งานที่ใช่-กีฬาที่ชอบ: เส้นทางนักพากษ์ “แจ็คกี้-อดิสรณ์”

“ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกาศ หรือบรรยายข่าวกีฬา-ข่าวต่างประเทศ มีความเฉพาะเจาะจง จึงต้องมีความรู้ข้อมูลพื้นฐาน จะทำให้การทำงานค่อนข้างง่าย และต้องอัพเดทเพิ่มเติมข่าวตลอดเวลา เพราะข่าวเปลี่ยนแปลงทุกวันตรงนี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่ใช้ทำงานได้ในทุกมิติ"

///

“แจ็คกี้-อดิสรณ์ พึ่งยา" ผู้ประกาศข่าวกีฬา และคอลัมนิสต์สยามกีฬา เปิดใจถึง “เส้นทางอาชีพนักพากย์กีฬา” ผ่าน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า กีฬาแต่ละประเภท มีเทคนิคการบรรยายแตกต่างกัน ซึ่งส่วนใหญ่ตนเองจะบรรยายฟุตบอลเป็นหลัก เพราะรู้สึกสนุก ตื่นเต้น เนื่องจาก ฟุตบอลจะไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วตามเกมที่ขายตัวเองอยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร โดยที่นักพากษ์ หรือผู้บรรยายไม่ต้องประดิษฐ์ แต่ก็มีการบรรยายการแข่งขันกีฬาชนิดอื่นด้วย เช่น เอเชียนเกมส์, ซีเกมส์, โอลิมปิก หรือหากเป็นกีฬาอื่น ๆ ถ้าเป็นแบดมินตัน, เทนนิส, สนุกเกอร์ หรือกอล์ฟ ก็จะมีความตื่นเต้นด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว โดยที่เราไม่ต้องใส่อารมณ์มาก แต่จะหวือหวาตื่นเต้นเหมือนฟุตบอลไม่ได้ เพราะคนดูต้องการสมาธิ ไม่เน้นความตื่นเต้นในเกม หรือมวย ก็จะเป็นอีกอารมณ์หนึ่ง ซึ่งกีฬาแต่ละชนิดรูปแบบ อารมณ์ความรู้สึกในเกมมันขายตัวมันเองอยู่แล้วชัดเจน คนดูก็จะมีอารมณ์ร่วมเชียร์ หรือไม่เชียร์ทีมที่แข่งขัน เป็นตรงนั้นมากกว่า ส่วนเราก็เหมือนคนเดินสารให้ดี ครบถ้วนโดยไม่ต้องไปเติมแต่งอะไรมาก

“ชอบกีฬาเป็นทุนเดิม แต่ยังต้องอัพเดทข่าวเพิ่มเติม”

"แจ็คกี้" ยังเล่าถึงการฝึกฝนของตนเองในเส้นทางอาชีพนักพากย์กีฬาว่า จะต้องศึกษาเพิ่มเติม และฝึกฝน ทั้งทักษะการอ่านออกเสียง และส่วนตัวชอบข่าวกีฬาเป็นทุนเดิมอยู่แล้วตั้งแต่เด็ก ซึ่งสมัยนั้นจะเน้นอ่าน เพราะดูข่าวกีฬาจะน้อย ยกเว้นมีข่าวไฮไลท์ซึ่งนาน ๆ จะมี แตกต่างจากปัจจุบันเราได้ดูเต็มที่ จึงเป็นแฟนข่าวกีฬามาก่อน และมีข้อมูลในอดีตอยู่

“ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกาศหรือบรรยายข่าวกีฬา-ข่าวต่างประเทศ มีความเฉพาะเจาะจง จึงต้องมีความรู้ข้อมูลพื้นฐาน จะทำให้การทำงานค่อนข้างง่าย และต้องอัพเดทเพิ่มเติมข่าวตลอดเวลา เพราะข่าวเปลี่ยนแปลงทุกวันตรงนี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่ใช้ทำงานได้ในทุกมิติ" อดิสรณ์ กล่าว

