“เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษา โดยภาพรวมแล้วผู้บริโภคได้รับผลกระทบหนักเหมือนกัน และประเด็นของแอชตันไม่ได้มีปัญหาเฉพาะคำสั่งศาล เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมาเท่านั้น เท่าที่เคยคุยกับลูกบ้านบอกว่า ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นเคยขอให้ทางบริษัท พยายามหาวิธีแก้ไขปัญหาแต่ไม่เคยตอบรับ”
โจทย์ใหญ่ "แอชตัน" ที่ง่ายแต่กลับไม่ง่าย
“แอชตันอโศก” โครงการคอนโดมิเนียมหรู 51 ชั้น บนถนนสุขุมวิท 21 มีผู้พักอาศัยรวม 580 ครอบครัว และยังมีห้องชุดรอขายอีก 117 ยูนิต แต่ปัญหาใหญ่ของโครงการนี้ จนเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต คือ ปัญหาทางเข้า-ออกอาคารใหญ่ ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคาร จนส่งผลกระทบต่อลูกบ้านทั้ง 580 ครัวเรือน “ภัทราพร ตั๊นงาม" ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เกาะติดพื้นที่ พร้อมเปิดข้อมูลผ่าน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า กรณีนี้เป็นกรณีศึกษา ที่ผู้บริโภค หรือลูกบ้านที่ซื้อห้องชุดได้รับผลกระทบหนัก และแอชตันเอง ก็ไม่ได้มีปัญหาเฉพาะคำสั่งศาล เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมาเท่านั้น เพราะเท่าที่ตนเองได้พูดคุยกับลูกบ้าน ได้บอกว่า ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้น เคยขอให้ทางบริษัทเอกชน พยายามหาวิธีแก้ไขปัญหา แต่ไม่เคยตอบรับ จนล่าสุดศาลมีคำสั่ง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มลูกบ้านบอกว่า เคยเสนอเอกสารไปให้บริษัทฯ ออกมาตรการเยียวยา และทางออกอื่น ๆ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่อยู่ที่ดูเหมือนง่ายแต่ไม่ง่าย เช่น การคืนคอนโด หรือเสนอให้ทางบริษัท ไปจัดหาซื้อที่ดินเพื่อทำทางเข้า-ออกให้ถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะจะต้องมีขนาดความกว้างของซอย ที่ไม่น้อยกว่า 12 เมตร และต้องเชื่อมกับถนนใหญ่ ซึ่งอาจจะเป็นฝั่งสุขุมวิท หรือฝั่งอโศก แต่ต้องไม่น้อยกว่า 18 เมตร ซึ่งในฝั่งสุขุมวิท ก็ยังมีข้อสงสัยว่า ตกลงแล้วมีความกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตรจริงหรือไม่ เพราะเคยมีการวัดไปครั้งหนึ่ง แล้วพบว่า ความกว้างไม่ถึง ซึ่งกรุงเทพมหานคร ได้ระบุว่า จะส่งเจ้าหน้าที่ของสำนักการโยธา ลงมารางวัดฝั่งถนนสุขุมวิทใหม่ ซึ่งก็ยังจะต้องรอผลการวัดอีกครั้ง แต่ที่แน่ ๆ ฝั่งถนนอโศก ที่ออกทางเพชรบุรีตัดใหม่ ก็ยังมีโจทย์ใหญ่ว่า จะมีเจ้าของอาคารพาณิชย์ ยอมขายพื้นที่ให้หรือไม่ แต่ความชัดเจนขณะนี้คือ ขอให้ทางบรัษัทฯ ตอบภายใน 7 วันหลังจากที่แถลงข่าวไป แต่ขณะนี้ ก็ยังไม่มีความคืบหน้า
