ทางเลือกแบ่งจ่าย “เงินเดือนข้าราชการ” อุดรอยรั่วจริงหรือ!!

         “ทางเลือกว่าอยากให้จ่าย 1 งวดหรือ 2 งวดเป็นทางออกที่ดี เพราะสุดท้ายแล้วคนที่รับเงินเดือน ต้องรู้ว่าจะหมุนเงินอย่างไร ถ้ามีรายจ่ายมากกว่ารายรับ สุดท้ายหนี้ก็จะหมุนลำบากไม่ว่ารายรับจะเป็นกี่งวด เพราะการเป็นหนี้สูงกำลังเป็นปัญหา ในระบบเศรษฐกิจที่กระทบสังคมไทย”        

         นครินทร์ ศรีเลิศ หัวหน้าข่าวเศรษฐกิจ-นโยบาย กรุงเทพธุรกิจ” วิเคราะห์ถึง “แนวคิดแบ่งจ่ายเงินข้าราชการ” ใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว”ว่า เรื่องการแบ่งเงินเดือนเป็น 2 รอบ นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งเป็นมติ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมอบหมายให้กรมบัญชีกลาง ไปดำเนินการได้ เลย ซึ่งกรมบัญชีกลางรับลูกอย่างรวดเร็ว  เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที และบอกว่าไม่มีปัญหาเรื่องการจัดสรรเงินเดือน เพราะอยู่ในบัญชีที่เรียกว่างบประมาณ ซึ่งเป็นรายจ่ายประจำของข้าราชการอยู่แล้ว ทุกเดือนจะต้องจ่ายประมาณ 5 หมื่นล้าน  ฉะนั้นไม่มีการเพิ่มเงินอยู่แล้ว จึงไม่ใช่ประเด็น  

คนมีหนี้นอกระบบได้ประโยชน์ 

            ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บอกว่าถ้าแบ่งจ่าย 2 งวด จะเป็นประโยชน์กับคนที่เป็นหนี้สินนอกระบบ ที่จะต้องจ่ายเป็นรายสัปดาห์หรือรายวัน สามารถหมุนเงินจ่ายได้ แต่ไม่มีข้อมูลว่าข้าราชการมีหนี้สินนอกระบบมากน้อยแค่ไหน 

            ถ้าเป็นหนี้ในระบบก็อาจจะบริหารจัดการได้ แต่ถ้าจำนวนหนี้เยอะจะหมุนอย่างไร ต้องคิดด้วยว่ารายได้ไม่พอกับการจ่ายหนี้อยู่ดี  ก็เป็นที่ถกเถียงกันว่าเหมาะสมหรือไม่จ่าย 1 รอบหรือ 2 รอบ ต้องไปพูดคุยกับสถาบันการเงินด้วย   

ทุกอาชีพมีหนี้ ต้องแก้ต้นทาง

            ความจริงแล้วถ้าพิจารณาต้นตอ มาจากการที่ข้าราชการเป็นหนี้จำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่ข้าราชการอย่างเดียว แต่ทุกอาชีพเป็นหนี้จำนวนมาก  ขณะนี้เมืองไทยระดับหนี้ครัวเรือนอยู่ประมาณ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี ซึ่งดูตัวเลขของหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ประมาณ 1.4 ล้านล้าน 

            รัฐบาลที่ผ่านมาได้มีการนำเรื่องหนี้สิน ของข้าราชการมาพูดและบอกว่าให้ตัดหนี้ไม่เกิน 70% ของเงินเดือน  ความหมาย คือ ถ้าหนี้สินถูกตัดไปตั้งแต่ต้นเดือนแล้วมีหนี้ไม่เกิน 70% ก็ไม่เป็นไร  เราก็ย้อนกลับมามองว่าวิธีคิดแบบนี้ ถ้าจ่ายเงินเดือน 2 งวด แล้วจำนวนหนี้เกิน 50% ขึ้นมาจะทำอย่างไร 

         “ทางเลือกว่าอยากให้จ่าย 1 งวดหรือ 2 งวดเป็นทางออกที่ดี เพราะสุดท้ายแล้วคนที่รับเงินเดือน ต้องรู้ว่าจะหมุนเงินอย่างไร ถ้ามีรายจ่ายมากกว่ารายรับ สุดท้ายหนี้ก็จะหมุนลำบาก ไม่ว่ารายรับจะเป็นกี่งวด เพราะการเป็นหนี้สูงกำลังเป็นปัญหา ในระบบเศรษฐกิจที่กระทบสังคมไทย”

