เดินหน้าสอบข้อเท็จจริง สื่อได้เงินจากแหล่งข่าว

รายงานพิเศษ 

โดยทีมข่าวจุลสารราชดำเนินฯ 

..................................................

            

มีเสียงสะท้อนเชิงถามไถ่ กันพอสมควร ถึงความคืบหน้ากรณีก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ที่ทางรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่ามีการจ่ายเงินให้สื่อมวลชนเพื่อเป็นค่าข่าว และช่วยเหลือด้านต่างๆ เนื่องจากเห็นว่านักข่าวเงินเดือนน้อย โดยได้มีการเผยแพร่ข่าวดังกล่าวต่อสาธารณะออกไปอย่างแพร่หลาย และต่อมา มีการเคลื่อนไหวจาก”องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน”ต่อกรณีดังกล่าวสองจังหวะสำคัญคือ

1.การออกแถลงการณ์ร่วม 7 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเรื่อง นักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว เมื่อ 27 กันยายน 2566 โดยมีสาระสำคัญเช่น เห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อสร้างความกระจ่างชัดในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อสาธารณชน เป็นต้น 

2. มีการเผยแพร่ประกาศ เมื่อ 31 ต.ค.2566 ของสามสภาองค์กรวิชาชีพสื่อฯ คือ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ -สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย)เรื่องเรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว โดยมี ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความฯ เป็น ประธานกรรมการ

สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้หลายคนอยากรู้ถึงความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว จากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ว่าจะมีแนวทางการทำงานอย่างไร และจะสรุปผลออกมาได้เมื่อใด

“ทีมข่าวจุลสารราชดำเนิน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย”พูดคุยกับ กรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าวฯ เพื่อติดตามเรื่องดังกล่าวมานำเสนอ 

           

เริ่มที่”ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ”ซึ่งก่อนจะกล่าวถึงแนวทางการทำงานของคณะกรรมการฯ เขาเล่าถึงการเข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการฯ ให้ฟังว่า จากการพูดคุยกับตัวแทนขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่ทาบทามให้มาเป็นประธานคณะกรรมการสอบฯ การทาบทามดังกล่าว บอกว่าทางองค์กรวิชาชีพสื่อ ฯ ต้องการให้การทำงานของคณะกรรมการดำเนินการตรวจสอบ-หาข้อเท็จจริง ด้วยความเป็นอิสระ ถูกต้อง ยุติธรรม จึงได้ประสานมายังผมในฐานะคนกลาง มาเป็นประธานคณะกรรมการชุดดังกล่าว เพื่อเข้าไปแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย นี้คือหลักการที่ได้รับการประสานงานทาบทามมา 

...ก่อนที่ผมจะตอบรับการมาเป็นประธานคณะกรรมการ ก็ต้องยอมรับว่า ก่อนหน้านั้น เรื่องข้อบังคับต่างๆ รวมถึงหลักเกณฑ์ จริยธรรมของสื่อมวลชน นักข่าว ผมเองก็ยังไม่ถนัดมาก พอได้รับการทาบทาม ก็แจ้งไปยังผู้มาติดต่อว่า ขอเวลาศึกษารายละเอียดในส่วนนี้หนึ่งสัปดาห์ จนเมื่อหาข้อมูลได้แล้วระดับหนึ่ง จึงตอบรับไปในการมาเป็นประธานคณะกรรมการฯ เพื่อช่วยทำงานกับองค์กรสื่อ เพราะทางสภาทนายความเอง ก็มีประสานงานกับองค์กรสื่อหลายแห่งที่ได้มีการทำเอ็มโอยูต่างๆ ร่วมกัน 

 

“ดร.วิเชียร”กล่าวถึงแนวทางการทำงานของคณะกรรมการฯ ว่า โดยหลักการแล้วการที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนลักษณะดังกล่าว ผมเองที่เคยมีประสบการณ์ในลักษณะดังกล่าวมาบ้าง ในกรรมการหรือองค์กรที่ผมเข้าไปเป็นกรรมการอยู่ด้วย ทำให้หลักการทำงานคงคล้ายกัน

