มองจีนยุคใหม่ สะท้อนถึงสื่อไทยและคนไทย 

รายงานพิเศษ

________________________________________

โดยกองบรรณาธิการจุลสารราชดำเนิน (จตุรงค์ แสงโชติกุล)

สงครามระหว่างพันธมิตร 8 ชาติตะวันตก ที่รุกรานจีนในสมัยราชวงศ์ชิง ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งที่ ฯพณฯ หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เล่าให้คณะสื่อไทยได้ฟัง ณ ที่ทำการชั่วคราวสมาคมนักข่าวฯ ในโครงการ “มองจีนยุคใหม่ สิ่งที่สื่อไทยควรรู้” รุ่นที่ 5 เมื่อวันที่ 21 ก.ค.2566 

.

คณะสื่อไทยได้ฟังเรื่องนี้อีกครั้งโดยไม่ได้นัดหมาย จากปาก “คุณหมวย” ไกด์ชาวจีนผู้ดูแลคณะตลอดการเยือนนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ระหว่างวันที่ 24-27 ก.ค. เธอบอกว่าลูกของเธอได้ศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ของประเทศ ในชั้นเรียนระดับประถมศึกษาด้วย

บาดแผลในอดีตถูกหยิบยกมาเล่าซ้ำเมื่อมีโอกาส ไม่ว่าจะกับคนในหรือนอกประเทศ สะท้อนว่าเรื่องราวเหล่านี้ถูกจัดวางเพื่อถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นอย่างเข้มข้นและแพร่หลาย ย้ำเตือนว่าประเทศจะต้องไม่พ่ายแพ้ ยากจน หรือกลับไปอยู่ในสภาพเลวร้ายแบบนั้นอีก

“การขับเคลื่อนฟื้นฟูความรุ่งโรจน์ของประชาชาติจีน ด้วยความทันสมัยแบบจีน” เป็นคำนิยามที่บ่งบอกความเป็นจีนได้ชัดเจน และการพัฒนาประเทศในยุคสมัยของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้สร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อมุ่งเน้นขจัดปัญหาความยากจน โดยเฉพาะดินแดนฝั่งตะวันตก 

มณฑลยูนนาน ที่ตั้งของนครคุนหมิง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน กลายเป็นประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ เป็นต้นทางของรถไฟจีน-ลาว-ไทย ที่ส่งผลดีต่อการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศ รวมถึงการขนส่งสินค้า ชุมทางที่รองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้ 1.6 ล้านตู้ต่อปี ทำให้สินค้าจากเมืองไทยที่เคยใช้เวลาหลายวันกว่าจะถึงเมืองจีน ตอนนี้เหลือแค่ 37 ชั่วโมงเท่านั้น  

และเพื่อสร้างแรงงานรองรับระบบการขนส่งสายสำคัญ จีนยังให้ทุนการศึกษากับอาจารย์ชาวลาว มาเรียนต่อหลักสูตรรถไฟความเร็วสูง เพื่อกลับไปสอนนักศึกษาในบ้านเกิด รวมถึงมีความร่วมมือกับหน่วยงานการศึกษาในไทยด้วย

นอกจากแหล่งท่องเที่ยวคุ้นหู อย่างภูเขาหิมะมังกรหยก หรือเมืองเก่าต้าหลี่ พวกเขายังสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในหมู่บ้านที่ประชาชนมีรายได้ต่ำ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างอาชีพ รวมถึงมีตลาดประมูลและขายส่งดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก รองจากเนเธอร์แลนด์ 

ตัวเลขที่ทางการจีนและไทยรายงานตรงกัน คือปี 2020 คนจีน 9.3 ล้าน จาก 44 ล้านคน หลุดพ้นเส้นความยากจน ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ให้เกษตรกรและคนในชนบทได้ประกอบอาชีพ รวมถึงใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพและทันสมัย ไม่ต้องละทิ้งบ้านเกิดไปหางานทำในเมืองใหญ่ และที่สำคัญ ต้องไม่ปล่อยให้พวกเขากลับไปยากจนเหมือนเดิมอีก 

