TikTok แบรนด์โดนใจกลุ่มเป้าหมาย ความท้าทายใหม่สื่อมวลชน

            “เหตุผลที่ TikTok ถูกจริต เพราะปกติสมองคนเราชอบอะไรที่สั้น ๆ ประกอบกับระบบของ TikTok หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่คนสามารถดูและรู้ได้เลย ว่าเราชอบเรื่องไหนแบบไหน ตรงนี้เป็นความท้าทายใหม่ของสื่อมวลชนยุคปัจจุบัน”

            นพฤทธิ์ กมลสุวรรณ ผู้สื่อข่าวเทคโนโลยี และพิธีกร จากสปริงนิวส์ เจาะพฤติกรรมการเสพข่าวของคนยุคใหม่ ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า การเสพข่าวของคนปัจจุบัน พฤติกรรมที่เห็นชัดเจน คือ ชอบการดูวิดีโอสั้นมากยิ่งขึ้น 2-3 ปีก่อนจะมี TikTok เข้ามา คนก็เริ่มชื่นชอบมาก 

            ทุกวันนี้คนดู TikTok นานกว่าดู YouTube จากข้อมูลล่าสุดพบว่าคนใช้ TikTok อยู่ที่ 91 นาทีต่อวันขณะที่ YouTube อยู่ที่ 56 นาทีต่อวัน ขณะเดียวกันแพลตฟอร์มต่างๆทั้ง YouTube , Facebook และ Instagram เทรนกำลังไปในทางวิดีโอสั้นมากขึ้น เขาจึงออกฟีดเจอร์วิดีโอสั้น ๆ ของตัวเองขึ้นมา เพื่อดึงคนดูให้กลับมาอยู่ในแพลตฟอร์มตัวเอง

สมองคนชอบอะไรสั้นๆ ทำให้TikTok ถูกจริต

            “นพฤทธิ์” เล่าว่า เหตุผลที่ TikTok ถูกจริตเพราะปกติสมองคนเราชอบอะไรที่สั้นๆ ประกอบกับระบบของ TikTok หรือแพลตฟอร์มอื่นๆที่คนสามารถดูและรู้ได้เลย ว่าเราชอบเรื่องไหนแบบไหน เช่น ถ้ามีคลิปตลกเราก็จะหยุดดูหรือเราชอบคลิปหมา-แมว ก็หยุดดู ระบบจะเรียนรู้แล้วสรรหาเรื่องราวที่ตรงกับตัวเรามากยิ่งขึ้น ทำให้เราดู TikTok ได้นานขึ้น ตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาสร้างรายได้ เพราะมีแทรกโฆษณาเข้ามา

            เทรนนี้เห็นได้ชัดจากเด็กรุ่นใหม่ ที่ปัจจุบันไม่ค้นหาข้อมูลทาง Google แล้ว แต่ค้นหาผ่าน TikTok และ Instagram ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจพอสมควร แตกต่างจากคนในอดีตที่หาข้อมูลผ่านทาง Google หรือห้องสมุด ตรงนี้ถือว่าเป็นเทรนที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไปแต่คำถามคือว่า TikTok น่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน

TikTok จับถูกทางคนเสพสื่อ

            รูปแบบการนำเสนอเนื้อหาของ TikTok มีแพลตฟอร์มเป็นวิดีโอสั้นๆ ซึ่งคนทั่วไปสร้างขึ้นมาแล้วอัพโหลดในแพลตฟอร์มก่อน หลังจากนั้นตัวระบบของแพลตฟอร์ม จะสรรหาว่า ประเด็นไหนมีคนชอบดูและอยู่ในกระแส ก็ค่อย ๆ เคลื่อนเข้าไปหาคนดู พอทุกคนสามารถทำคลิปได้ คำถามคือน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน User Generated Content นี้ คนที่มาเล่าต่ออีกทีมีการบิดเบือนหรือไม่ หรือเล่าบางส่วนเพื่อให้เข้าใจผิดหรือไม่  