            นครินทร์ บอกว่า หากพูดถึงภาพรวมเรื่องหนี้ มีที่มาที่ไปของการจัดการหนี้ และการบริหารสภาพคล่องด้วย  เพราะบางคนต้องจ่ายหนี้ต้นเดือนจำนวนมาก และหนี้ของบางคนไม่ได้อยู่ในระบบอย่างเดียว  ถ้าอยู่ในระบบของธนาคารก็ไปคุยกับสถาบันการเงินได้ ว่าจะขอแบ่งจ่าย 2 งวดได้หรือไม่  

            บางส่วนเป็นหนี้ที่อยู่ในสหกรณ์ ซึ่งข้าราชการครูเป็นหนี้สหกรณ์จำนวนมาก หรือหนี้กองทุนฌาปนกิจซึ่งมีข้อมูลว่า นำเงินไปจ่ายให้กับกองทุนฌาปนกิจแล้วกองทุนฌาปนกิจ ก็กลับมาปล่อยกู้ให้กับข้าราชการอีกที แล้วยังมีหนี้ส่วนอื่นอีกจำนวนมาก อาจจะไปคุยกับในระบบธนาคารอย่างเดียวไม่พอ  ดังนั้นการจะบริหารสภาพคล่องโดยการจ่ายเงินเดือน 1 งวดหรือ 2 งวดแล้วสุดท้ายก็กลับมาที่ต้นทาง คือ เรื่องหนี้ของข้าราชการอยู่ดี

ข้าราชการมีพาวเวอร์ก่อหนี้สูง   

            นครินทร์ บอกว่า สาเหตุหลักที่เป็นปัจจัยหนึ่ง ทำให้ข้าราชการเป็นหนี้สิน คือ1.คนที่ก่อหนี้และ 2. คนที่ปล่อยสินเชื่อ เพราะข้าราชการมีพาวเวอร์ในการก่อหนี้สูง และสถาบันการเงินพร้อมที่จะให้สวัสดิการ เพราะรู้ว่าคนเหล่านี้มีที่ทำงานแน่นอนอยู่ตรงไหน  มีเงินเดือนที่เป็นหลักประกันเข้ามาทุกเดือน  เช่น ข้าราชการครูมีสินเชื่อหลายอย่างที่วิ่งเข้าหา  

            “จากข้อมูลของคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงินสภาผู้แทนราษฎร  มีรายงานเรื่องของหนี้สินครู เป็นหนี้สหกรณ์จำนวนมาก และมีค่านิยมในการก่อหนี้กับสหกรณ์ ซึ่งกู้ยืมได้ง่ายและอัตราการผ่อนไม่มาก มีสหกรณ์ให้ครูกู้ถึง 89แห่งทั่วประเทศ ค่าเฉลี่ยวงเงินกู้ให้ครูถึง 4 ล้านบาทต่อราย เงินเดือนเท่าไหร่ไม่รู้ แต่เพดานการกู้อยู่ที่ 4 ล้านบาทต่อราย และมีสหกรณ์ 9 แห่งไม่กำหนดกฎเกณฑ์เพดานการกู้อีกด้วย” 

ตัวชี้วัดการกู้ต้องไม่ใช่ความพอใจ

            นครินทร์ บอกว่า การกู้ควรขึ้นอยู่กับรายได้ ไม่ใช่ความสามารถในการกู้ แล้วสถาบันการเงินที่มาปล่อยกู้รู้สึกสบายใจ  ที่จะปล่อยให้กับคนที่เราจะไปตามหนี้ได้ง่าย  ทั้งนี้ตามรายงานของรัฐบาลและกรรมาธิการการเงินฯ ครูกับตำรวจเป็นอาชีพที่มีหนี้สูง มาจากองค์ประกอบของสังคม เช่น ภาษีสังคมสูง , การปล่อยหนี้ของสถาบันการเงิน  และการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ง่าย ซึ่งหนี้สินของข้าราชการ เป็นภาพหนึ่งในสังคมที่แก้ไขลำบากมาก

ตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยพุ่ง  

            นครินทร์ บอกว่า หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยสูงมากถึง 90% ต่อจีดีพี  หมายความว่า เราไม่มีความสามารถที่จะไปใช้จ่ายได้มากเท่าไหร่ ในแต่ละครัวเรือนเพราะหนี้เฉลี่ยแต่ละคนในครัวเรือนสูงมากจริงๆ  ตรงนี้ผมไม่ได้บอกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลโดยวิธีการใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาทดีหรือไม่ดี  แต่มองในภาพรวมถ้ารัฐบาลต้องการให้เกิดการบริโภคเพิ่มขึ้น  เพื่อให้เศรษฐกิจโตก็เหมือนมีทางเลือกน้อย  จึงต้องใส่เม็ดเงินใหม่ลงไป ซึ่งตรงนี้อาจจะต้องมาคุยกันอีกรอบหนึ่งว่าถูกจุดหรือไม่  ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ 