..สำหรับประสบการณ์การเคยเป็นกรรมการสอบข้อเท็จจริงอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ก็เช่นตอนเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ 2-3 แห่ง และเมื่อมีการละเมิดต่อข้อบังคับหรือกระทำผิดต่อกฎหมาย ผมเองก็เคยได้รับมอบหมายให้เข้าไปเป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนฯ ในหลายกรณี 

 เนื่องจากข้อบังคับขององค์กรสื่อฯ ต่างๆ ที่ทาบทามให้ผมมาเป็นประธานกรรมการ ไม่ได้มีการเขียนขั้นตอนแบบชัดเจน แต่ผมจะใช้หลักทั่วไปตามจารีตประเพณีที่เคยมีการปฏิบัติกันมา ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบ ก็มีข้อบังคับขององค์กรวิชาชีพสื่อฯอยู่องค์กรหนึ่ง ที่มีเรื่องของการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่คล้ายกับองค์กรอื่นๆ ที่มีการดำเนินการอยู่ ผมคิดว่า คงใช้แนวทางลักษณะดังกล่าวประกอบด้วย 

“การประชุมกรรมการนัดแรก จะมีการกำหนดแนวทางในการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อตรวจสอบทุกประเด็น ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นตามที่มีการตั้งกรรมการฯขึ้นมาดังกล่าว ตามแถลงการณ์ร่วมของ 7 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ก่อนหน้านี้ 

         และหลังจากวางกรอบการทำงานแล้ว จากนั้น จะมีการนัดประชุมเพื่อเริ่มแสวงหาข้อเท็จจริง ทั้งจากพยานบุคคล พยานเอกสาร และวัตถุพยานต่างๆ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา "

         เมื่อถามถึงว่า องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนฯ ไม่ได้เป็นหน่วยงานภาครัฐ ไม่ได้มีกฎหมายรองรับ จะเป็นข้อจำกัดในการทำงานของกรรมการฯหรือไม่ เช่นในการเชิญพยานบุคคลหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องที่อาจถูกพาดพิงมาร่วมประชุมหรือชี้แจงกับคณะกรรมการฯ  "วิเชียร-นายกสภาทนายความ"กล่าวตอบว่า ปัจจุบันสภาวิชาชีพสื่อฯ หรือองค์กรสื่อ ยังไม่มีกฎหมายบังคับเฉพาะ ส่วนใหญ่ก็จะมีเฉพาะข้อบังคับของแต่ละองค์กรสื่อ ในการให้สมาชิกปฏิบัติตาม คล้ายๆ ประเพณีปฏิบัติที่องค์กรสื่อทำกันมา ดังนั้นการจะเรียกเอกสารที่เกี่ยวข้อง หรือว่าเรียกพยานบุคคลมาให้ถ้อยคำก็ดี หรือว่า ขอให้ส่งพยานวัตถุมาให้กรรมการ เราไม่สามารถไปใช้กฎหมายอื่นในการที่จะเรียกบุคคลหรือขอให้มีการส่งเอกสาร แต่เราจะมีการขอ"ความร่วมมือ" เพื่อมาให้ข้อเท็จจริงเพื่อจะได้ไม่เกิดข้อเคลือบแคลงต่อไป 

         ต่อข้อถามที่ว่า การตั้งคณะกรรมการฯชุดนี้ขึ้นมา เกิดจากคำให้สัมภาษณ์ของนายตำรวจระดับสูงยศ"พล.ต.อ."ที่เป็นรองผบ.ตร.ในเวลานี้ แล้ว กรรมการฯ จะสามารถไปเรียกรองผบ.ตร.มาชี้แจงได้หรือ "วิเชียร"พูดถึงในส่วนนี้ว่า การเรียกบุคคล หากจำเป็น เราก็อาจต้องเชิญมา แต่ถ้าไม่จำเป็น คือหากเราฟังได้ความว่า ถ้ามีวัตถุพยาน และบ่งบอกได้ชัดเจน ว่ามีการพูดอย่างนั้นหรือมีการกระทำอะไรต่างๆ มันก็น่าจะรับฟังได้ระดับหนึ่ง 

         "บางที ถ้าเชิญเขามา แล้วเขาไม่มา เราก็อาจต้องดูพยานแวดล้อม เพื่อนำมาประกอบกับวัตถุพยานที่เรามีอยู่"

