”แลนด์บริดจ์” อภิมหาโครงการรัฐบาล 1 ล้านล้าน! ได้คุ้มเสียหรือไม่?

“ชาวบ้านในพื้นที่อยากให้รัฐบาลใจเย็น และชะลอการโรดโชว์ไว้ก่อน แล้วพูดคุยหาคำตอบให้ชัดเจนอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง เพื่อที่จะได้คุยกันทุกมิติข้อสงสัย เพราะยังรู้สึกว่าไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม มีหลายคำถามที่ยังไม่ได้คำตอบ แต่ สนข.มองว่าต้องทำคู่ขนานกันไป”

''เสมอใจ มณีโชติ'' ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ (คมนาคม) สำนักข่าวไทยมุง ให้มุมมองถึงโครงการ ''แลนด์บริดจ์'' ของรัฐบาลซึ่งเป็น ''อภิมหาโปรเจ็ค 1,000,000 ล้านบาท ผ่าน ''รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว'' ว่า โครงการดังกล่าว ที่เราเห็นตามหน้าสื่อต่าง ๆ ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะยังเป็นเพียงแนวคิดในเบื้องต้น และวางโครงไว้เพียงว่า ในพื้นที่จะเป็นลักษณะใด แต่หลังจากนี้ สำนักงานขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม จะทำรายละเอียดนำเสนอ หรือนำไปขาย เสนอต่อให้กับนักลงทุนต่างชาติ หรือ โรดโชว์ ให้รับทราบ ซึ่งเมื่อพูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติเสร็จเรียบร้อยแล้ว สนข.ต้องนำความคิดเห็นทั้งหมด มาประมวลอีกรอบหนึ่ง เพื่อปรับรายละเอียดให้เหมาะสมที่สุด ถึงจะออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนมา ลงทุนอย่างเป็นทางการจริง ๆ ซึ่งเอกชนก็จะพิจารณาว่า จะคุ้มค่ากับการเข้ามาลงทุนหรือไม่

// แลนด์บริจด์ โครงการสร้างเมืองลงทุนขนาดใหญ่ 1 ล้านล้านบาท //

''เสมอใจ'' อธิบายโครงการแลนด์บริดจ์ว่า เป็นการสร้างเมือง เพื่อส่งสินค้าเป็นหลัก และมีถนนมอเตอร์เวย์ มีทางรถไฟเข้าไปอยู่ในโครงการ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ อาจจะเป็นที่อยู่อาศัย ร้านค้า และจะเกิดกิจกรรมหลายอย่างจำนวนมาก ซึ่งในพื้นที่โครงการหลัก ๆ คือ ท่าเรือทั้งฝั่งระนอง และฝั่งชุมพร โดยจะเชื่อมโยงท่าเรือ 2 ฝั่งนี้เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างมอเตอร์เวย์และทางรถไฟ ให้สามารถเชื่อมต่อกัน เป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมการขนส่งสินค้า ที่จะมาจากเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ แล้วส่งต่อไปยังพื้นที่อื่น ๆ โดยใช้ทั้งมอเตอร์เวย์ และรถไฟ ซึ่งโครงการนี้มีความใหญ่โตขนาดไหน ต้องดูที่มูลค่าการลงทุนถึง 1,000,000 ล้านบาท

ส่วนที่มีการระบุโครงการแลนด์บริดจ์ได้ไม่คุ้มเสียนั้น ''เสมอใจ'' ระบุว่า ยังให้ตอบค่อนข้างยากในขณะนี้ เพราะเป็นเพียงการพูดคุยข้อมูลทางฝั่งที่สนข.เป็นผู้ดำเนินการ ศึกษารายละเอียด โดยประมาณการว่า ณ ปัจจุบันความต้องการขนส่งสินค้ามีอยู่เท่าใด มีช่องทางการขนส่งสินค้าอย่างไร และอุปสรรคที่พบเจออย่างไร ซึ่งเดิมการขนส่งสินค้าทางเรือ หลายฝ่ายมองว่า เป็นต้นทุนที่ถูกที่สุด แต่การเดินเรือต้องใช้ระยะเวลานาน สนข.จึงเห็นว่าต้องหาวิธีการ และเส้นทาง ขนส่งสินค้าที่เร็วขึ้น และคุ้มค่า ซึ่งคุ้มค่าในแง่มุมของใคร เช่น มุมของรัฐบาลหรือนักลงทุนหรือคนในพื้นที่ เป็นความคุ้มค่าที่แตกต่างกันออกไป