“จะไม่มีใครถูกทิ้งให้อยู่ข้างหลัง” ไม่ใช่คำใหม่สำหรับสื่อไทยตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่คำกล่าวทำนองนี้เคยออกจากปากผู้นำจีนเช่นกัน รวมถึงคำคมและค่านิยมต่างๆ ที่สื่อสารถึงประชาชนให้รักชาติและรู้หน้าที่ เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศให้รุ่งเรือง ซึ่งพวกเขาเชื่อมั่นว่าทำได้จริง

การศึกษาแนวทางเอาชนะความยากจนของจีน อาจถูกนำมาใช้เปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อปี 2564 คนไทย 4.4 ล้านคน ยังอยู่ใต้เกณฑ์เส้นความยากจน และเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาอีก 2.8 แสนคน ทั้งที่มีค่านิยม 12 ประการ และคำคุ้นหู “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” คล้ายๆ กัน  

“แบบจีน” ยังเป็นคำสะท้อนตัวตน ที่ทางการจีนใช้เพื่อปฏิเสธแนวคิดแบบชาติตะวันตก แม้จะถูกวิจารณ์เรื่องความเป็นประชาธิปไตย และเสรีภาพสื่อมวลชน ไม่นับรวมการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อทั่วโลก ที่ทำให้สื่อมวลชนของจีนต้องปรับตัว 

“ยูนนานเดลี่” องค์กรสื่อขนาดใหญ่ของมณฑลยูนนาน ที่ก่อตั้งมานานกว่า 70 ปี ปัจจุบันส่งหนังสือพิมพ์ถึงมือผู้อ่านได้กว่า 2.6 แสนฉบับต่อวัน และมีการเสนอข่าวผ่านโลกออนไลน์ที่รวดเร็ว

โจทย์สำคัญในการขยายฐานผู้รับสื่อ คือ พวกเขาไม่สามารถใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ของชาติอื่น อย่างเฟซบุ๊ก ยูทูบ หรือไลน์ได้ และมีแค่ วีแช็ต เป็นแอปพลิเคชั่นหลักเท่านั้น

“ยูนนานเดลี่” ใช้วิธีตั้งสำนักงานในต่างประเทศ จัดจ้างผู้สื่อข่าวต่างชาติ เพื่อเปิดบัญชีแพลตฟอร์มออนไลน์นำเสนอข้อมูลข่าวสาร นี่เป็นกลยุทธ์ภายใต้แนวคิดที่ว่า “ผู้คนจะเชื่อถือคนชาติเดียวกัน” เมื่อนำเสนอเรื่องราวผ่านการบอกเล่าของคนในชาติใดๆ ย่อมทำให้ผู้คนในประเทศนั้นๆ เชื่อถือข่าวสารของยูนนานเดลี่มากขึ้น

นอกจากข่าวสารแล้ว ยูนนานเดลี่ร่วมจัดทำนิตยสารรายเดือน กับผู้ผลิตเนื้อหาในประเทศเพื่อนบ้าน คือไทย, กัมพูชา, เมียนมา และลาวด้วย

“มงคล บางประภา” นายกสมาคมนักข่าวฯ อธิบายเพิ่มเติมว่าจีนอาจมีข้อจำกัดในการทำงานสื่อ โดยเฉพาะการวิจารณ์ผู้นำและพรรคคอมมิวนิสต์ แต่เรื่องอื่นที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชนก็ยังสามารถนำเสนอได้ พร้อมชี้ว่านอกจากหน้าที่นำเสนอข่าวสารแล้ว ในอนาคตสื่อไทยจำเป็นต้องแสวงหาความร่วมมือกับสื่อต่างชาติ 