         ...สำหรับสื่อที่ถูกพาดพิง เราคงต้องเชิญมาเพื่อพูดคุยหารือกัน เพื่อฟังความเห็นเขาด้วย และขณะเดียวกันเพื่อที่จะแสวงหาข้อเท็จจริงไปในตัวด้วย อย่างคลิปคำให้สัมภาษณ์ต่างๆ ถือว่าเป็นวัตถุพยานอย่างหนึ่ง โดยการทำงานของกรรมการ ตามหนังสือตั้งกรรมการฯ บอกว่าให้พิจารณาภายใน 120 วันหลังมีการตั้งกรรมการ แต่ว่าถ้ายังไม่แล้วเสร็จ ก็สามารถขอขยายเวลาได้อีกสองครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน ซึ่งผมคิดว่าคงไม่ได้ใช้เวลานานมาก คิดว่าน่าจะประมาณสักสามเดือน ก็น่าจะจบได้แล้ว เพราะว่ามันไม่ได้มีอะไรสลับซับซ้อน 

         เมื่อยิงคำถามไปว่า ทุกสาขาอาชีพ ก็จะมีเรื่องของมาตรฐานวิชาชีพ เช่น สื่อมวลชน ก็มีเรื่องของจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ คิดว่าเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพของอาชีพต่างๆ มีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน "วิเชียร-นายกสภาทนายความ"ให้ทัศนะว่า เรื่องจรรยาบรรณ จริยธรรมสำหรับทุกองค์กรอาชีพเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ หรือมีมรรยาท อย่างของสภาทนายความ เขาเรียกว่า ข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ ที่สาระสำคัญก็คือเรื่องของจริยธรรมทนายความ ที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะอย่างผมก็มองว่า ใครก็ตาม คุณทำงานเก่งแค่ไหน คุณมีผลงานดีแค่ไหน แต่คุณขาดซึ่งคุณธรรม จริยธรรม หรือมรรยาท มันไม่ได้ส่งเสริมให้สังคมดีขึ้น มันไม่ได้ส่งเสริมให้คนคำนึงถึงเรื่องคุณธรรม จริยธรรม มันจะนำพาไปซึ่งความสูญเสียต่อองค์กรนั้นๆ

         "หากดูจากข้อบังคับต่างๆ ขององค์กรวิชาชีพสื่อที่มีอยู่ พบว่าก็ให้ความสำคัญกับเรื่องคุณธรรม จริยธรรม  มีการเขียนไว้ในข้อบังคับ ระเบียบ จริยธรรม ที่แสดงให้เห็นว่าทุกองค์กรวิชาชีพสื่อให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก"

         ถามปิดท้ายว่า กับการทำงานของคณะกรรมการฯโดยที่ ในวงการสื่อสารมวลชน เคยมีคำพูดทำนองว่า แมลงวันไม่ตอมแมลงวัน ในฐานะประธานที่มาจากคนนอกวงการ การทำงานของกรรมการ  คาดหวังได้หรือไม่ "วิเชียร"ยืนยันว่ากรอบ อำนาจหน้าที่ ตามที่มีการตั้งคณะกรรมการฯขึ้นมาเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงเรื่องนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อฯคาดหวังและต้องการให้ กรรมการทำแบบตรงไปตรงมาและประกาศต่อสาธารณะ ให้คนได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ส่วนการดำเนินการกับสมาชิกที่อาจจะไปละเมิดอะไรหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของต้นสังกัดองค์กรสื่อที่บุคคลนั้นสังกัดอยู่ ว่าจะมีวิธีการดำเนินการอย่างไร แต่เราจะแสวงหาข้อเท็จจริง และมีข้อสรุป รวมถึงข้อเสนอแนะให้  

           ขณะที่"สุปัน รักเชื้อ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย-หนึ่งในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว"กล่าวเช่นกันว่า การเกิดขึ้นของคณะกรรมการฯ เป็นเพราะเกิดจากคำให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนของ พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล​ รองผบ.ตร.และทนายความ (นายอนันต์ชัย ไชยเดช)ที่บอกว่ามีสื่อได้เงินจากเขา โดยได้โดยตรงไม่เกี่ยวกับบัญชีม้า และก็มีการเสนอข่าวว่ามีอีกส่วนหนึ่งที่ได้จากบัญชีม้า ทำให้ตอนนั้น 7 องค์กรวิชาชีพสื่อฯ มีการเรียกประชุมและมีมติให้มีการออกแถลงการณ์เมื่อ27 กันยายน 2566 ซึ่งในแถลงการณ์ก็มีการพูดถึงการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงในเชิงเรื่องจริยธรรมสื่อฯ

