“มองเกมเพื่อไทยถอย MOU ผ่านการเมือง มิตรไม่แท้-ศัตรูไม่ถาวร”

            “พรรคเพื่อไทยต้องแสดงบทบาท ไปตามเกมการเมืองและตามสถานการณ์ก่อน เพราะรู้แล้วว่าทำไมการประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมา 8 พรรคที่ร่วมทำMOU  ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จากเงื่อนปมหลายเรื่องที่ผูกมัดไว้ จนทำให้ 8 พรรคขยับตัวค่อนข้างยาก”

            

ประเด็นร้อนทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ที่ปรากฏผ่านสื่อต่างๆในการดีลกับ สส.พรรคการเมืองอีกขั้ว นอกเหนือจาก 8 พรรคเดิมที่จับมือผ่าน MOU ถึงท่าทีความคิดเห็นผ่านเงื่อนไข ว่าจะลงตัวหาทางออกอย่างไร ทำเอาคอการเมืองลุ้นว่าจะออกหัวหรือก้อย

เพื่อไทยเดินเกมตามบทบาท หากยึดตามก้าวไกล ยากได้เสียงหนุน

            “คัชฑาพงศ์ ลีลาพงศ์ฤทธิ์ ผู้สื่อข่าว สายการเมือง NationTV” ประเมินท่าที “เพื่อไทยรับไม้ต่อจากก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล” ใน“รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว" ว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคการเมืองอันดับ 1 ที่ได้คะแนนเสียงท่วมท้น มีสิทธิ์อันชอบธรรม เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่หากพรรคการเมืองอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็เป็นสิทธิ์ของพรรคการเมืองในลำดับถัดไป

            ส่วนจะชวนพรรคการเมืองอันดับ 1 มาร่วมรัฐบาลด้วยหรือไม่ก็ได้  แล้วแต่การรวมเสียงของพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ต้องไม่ลืมว่าหากสร้างเงื่อนไขขึ้นมามาก ในการกำหนดสเปคพรรคการเมือง ที่จะนำมาร่วมรัฐบาลไว้สูง ก็จะต้องมีเสียงในสภาล่าง 250 เสียงขึ้นไป และจะต้องมีเสียงสว.เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

โจทย์สำคัญอยู่ที่ สว.             

            “พรรคเพื่อไทยต้องแสดงบทบาท ไปตามเกมการเมืองและตามสถานการณ์ก่อน เพราะรู้แล้วว่าทำไมการประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมา 8 พรรคที่ร่วมทำMOU  ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จากเงื่อนปมหลายเรื่องที่ผูกมัดไว้ จนทำให้ 8 พรรคขยับตัวค่อนข้างยาก

            โจทย์สำคัญ คือ เสียงของ สว. ที่จะมาสนับสนุนน้อยมาก และเสียงจาก สส.ไม่พอที่จะไปกลบเสียง สว.ได้ เนื่องจากไม่สนับสนุนทั้งการแก้ไขมาตรา 112 และนโยบายของพรรคก้าวไกล ดังนั้นเงื่อนไขต่างๆทำให้การจัดตั้งรัฐบาล ของพรรคก้าวไกลเป็นไปได้ยาก

            หากเพื่อไทยยังคงยืนยันจุดยืนเดิมของก้าวไกล แน่นอนว่าจะได้คำตอบเดียวกัน ในการนำเสนอชื่อ นายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยต่อรัฐสภา พรรคเพื่อไทยก็ต้องพยายามหาเสียงมาสนับสนุน และหาวิธีการที่จะปิดสวิตช์ สว.ให้ได้  โดยรวบรวมเสียงจากสภาล่าง แต่จะร่วมรัฐบาลด้วยหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งหลังจากนี้ 

            “เป้าหมายสูงสุดของทุกพรรคการเมืองอยากเป็นรัฐบาล ไม่มีพรรคไหนอยากเป็นฝ่ายค้าน เพราะต้องการนำนโยบายที่หาเสียงไว้ ไปปฏิบัติหรือพัฒนาประเทศ แต่เมื่อคะแนนผลการออกเสียงเลือกตั้งออกมาเป็นแบบนี้ เพื่อไทยจึงต้องให้สิทธิ์ก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลก่อน หากเพื่อไทยเป็นอันดับ 2 แล้วไปแย่งสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้งทันทีก็จะถูกมองว่าเป็นการผิดมารยาททางการเมือง”

