นักข่าวในโครงการ“มองจีนยุคใหม่ สิ่งที่สื่อไทยควรรู้” รุ่นที่ 5 เยือนนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน

            นักข่าวไทย เยือนนครคุนหมิง มณฑลยูนนานของจีน ศึกษาดูงานการแก้ปัญหาความยากจน  การค้าชายแดน การพัฒนาบุคลากรเพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมระบบราง รองรับรถไฟจีน-ลาว และการจัดการสิ่งแวดล้อมของจีนยุคใหม่ ในโครงการ “มองจีนยุคใหม่ สิ่งที่สื่อไทยควรรู้” รุ่นที่ 5 ระหว่างวันที่ 24-27 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา

            คณะนักข่าวไทยจากสำนักข่าวต่าง ๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์และสื่อออนไลน์ 25 คน ได้เดินทางไปดูงานการแก้ปัญหาความยากจน  โดยปีนี้เลือกไปที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ซึ่งถูกวางยุทธศาสตร์ให้เป็น“ประตูของจีนในการเปิดสู่ภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” อีกทั้งมีบทบาทในกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub-region: GMS) รวมถึงกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong Lancang Cooperation: MLC) 

มณฑลยูนนาน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ไม่มีทางออกทะเล มีพรมแดนติดต่อกับหลายชาติในอาเซียน ได้แก่ เมียนมาร์  ลาวและเวียดนาม  รัฐบาลจีนประกาศว่าสามารถแก้ปัญหาความยากจนในยูนนานได้เป็นผลสำเร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563  โดยสามารถขจัดความยากจนให้หมดไปจากอำเภอยากจนของมณฑลรวม 88 แห่ง ลดจำนวนคนยากจน 9.33ล้านคนมากเป็นอันดับต้น ๆ ของจีน  อีกทั้งมีการวางแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจ การค้าชายแดนที่น่าสนใจ เพราะเป็น“เขตการค้าเสรีนำร่อง” หนึ่งใน 21 แห่งของจีน รวมทั้งที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางรถไฟจีน- ลาว ที่เชื่อมการคมนาคมขนส่งมายังไทยและอาเซียนได้ด้วย

            ในวันแรกนักข่าวได้พบกับท่านกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง  คุณภาวีวรรณ นรพัลลภ และคณะ โดยได้เล่าภาพรวมของภารกิจ “ทีมประเทศไทย” ที่คุนหมิงว่านอกจากภารกิจที่จะทำหน้าที่ตัวแทนประเทศไทยด้านต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ การค้า การลงทุน เศรษฐกิจในทุกมิติแล้ว เนื่องจากยูนนานเป็นพื้นที่ติดกับหลายประเทศเพื่อนบ้าน สถานกงสุลไทยฯ จึงต้องดูแลงานด้านความมั่นคงชายแดนรวมทั้งคุ้มครองสวัสดิภาพความเป็นอยู่ของคนไทยด้วย

            

            กงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิงกล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลจีนขณะนี้ มุ่งเน้นการกระจายความเจริญสู่ชนบท สร้างงานในพื้นที่และขยายโอกาสของการเพิ่มตำแหน่งงานในเมืองใหญ่  เนื่องจากมีประชากรจำนวนมากกว่า 1,400 ล้านคน ดังนั้น หนึ่งในเป้าหมายสำคัญคือต้องสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับพลเมืองจีน เน้นการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศให้เพียงพอก่อนส่งออก  ยูนนานเป็นหนึ่งในพื้นที่ยากจนที่สามารถแก้ปัญหาได้สำเร็จทำให้คนกว่า 9 ล้านคนพ้นจากความยากจน ลดอัตราการว่างงานลงถึง 5%  แต่ความท้าทายคือ รัฐบาลยูนนานจะทำอย่างไรไม่ให้คนเหล่านั้นตกไปอยู่ใต้เส้นความยากจนอีกครั้ง

            สำหรับโอกาสทางการค้าและความร่วมมือของผู้ประกอบการไทย ยังมีหลายกลุ่มธุรกิจที่คนจีนในยูนนานสนใจ ทั้งการนำเข้าผัก ผลไม้ไทย  อาหาร ซึ่งเส้นทางรถไฟจีน – ลาวก็เป็นหนึ่งในการคมนาคมขนส่งที่เอื้อประโยชน์ให้อย่างมากเพราะขนส่งได้สะดวกรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม  ส่วนสินค้าในกลุ่มความงามก็ยังสามารถเข้าไปทำตลาดได้ เพราะยูนนานมีสภาพอากาศที่แห้ง  แดดแรง ผลิตภัณฑ์สปาและบำรุงผิวจึงเป็นที่ต้องการมาก อีกทั้งสินค้าไทยก็ได้รับความเชื่อถือด้านคุณภาพจากลูกค้าชาวจีน