..ต่อมา  7 องค์กรวิชาชีพสื่อฯ มอบหมายให้ 3 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน คือ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ -สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและ สภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย)ที่เป็นสามองค์กรที่ครอบคลุมทั้งหมด พิจารณาเรื่องการตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวขึ้นมา  จากนั้น 3องค์กรวิชาชีพสื่อฯ ได้มีการประชุมกัน และมีข้อสรุปว่าให้แต่ละองค์กรวิชาชีพสื่อ ส่งชื่อบุคคลที่จะส่งเข้าไปเป็นกรรมการ และติดต่อนายกสภาทนายความ คุณวิเชียร มาเป็นประธาน จนมีการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวขึ้นมา 

แมลงวันตอมแมลงวัน

กับการทำงานของสภาวิชาชีพสื่อฯ

         "สุปัน"บอกว่าสำหรับกรอบการทำงานของกรรมการฯ จะอิงอยู่กับหลักเรื่องจริยธรรม-ข้อบังคับ ของสามองค์กรวิชาชีพสื่อ เป็นหลัก โดยหากย้อนดูจากข่าวที่ทำให้มีการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา จะพบว่ามีสื่ออยู่สองประเภท คือสื่อที่สังกัดองค์กร กับไม่ได้สังกัดองค์กร โดยสื่อที่ไม่ได้สังกัดองค์กร กรรมการฯก็จะขอความร่วมมือด้วยการออกหนังสือเชิญเขาเพื่อมาให้ข้อมูลกับกรรมการฯ รวมถึงบุคคลที่เห็นว่าควรจะต้องเชิญมาให้ข้อมูล ทั้งในส่วนของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล และทนายความของเขา 

         ...สำหรับสื่อที่สังกัดองค์กร ตอนนี้ทราบว่า บางองค์กรต้นสังกัดมีการตรวจสอบ สอบสวนเรื่องจริยธรรมสื่อในสังกัดไปบ้างแล้ว โดยหากเขาทำไปแล้ว กรรมการ ก็จะมีการขอผลการตรวจสอบของเขามา ต้องเชิญสื่อที่มีการเอ่ยว่าได้เงินมาพูดคุยกับกรรมการด้วย และคงต้องทำหนังสือไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เรียกสื่อจากสังกัดต่างๆ ที่บอกว่าได้เงินจากบัญชีม้า มาขอพูดคุยด้วย ที่ก็ต้องดูว่าเขาจะให้ข้อมูลได้มากน้อยแค่ไหน เพราะบางทีเขาอาจกลัวเสียรูปคดีในสำนวนที่เขามีการสอบ 

         เรื่องนี้มีความน่าสนใจกับการที่คนซึ่งออกมาพูดว่ามีการให้เงินสื่อ โดยเป็นการให้ที่ไม่ได้ผ่านบัญชีม้า โดยเป็นเงินส่วนตัว ซึ่งเป็นถึงนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และอีกคนเป็นทนายความ ซึ่งเรื่องนี้โดยพื้นฐานเขาควรรู้ว่ามันไม่พึงที่จะให้ แม้จะบอกว่าเป็นการช่วยเรื่องค่าเดินทาง แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่พึงกระทำ และเมื่อได้ผลสอบสรุปออกมา เราก็จะส่งให้คณะกรรมการทั้งสามสภาวิชาชีพสื่อ ว่าจะมีความเห็นเพิ่มเติมอะไรหรือไม่ โดยเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการทั้งสามสภาวิชาชีพสื่อว่าจะดำเนินการอย่างไร มีความเห็นอย่างไร โดยหากกรรมการทั้งสามสภาวิชาชีพฯ เห็นชอบด้วยกับผลสรุปของคณะกรรมการฯ เขาก็ต้องลงนามรับรองผลการตรวจสอบของกรรมการฯ 