โดยยกตัวอย่างช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปี 2563 มีสื่อไทยรายงานข่าวคนจีน 5 ล้านคน ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย เดินทางออกนอกประเทศเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน  และประเทศเป้าหมายที่พวกเขาเดินทางมาเยือนมากที่สุดคือประเทศไทย 

องค์กรวิชาชีพสื่อไทยและจีนได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน จนสรุปได้ว่าข่าวนี้ไม่เป็นความจริง ช่วงเวลานั้นคนจีนในอู่ฮั่นส่วนใหญ่เดินทางกลับภูมิลำเนาภายในมณฑลหูเป่ย และมีการเดินทางมาสนามบิน 3 แห่งของไทยราว 26,000 คนเท่านั้น

ประเด็นนี้สอดคล้องกับที่ ฯพณฯ หาน จื้อเฉียง กล่าวถึงคณะสื่อไทยว่า ปัจจุบันการไหลบ่าของข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความสับสนในข้อเท็จจริง จึงยินดีที่สื่อไทยจะได้ไปเห็นภาพและเรื่องราวจริง เพื่อการนำเสนอที่รอบด้าน โดยไม่จำเป็นต้องได้เห็นแต่สิ่งสวยงามหรือความเจริญของจีน และไม่จำเป็นต้องนำเสนอเพื่อเชียร์จีนเท่านั้น

ไทย-จีน ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันแค่เชิงประวัติศาสตร์ แนวคิดการพัฒนาประเทศ หรือการทำงานสื่อ

เพราะเรื่อง “ผู้หญิงไทย” กลายเป็นประเด็นหลัก ระหว่างการแลกเปลี่ยนข้อมูล ของคณะสื่อไทย กับผู้บริหารสถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง 

แม้การถูกทำร้าย, กักขังหน่วงเหนี่ยว หรือบังคับค้าประเวณี อาจเป็นภาพเลวร้ายที่เกิดขึ้นซ้ำๆ กับผู้หญิงไทยและทั่วโลก แต่ปัญหาหญิงไทยในจีนนั้นมีต้นสายปลายเหตุ และรายละเอียดที่แตกต่างออกไป   

นโยบายลูกคนเดียวตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำให้ประชากรหญิงจีนมีจำนวนน้อยลง พวกเธอยังได้รับการศึกษาที่ดี มีงานมีรายได้ และสามารถเลือกคู่ครองได้เอง แถมจีนยังมีค่านิยมว่าผู้ชายที่ดีและน่าแต่งงานด้วย ต้องมีบ้านและรถยนต์เพื่อประดับฐานะ 

ยกตัวอย่างบ้านหรือห้องชุดขนาด 40 ตารางเมตรในนครคุนหมิง ช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่เติบโต สามารถหาซื้อได้ในราคาประมาณ 6 พันหยวนต่อตารางเมตร (1 หยวน ประมาณ 5 บาทไทย) แต่ปัจจุบันราคาขยับขึ้นมา 2-3 เท่าตัวแล้ว

ไม่ต้องถามถึงห้องชุดหรือบ้านในเมืองใหญ่ หรือศูนย์กลางเศรษฐกิจระดับมหานคร ราคาห้องชุดอาจพุ่งสูงถึง 1-2 แสนหยวนต่อตารางเมตร หนุ่มจีนที่หวังจะได้สาวชาติเดียวกันเป็นคู่ครอง ต้องใช้เงินหลักล้านหยวนเป็นอย่างน้อย 

นี่แค่ตัวอย่างเดียวจากเงื่อนไขปัจจัยมากมาย จนกลายเป็นปัญหาสำหรับชายจีนที่มีเงินไม่มากนัก และต้องแสวงหาทางเลือกใหม่ที่เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า เพื่อมีทายาทสืบสกุล

พวกเขาอาศัยแม่สื่อไปทาบทามหญิงต่างชาติมาแต่งงานด้วย และหญิงไทยก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายนั้น 

