“สลากดิจิทัล” แก้ป้องกันปัญหาหวยอลวนจริงหรือ

“การที่สลากขายเกินราคา เพราะคนขายจริงไม่มีโควตาต้องไปซื้อต่อจากคนที่มีโควตา แต่ไม่ได้ขายจริง จึงเป็นปัญหาเพราะต้องไปรับเขามาขายต่อ อาจจะรับมาราคา 85 หรือ 90 บาท นำไปขายใบละ 100 บาทถึงจะมีกำไร ปัญหาอยู่ตรงที่โควตา”

            

ศักดิ์ชัย อินทร์จันทร์ สื่อมวลชนอิสระ (ประจำกระทรวงการคลัง)” กล่าวใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ถึง “โครงการสลากดิจิทัลในแอปพลิเคชั่น เป๋าตังครบรอบ 1 ปี”แก้ปัญหาหวยเกินราคาได้จริงหรือไม่ว่า แก้ไขปัญหาได้บางส่วน ทุกวันนี้สลากลอตเตอรี่ 1 งวด มี 100ใบ ทำให้มีสลากดิจิทัลใบละ 80 บาทแน่นอนประมาณ 18 ล้านกว่าใบ ส่วนที่เหลือ 81 ล้านใบ คือเป็นสลากใบโดยซื้อ-ขายผ่านระบบเก่า ซึ่งมีการซื้อไปปล่อยต่อและเก็งกำไรหรือขายช่วงไปเรื่อย ๆ กว่าสลากจะถึงมือผู้บริโภคก็อยู่ที่ราคา 100 -110 บาทหรือ 120 บาท  ฉะนั้นถือว่า 81% ยังควบคุมราคาลำบากอยู่

 เก็บสถิติรอบ 1 ปี ขายแล้ว 356 ล้านฉบับ 

            สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้รวบรวมข้อมูลสถิติตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ขายไปทั้งสิ้น 356 ล้านฉบับ คิดเป็นเงิน 28,489ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีสถิติที่น่าสนใจอีก คือ ผู้ใช้งานเฉลี่ยเข้าไปซื้อ 20 ล้านครั้งต่อเดือน สลากที่ถูกรางวัล 300 กว่าล้านบาท  จาก 5 ล้านฉบับ ส่วนจำนวนผู้ถูกรางวัลประมาณ 1,135,000 คน ส่วนการจ่ายเงินรางวัล 1 ล้านกว่าคน มีการจ่ายเงินรางวัลไปได้ 17,092 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าสนใจ

            สำหรับรางวัลที่หนึ่ง ในสลากดิจิทัลตลอด 1 ปีมีเพียง 165 คนที่ถูกรางวัล ส่วนจังหวัดที่คนถูกสลากเยอะสุดอยู่ในกรุงเทพมหานคร รองลงมา คือ นนทบุรีและสมุทรปราการ สะท้อนว่าคนกรุงเทพน่าจะซื้อจำนวนมากสุด  ส่วนสถิติเลขท้าย 2 ตัวที่ออกมากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมามีเลข 14 เลข 92 และเลข 99 ส่วนเลขเบิ้ลที่ออกมีทั้ง 55 และ 99  นอกจากนี้มีงวด 1 ที่คนถูกรางวัลที่ 1 สูงสุดถึง 19 ใบ ฟันเงินรางวัลไป 114 ล้านบาทเพียงคนเดียว ถือเป็นเงินที่คนได้จากสลากดิจิทัลเยอะสุด

เล็งเร่ขายเลือกจิ้มซื้อ-เพิ่มจำนวน 20 ล้านใบ

            ศักดิ์ชัย บอกว่า ในอนาคตกองสลากฯจะปรับให้ผู้ขาย นำแท็บเล็ตหรือ iPad ไปเดินเร่ให้ลูกค้าจิ้มเลือกซื้อได้ทันทีเหมือนกับแผงขายดั้งเดิม หรือเรียกอีกชื่อว่า "QR สลากดิจิทัล" เป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ขาย นำสลากดิจิทัลไปขายเองได้ง่ายขึ้น เพราะเมื่อจำนวนสลากมากขึ้น การขายผ่านแอพเป๋าตังอย่างเดียวอาจจะขายไม่หมด จึงให้ผู้ค้านำ QR Code ไปให้ผู้ซื้อยิง QR Code ได้โดยตรง แต่ตอนนี้ยังเห็นภาพไม่ชัดเพราะเป็นเรื่องนโยบาย ที่ยังไม่เปิดเผยออกมา

            แต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลแถลงข่าวว่า มีแนวทางที่จะเพิ่มสลากชัดเจนโดยงวดวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ จะเพิ่มเป็นประมาณ 20 ล้านใบ ส่วนแผนทั้งปีเบื้องต้นทางสำนักงานสลากฯประเมินว่า  อย่างต่ำอาจจะถึง 25 ล้านใบภายในสิ้นปีนี้ หรืออาจจะถึง 30 ล้านใบก็ได้  ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำนักงานสลากกำลังพิจารณาอยู่ ต้องขอดูสภาพตลาดก่อนว่าถ้าเพิ่มแล้วไปต่อได้หรือไม่ ไม่ใช่ว่าเพิ่มมากจนเกินไปแต่ขายไม่ออก

ปัญหาสลากแพงอยู่ตรงที่โควตา

            การที่สลากขายเกินราคาเพราะ คนขายจริงไม่มีโควตาต้องไปซื้อต่อจากคนที่มีโควตาแต่ไม่ได้ขายจริง จึงเป็นปัญหาเพราะต้องไปรับเขามาขายต่อ อาจจะรับมาราคา 85 หรือ 90 บาท นำไปขายใบละ 100 บาทถึงจะมีกำไร ปัญหาอยู่ตรงที่โควตา คือ คนขายตัวจริงไม่มีสิทธิ์ได้รับสลาก บางคนบอกว่าเคยขายได้โควตามาก็เปลี่ยนใจ เพราะไปเดินขายตากแดดได้กำไรเพียงใบละ 10 กว่าบาทถือว่าไม่คุ้ม สู้ขายส่งดีกว่าใบละ 90 บาทได้กำไรตั้งใบละ 20 บาท ตรงนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง”   