เปิดประสบการณ์นักข่าวกีฬาประจำอังกฤษ-จุดเริ่มต้นผู้บรรยายกีฬา

"แจ็คกี้" ได้เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นการเป็นผู้สื่อข่าวสายกีฬาว่า เริ่มจากทำข่าวหนังสือพิมพ์สยามกีฬา อยู่ทีมกองบรรณาธิการข่าวกีฬาต่างประเทศ ทำหน้าที่แปลข่าว และบทความของบริษัทสยามสปอร์ต ซึ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ และช่วงนั้นมีโครงการส่งผู้สื่อข่าวไปประจำอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ที่มีฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่คนไทยนิยมดู จึงไปทำงานอยู่ที่อังกฤษ 2 ปี ถือเป็นประสบการณ์ ขณะเดียวกัน ตลาดทีวี กับการถ่ายทอดสด เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศไทยเคเบิ้ลทีวี พอกลับมาสถานีโทรทัศน์ยูบีซีในขณะนั้น ก็เห็นว่า ตนมีประสบการณ์ไปอยู่ประเทศอังกฤษมา จึงให้ลองไปเทสหน้ากล้อง แล้วเขาก็ตอบตกลง ก็เลยเริ่มทำงานตรงนั้น ก่อนที่จะย้ายไปสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 บรรยายกีฬา-อ่านข่าว-เป็นพิธีกร

“กูรูกีฬา แนะ ทักษะ-จังหวะสื่อสารสำคัญสำหรับการบรรยายกีฬา"

"แจ็คกี้" บอกว่า ตอนเข้าวงการใหม่ ๆ ได้ปรึกษา“คุณพิศณุ นิลกลัด”ผู้ประกาศข่าว ตอนนั้นอยู่ช่อง 7 ได้ให้ข้อมูลที่ดีมาก ที่บอกว่า คุณอาจจะมีข้อมูลประมาณ 1,000 เรื่อง แต่เวลาดูแมตช์การแข่งขันจริง ๆ อาจจะใช้ได้ไม่ถึง 10 แต่ต้องเป็น 10 ที่ทำให้คนดูเข้าใจ และจังหวะมันได้ ก็ถือว่าเป็น 2 ส่วนระหว่างพื้นฐานข้อมูลและทักษะการทำงานหน้าจอในการสื่อสาร และแม้จะมีความรู้ในเรื่องนั้น ๆ แต่การสื่อสารสำคัญกว่า เช่น ทักษะการใช้ภาษาและจังหวะในการสื่อสาร เพราะการแข่งขันกีฬาบางอย่าง ถ่ายทอดสดเป็นเกมที่ไปข้างหน้าตลอดเวลา ฉะนั้น เราจะไปใส่แต่ข้อมูลไม่ได้ ต้องดูว่า แต่ละจังหวะเขาทำอะไร เกมกีฬาเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก อาจจะเหนือเหตุผลด้วย ถ้าบอลกำลังสนุกแต่เราไปใส่ข้อมูล และประวัติคนดูก็จะเสียอรรถรส ทำให้คนดูรู้สึกรำคาญได้ตรงนี้ถือว่าเป็นศิลปะ

“ระหว่างพากย์ไม่เข้าข้างทีมที่เชียร์-บรรยายผิดต้องขออภัย”

"แจ็คกี้" ยังบอกด้วยว่า ในฐานะคนบรรยาย แม้มีทีมในดวงใจ แต่ถ้าต้องทำงานจะแสดงถึงความเป็นกลางอย่างไรนั้น ผมเชื่อว่า คนดูจะเข้าใจในสิ่งที่เราทำงาน เพราะหน้างานเห็นอยู่แล้ว ไปบิดเบือนข้อมูลไม่ได้ ใส่อารมณ์ความรู้สึกไม่ได้ เพราะบางคำพูดก็สื่อความรู้สึกให้คนดูคิดเหมือนกัน สมมติถ้าเราเชียร์แมนยู แล้วทีมแมนยูเสียจุดโทษ แล้วเราไปพูดว่า “ไม่น่านะ” คนดูก็จะเห็นว่า คนบรรยายเข้าทางทีมที่ตัวเองชอบ ฉะนั้น การทำงานเราต้องว่ากันไปตามงานไม่ชี้นำ พูดง่าย ๆ ก็เหมือนหม้อข้าวของเรา เราไม่ควรไปทุบหม้อข้าวตัวเอง แล้วเราจะหาอะไรกิน ถ้าเราไปใช้ความรู้สึกนำในการบรรยายทีมที่เรารัก หากเป็นการแข่งขันกีฬาสด ถ้าบรรยายผิดจะต้องขออภัยผู้ชม โดยดูจังหวะ เช่น ฟุตบอลกำลังตื่นเต้นแล้วเราไปพูดข้อมูลผิด ต้องให้ความตื่นเต้นคลายลงนิดหนึ่งแล้วขออภัย เพราะสำคัญกว่าการปล่อยผ่าน เดี๋ยวนี้คนดู มีความรู้ มีข้อมูลไม่แพ้ผู้บรรยาย และข่าวสารปัจจุบันมีมากขึ้น บางคนดูก็รู้อยู่แล้วว่า ผู้บรรยายมีความรู้พื้นฐานอย่างไร อาจจะผิดพลาด หรือผิดจังหวะบ้าง ก็เข้าใจว่า เราไม่ได้พลาดแบบไม่รู้อะไรเลย พอเราขออภัยไปเขาก็โอเค