            คณะยังได้ไปเยือน สถาบันพฤกษศาสตร์คุนหมิง  สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ( Kunming Institute of Botany, Chinese Academy of Sciences :CAS)  ซึ่งเป็นสถานที่ใช้จัดการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 (COP15) เมื่อปี 2564 ได้ต้อนรับผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการจากทั้งในและนอกประเทศ หลังจากนั้นสวนพฤกษศาสตร์คุนหมิงได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในเวลาต่อมา สวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้มีความร่มรื่นจากต้นไม้น้อยใหญ่ มีส่วนจัดแสดงพันธุ์พืชต่าง ๆหลากหลายภายใต้การอนุรักษ์กว่า 2,500 สายพันธุ์ รวมทั้งเรือนกระจก "Fuli Palace" มีพิพิธภัณฑ์จัดแสดงพืชในสภาพอากาศแตกต่างกัน ทั้งไม้ดอก กล้วยไม้ พืชกินแมลง  ไม้ผลเมืองร้อน เขตป่าฝนและทะเลทราย เป็นต้น

            ในวันที่ 2 ของการเดินทาง คณะ-นักข่าวไทย  ได้พบปะกับผู้บริหารจากหลายหน่วยงานจีน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน อาทิ  ฝ่ายต่างประเทศของมณฑลยูนนาน, เครือข่ายสื่อจีนจากยูนนานเดลี่และยูนนานวิทยุ-ทีวี ,ศูนย์สื่อระหว่างประเทศด้านเอเชียและเอเชียใต้ หน่วยงานด้านการฟื้นฟู พัฒนาชนบทและตัวแทนด้านการสื่อสารจากรัฐบาลยูนนาน โดยมี Mr. Ma Zuoxin Deputy Director-General, Foreign Affairs Office of the People’s Government of Yunnan Province เป็นประธานการหารือ

            

            ตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆของจีน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจของยูนนาน แนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจน รวมทั้งการพัฒนาระบบคมนาคม การค้าชายแดนและงานด้านศุลกากรขนส่งข้ามแดน แนวทางจัดการและรักษาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ หลังจากนั้นได้เยี่ยมชมกิจการของยูนนานเดลี่ด้วย

.           ช่วงบ่าย คณะนักข่าว ฯ ไปเยือน Kunming Railway Vocational Technical College ซึ่งเป็นวิทยาลัยที่ ผลิตบุคลากรเข้าสู่อาชีพเกี่ยวกับระบบราง มีผู้รับการอบรมในหลักสูตรขนส่งทางรางปีละกว่า 10,000 คน ใน 5 สาขาวิชาประกอบด้วยวิศวกรรมไฟฟ้า,การขนส่งทางราง,เครื่องกลไฟฟ้า,สารสนเทศและการสื่อสารและการขนส่งในระบบรถไฟความเร็วสูง โดยครอบคลุมการขนส่งทางรางทั้งขบวนรถไฟทั่วไป,รถไฟใต้ดิน,รถไฟฟ้าทางรางยกระดับจากพื้นดิน,ขบวนรถไฟขนส่งสินค้า,การก่อสร้างรางรถไฟ ,ระบบฐานราก ,การควบคุมรถจักร รวมฝ่ายอาณัติสัญญาณหรือพนักงานบริการบนขบวนรถไฟ

            ขณะนี้รัฐบาลจีนได้ให้ทุนการศึกษาแก่ครูและนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคทั่วสปป.ลาว จำนวน 40 คนมาเรียนที่วิทยาลัยเพื่อจะกลับไปบรรจุเป็นอาจารย์รุ่นแรกสอนในวิทยาลัยอาชีวะระบบรางในสปป.ลาว พัฒนาศักยภาพบุคลากรลาวป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานและสอดรับกับการพัฒนาโครงการรถไฟจีน-ลาว

