“ไม่เฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนักข่าว แต่ถ้าเป็นประชาชนทั่วไปก็ไม่สมควร ที่จะถูกข่มขู่เช่นนี้ เพราะเป็นอันตรายและลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ในการทำหน้าที่สื่อมวลชน เพื่อส่งสารไปยังผู้บริโภค ให้ได้รับข้อมูลรอบด้านปราศจากอคติ
ชำนาญ ไชยศร อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ให้มุมมองถึง “ชีวิตคนทำสื่อ : เสี่ยงถูกคุกคาม & ต้องระวังไม่ทำการละเมิด” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” โดยเล่าว่า อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้รับร้องเรียนขอความเป็นธรรม จากบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ทันหุ้น ว่าถูกคนร้ายคุกคาม เหตุเกิดวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา คนร้ายส่งกล่องพัสดุเขียนถึงบรรณาธิการข่าวดังกล่าว ภายในมีลูกกระสุนปืนและรูปถ่ายครอบครัวของบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ทันหุ้น พร้อมข้อความว่า “กูให้เวลามึง 7 วัน” จึงได้แจ้งความไว้ที่ สน. มักกะสันเรียบร้อยแล้ว
หลังจากนั้นวันที่ 19 กรกฎาคมเวลาประมาณตีหนึ่ง มีคนร้ายไม่ทราบจำนวน ขี่รถจักรยานยนต์ปาวัตถุคล้ายระเบิด 3 ลูกเข้าไปในบ้าน ของบรรณาธิการข่าวที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งการคุกคามลักษณะนี้กระทบไม่เฉพาะการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน แต่กระทบทั้งโรงเรียนและเพื่อนบ้านมีความกังวลเช่นกัน ขณะที่ครอบครัวของบรรณาธิการฯก็ไม่มีความสุข คอยระแวงอยู่ตลอดเวลาว่าจะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงไม่คาดฝันกับครอบครัวเขาหรือไม่
ไม่นิ่งดูดายหากสื่อถูกฟ้องปิดปากการทำงาน
ชำนาญ บอกว่า บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ทันหุ้น ได้เข้าร้องเรียนกับฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯ เพื่อขอความเป็นธรรม คุ้มครองปกป้องการทำหน้าที่สื่อมวลชน โดยได้ให้รายละเอียดในเบื้องต้นไว้ และเรารับฟังข้อมูลแต่ไม่ใช่ออกแถลงการณ์ทันที เพราะเป็นองค์กรต้องทำงานเป็นคณะและเป็นขั้นตอนพิจารณาดำเนินการ เรามองว่าการกระทำของคนร้ายเป็นพฤติกรรมที่นอกเหนือกฎหมาย ไม่ควรนิ่งดูดายเรื่องถูกฟ้องปิดปาก เพราะเป็นการคุกคามรูปแบบหนึ่ง ในเรื่องจิตใจของผู้สื่อข่าว
“ไม่เฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนักข่าว แต่ถ้าเป็นประชาชนทั่วไปก็ไม่สมควร ที่จะถูกข่มขู่เช่นนี้ เพราะเป็นอันตรายและลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ในการทำหน้าที่สื่อมวลชน เพื่อส่งสารไปยังผู้บริโภค ให้ได้รับข้อมูลรอบด้านปราศจากอคติ”
ออกแถลงการณ์ประณาม-ข้องใจเหตุคุกคามสื่อกลับมาอีกครั้ง-ร้องสตช.เร่งหาคนร้าย
ชำนาญ เล่าว่า เหตุคุกคามลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีก่อน เมื่อมาเกิดขึ้นครั้งนี้จึงเป็นเรื่องเลวร้ายต่อสังคม ทางสมาคมนักข่าวฯจึงพิจารณาแล้วร่วมกัน ออกแถลงการณ์ประณาม พร้อมเรียกร้องไปยังรัฐบาล ในฐานะดูแลปกป้องสิทธิการทำหน้าที่ของประชาชนและของสื่อมวลชน รวมทั้งเรียกร้องไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ติดตามคนร้าย มาดำเนินคดีเร็วที่สุดไม่ให้เกิดเป็นเยี่ยงอย่าง
ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์แบบนี้กลับมาได้อย่างไร เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อสังคมมาก ไม่รู้จุดประสงค์ผู้ก่อเหตุคืออะไร แต่ผมมองว่าไม่น่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กับสังคมที่พัฒนาไปไกลแล้ว โดยเบื้องต้นทางสมาคมนักข่าวฯได้ออกแถลงการณ์ แต่ก็เห็นใจเจ้าหน้าที่เพราะมีกระบวนการทำงาน และมีงานรับผิดชอบหลายอย่าง จึงต้องให้เวลาเจ้าหน้าที่ด้วย ซึ่งคิดว่าหาก 1 เดือนแล้วไม่คืบหน้า ก็อาจจะไปยื่นหนังสือต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่หลังจากที่สมาคมนักข่าวฯออกแถลงการณ์ไป เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งรีบสอบปากคำ ลงพื้นที่ตรวจสอบ หาพยานหลักฐานแวดล้อมทั้งหมด
บริบทสื่อถูกคุกคามเปลี่ยนไป-ทำ MOU กับสภาทนายความ-พันธมิตรหลายองค์กร
ส่วนภาพรวมการทำงานของสื่อมวลชนในรอบปีที่ผ่านมา ชำนาญ บอกว่า ยุคนี้ส่วนใหญ่เป็นการคุกคาม ในลักษณะปิดปากมากกว่า อาทิ ฟ้องหมิ่นประมาท ฟ้องเรื่องพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ , นำเสนอข่าวเป็นเท็จ เป็นต้น ส่วนการคุกคามถึงชีวิตและทรัพย์สินมีน้อยมาก ขณะเดียวกันก็มีสื่อเข้ามาร้องเรียนสมาคมนักข่าวฯพอสมควร จึงทำ MOU กับสภาทนายความ หากมีเรื่องที่คณะกรรมการของสมาคมนักข่าวฯพิจารณาแล้วว่า เป็นเรื่องฟ้องร้องเกี่ยวกับการคุกคามทำหน้าที่สื่อมวลชนจริงๆ ก็จะขอความร่วมมือสภาทนายความ ดำเนินการเรื่องกฎหมาย ขณะเดียวกันสมาคมนักข่าวฯ ได้พูดคุยร่วมกับพันธมิตรหลายองค์กร เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ก็มีการเข้าไปร่วมกิจกรรมหลายอย่าง ล่าสุดมีแผนที่จะทำงานร่วมกัน กับอนุสิทธิมนุษยชนในเรื่องของการฟ้องปิดปาก
ประเมินหลายกลุ่มเริ่มชุมนุมยกระดับ-เตือนสื่อหาข้อมูล-ประสานตำรวจก่อนเข้าพื้นที่
ชำนาญ บอกว่า สถานการณ์การเมืองปัจจุบัน หลายพื้นที่มีการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ทางสมาคมนักข่าวฯ ได้แจ้งเตือนผู้สื่อข่าวที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ และเตือนประชาชนที่เป็นนักข่าวพลเมือง ก่อนเข้าพื้นที่ชุมนุมทุกครั้งต้องหาข้อมูล รายละเอียดให้รอบด้าน ข้อระวังคือต้องแต่งกายให้รัดกุม ไม่แต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่รัฐหรือคล้ายผู้ชุมนุม เพราะจะเป็นเป้าหมายถูกคุกคามหรือทำได้
นอกจากนี้สมาคมนักข่าวฯทำปลอกแขนเป็นสัญลักษณ์สากล มีสีฟ้าสะท้อนแสง เขียนตัวหนังสือและมีหมายเลขประจำตัวชัดเจน ว่าใครรับและสวมปลอกแขนหมายเลขใด สามารถตรวจสอบพฤติกรรมของสื่อได้ หากเจ้าหน้าที่รัฐเห็นว่าทำหน้าที่นอกลู่นอกทาง ให้แจ้งสมาคมนักข่าวฯเพื่อดำเนินการ
ขณะเดียวกันปลอกแขนของสื่อมวลชน มีวัตถุประสงค์ให้เจ้าหน้าที่รัฐและผู้ชุมนุมใช้ความระมัดระวัง กับสื่อเพราะเราไม่มีผลประโยชน์กับใคร แต่ทำหน้าที่เพื่อนำข่าวสารให้กับประชาชนได้ติดตามอย่างรอบด้าน ซึ่งได้ประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) อย่างต่อเนื่องในการทำความเข้าใจถึงหน้าที่
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์เวลา 11.00-12.00 น.โดยความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5