไม่ แต่ประธานสภาผู้แทนราษฎร และทีมกฎหมายของสภา ได้กลั่นกรองแล้วว่า ร่างกฎหมายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น อาจไปขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ทำให้เกิดการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงวินิจฉัยว่า ไม่สามารถนำเรื่องนี้บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมตามที่พรรคก้าวไกลเสนอได้ โดยที่พรรคก้าวไกลเห็นว่า ควรจะให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาเองว่า จะเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ แต่พรรคก้าวไกล กลับถูกตัดขั้นตอนตั้งแต่การบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมแล้ว ตรงนี้จึงเป็นมุมสำคัญที่ทำให้พรรคก้าวไกล ให้ความสำคัญกับอำนาจของประธานสภาผู้แทนราษฎร

"นอกจากนั้น อีกมุมหนึ่งที่พรรคก้าวไกลหยิบยกขึ้นมา สะท้อนเรื่องของการใช้อำนาจหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย คือการพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอมาจากประชาชน เพราะสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา มีกฎหมาย 478 ฉบับที่ได้รับความเห็นชอบผ่านการพิจารณาจากสภา ซึ่งเป็นกฎหมายที่เสนอจาก ครม.ส่วนใหญ่ และ 4 ฉบับ เป็นของส.ส. แต่ร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนถูกตีตกไป หรือไม่ได้รับการพิจารณาเลย" เสาวลักษณ์ ระบุ

"เสาวลักษณ์" ยังได้เล่าย้อนไปถึงหลังการเลือกตั้งปี 2562 ที่พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีโอกาสครอบครองตำแหน่งเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพราะมี ส.ส.มากที่สุดในบรรดาพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ประมาณ 120 เสียง แต่ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยร่วมมือเป็นพันธมิตรกัน และมีคะแนนใกล้เคียงกับพลังประชารัฐ จึงแพ็คเสียงเพื่อต่อรองตำแหน่งทางการเมืองต่าง ๆ ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบตัวบุคคลระหว่าง พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐแล้ว "ชวน หลีกภัย" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีต ส.ส.หลายสมัย จึงมีความเหมาะสมมากที่สุดกับตำแหน่งดังกล่าว แต่โควตาตำแหน่งรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ก็ต้องลดลดสัดส่วนลงไปด้วย เพราะอยู่วงเดียวกับการต่อรองทางการเมือง

"เสาวลักษณ์" ยังมองว่า บรรยากาศการเมืองขณะนี้ อาจจะไม่ใช่แค่เก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ที่พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลนัดหารือกัน แต่น่าจะเกี่ยวข้องกับตำแหน่ง "รัฐมนตรี" ใน “ครม.พิธา” ด้วย เพราะตำแหน่งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่พรรคร่วมรัฐบาล จะร่วมแชร์ หรือเจรจาต่อรองกัน ซึ่งพรรคก้าวไกล พูดขึ้นมาก็ถูกต้องว่า ส่วนใหญ่แล้วพรรคที่ชนะอันดับ 1 ควรจะได้เก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย ดังนั้น จึงจะต้องรอดูกันอีกทีว่า พรรคก้าวไกล จะได้เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง กี่กระทรวง และเป็นกระทรวงระดับใด จะเป็นกระทรวงเศรษฐกิจเป็นอันดับ 1 ทั้งหมดหรือไม่ หรือถ้าพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการในกระทรวงเศรษฐกิจ อาจจะอยู่กับพรรคเพื่อไทย 1 หรือ 2 ตัวก็ได้

เชื่อ "ก้าวไกล" หวั่นพลาดประธานสภา ถึงขั้นวืดนั่งนายกฯ

"เสาวลักษณ์" ยังเชื่อว่า พรรคก้าวไกลเองหวาดหวั่นเหมือนกันว่า จะพลาดตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เพราะหากไม่ใช่คนของตัวเองขึ้นไปทำหน้าที่ในวันที่ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว และพรรคเพื่อไทย ขึ้นมาแทน จะมีการพลิกขั้ว พลิกเกมการเลือกนายกรัฐมนตรีกันในวันนั้นเลยหรือไม่ หรือจะต้องกลับบ้านไปแล้วมาตกลงกันใหม่ว่าชื่อนายกรัฐมนตรี ยังคงเป็น "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ในรอบที่ 2 หรือรอบที่ 3 หรือไม่ หรือจะเปลี่ยนชื่อใหม่ ขึ้นอยู่กับประธานสภาที่นั่งประชุมในวันนั้นด้วย ทั้งนี้ ในวันประชุมหากพรรคร่วมที่กำลังจะตั้งรัฐบาล เสนอชื่อพิธา หรือพรรคเพื่อไทย จะเสนออีกชื่อ 1 ก็เป็นไปได้ ขณะที่ พรรคการเมืองอีกฝ่ายที่ไม่ได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาล จะเสนอชื่อเพื่อชิงนายกรัฐมนตรีอีกด้วย ก็ได้เช่นกัน

ติดตาม“รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว”ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5