            ตรงนี้เป็นความท้าทายใหม่ของสื่อมวลชนยุคปัจจุบันว่าในฐานะที่มีกระบวนการด้านกองบรรณาธิการ ในการตรวจสอบคัดกรองข่าว เราจะเข้าไปอยู่ในจุดที่คนดูอยู่ได้อย่างไรทั้งใน TikTok และ Instagram แต่ความจริงแล้วการเล่าเรื่องแบบนี้ ไม่ได้ต่างจากเดิมเท่าไหร่ หากย้อนกลับไปในยุคหนังสือพิมพ์ สิ่งที่จะดึงความสนใจของคนอ่านก็คือการพาดหัวข่าว ซึ่งสุทธิชัย หยุ่น เคยพูดว่าพาดหัวข่าวอย่างไรให้คนอ่านแล้ว รู้สึก“เหมือนโดนตบหน้า

            นพฤทธิ์ เล่าต่อว่า ต่อมาเป็นยุคของโทรทัศน์ ทำอย่างไรให้คนดูรายงานพิเศษโทรทัศน์ช่องเรา แล้วรู้สึกร่วมและสัมผัสตัวเรา ก็ทำให้ใกล้เคียงกับชีวิตประจำวันมากที่สุด ถ้าย้อนกลับไปในยุคสถานีโทรทัศน์ที่มีการให้ผู้สื่อข่าวเปิดหน้า ขณะลงไปในพื้นที่นั้น ๆ จริง เพื่อรับฟังความคิดเห็นจริง ตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนดูรู้สึกสัมผัสได้

            “ในยุค TikTok กลายเป็นว่าเราจะต้องทำให้ใกล้มากกว่าเดิมเข้าไปอีก เช่น เรื่องของเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในเรื่องที่ค่อนข้างใกล้ตัว ก็ต้องดึงให้เข้ามาใกล้มากยิ่งขึ้น เช่น วีอาร์ของ Apple ราคา 1.2 แสนบาท จะเอาไปทำอะไรได้บ้างหรือ แม้กระทั่งการดึงตัว intro หรือเกริ่นนำให้ง่ายที่สุด แล้วทำให้คนรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเพื่อนเล่าให้ฟัง ไม่ใช่สำนักข่าว แต่ว่าเป็นข่าวที่น่าเชื่อถือ ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้นักข่าวสามารถปรับตัวได้ในยุคของ TikTok ได้” 

 ทุกคนต้องปรับตัว ไม่เฉพาะคนทำสื่อ

            เขายอมรับว่า สถานการณ์แบบนี้ไม่ใช่แค่นักข่าวที่จะต้องปรับตัว อย่างการเลือกตั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา คือ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และการเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 2566 นี้ สูตรความสำเร็จของนักการเมือง เช่น พรรคก้าวไกลที่ใช้ TikTok ทำคอนเทนท์หาเสียงเข้าไปยังผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง แอบแฝงนโยบายต่าง ๆ ผ่านคอนเทนท์ที่สนุกสนาน ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่นักการเมืองปรับตัวเข้ามาสู่โลกดิจิตอล

            จากข้อมูล TikTok ของพรรคก้าวไกล เดิมมีผู้ติดตามอยู่ประมาณ 4 แสนคน แต่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2.8 ล้านคน กลายเป็นหนึ่งในคอนเทนท์ที่หลายคนดูในช่วงหาเสียงการเลือกตั้ง และผู้สมัครส.ส.หลายคนของพรรค ก็ใช้แพลตฟอร์มนี้ในการส่งนโยบายต่างๆไปสู่ประชาชน 