เปรียบ MOU เสมือนสิทธิ์ในการซื้อบ้าน ปรับได้ตามใจผู้ซื้อ

            ส่วนจะมีการแก้ไข MOU หรือไม่คงต้องรอดู เพราะ MOU เกิดมาจากพรรคก้าวไกล ในฐานะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเขียนไว้  แต่ขณะนี้แกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ย้ายมาอยู่ที่พรรคเพื่อไทยแล้ว ดังนั้นพรรคเพื่อไทยก็น่าจะมีสิทธิ์แก้ไขได้

            “เปรียบเสมือนซื้อบ้าน เรารับสิทธิ์จากเจ้าของบ้านมาเป็นของเรา แต่เจ้าของบ้านคนเก่าบอกว่าห้ามทุบประตู , ห้ามล้อมรั้ว , ห้ามทาสี ห้ามโน่นห้ามนี่ ถ้าอย่างนั้นคุณก็ไม่ต้องขายบ้านหรือไม่ คุณก็ถือสิทธิ์การเป็นเจ้าของบ้านของคุณไว้ แล้วคุณจะมาขัดอะไร ฉะนั้นหลังจากนี้ต้องรอดูว่าจะมีการแก้ไข MOU หรือไม่ เพื่อหาคำตอบสมการทางการเมืองในขณะนี้ นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จได้หรือไม่”

            จะมองอย่างเดียวไม่ได้ว่า พรรคเพื่อไทยต้องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ  ส่วนพรรคก้าวไกลต้องการที่จะแก้มาตรา 112 ประเด็นเดียว ผมได้พูดคุยกับโหวตเตอร์ของพรรคก้าวไกล ว่าเลือกพรรคก้าวไกลเพราะอะไร  ก็ได้รับคำตอบว่านโยบายดี เช่น ยกเลิกเกณฑ์ทหาร , ปฏิรูปกองทัพ ,การสร้างระบบสวัสดิการ หลายคนไม่ได้มองถึงมาตรา 112 ด้วยซ้ำไป 

ปิดประตูรัฐบาลเสียงข้างน้อย-ฝ่ายหนุนก้าวไกลใช้เหตุผล อย่านำประเทศเป็นตัวประกันเหมือนอดีต

            ส่วนความเป็นไปได้ในการเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย คัชฑาพงศ์ มองว่า เป็นไปได้ยากมาก ซึ่งพรรคพลังประชารัฐ , พรรคภูมิใจไทย , ประชาธิปัตย์ ,รวมไทยสร้างชาติ ยืนยันแล้วว่า ไม่สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ทันทีที่การฟอร์มรัฐบาลชุดนี้เสร็จสิ้น ร่างกฎหมายการเงินสำคัญของประเทศ คือ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จ่อรอให้สภาพิจารณาอยู่  แน่นอนว่าร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเงินถ้าสภาไม่ให้ความเห็นชอบ ผู้นำรัฐบาลก็จะต้องแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกหรือยุบสภา

            ขณะที่ สส.จะอาศัยเสียงของ สว. ในการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ  ของสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปไม่ได้ เพราะแยก 2 สภาชัดเจน มีบางเรื่องเท่านั้น ที่จะต้องประชุมพิจารณาร่วมกัน คือ ร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ แต่ถ้าเป็นร่างกฎหมายอื่นๆที่รัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ต่อสภาผู้แทนราษฎร จะเป็นผู้พิจารณาทั้งหมด

            คัชฑาพงศ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้กระแสทางการเมืองหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร แต่อยากให้นำเหตุผลมาจับทีละประเด็นมากกว่าอารมณ์ จะดีกว่าต่อต้านลุกฮือ และอย่านำประเทศเป็นตัวประกันเหมือนในอดีต ควรค่อยๆหาเหตุผลและแก้ไขปัญหาไปทีละจุด ว่าสาเหตุที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จคืออะไร  

            ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5