            กองสลากจึงตัดสิทธิ์โควตากลุ่มคนขายพวกนี้เรื่อยๆ ซึ่งปี 2566 ตัดสิทธิ์ไปแล้ว 30,000 กว่าคน ตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้สลากใบแพง เพราะโดนพ่อค้าคนกลางบวกเพิ่ม ทั้งนี้หากพบการขายสลาก 110 บาท สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานสลากฯหรือแจ้งที่ตำรวจก็ได้

            ศักดิ์ชัย บอกว่า การที่บางคนขายสลากแผงไม่อยากให้ขายสลากดิจิทัล เพราะเป็นผู้พิการ เมื่อลงระบบดิจิทัลอาจเป็นการแย่งรายได้ของคนกลุ่มนั้น เป็นมุมมองที่มองได้แต่อีกมุมหนึ่ง ถ้าขายราคา 80 บาท  เชื่อว่าทุกคนขายได้หมด  แต่ถ้าขายเกินราคาก็เป็นการแข่งขันทางการตลาดน้อย  เพราะขายราคา 100 -110 บาทยังมีอยู่ สำนักงานสลากฯเห็นว่า อยากช่วยให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมในการซื้อ จึงต้องทำสลากดิจิทัลออกมา  แต่ขณะเดียวกันถ้ามีใครขายเกินราคา ก็อาจจะเป็นทางเลือกของประชาชน ที่จะอุดหนุนหรือไม่ 

คนยังนิยมซื้อสลากใบจำนวนมาก 

            ที่ผ่านมาทุกงวดจะให้เปิดจองล่วงหน้า  ทุกวันนี้ 100 ล้านฉบับก็จองหมด เพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น แสดงว่าความต้องการของตลาดมีสูง  ซึ่งคนยังนิยมซื้อลอตเตอรี่เป็นใบอยู่มาก อีก 80 กว่าล้านใบ โดยเฉพาะคนที่อาจจะเข้าถึงเทคโนโลยีลำบาก  ไม่คุ้นชินในการซื้อหรือขึ้นรางวัล หรือไปวัดไหว้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างจังหวัด เมื่อทำบุญแล้วก็อาจจะซื้อสลาก เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับตัวเอง  เป็นความหวังให้กับชีวิต  คนกลุ่มนี้ยังมีอยู่จำนวนมาก  

            ส่วนการที่สำนักงานสลากฯพยายามแก้ไขปัญหาขายเกินราคา โดยให้มีร้านค้าขายสลากใบในราคา 80 บาท  ศักดิ์ชัย มองว่า แต่ถ้าเทียบกับฉลากดิจิทัล น่าจะแก้ไขปัญหาได้ง่ายกว่า เพราะร้าน 80 บาทมีปัญหาตรงที่บางที่คนซื้อสลากจากร้าน 80 บาท แล้วไปขายต่อใบละ 100  ก็เกิดปัญหาตามมาเป็นหวยอลวนได้ ซึ่งตรงนี้สำนักงานสลากฯต้องควบคุม  ทำอย่างไรถึงจะไม่ให้มีการซื้อขายเพื่อเก็งกำไร เพราะต้นทางตั้งใจจะขาย 80 บาทจริง แต่กลับมีคนไปเก็งกำไรใบละ 100 ก็มีโดยเพิ่มราคาเพิ่มยอดขายไป

สลากดิจิทัลแก้ปมหวยใต้ดินไม่ได้ 

            สลากดิจิทัลแก้ไขปัญหาเรื่องหวยใต้ดินได้หรือไม่นั้น ผมคิดว่าไม่เกี่ยวกันเพราะ หวยใต้ดินเล่น 2 ตัวหรือ 3 ตัว ซึ่งเรื่องนี้สำนักงานสลากฯบอกว่า มองอยู่เหมือนกันว่าจะมีหวย 3 ตัวหวย 6 หลัก สลากเลข 2 หลัก 3 หลัก  จะเข้ามาแข่งกับหวยใต้ดิน ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ในกระบวนการที่วัดใจรัฐบาล ว่าจะกล้าผ่านกฎหมายออกมาหรือไม่ หลังจากที่มีการชะลอไปพักหนึ่ง 

            “ตอนนี้เรื่องไปค้างอยู่ที่คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ซึ่งรัฐบาลประยุทธ์เห็นชอบในหลักการไปแล้ว เหลือเพียงการจัดทำร่างประกาศรายละเอียดตัวกฎหมาย ตามหลักต้องส่งให้กฤษฎีกาตรวจสอบรายละเอียด และเข้าที่ประชุม ครม.รับทราบอีกครั้ง  ซึ่งถือว่าไม่น่าจะขัดอะไร เพราะหลักการผ่านไปหมดแล้ว เหลือเพียงการตรวจสอบ รายละเอียดของกฎหมายบางถ้อยคำบางอย่างเท่านั้น  ต้องดูว่ารัฐบาลจะกล้าทำหรือไม่ เพราะเป็นนโยบายที่รัฐบาลพยายามขับเคลื่อนมาตลอด 1 ปี  ทั้งการเปิดรับฟังความคิดเห็น , การออกนโยบายก็ทำมาต่อเนื่อง เหลืออยู่เพียงขั้นตอนสุดท้ายไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร”

            ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ร่วมกับ  คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5​