แม้จะผ่านกระบวนการแม่สื่อแม่ชัก แต่พวกเขาจัดพิธีแต่งงานอย่างถูกต้องและอยู่กินกันจริง จึงไม่ผิดกฎหมายทั้งในไทยและจีน ยกเว้นแค่บางกรณีซึ่งหญิงไทยไม่ควรมองข้าม 

ต้นเดือนกรกฎาคม สื่อไทยรายงานบทสัมภาษณ์หญิงชาวอุดรธานี อายุ 31 ปี ว่าเคยมีแม่สื่อคนไทยมาทาบทามให้ไปแต่งงานกับชายชาวจีน ข้อเสนอที่เธอได้รับคือเงินสินสอด 1 แสนบาท แต่ต้องจดทะเบียนสมรส ไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายชาย และเมื่อมีบุตรจะอยู่ต่อหรือกลับไทยก็ได้ แต่ผ่านไปหลายเดือน เธอไม่สามารถกำเนิดทายาทได้ จึงถูกกักขังและทำร้ายร่างกาย 

เธออ้างว่าสุดท้าย ต้องหาเงินกว่า 1 แสนบาทเป็นค่าดำเนินการ ค่าปรับวีซ่าหมดอายุ รวมถึงค่าเครื่องบินเพื่อเดินทางกลับประเทศไทย

พ.ต.อ.สุรพงษ์ ชาติสุทธิ์ รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ให้สัมภาษณ์ (6 ก.ค.) ว่าแม้แม่สื่อจะได้ค่าตอบแทนจากครอบครัวชาวจีน แต่เรื่องนี้เป็นการแต่งงานตามข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย จึงยังไม่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ อุ้มบุญ ว่าจ้างตั้งครรภ์ หรือบังคับค้าประเวณี

เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นในคุนหมิง แต่สถานกงสุลใหญ่ฯ ยอมรับว่ามีปัญหาลักษณะนี้จริง

หญิงไทยไม่ได้มาอยู่จีนแค่ในฐานะเจ้าสาวหรือแม่ของลูกเท่านั้น เพราะพวกเธอยังเป็นแรงงานในหลายธุรกิจ โดยเฉพาะงานนวดสปา 

แม้ส่วนใหญ่จะเข้ามาทำงานอย่างถูกต้อง ได้รับเงินเดือนและสวัสดิการ รวมถึงสามารถเดินทางได้ตามปกติ แต่สถานกงสุลใหญ่ฯ ยังพบหญิงไทยบางส่วนถูกยึดหนังสือเดินทางและต้องทำงานหนักเกินกว่าที่ตกลงกัน

สถานกงสุลใหญ่ฯ ชี้ว่าแม้คนจีนจะค่อนข้างเกรงกลัวกฎหมาย โดยเฉพาะการทำร้ายร่างกายที่มีบทลงโทษสูง แต่บางครั้งเมื่อเกิดปัญหาขึ้น การช่วยเหลือกลับไม่ง่ายนัก เพราะผู้เสียหายไม่มีแม้แต่สัญญาจ้างเป็นหลักฐาน

หญิงไทยที่หวังสร้างชีวิตใหม่ในเมืองจีน ไม่ว่าจะในรูปแบบการแต่งงานหรือทำงานเก็บเงิน สถานกงสุลใหญ่ฯ แนะนำให้เก็บหนังสือเดินทางหรือบัตรประชาชนไทยไว้กับตัว เพื่อยืนยันสถานะความเป็นคนไทย, ซื้อโทรศัพท์มือถือในจีนเพื่อติดต่อครอบครัวและทางการไทย, มาแสดงตัวกับเจ้าหน้าที่สถานกงสุลฯ เพื่อแจ้งสถานที่พำนักหรือสถานที่ทำงานและช่องทางติดต่อหากต้องการความช่วยเหลือ 

และที่สำคัญ ต้องศึกษาขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม และสำรวจสภาพครอบครัวฝ่ายชาย หรือสถานที่ทำงานก่อนตัดสินใจเดินทางมาอาศัยจริง