            หากดูภาพรวมเรื่องการแก้หนี้ รัฐบาลมีนโยบายแก้หนี้ให้แก่เกษตรกร  และเอสเอ็มอีที่มีผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ตัวเลขงบประมาณที่ต้องใช้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ในระยะเวลาการพักหนี้ 3 ปี  เมื่อนายกรัฐมนตรีเข้าไปดูภาพรวมแล้ว  อะไรที่ทำได้เร็วก็อยากจะให้ทำก่อน 

คนไทยรายได้ต่ำแต่รสนิยมสูง

            “การให้ความรู้เรื่องการเงิน ควรจะให้ก่อนเข้าสู่การทำงาน เพราะเมื่อทำงานแล้วก็จะมีรายจ่ายและสิ่งที่อยากได้ เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ จะมีสิ่งยั่วยวนใจไปหมด หรือโทรศัพท์ราคาแพง ดังนั้นต้องให้ความรู้ด้านการเงินมาตั้งแต่เด็กๆ”  

            นครินทร์ บอกว่า ในประเทศสิงคโปร์มีหลักสูตรเรื่องการลงทุน  การให้ความรู้ทางการเงินอยู่ในการเรียนการสอนในระดับมัธยมปลาย  ความจริงแล้วประเทศไทยควรจะเริ่มแบบนี้ เพราะคนไทยรายได้ต่ำแต่รสนิยมสูงจึงเกิดความไม่สมดุลย์  ซึ่งความจริงแล้วหลักเศรษฐกิจพอเพียงยังใช้ได้  โดยหัวใจคือเรื่องของความมีเหตุมีผล ว่ารายได้เท่าไหร่ ควรจะเป็นหนี้สินได้เท่าไหร่  จะไปหวังรายได้ในอนาคตที่ยังมาไม่ถึงอย่างนั้นหรือ

            เช่น งวดหน้าอาจจะถูกรางวัลที่หนึ่งแน่นอน เรากล้าที่จะก่อหนี้ไปก่อนหรือไม่ โดยหวังน้ำบ่อหน้า แม้เราจะมีความหวังได้แต่เป็นเพียงความหวัง  ส่วนการเป็นหนี้เราเป็นจริงๆเลย  และเป็นภาระผูกพันระยะยาว 

ฝากรัฐบาลอย่าหว่านแหพักหนี้ทั้งระบบ 

             นครินทร์ บอกว่า หัวใจของการแก้หนี้ต้องมีมาตรการ ที่ออกมาตรงกับคนเป็นหนี้ ไม่ควรใช้วิธีหว่านแห ซึ่งเป็นปัญหาทางจริยธรรมอาจจะกระทบทั้งระบบ อยากฝากถึงรัฐบาลว่าไม่ควรพักหนี้เกษตรกรทั้งระบบ เพราะเกษตรกรบางรายสามารถที่จะจ่ายหนี้ได้  หรือเอสเอ็มอีบางรายเมื่อพ้นจากโควิดแล้ว  ควรที่จะให้เขาจ่ายต่อ  ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่า ควรเน้นแก้หนี้รายบุคคลมากกว่า

            เปิดโอกาสให้เข้าไปคุยกับสถาบันการเงินเป็นรายๆ แบบนี้ก็จะออกมาตรการได้ตรงจุดมากกว่า เพราะดูตัวเลขทางการเงินการคลัง ก็ไม่ใช่ว่าจะสบายใจได้ แต่ถ้าดูตัวเลขการขาดดุลงบประมาณเพิ่ม ขณะที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพีขยับ โดยปีนี้ 61.4% ขยับเป็น64%หมายความว่าปีหน้าขยับทีเดียว 3% ถือว่าไม่ธรรมดา  ฉะนั้นรัฐบาลอย่ามือเติบอย่าสายเปย์นักเลย ต้องเบรกกันไว้บ้าง

            ส่วนการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ แทนจ่ายเงินเดือน 2 งวด นครินทร์ บอกว่า การขึ้นเงินเดือนทั้งระบบเป็นเรื่องใหญ่ เพราะจำนวนข้าราชการของประเทศไทยมีจำนวนมาก และต้องมาดูรายรับ-รายจ่ายของรัฐบาลด้วย ตอนนี้ภาพรวมงบประมาณของประเทศ ขาดดุลงบประมาณอยู่ ซึ่งปีล่าสุดตั้งขึ้นมาว่าขาดดุลอยู่ 6.9 แสนล้านบาท งบประมาณเรา 3.35 ล้านล้าน ดังนั้นจึงเป็นแผนระยะยาวอย่างที่นายกรัฐมนตรีบอก 

            ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์เวลา 11.00-12.00น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5

///////////////////