“สื่อมืออาชีพ” ต้องมีเสรีภาพบนความความรับผิดชอบ

         “คำถามของผู้สื่อข่าวในการสัมภาษณ์ ควรกลั่นกรองและมีความละเอียดอ่อนในการตั้งคำถาม ไม่ควรเจาะจงลงไปพูดถึงความรู้สึก หรือยัดเยียดคำถามชี้นำ บางคำถามแม้ไม่ได้เป็นสื่อก็เข้าใจได้ว่าควรจะถามหรือไม่”

            ดร.นันท์วิสิทธิ์ ตั้งแสงประทีป (นิพนธ์) อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์  และคณะกรรมการจริยธรรมวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  ให้ความเห็นในรายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว ถึง “ข่าวฆาตกรรรม : สื่อต้องนำเสนอแค่ไหน บนความพอดี”ว่า สื่อควรนำเสนอข่าวบนหลักการ ไม่ต้องเป็นสื่อแต่ต้องรู้ว่าควรถามหรือไม่

            พร้อมทั้งระบุว่า การทำวิชาชีพสื่อมีหลักการพื้นฐานอยู่แล้วในทางวิชาการ ฉะนั้นการนำเสนอข่าวถ้ามีการกลั่นกรอง โดยกองบรรณาธิการอย่างดี เราพบแล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกับคนที่เป็นข่าวนั้นๆ ก็ไม่จำเป็นต้องนำเสนอ และไม่จำเป็นต้องชิงนำเสนอก่อน แล้วค่อยไปตรวจสอบภายหลังว่าเขาเกี่ยวข้องหรือไม่ แล้วถึงค่อยนำเสนอเขาอีกที ก็จะกลายเป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

            “คำถามของผู้สื่อข่าวในการสัมภาษณ์ ควรกลั่นกรองและมีความละเอียดอ่อนในการตั้งคำถาม ไม่ควรเจาะจงลงไปพูดถึงความรู้สึก หรือยัดเยียดคำถามชี้นำ บางคำถามแม้ไม่ได้เป็นสื่อก็เข้าใจได้ว่าควรจะถามหรือไม่ เวลาเราพูดถึงการละเมิดสิทธิเด็กไม่ใช่แค่ การนำเสนอภาพอย่างเดียวของสื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์หรือสื่อออนไลน์ แต่รวมถึงการละเมิดด้วยวาจา และการละเมิดด้วยการตั้งคำถามด้วย” 

อดีต-ปัจจุบันไม่แตกต่าง

            ดร.นันท์วิสิทธิ์ บอกว่า  ถ้าย้อนไปในอดีตตั้งแต่ “ยุคอนาล็อก”เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคที่เป็นหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นสื่อประเภทไหน ก็พยายามพาดหัวข่าวเพื่อดึงคนดู ถามว่าในแง่ของวิชาชีพผิดหรือไม่ เราก็อาจจะบอกว่าไม่ผิด แต่ต้องการดึงคนเข้ามามาเสพข่าว แต่คำ ๆ นั้นต้องดูเป็นกรณีไป ว่าทำให้เกิดการดูหมิ่นเหยียดหยาม , เสียดสีหรือทำให้เกิดผลกระทบ ในภาพลบกับเขาหรือไม่

            เหมือนกับยุคปัจจุบันที่ อินฟลูเอนเซอร์ต่างๆหรือ ยูทูปเบอร์ต่างๆ ไปใช้คำในลักษณะเสียดหรือดูถูกหรือเหยียดหยามหรือเข้าข่ายบูลี่เขา อย่างนี้ผิดกฎหมายแน่นอน แต่ด้วยความเป็นสื่อมวลชน เวลาที่คุณพาดหัวข่าวแล้วคุณต้องการเรียกเรทติ้ง ท้ายที่สุดถ้าคน ๆ นั้นเขาไม่ได้มีความสามารถ ในการไปฟ้องร้องดำเนินคดี คุณก็ยังลอยนวลอยู่  