คณะนักข่าวฯ ได้เยี่ยมชมห้องขายตั๋วจำลองและทดลองขับรถไฟในห้องปฏิบัติการด้วย

            วันที่ 3  คณะเดินทางไปยังหมู่บ้าน Xiaoyucun  ริมทะเลสาบเตี้ยนฉือ ในตำบล Jinning เพื่อดูงานการแก้ปัญหาความยากจน พื้นที่นี้เป็นหมู่บ้านชาวประมงขนาดเล็ก  ชาวบ้านทำการเกษตร ปลูกพืชเพิ่มเติมเช่น ผัก ดอกไม้ บัว ข้าวโพด เดิมมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนคนละ 1,000-3,000 หยวน  ต่อมารัฐบาลจีนอัดฉีดงบประมาณ 28 ล้านหยวนเพื่อแก้ปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นหมู่บ้านตัวอย่างการแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนเป็นรูปธรรม ปรับเพิ่มอาชีพเป็นการท่องเที่ยวและที่พักโฮมสเตย์ ร้านค้า ร้านอาหารและกิจการอื่น ๆ โดยมีบริษัทและวิสาหกิจมาบริหารงาน แบ่งผลกำไรให้กับคณะกรรมการของหมู่บ้าน 20% เพื่อนำไปเฉลี่ยจัดสรรให้แต่ละบ้านตามสัดส่วน ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยครัวเรือนละ 3,000 หยวน/วันและในช่วงเทศกาลวันหยุดก็อาจมีรายได้สูงถึง 15,000 หยวนต่อวัน  

                     

            ต่อมาคณะได้เดินทางไปยังตำบล Chenggong เพื่อเยือนตลาดดอกไม้โต่วหนาน ซึ่งเป็นตลาดการค้าดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีนและเอเชีย ชมการประมูลขายดอกไม้ออนไลน์ในห้องประมูลและการขายดอกไม้สดรวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่น ๆที่เกี่ยวเนื่อง  ที่นี่เปิดดำเนินการตั้งแต่ปีพ.ศ. 2542 บนพื้นที่กว่า 30 ไร่ในระยะแรกแล้วขยายมาเป็น 425 ไร่  ในแต่ละวันมีคนซื้อขายดอกไม้กว่า 1 หมื่นคน มูลค่า3.5-5.5 ล้านหยวน มีดอกไม้ 500-800 ตัน ถูกขนส่งผ่านเส้นทางต่าง ๆไปสู่ 80 เมืองทั่วประเทศจีนและกว่า 40 ประเทศทั่วโลก   ดอกไม้ที่มีการซื้อขายหลัก ๆได้แก่ กุหลาบ  เบญจมาศ และ คาร์เนชั่น เป็นต้น ยูนนานยังเป็นตลาดนำเข้ากล้วยไม้อันดับ 1 ของไทย 

                       

            ปิดท้ายวันด้วยการเดินทางไปเยี่ยมชมกิจการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ของบริษัท China United International Rail Containers สาขาคุนหมิง  ในเขตการค้าเสรีนำร่อง (Kunming  Economic Development Zone)  ที่นี่เป็นสถานีขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในยูนนาน ให้บริการได้มากกว่า 1.6 ล้านตู้ต่อปี รองรับการขนส่งแบบ real time ได้พร้อมกันครั้งละ 20,000 ตู้  โดยมีเส้นทางการกระจายสินค้า  4 เส้นทางหลักคือ  ส่งต่อไปยังรถไฟจีน-ยุโรป  / รถไฟจีน-ลาว และอาเซียน / ขนส่งไปยังท่าเรือในมณฑลกว่างซีและกระจายสินค้าไปยังทั่วประเทศจีน

                     

            โครงการในปีนี้เป็นรุ่นที่ 5 จัดขึ้นโดยความร่วมมือของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณจีนประจำประเทศไทยและฝ่ายต่างประเทศมณฑลยูนนาน (YFAO) รวมทั้งศูนย์การสื่อสารระหว่างประเทศ เอเชียใต้-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งยูนนาน (YICC)

            ก่อนหน้านี้ สมาคมได้จัดกิจกรรมมาแล้ว 4 รุ่น โดยรุ่นที่ 1 ไปเยือนนครเซี่ยงไฮ้และเมืองหางโจว ในมณฑลเจ้อเจียง รุ่นที่ 2 เยือนมณฑลกวางตุ้ง เมืองเซินเจิ้น เพื่อดูงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ต่อมาเกิดการระบาดของโควิด -19 ทำให้ รุ่นที่ 3 ปรับการเรียนรู้เป็นดูงานกิจการไทย-จีนภายในประเทศไทย และรุ่นที่ 4 ไปเยือนนครหลวงเวียงจันทน์-หลวงพระบางที่ สปป.ลาว เพื่อดูงานกิจการรถไฟความเร็วสูงจีน -ลาว