ชี้ช่องคนทำข่าวต้องหาทางปรับตัว 

            ปัจจุบันพฤติกรรมของคนหันมาเสพสื่อผ่าน TikTok มากขึ้น คนที่ทำสื่อก็ต้องปรับตัวให้สอดรับกับแพลตฟอร์มและพฤติกรรม ทั้งเนื้อหาสาระของข่าว โดยไล่เรียงเรื่องให้น่าสนใจ นำเรื่องที่เด่นที่สุดขึ้นมาก่อน หลังจากนั้นค่อย ๆ เล่าเรื่องราวอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้อยู่ในระยะเวลาที่กำหนด หากมองย้อนกลับไปที่หนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ ความจริงเนื้อหาหลักเลยไม่ได้เปลี่ยน เพราะเนื้อหาที่อยู่ในนั้นเป็นเนื้อหาที่คนสนใจมากที่สุด แต่ขึ้นอยู่กับว่า เราจะเล่าเรื่องออกมาอย่างไร

            แต่พออยู่บนโลกออนไลน์เราสามารถทำเป็นเรื่องราวตอน 2 หรือตอน 3 ให้คนติดตามต่อ เหมือนกับการทำสกู๊ปของนักข่าวไปที่ลงไปเจาะข่าวในแต่ละเรื่อง จะทำอย่างไรให้คนรู้สึกอยากติดตามเราอยู่ เพราะ TikTok เลื่อนไปเร็วเราก็ลืมเร็ว ถ้าหากไม่ทำเรื่องให้น่าสนใจ หรือฝังข้อมูลต่างๆไว้ให้คนดู เขาจะรู้ได้อย่างไรว่าเรื่องนี้ไปถึงไหนแล้ว คนก็จะไม่ตามดูเรื่องราวของเราต่อ

            ความจริงเห็นเทรนนี้มาตั้งแต่ Facebook เริ่มเข้ามา และเริ่มให้มีการ Facebook live ที่เป็นสื่อดิจิตอล  หลายคนพูดว่าทุกคนสามารถเป็นนักข่าวได้ แล้วนักข่าวจะอยู่อย่างไรคำตอบง่าย ๆ คือ นักข่าวยังคงอยู่ได้เพราะความน่าเชื่อถือและกระบวนการของกองบรรณาธิการ 

            ปัจจุบันนี้เราเห็นหลายสำนักข่าวที่ทำ TikTok มีอินฟลูเอนเซอร์ มีพิธีกรประจำคลิป TikTok โดยมีหลากหลายรายการ หลายส่วนให้คนติดตาม ทำให้เห็นว่าความจริงแล้ว ต่อให้พฤติกรรมคนจะเปลี่ยนมากน้อยแค่ไหน ทุกอาชีพแม้แต่นักข่าวเองก็ต้องปรับตัวด้วย เพื่อให้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้สื่อยังคงความน่าเชื่อถืออยู่ คือ แสดงบทบาทในฐานะผู้ที่ตรวจสอบและสะท้อนสังคม โดยเลือกเรื่องที่ส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวัน แล้วใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ 

            “Website ที่เรากำลังนั่งทำอยู่ในปัจจุบันนี้ เด็กรุ่นใหม่บอกว่าเป็นเรื่องเก่าไม่มีใครอ่าน ต้องไปดูคลิปสั้น ๆ ที่เข้าใจง่าย ตรงนี้สอนให้เรารู้ว่าต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับยุคก่อนที่นักข่าวหนังสือพิมพ์ ต้องปรับตัวมาทำข่าวโทรทัศน์ จากนั้นต้องมาทำ Facebook คลิปสั้น ๆ หรือคอนเทนท์เล่าเรื่อง มาจะถึงยุคปัจจุบัน นักข่าวหลายคนต้องทำคลิป TikTokเป็นการเล่าเรื่องสั้น ๆ ซึ่งสามารถทำได้อยู่แล้ว” 