            บางคำอาจจะไม่ได้เข้าข่ายหมิ่นประมาท แต่คนที่ฟัง ๆ แล้วอาจจะรู้สึกว่าเป็นภาพลบกับเขา เพราะไม่ใช่เนื้อหาสาระหรือเป็นแก่นของข่าว และกรณีที่ผู้ถูกละเมิดสิทธิไม่มีเงินในการต่อสู้คดี สามารถไปที่ “สภาทนายความ” เขามีแผนกช่วยเหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิเหล่านี้โดยเฉพาะ  

นำเสนอบางข่าวล้ำเส้นเกินไป 

            ดร.นันท์วิสิทธิ์ บอกว่า ยกตัวอย่างกรณีสื่อนำเสนอข่าว ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ ชายคนหนึ่ง ฆาตกรรมลูก 4 คน ส่วนตัวผมคิดว่าเลยขอบเขตของการละเมิดสิทธิไปแล้ว อาจจะไม่ใช่เฉพาะสิทธิเด็กแต่รวมถึงแม่เด็กด้วย เป็นการล้ำเส้นขอบเขตการทำหน้าที่สื่อมวลชน และเข้าข่ายละเมิดสิทธิเด็ก สื่อโทรทัศน์บางช่องนำเสนอภาพ ของอดีตภรรยาคนที่ 1 กับคนที่ 3 ซึ่ง 2 คนนี้ไม่เกี่ยวข้อง แล้วลูกของเขายังอยู่ในวัยเรียน ผมถามว่ามีความจำเป็นอะไรที่จะต้องนำเสนอรูป-ชื่อและเสนอจังหวัดข้อมูลเขาหรือไม่

            เท่าที่ผมตรวจสอบโดยสุ่มถามนักข่าวประจำจังหวัด ที่มีการนำเสนอภาพของภรรยาคนที่ 1 กับคนที่ 3 ว่าได้มีการสั่งการให้ผู้สื่อข่าวในพื้นที่ ไปเจาะหาข้อมูลเหล่านี้หรือไม่ คำตอบคือมีนั่นคือสิ่งที่น่าตกใจมาก เหตุผลและมีความจำเป็นอะไร ที่จะต้องเชื่อมโยงไปถึงคนไม่เกี่ยวข้องด้วย แม้ว่าจะเป็นอดีตภรรยาหรืออดีตครอบครัว ถ้าเด็กคนนั้นกำลังเรียนอยู่ แม่ของเขาไม่เคยเล่าเรื่องพ่อให้ฟัง สิ่งที่จะตามมา คือ เด็กคนนั้นจะถูกล้อเลียนหรือไม่ เวลาไปโรงเรียนจะมีปมขึ้นมาหรือไม่ในชีวิต สิ่งนั้นถือเป็นอันตราย เพราะมันได้ถูกวางให้เป็นข่าวไว้แล้ว 

 ถามหาวิจารณญาณกองบก.สื่อคืออะไร

            ดร.นันท์วิสิทธิ์ บอกว่า  ต้องถามกลับไปว่าขอบเขตอยู่แค่ไหน อยู่ที่วิจารณญาณและประสบการณ์ ของคนที่เป็นบรรณาธิการ เป็นกองบรรณาธิการที่จะต้องมี ความรอบคอบมากกว่านี้คำนึงถึงผลประโยชน์ ปกป้องสิทธิของบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง ผมเข้าใจเรื่องเรทติ้งการแสวงหาข่าวเพื่อการแข่งขันเป็นอย่างดี แต่สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่จะต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง 

            สำหรับข่าวที่เกิดขึ้นบทบาทหน้าที่ของสื่อคืออะไร การวางโจทย์ วางแผนที่จะนำเสนอข่าวเรื่องนี้ไปเพื่ออะไร แน่นอนหลักใหญ่ๆเรามีไว้เพื่อเป็นประสบการณ์ และบทเรียนให้ความรู้กับสังคม ว่ายังมีคนลักษณะแบบนี้อยู่  เราจะช่วยกันอย่างไรดีกว่า ไม่ให้มีคนที่เป็นพ่อทำลักษณะแบบนี้อีก อาจจะทำข่าวด้วยการให้นักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ มาวิเคราะห์ดีกว่าหรือไม่ ว่าลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร การเลี้ยงดูมีผลหรือไม่ ในอดีตเขาผ่านประสบการณ์ความเลวร้ายอะไรมาบ้าง ถึงทำให้เขาเป็นแบบนี้สิ่งเหล่านี้ เป็นประโยชน์กว่า สำหรับสังคมหรือไม่ ดีกว่าที่จะไปเจาะเส้นทางรักของเขา ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรกับสาธารณะ

            สำหรับคนที่เกี่ยวข้องในคดีจริงๆ ผมไม่ปฏิเสธว่าจำเป็นต้องนำเสนอข่าว  แต่ผู้สื่อข่าวได้ทำข่าวโดยใช้วิจารณญาณ ตรวจสอบข้อมูลก่อนนำเสนอหรือไม่ เพราะฉะนั้นหน้าที่การกลั่นกรอง ไม่ผิดเลยถ้าคุณนำเสนอแล้วสิ่งนั้นมีความเกี่ยวข้องโดยตรงจริงๆ แต่ไม่ใช่นำเสนอไปก่อนแล้วเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวมาว่ากันทีหลัง

ฝากแง่คิดถึงนายทุนสื่อ 

         ดร.นันท์วิสิทธิ์ บอกว่า  เจ้าของธุรกิจต้องทำความเข้าใจด้วย เพราะแน่นอนความแตกต่างของเส้นแบ่ง ระหว่างวิชาชีพสื่อมืออาชีพกับการเล่นข่าวเพื่อเรียกเรทติ้งหรือกระแสความนิยม ผมก็เข้าใจว่าธุรกิจสื่อแข่งขันกันสูง แต่ถ้าเรายังยืนอยู่บนพื้นฐานที่ให้ประโยชน์ต่อสาธารณะ เราก็จะคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้มากกว่าที่จะไปให้น้ำหนักกับเรื่องเหล่านั้น

            “อยากจะฝากไปถึงบรรดาเจ้าของธุรกิจด้วยว่า คุณก็ต้องเข้าใจว่าคุณลงทุนในธุรกิจที่เป็นวิชาชีพสื่อ โดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์ สถานีข่าวที่ผลิตข่าวเป็นหลักไม่ใช่ความบันเทิงเป็นหลัก องค์กรเหล่านี้เจ้าของธุรกิจควรต้องให้ความสำคัญ และเข้าใจสิ่งเหล่านี้ด้วย เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่เจ้าของธุรกิจเข้าใจ คุณก็จะให้อิสระให้ความคิดของสื่อมวลชน อยู่ภายใต้กรอบวิชาชีพได้” 

            ส่วนคนปฏิบัติงานเข้าใจดีว่าจำเป็นต้องทำหรือไม่ แต่บางครั้งนอกเหนือจากกรอบของความจำเป็น ต้องทำตามเจ้าของธุรกิจหรือทำตามเรทติ้ง ภายใต้นโยบายแล้วอีกด้านหนึ่งควรต้องคำนึงถึง เรื่องของวิชาชีพด้วย วันนี้คุณถามออกไปหรือยัดเยียดคำถามออกไป เข้าใจว่าหลายคนฟังแล้วก็คงอึดอัด ว่าทำไมถามแบบนี้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ควรต้องลดดีกรีลงแล้วมาตั้งหลัก เช่น การพาดหัวข่าวถ้าเจ้าของธุรกิจถาม ก็บอกได้ว่าสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องลดดีกรีลง เพราะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แล้วจะนำไปสู่การฟ้องร้องตามมา  

            ดร.นันท์วิสิทธิ์ บอกว่า  ผมเคยประสบเหตุกับตัวเองโดยที่เจ้าของธุรกิจไม่สนใจ ผู้สื่อข่าวและหัวหน้าข่าวพาดหัวแรงๆไป สุดท้ายก็ถูกฟ้องร้อง สุดท้ายก็บอกว่าให้คนในกองบรรณาธิการไปขอเคลียร์  ว่าสิ่งที่ทำลงไปผิดพลาดจริงๆ เข้าข่ายความผิดหมิ่นประมาทหลายกรณีเลย  เพียงแต่ว่ากรณีที่เรายกตัวอย่างข้างต้น เขาอาจจะเป็นชาวบ้าน เป็นคนที่ไม่รู้กฎหมาย ว่ากรณีแบบนี้สื่อกำลังละเมิดสิทธิเขา  และวันหนึ่งข้างหน้าสื่ออาจจะโดนฟ้อง เพราะความรู้ของชาวบ้านเพิ่มพูนได้ รู้ว่าสื่อกำลังละเมิดสิทธิของเขา ถ้าคุณยังทำข่าวลักษณะนี้อยู่ วันนั้นเจ้าของธุรกิจก็จะอยู่ไม่ได้ ถ้าโดนหลายคดีจำนวนมาก