ส่วนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ชี้แจงเป็นเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ด้านเดียว โดยอธิบายใจความว่า สิ่งที่ถูกตั้งข้อสังเกตครั้งก่อนว่า เหตุใด รฟม.ไม่เปิดเผยผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า รฟม.ไม่สามารถนำที่เหล่านี้ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ได้ หรือเกี่ยวกับเรื่องของทางเข้า-ออกนั้น เนื่องจาก ก่อนหน้านี้ คำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด และเมื่อมีคำพิพากษาออกมาแล้ว ก็มีการอ้างว่า คำพิพากษาไปเกี่ยวข้อง เฉพาะใบอนุญาตที่กรุงเทพมหานคร อนุญาตให้มีการก่อสร้างเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับใบอนุญาตหรือไม่ได้พาดพิงใบอนุญาตของ รฟม.ที่ให้อนันดาใช้ทางเข้า-ออก
// เปิดความแตกต่าง "ใบจดแจ้ง-ใบอนุญาต" //
"ภัทราพร" ยังกล่าวถึงความเคลื่อนไหวของนายนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต่อกรณีดังกล่าวว่า ล่าสุด ได้มีการแถลงข่าวถึงแนวทางการดำเนินการกับอาคารชุดแอชตันว่า ในขณะนั้น น่าจะเป็นช่วงของหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครดำรงตำแหน่ง หรือคาบเกี่ยวกับช่วงของพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสมัยถัดมา เพราะรฟม.ได้ไฟเขียวให้บริษัทฯ ใช้ทางเข้า-ออกได้ก่อนมีใบจดแจ้งเป็นใบเบิกทาง และขณะนั้น กฎหมายไม่ได้บังคับห้ามกรุงเทพมหานคร แต่ดูจาก รฟม.ที่เป็นต้นเรื่อง ซึ่งถ้ากรุงเทพมหานคร ไม่อนุญาต หรือไม่อนุมัติ กทม.อาจจะโดนข้อหา 157 ได้ ซึ่งนี่เป็นคำอธิบายของกรุงเทพมหานคร และเป็นจุดอ่อน และเป็นความเสี่ยงเช่นกัน เพราะหากพิจารณาถึง “ใบจดแจ้ง” แล้ว ก็นำมาสู่การอธิบายได้ว่า ต่างจาก “ใบอนุญาต” เพราะที่บริษัทฯ ได้รับไป คือ ใบจดแจ้ง และถ้าเป็นโครงการก่อสร้างทั่วไป ต้องเป็นใบอนุญาต
“ใบจดแจ้ง เหมือนกับช่องทางพิเศษให้เฉพาะโครงการใหญ่ ๆ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร เขาให้เฉพาะโครงการใหญ่ ที่สามารถขอใบจดแจ้งได้ และสามารถก่อสร้างไปด้วยได้โดยที่ไม่ต้องขออนุญาต กทม. แต่คุณต้องมีบัตรวิชาชีพ คือ วิศวกรรม และมีสถาปนิกมาควบคุมงานก่อสร้าง แต่ถ้าเป็นใบอนุญาตโดยทั่วไป เวลาเราจะก่อสร้างบ้านปลูกบ้าน ต้องมีแบบแปลน และรายละเอียดพอสมควร กว่าจะไปยื่นขอใบอนุญาตแล้วก็ต้องให้ กทม. พิจารณาว่า แบบแปลนที่คุณเสนอมาผ่านหรือไม่ ถ้าผ่านก็จะออกไปอนุญาตให้ แต่ถ้าไม่ผ่านก็ต้องไปดูว่าต้องปรับแก้อะไรบ้าง เพราะฉะนั้นก็ถูกตั้งคำถามว่ากรณีช่องทางพิเศษที่เป็นใบจดแจ้ง ถึงแม้ว่าจะถูกกฎหมาย แต่เป็นโครงการใหญ่ เพราะฉะนั้นถ้าในมุมของ กทม. บอกว่า เป็นความเสี่ยงเหมือนกัน ณ ตอนนั้น กทม. อนุญาตให้เดินหน้าก่อสร้างได้ แต่อยู่บนเงื่อนไขที่เอกชนรับรู้อยู่แล้วว่า คุณต้องไปหาทางเข้า-ออกที่เป็นของตัวเอง ไม่ใช่ว่า กทม.อนุญาตแบบใส ๆ ว่า ให้ทำได้เลย เพราะวันนั้น กทม. โชว์หลักฐานเหมือนกันว่า เขามีเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตไปแล้วว่า ต้องทำบนเงื่อนไขที่คุณรับรู้อยู่แล้วว่า คุณต้องไปหาทางเข้า-ออกเป็นของตัวเอง คือ เป็นการอนุญาตแบบมีเงื่อนไข และถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นในอนาคต เอกชนต้องรับผิดชอบเอง" ภัทราพร อธิบาย
// อนาคตคอนโดในเมืองกรุงที่กระทบประชาชน //