“ต้องยอมรับว่า เรื่องแลนด์บริดจ์ เราคุยกันจากข้อมูลที่ได้จาก สนข.เรื่องผลการศึกษาในเบื้องต้น แต่เรายังไม่เคยคุยโดยตรงกับนักลงทุน หรือคนที่รัฐบาล มองเอาไว้ว่า อยากจะจีบให้เขามาลงทุน พัฒนาในโครงการนี้ และเรายังไม่เคยนำโครงการนี้ไปโรดโชว์ ตามที่รัฐบาลบอกนักลงทุนไว้” เสมอใจ ระบุ

// ชาวบ้านยังเสียแตก หวั่นโครงการกระทบระบบนิเวศ ขอคำตอบชัดเจนกว่านี้ //

''เสมอใจ'' ยังเคยได้ร่วมลงพื้นที่ ที่ สนข.พาไปดูจุดเบื้องต้น ที่จะเกิดโครงการดังกล่าว โดยระบุว่า ยังพบเจอคนในพื้นที่ค่อนข้างน้อย เพราะที่ผ่านมารัฐบาลอยากให้โครงการนี้เกิดขึ้น ก็บอกว่า น่าจะเกิดกิจกรรมในหลาย ๆ ส่วน ควรที่จะมีการพัฒนาเรื่องของที่อยู่อาศัย หรือพื้นที่ท่าเรือเพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ระหว่างนี้มีการลงพื้นที่ ในลักษณะกลุ่มย่อยของที่ปรึกษาโครงการ ไปพูดคุยกับคนในพื้นที่เป็นกลุ่มย่อยแต่ละจุด ในพื้นที่ต่างกันออกไป คนในพื้นที่ชุมชน มีทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยแตกต่างกัน ล่าสุดที่คนในพื้นที่จังหวัดชุมพร และจังหวัดระนอง บางส่วนที่เป็นกลุ่มอนุรักษ์ และชาวบ้าน ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ให้ยุติโครงการเลย แต่ชาวบ้านไม่เห็นด้วยในแง่ที่ว่า อยากได้คำตอบที่ชัดเจนมากกว่านี้ เพราะกลัวว่างโครงการ จะกระทบกับระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมมหาศาล เช่น จะต้องมีการถมทะเลเพื่อสร้างท่าเรือ และพื้นที่บางส่วน ต้องมีการเวนคืน เพื่อทำมอเตอร์เวย์ ทำทางรถไฟ ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจาก สนข.ว่า จะเกิดอะไรบ้าง และสิ่งสำคัญที่สุด คือ ชาวบ้านมองว่า มาตรการดูแลผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หลังจากที่มีการก่อสร้างแล้ว หรือหลังจากที่โครงการเสร็จสิ้นแล้วจะเป็นอย่างไร อาทิ มลพิษหรือผลกระทบด้านอื่น ๆ จะถูกจัดการอย่างไร

“ชาวบ้านในพื้นที่อยากให้รัฐบาลใจเย็น และชะลอการโรดโชว์ไว้ แล้วพูดคุย หาคำตอบให้ชัดเจนอย่างน้อยครึ่งหนึ่งก่อน เพื่อที่จะได้คุยกันทุกมิติข้อสงสัย เพราะยังรู้สึกว่า ไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม มีหลายคำถามที่ยังไม่ได้คำตอบ แต่ สนข.มองว่า ต้องทำคู่ขนานกันไป ทั้งเรื่องการศึกษาละเอียดของโครงการ, เรื่องสิ่งแวดล้อม, ความเหมาะสมโครงการ, การพูดคุยกับคนในพื้นที่ และไปโรดโชว์ เพราะถ้าจะรอให้จบเพียงขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง แล้วทำขั้นตอนต่อไป จะต้องกินเวลานานมาก” เสมอใจ กล่าว