องค์กรวิชาชีพสื่อต้องเป็นโต้โผพูดคุยทุกฝ่าย

            ดร.นันท์วิสิทธิ์ บอกว่า อยากให้สมาคมวิชาชีพสื่อเชิญชวนบางคน แม้ไม่ได้เป็นสมาชิกเข้ามาพูดคุย เปิดโอกาสให้เขาเข้ามารับข้อมูลข่าวสาร ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำสื่อ โดยมี 2 ส่วน คือ

1.สิ่งที่คุณทำละเมิดจริยธรรม ละเมิดสิทธิเขาอย่างไร 

2. คือผลเสียหายที่จะตามมามันใหญ่กว่าที่คุณคิด เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการสรุป ทั้งที่เป็นหน้าที่ขององค์กรวิชาชีพสื่อที่จะช่วยกันพูดคุย

            ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหา คือ ให้องค์ความรู้กับทุกภาค ส่วนตั้งแต่ระดับปฏิบัติจนถึงเจ้าของสื่อ ให้เริ่มตระหนักและเห็นว่าความรุนแรงของมันไม่ได้เกิดขึ้นกับเหยื่อ ที่เขาทำด้วยการพาดหัวข่าวหรือนำเสนอข่าว แต่ความรุนแรงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ เขาถูกฟ้องร้องดำเนินคดี จากสิ่งที่องค์กรของเขาได้ทำข่าวนั้นขึ้นมา  ซึ่งตัวเจ้าของธุรกิจจริงๆไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลเหล่านี้ ผมยังเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า หลายเจ้าของธุรกิจไม่ทราบเรื่องเหล่านี้ ผมคิดว่าองค์กรวิชาชีพสื่อ สามารถที่จะเชิญเจ้าของธุรกิจมานั่งฟัง ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอันตรายกับธุรกิจของเขา

            “สมมุติว่าเจ้าของธุรกิจตระหนักเรื่องรายได้ เรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นพิเศษ ถ้าเขาเห็นตัวเลข แล้วจะตกใจเพราะบางกรณี อาจถูกฟ้องร้องได้เป็นล้านแล้วผิดแน่ ๆ ไม่มีทางชนะคดีเลย หากเขาไม่ยอมไกล่เกลี่ยยังไงก็โดน แล้วถ้าคุณโดนไป 10 คดี ถามว่ามันคุ้มค่าหรือไม่  คุณจะมามัวกังวลเรื่องเม็ดเงินของคุณ แต่ถ้าคุณจะโดนฟ้องร้องกลับและโทษไม่ได้เบา เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ปรับสูงสุด 2 แสนบาทต่อหนึ่งคดี ส่วนการละเมิดสิทธิเด็กคุณโดนทั้งคดีอาญาและแพ่งตามมาได้”

            ดร.นันท์วิสิทธิ์ บอกว่า สำหรับกองบรรณาธิการข่าว เขาเข้าใจในระดับหนึ่ง แต่อีกส่วนที่อาจจะไม่เข้าใจ ด้วยความเป็นเด็กใหม่ ผู้สื่อข่าวใหม่ประสบการณ์น้อย ก็เป็นหน้าที่ขององค์กรวิชาชีพสื่อ ต้องให้ข้อมูลต่อไปแต่ในระยะยาว ผมเชื่อว่าจะดีขึ้นแม้อาจจะช้าเล็กน้อย  แต่คิดว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นโดยเฉพาะสื่อกระแสหลัก อยากให้ตระหนักในเรื่องนี้ให้มากขึ้น  แต่สังคมไทยชอบเรื่องความเชื่อ , ดราม่า , บันเทิง วนอยู่ไม่กี่กลุ่มจะไปจัดการของเป็นเรื่องยาก 

            ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว" ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ร่วมกับ  คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5