"ภัทราพร" ยังมีความเป็นห่วงต่อทิศทางผังเมืองของกรุงเทพฯ ว่า จะเปลี่ยนไปเป็นอย่างไร เนื่องจาก มีคอนโดกว่า 1,000 แห่งมากมาย หรือควรจะพอแล้วหรือไม่ หรือควรจะเป็นแบบใดที่เกิดขึ้นในอนาคต และส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด เพราะจากการพัฒนาเมืองที่มีคอนโด และตึกสูง อาจจะตอบโจทย์ ของเมืองใหญ่แบบกรุงเทพฯ แต่ก็อาจมีปัญหาสิ่งแวดล้อม , ผลกระทบทางเสียงในระหว่างการก่อสร้าง ถึงขั้นที่ศาลพิพากษาว่ามีการก่อสร้างบังทิศทางลม, บังทิศทางแสงอาทิตย์ ซึ่งทุกอย่างเกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชนทั้งสิ้น
ทั้งนี้ ภัทราพร ยังอธิบายย้อนให้เห็นภาพรวมด้วยว่า กรณีอาคารชุดคอนโดดังกล่าว เป็นคดีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา กับกลุ่มลูกบ้าน เป็นผู้ยื่นฟ้อง ซึ่งตอนนี้โจทย์ใหญ่กลับมาสู่คำถามว่า "ในมุมของนายศรีสุวรรณ บอกว่า โจทย์ใหญ่ คือต้องไปหาที่ดินของตัวเองมาให้ได้ ที่ไม่ใช่ที่ดินของหน่วยงานรัฐภายใน 30 วัน โดยมี กทม.ควบคุมกำกับให้เป็นไปตามนั้น แต่ถ้าเอกชนยังไม่สามารถหาที่ได้ภายใน 30 วัน กทม.ก็อาจจะขยายระยะเวลาออกไปไม่เกิน 60 วันหรือเต็มที่จริงๆไม่เกิน 90 วัน และนายศรีสุวรรณ ยังระบุอีกว่า จะต้องมีกรอบให้ชัดเจน เต็มที่ไม่เกิน 90 วัน ซึ่งถ้าบริษัทฯ ยังหาที่ไม่ได้ กทม.ต้องใช้คำสั่งระงับการใช้ตึกแอชตันคอนโด และมีคำสั่งให้ต้องรื้อถอนด้วย ซึ่งนายศรีสุวรรณ ได้ชี้แนะถึงทางออกว่า อาจจะต้องให้เอกชนไปซื้อที่ละแวกนั้น แต่ปัญหาใหญ่ คือ จะสามารถซื้อ-ขายกันได้หรือไม่"
"ภัทราพร" ยังเล่าให้ฟังถึงการลงพื้นที่ไปดูทางออกที่กฎหมายระบุแอชตัน ต้องมีทางเข้า-ออกเป็นของตัวเอง คือ ทางที่เชื่อมจากคอนโดออกมาตามซอย ในซอยนั้นต้องมีความกว้างไม่ต่ำกว่า 12 เมตร และต้องเชื่อมกับถนนหลักไม่ต่ำกว่า 18 เมตรว่า บริเวณดังกล่าว คือ สุขุมวิท19 ที่มีแต่อาคารพาณิชย์ และบ้านคน ดังนั้น ถ้าจะต้องไปซื้อก็ต้องไปถามคนแถวนั้นว่าจะยอมขายหรือไม่ และในช่วงก่อสร้าง มีการร้องเรียนเรื่องเศษหินดินทราย ซึ่งชาวบ้านแถวนั้นไม่ค่อยพอใจเท่าไรกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่นายศรีสุวรรณ ก็บอกว่า ยังพอมีความเป็นไปได้ก็คือ ให้เข้า-ออกบริเวณทางออกของสยามสมาคม ซึ่งตรงจุดนี้ จะเชื่อมระหว่างทางออกกับถนน กับถนนอโศก ที่จะตัดออกไปทางถนนเพชรบุรีตัดใหม่ จึงต้องรอว่า ทางสยามสมาคมจะตัดสินใจอย่างไร แต่ในมุมของแอชตัน ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะคอนโดนี้ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ มีประชาชนไปซื้อครอบครองแล้วประมาณ 580 ห้องจากทั้งหมด 600 กลายเป็นว่า มีผู้คนเดือดร้อนจำนวนมาก เนื่องจากขายกรรมสิทธิ์ไปแล้วเกือบ 100% ทางบริษัทฯ ยังบอกด้วยว่า รับทราบอยู่แล้วว่า มีคดีพิพาทอยู่ในชั้นศาลก่อนหน้านี้ ซึ่งทนายความของฝ่ายนิติบุคคล และลูกบ้าน กลับยังไม่ทราบ และไม่รู้มาก่อน พร้อมยังประกาศด้วยว่า หากบริษัทฯ ไม่มาพบภายใน 7 วัน อาจจะนำไปสู่กระบวนการฟ้องร้องกลับบริษัทฯ ได้
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5