เพราะพื้นที่อยู่ใกล้ชายแดนภาคเหนือของไทย สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง จึงมีบทบาทเพิ่มเติมนอกจากงานเอกสาร คือการคุ้มครองคามปลอดภัยให้คนไทยและภารกิจด้านความมั่นคงของรัฐ

การหลบหนีเข้าเมือง หรืออาศัยในจีนเกินกำหนด ทำให้คนไทยบางส่วนต้องอยู่อย่างหลบซ่อนหรือหางานทำแบบผิดกฎหมาย หากช่วยเหลือได้ทันก็ยังมีชีวิตกลับบ้านเกิดเมืองนอนได้

การเติบโตทางเศรษฐกิจของยูนนานและประเทศจีน ยังเป็นโอกาสของภาคธุรกิจไทย สินค้ายอดนิยมอย่างทุเรียน ยังได้รับการยอมรับเหนือกว่าคู่แข่งจากเวียดนาม หรือมาเลเซีย และแม้จีนจะพยายามปลูกทุเรียนเอง แต่ผลผลิตจากไทยยังโดดเด่นกว่า 

สถานกงสุลใหญ่ฯ คาดการณ์ว่าในอนาคต ความต้องการทุเรียนออแกนิกในจีนจะเพิ่มมากขึ้น เพราะลูกค้าชาวจีนยินดีจ่ายเงินเพิ่มเพื่อสินค้าคุณภาพสูงและปลอดภัย

 

ขณะที่เครื่องสำอางบำรุงผิวจากไทยก็เป็นอีกหนึ่งสินค้าขายดี เนื่องจากผู้บริโภคในยูนนานต้องการมีผิวหน้าขาวใสแบบชาวเสฉวนที่พวกเขานิยม

“เทศกาลไทย” ในยูนนาน ยังเป็นกิจกรรมที่ภาครัฐ สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย ได้นำเสนอและติดต่อซื้อขายสินค้ากับชาวจีนได้โดยตรง รวมถึงพัฒนากิจกรรมซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อโอกาสทางธุรกิจในอนาคต 

ขณะที่อุปสรรคของภาคธุรกิจไทย คือหลังการระบาดของโควิด-19 ชาวจีนมีเทรนด์เดินทางในประเทศมากขึ้น รวมถึงแสวงหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่อย่างมัลดีฟส์ 

สอดคล้องกับสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว คาดการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนปีนี้ จะต่ำกว่า 5 ล้านคน ทั้งที่ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวเยือนไทยประมาณ 40 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวจีนถึง 25% 

ปัญหาการขอวีซ่าเป็นอุปสรรคของคนจีนที่เดินทางมาเที่ยวไทย ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ฯ ชี้แจงว่ากำลังพัฒนาระบบ e-VISA ภาษาจีนเพื่ออำนวยความสะดวก แต่อีกด้านก็ยังควบคุมการเข้าเมืองอย่างเข้มงวด เนื่องจากที่ผ่านมาพบการกรอกข้อมูลเท็จ ทั้งโรงแรมและตั๋วเครื่องบิน จึงไม่สามารถให้คนจีนกลุ่มนี้เดินทางเข้าประเทศได้ เพราะนอกจากจะไม่ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวแล้ว ยังอาจเป็นภาระต่อความมั่นคงของไทยด้วย

อีกตัวอย่างที่ไม่อาจมองข้ามและเกี่ยวเนื่องกับการนำเสนอข่าวสาร เพราะก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวเผยแพร่ผ่านแอปพลิเคชั่นติ๊กต็อก ว่าคนจีนถูกมอมยาและขโมยอวัยวะ ระหว่างมาท่องเที่ยวไทย ทำให้คนจีนกังวลเรื่องความปลอดภัย และต้องใช้เวลาไม่น้อยเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ

เพราะการรู้เรา รู้เขา กำหนดกลยุทธ์อย่างถูกต้องและลงมือทำ เป็นพื้นฐานสำคัญในทุกความสำเร็จ