// นายกฯ สั่ง “คมนาคม-บีโอไอ” เร่งศึกษารายละเอียด หลัง “จีน-ต่างชาติ”สนใจ

ส่วนความคืบหน้าการดำเนินการของรัฐบาลนั้น ''เสมอใจ'' บอกว่า เบื้องต้นรัฐบาล บอกว่า หลายประเทศ เริ่มมีความสนใจโครงการนี้ ล่าสุดนายกรัฐมนตรี บอกว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนก็สนใจ ดังนั้น จะให้กระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นำรายละเอียดไปเสนอให้ทางการจีนพิจารณา แต่คำตอบสุดท้าย คงจะต้องมาดูหลังจากที่ไปโรดโชว์เรียบร้อยแล้วว่า โครงการนี้จะยังคงรูปแบบนี้เอาไว้ หรือจะมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมอะไรหรือไม่ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สอดรับกับยุคสมัยเข้ามาใช้ในโครงการแลนด์บริดจ์ด้วย ซึ่งอยู่ที่การกำหนดเงื่อนไข และเบื้องต้นที่คุยไว้ สนข.บอกว่า จะต้องให้ผู้เอกชนเสนอกรอบการลงทุนในรูปแบบการพัฒนา และเครื่องมือต่าง ๆ ที่ทันสมัยที่สุด ซึ่งเอกชนจะต้องมีศักยภาพ ที่จะดึงดูดนักลงทุนเข้ามาร่วมงาน และมหาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้งานให้ได้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุด

เช่น ความเร็ว และศักยภาพการขนส่งสินค้าว่า จะสามารถรองรับได้เท่าไหร่ รวมทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง และต้องไม่สร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ และเอกชนที่จะเข้ามาดำเนินการต้องเชี่ยวชาญ รู้ว่าควรจะต้องใช้เทคโนโลยีอะไรที่จะเหมาะสมกับการดำเนินงานในพื้นที่ หรือกำลังคนของไทยมีความพร้อม ที่จะมาดำเนินโครงการลักษณะนี้มากน้อยแค่ไหน

// เอกชนผู้ลงทุนต้องประเมินความเสี่ยงความคุ้มทุน //

ส่วนความคุ้มทุนนั้น ''เสมอใจ'' มองว่า โดยหลักแล้วเอกชนต่างชาติ เป็นผู้เข้ามาลงทุน ฉะนั้น ต้องถือว่าเป็นผู้ที่รับความเสี่ยงมากที่สุด เพราะจะต้องลงทุนพัฒนาโครงการ, จัดซื้ออุปกรณ์ รวมทั้งเรื่องคนที่จะเข้ามาทำงานด้วย ซึ่งมีหลายตำแหน่งที่จะต้องจ้างคนในพื้นที่หรือไม่ และ สนข.บอกว่า ตรงนี้มีระบุใช้เป็นเงื่อนไขไว้ว่า ผู้ที่อยู่ในชุมชนเดิม และได้รับผลกระทบกับการประกอบอาชีพ หากเอกชนจะเข้ามาลงทุน จะต้องจัดหางานให้แก่กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ด้วย รวมทั้งการลงทุนที่เกี่ยวกับการพัฒนาท่าเรือ หลังจากนี้จะมีการนำอะไรเข้าไปใส่บ้าง เช่น คอนโดมิเนียม, ร้านค้าคอมมูนิตี้มอลล์, โรงเรียน หรือชุมชนที่อยู่อาศัยอยู่ตรงนั้นได้หรือไม่ และจะเปิดให้นักลงทุนไทย เข้าไปมีส่วนพัฒนาโครงการได้มากน้อยแค่ไหน

// คนพื้นที่ยังหวั่น ''การเกษตร-ท่องเที่ยว'' ถูกกระทบทำสูญรายได้ //

''เสมอใจ'' ยังบอกว่า คนในพื้นที่ กังวลวว่า ตัวเองจะเสี่ยงตกงานหลังมีโครงการแล้ว เพราะทุกวันนี้เขาเป็นนายตัวเอง สามารถทำเกษตร และส่งขายได้อยู่แล้ว เอกชนสามารถช่วยซับพอร์ตหางานทำ หรือมีงานส่วนไหนที่เหมาะสมรองรับกลุ่มคนเหล่านี้ นอกเหนือไปจากเรื่องของสิ่งแวดล้อม ที่จะต้องดูแลระหว่างการก่อสร้าง และต้องคิดโจทย์ต่อไปถึงการท่องเที่ยวด้วย เพราะถ้าทำพื้นที่ท่าเรือเป็นการขนส่งสินค้า จะมีอะไรดึงดูดให้คนไปเที่ยวที่ใด ซึ่งกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องคุยกันลึกพอสมควร เพราะ สนข.บอกว่า จะเกิดการจ้างงานจำนวนมหาศาลถึง 200,000 กว่าตำแหน่ง

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5