เสพ TikTok ต้องหาข้อมูลหลายทาง

            ขณะที่ผู้ใช้ TikTok ต้องศึกษาเรื่องราวนั้นๆให้มาก ว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวเท็จเพื่อที่จะไม่โดนหลอก เช่น มีการเล่าเรื่องหนึ่งผ่าน TikTok ก็ต้องดูว่าเรื่องนี้จริงมากน้อยแค่ไหน จากนั้นหาข้อมูลเรื่องราวเดียวกัน ว่าคนอื่นพูดตรงกันหรือไม่ ถ้าคนอื่นพูดตรงกัน เป็นอินฟลูเอนเซอร์บนสื่อโซเชียล แล้วสำนักข่าวพูดอย่างนั้นจริงหรือไม่ เป็นการรู้เท่าทันสื่อให้มากขึ้นและกรองข่าวให้เป็น ก็ไม่มีใครหลอกเราได้เพราะสามารถตรวจสอบได้เอง และปลอดภัยจากข่าวปลอมได้มากยิ่งขึ้น

            ตัวอย่างเช่น ใน Facebook ถ้าเป็นข่าวปลอมเขาจะเริ่มมีกรอบเล็กๆข้างล่าง ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรคุณจะเชื่อในสิ่งที่โพสต์ข่าวต้นฉบับหรือจะเชื่อตรงนี้ ถ้าคุณเชื่อเราอยากจะศึกษาข้อมูลเพิ่มก็ให้กดเข้าไปดู ทั้งนี้ผมมีโอกาสคุยกับอีกหลายแพลตฟอร์ม TikTok Facebook Google มีคนโหลดคลิปหลายล้านคลิปต่อวัน หรือโหลด Status Facebook หลายล้าน Status ต่อวัน 

สิ่งหนึ่งที่เขาอยากจะให้ทุกคนช่วย คือ ถ้าเห็นอะไรที่ไม่ดีช่วยรีพอร์ทด้วย เราเป็นผู้ใช้โซเชียลนั้น ๆ อยากให้สังคมเป็นอย่างไร ก็ต้องช่วยทางหนึ่งและเขาก็จะช่วยอีกส่วนหนึ่งด้วย เพราะหลายแพลตฟอร์มพยามที่จะต่อต้านข่าวปลอมและข่าวบิดเบือนเช่นกัน

 นักวิชาการด้านสื่อ มองต่างมุม

            ผมคุยกับ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน บอกว่า เป็นเรื่องดีที่ทุกคนเป็นเป็นนักข่าวได้ เพราะหากมีเรื่องราวต่าง ๆ ในพื้นที่ทุรกันดาร เพราะประเทศไทยมี 77 จังหวัด อาจจะมีนักข่าวไม่ครบทุกจังหวัด ฉะนั้นการที่โลกโซเชียลเป็นส่วนหนึ่งที่เปิดประเด็นให้กับนักข่าวไปตามต่อ ถือจุดเริ่มต้นเล็กๆที่จะต่อยอดไปสู่สิ่งอื่นได้ 

            “นักข่าวเป็นหนึ่งในสื่อที่เป็นแมสมีเดีย ที่เข้าถึงคนได้จำนวนมาก จนเกิดคุณค่าทางสังคมและเกิดคุณค่าทางข่าว สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศได้ ตรงนี้เป็นหนึ่งในโจทย์ที่ท้าทาย สำหรับนักข่าวรุ่นใหม่ที่จะต้องทำเนื้อหาขึ้นมาจากโซเชียลมีเดีย”

ดังนั้นการเสพสื่อกับคนยุคใหม่หรือแพลตฟอร์มใหม่ๆ ไม่ว่าอะไรที่เราเห็นบนโลกออนไลน์อย่าพึ่งเชื่อ 100% ขอให้ตรวจสอบและยอมเสียเวลาเล็กน้อย ก่อนที่เราจะเสียเงินเสียรู้ หรือแม้กระทั่งมีความเชื่อผิดๆอยู่ในสมองของเรา

            ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดยความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5

///////////////////