“ย.โย่ง-วีรศักด์-เอกราช-มาร์ติน ไทเลอร์” ไอดอล "แจ็คกี้"

ส่วนผู้บรรยายในดวงใจที่ชื่นชอบ ทั้งเรื่องของน้ำเสียง และฟังรื่นหูนั้น "แจ็กกี้" บอกว่า ถ้าเป็นสมัยเด็ก ๆ ในเมืองไทย คือ“คุณเอกชัย นพจินดา" หรือ "ย.โย่ง” ที่เสียชีวิตไปแล้ว เป็นคนที่เสียงทุ้ม และมีความรู้เรื่องของฟุตบอล อันดับ 1 ของประเทศในยุคนั้น นอกจากนี้ ก็มี “คุณวีรศักดิ์ นิลกลัด” และ “คุณเอกราช เก่งทุกทาง” เสียงของพี่ทั้ง 2 คนนุ่ม และจังหวะการบรรยายดี ผมคิดว่าคนดูฟังแล้วแทบไม่ต้องใส่ข้อมูลอะไรมากเลย เขาไม่พูดเยอะด้วย บางทีถ้าพูดมากคนดูก็อาจรำคาญ ถ้าเป็นเมืองนอกที่ชอบ คือ “คุณมาร์ติน ไทเลอร์” ผู้บรรยายฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ
 
ฝากถึงน้อง ๆ สนใจงานพากย์ "ความรู้รอบตัว" เป็นสิ่งสำคัญ

สำหรับอัตราค่าจ้างของผู้บรรยายกีฬาโดยเฉลี่ย "แจ็คกี้" บอกว่า ส่วนตัวของตน เริ่มบรรยายตั้งแต่เกมแข่งขันคู่ละ 1,250 ไปจนถึง 5,000-8,000 บาท จะไม่เกินจากนี้ต่อหนึ่งเกม ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง หลายคนบอกว่ารายได้ดี แต่ผมคิดว่า เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการทำงาน ที่เรานำไปต่อยอด เช่น ถ้าเราบรรยายในโทรทัศน์ ได้คู่ละ 5,000 บาท แต่ถ้าไปบรรยายในสนามเป็นงานของอีเวนท์ต่าง ๆ ก็จะได้ราคาที่สูงขึ้น

"ฝากถึงน้อง ๆ ที่อยากเป็นผู้บรรยายข่าวกีฬาว่า เรื่องความรู้รอบตัวสำคัญ เพราะฟุตบอลบางแมทช์ มีคนดัง ที่ไม่ใช่วงการกีฬาไปนั่งดูเยอะ ทั้งดาราฮอลลีวูด หรือผู้บริหารระดับโลกไปดูกันบ่อย ตรงนี้เป็นความรู้รอบตัว ถ้าเป็นผู้บรรยาย เราก็จะได้ตรงนี้เพราะกล้องจะเคลื่อนไหวจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง ไปที่คนดู และจะจับภาพระยะใกล้คนดัง ๆ ตลอด เป็นความครบเครื่องของเรา ในการทำงานตรงนี้ได้ใจคนดูมากขึ้น แต่ปัจจุบันน้อง ๆ หลายคน มีความสามารถ ค่อนข้างเก่งเยอะในเรื่องเทคนิค เพราะในเป็นยุคโซเชียล ที่สามารถสะสมอัพเดทข้อมูลได้เร็ว และง่ายกว่าที่ผมเคยทำงานเมื่อ 20-30 ปีก่อน ที่ยังไม่มีโซเชียล จึงไม่น่าห่วง แต่เป็นเรื่องของจังหวะการบรรยายมากกว่า ก็ไม่ต้องคิดเยอะว่าจะประดิษฐ์คำ หรือปล่อยข้อมูลอย่างไร บรรยายตามเกมให้เป็นธรรมชาติดีกว่า" อดิสรณ์ กล่าว

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5