         จากนั้น ก็จะมีการส่งผลสรุปการตรวจสอบดังกล่าวส่งไปยังหน่วยงานต้นสังกัดของสื่อ เพื่อให้เขาพิจารณา ว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยหากว่า กรรมการทั้งสามสภาวิชาชีพสื่อฯ มีมติให้เปิดเผยผลการตรวจสอบ ก็ต้องเปิดเผยผลการตรวจสอบ   ส่วนคนที่เป็นฟรีแลนซ์ หรือสตริงเกอร์  ไม่ได้มีต้นสังกัด ก็ต้องดูว่าข่าวที่เขาขายไป ที่สื่อช่องต่างๆ ซื้อข่าวจากเขาไป ก็ให้ช่องที่ซื้อไปได้พิจารณาว่าข่าวที่มีที่มาที่ไปแบบนี้ จะพิจารณาอย่างไร

          "สุปัน-ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย"บอกว่าการตรวจสอบของกรรมการฯ ต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสังคม จึงทำให้มีการทาบทามคนนอกมาเป็นประธาน และกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงๆ เพราะบางทีก็มีการกล่าวหากันว่า สื่อก็ต้องช่วยกัน  ไม่ทำอะไรกันหรอก แต่จริงๆ แล้ว คนที่อยู่ในแวดวงวิชาชีพสื่อจะรู้ว่าพวกเราไม่ประนีประนอมกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้ง ในการต่อสู้แย่งชิงอะไรกัน แต่เป็นเรื่องของหลักการทางวิชาชีพ แต่บางทีคนไม่เข้าใจก็จะบอกว่า แมลงวันไม่ตอมแมลงวัน แต่จริงๆ แมลงวันตอมแมลงวัน โดยหลายเรื่องที่เราทำการตรวจสอบและส่งเรื่องให้ต้นสังกัด ทางต้นสังกัดก็ไปดำเนินการ แต่คนที่อยู่ภายนอก อาจไปคิดว่าไม่เห็นมีการทำอะไร แต่จริงๆ แล้วมีการดำเนินการกันอยู่ แต่เรื่องว่าจะให้มีการมาเปิดเผยการตรวจสอบ มันอยู่ที่คณะกรรมการของแต่ละสภาวิชาชีพสื่อว่าจะเอาอย่างไรในแต่ละเคส 

         "สิ่งที่อยากบอกกับสังคมคือ การตรวจสอบอาจไม่ได้ผลทันใจคนในสังคมหรือคนในแวดวงสื่อบางส่วน หรือนักวิชาการสื่อ เพราะกระบวนการตรวจสอบทางจริยธรรม ก็ไม่ได้ต่างกับกระบวนการตรวจสอบตามกฎหมาย เพราะต้องให้ผู้ถูกกล่าวหา ต้องให้เขาได้มีโอกาสมาชี้แจง ได้แสดงหลักฐาน พูดเหตุผลเพื่อพิสูจน์ตัวเขา"

         ถามถึงว่า การทำงานของกรรมการฯ จะมีข้อจำกัดหรือไม่ เพราะว่าเป็นการตั้งมาโดยองค์กรวิชาชีพสื่อฯ ที่ไม่ได้เป็นองค์กรตามกฎหมาย หากจะเชิญคนที่เกี่ยวข้องเช่นรองผบ.ตร.มาให้ข้อมูล จะทำอย่างไร "สุปัน -ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย "กล่าวว่า กรรมการฯก็อาจจะมีการทำหนังสือเชิญมา แต่เขาจะมาหรือไม่มา ก็อยู่ที่มุมของเขาว่าจะมาหรือไม่มา แต่ต้องไม่ลืมว่า "บิ๊กโจ๊ก” เป็นคนให้ข่าวนี้เอง โดยหากเขาบอกกลับมาว่าก็เป็นไปตามข่าว เราก็ต้องยืนยันว่าเป็นไปตามข่าวคำให้สัมภาษณ์ของบิ๊กโจ๊ก เพราะว่าองค์กรวิชาชีพสื่อ ไม่ได้มีบทบาทหน้าที่ในทางกฎหมายแต่มีบทบาทในเชิงจริยธรรม เราก็ต้องขอความร่วมมือเขา ซึ่งหากเขาคิดว่าต้องทำความจริงให้ปรากฎเพื่อให้คนที่เขาพูดถึง ไม่ได้มีข้อกล่าวหา เราก็คิดว่าเขาก็ควรให้ความร่วมมือ  

         ส่วนหากใครสงสัยว่าสภาวิชาชีพสื่อฯ แต่ละแห่งคืออะไร มีบทบาทอย่างไรในการดูแลควบคุมเรื่องจรรยาบรรณ วิชาชีพสื่อมวลชนนั้น "สุปัน -ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย "ให้ข้อมูลว่า สำหรับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็นการรวมตัวกันของคนในแวดวงข่าววิทยุ-โทรทัศน์ที่เป็นสื่อหลัก มีการจัดตั้งขึ้นมา มีการร่างระเบียบจริยธรรม โดยมีตัวแทนแต่ละช่อง แต่ละสถานีมาร่วมกันร่างฯ และมีการลงนามรับรองข้อตกลงร่วมกัน และมีการเปิดรับสมัครสมาชิก เวลาดำเนินการเรื่องอะไรก็จะมีการแจ้งผลให้สมาชิกทราบตลอดเวลา และก็มีการประสานกับสำนักงานกสทช.ในการกำกับดูแลเรื่องจริยธรรม 

         "ต้องบอกว่าเราก็ทำได้ในทางจริยธรรม ก็อาจจะมีเสียงคนถามว่าอ้างแล้วยังไง ซึ่งต้องบอกว่าเราไม่ได้มีกฎหมายในการลงโทษ แต่ว่าเวลาเราตรวจสอบแล้วมีผลสรุปออกมา แล้วส่งให้ต้นสังกัด พบว่าก็มีผลต่อคนที่ถูกตรวจสอบในเรื่องจริยธรรม โดยทางช่อง-สถานีต้นสังกัดของคนที่ถูกตรวจสอบ ก็มีการจัดการ หรือบางคนรู้ตัวว่าจะโดนตรวจสอบ ชิงลาออกก่อนก็มี มีให้เห็นอยู่"

         "สุปัน"กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้องค์กรสื่อ-สำนักข่าวแต่ละสำนัก ควรต้องเน้นคุย-ให้ความรู้กับนักข่าว-สื่อในสังกัดในเรื่องการทำข่าวแบบมีจริยธรรม ให้กับบุคลากรในองค์กร เพราะบางที มันอาจเกิดจากความไม่รู้ เพราะอย่างนักข่าวรุ่นใหม่ ที่จบมาด้านนี้ เขาเรียนกฎหมายเกี่ยวกับสื่อ -จริยธรรมสื่อ แค่วิชาเดียว สามหน่วยกิต ทั้งที่ควรเป็นวิชาหลักด้วยซ้ำ เพราะเมื่อจะเรียนมาเพื่อเข้ามาเป็นสื่อ สื่อต้องมีจริยธรรมแบบเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นสื่อแขนงใดก็ตาม เช่น ต้องไม่เสนอข่าวสารข้อมูลอันเป็นเท็จ ไม่เสนอภาพข่าวที่ไม่ถูกต้อง แต่นักข่าวรุ่นใหม่เขาเรียนกันแค่สามหน่วยกิต ก็มีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เขาเริ่มรู้สึกว่ามันไม่ใช่ แล้วพอนักศึกษาเรียนจบ เข้าไปทำงาน เขาก็คาดหวังว่า กองบก.จะอบรมบ่มนิสัยให้ แต่ปัจจุบัน อย่างที่รู้กันว่า กองบก.แต่ละแห่ง มีข้อจำกัด เช่นเรื่องทีมข่าว-นักข่าว กองบก.มีน้อย แต่ต้องทำงานหลายอย่าง นักข่าวบางวันวิ่งข่าวกันหลายหมาย บางทีวันเดียววิ่งข่าวกันสี่กระทรวงจากเดิมที่นักข่าวดูแค่คนละหนึ่งกระทวง ทำให้อาจไม่มีเวลา  ซึ่งเรื่องจริยธรรม จำเป็นที่ควรต้องมีการพูดคุย มีการอบรมนักข่าวของกองบก.-สื่อแต่ละสำนัก เพื่อเข้ามาช่วยให้ความรู้เรื่องจริยธรรมสื่อและกฎหมายเกี่ยวกับการทำงานของสื่อให้กับนักข่าวด้วย