คณะสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ เยี่ยมชมโครงการเวียงจันทน์ โลจิสติก พาร์ค

 เมื่อวันที่​ 8 พ.ย.2566​ นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย​ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติและที่ปรึกษาสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์​ฯ นายวัศยศ งามขำ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และอุปนายกฝ่ายกิจกรรมพิเศษ​ พร้อม คณะผู้บริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเดินทางเยี่ยมชมสวนโลจิสติกส์เวียงจันทน์ โดยมีนายจันทร สิทธิชัย ประธานนครเวียงจันทน์โลจิสติกส์พาร์คให้การต้อนรับ

ทั้งนี้นายสาคอน พิลางาม ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าบกท่านาแล้ง (Thanaleng Dry port) ซึ่งอยู่ในพื้นที่โครงการเวียงจันทน์ โลจิสติก พาร์ค Vientiane Logistics Park (VLP) ซึ่งเป็นโครงการ Lao Logistics Link Project เปิดเผยถึง ท่าบกสปป.ลาวว่า ได้รับมาตรฐานสากลจากองค์การการค้าโลก ด้วยระบบที่ทันสมัย ซึ่งจะเป็นฮับ Connector ทางเศรษฐกิจที่เชื่อมการขนส่งสินค้าทั้งอาเซียนและโลกท่าบกและโลจิสติกพาร์คเป็นความภูมิใจของสปป.ลาว เพราะลงทุนเอง 100% ซึ่งมีทั้ง 1.สถานีและเส้นทางรถไฟ 2.ท่าบก 3.ศูนย์คัดแยกสากล 4. ด่านศุลกากร บนพื้นที่กว่า 382 เฮกตาร์ หรือกว่า 2.3 พันไร่ ที่เป็นเครือข่ายกับต่างประเทศ มีการอำนวยความสะดวกในระดับสูงสุด


นายสาคอน กล่าวว่า ท่าบกของเราสามารถรองรับรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ได้สูงสุด 3,000 คันต่อวัน ซึ่งปัจจุบันมีเข้ามาแล้ว 1,000 คัน ส่วนโบกี้รถไฟก็ใช้เวลาในการตรวจสอบเพียง 2 นาที ต่อ 1 โบกี้ เพียงแค่สแกน QR code "ผู้ประกอบการไทยแฮปปี้มากกับท่าบกของสปป.ลาว เพราะช่วยลดต้นทุนจากไทยไปจีนได้อย่างมาก และลดต้นทุนการข้ามแดนกว่า 40% และค่าไฟในการแช่อาหารสดที่นี่ถูกกว่าไทย 50% ถ้าเป็นไปได้อยากเสนอให้ไทยเปิด่านชายแดนตอนกลางคืน เพื่อเพิ่มศักยภาพของท่าบกและเป็นโอกาสในการลดต้นทุนขนส่งของฝั่งไทยด้วย"

ด้านนายเวียงคอน สิทธิไชย ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท สิทธิ โลจิสติกส์ ลาว Vientiane Logistics Park (VLP) กล่าวเสริมถึงสาเหตุที่ต้องการให้ไทยเปิดด่านที่หนองคายในช่วงเวลากลางคืน เนื่องจากช่วงกลางวัน โดยเฉพาะช่วงเช้าการขนส่งสาธารณและส่วนบุคคลจะมีปริมาณรถ 400-500 คัน มีความแออัดเป็นอขวดบนสะพาน ทำให้การขนส่งสินค้ามายังท่าบกไม่เต็มศักยภาพ จึงขอเสนอ 1. ให้ช่วงเช้าเป็นการบริการผู้โดยสาร 2. ช่วงเย็น และ ช่วง 22.00-05.00 เป็นการขนส่งสินค้า เพื่อลดความแออัดของด่าน และสามารถเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้าที่ได้รถไฟเพิ่ม และได้จำนวนคอนเทนเนอร์มากถึง 400-500 ตู้ "ข้อเสนอนี้มีการบูรณาการร่วมกันแล้วระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีการปรึกษาหารือกับศุลกากรหนองคาย การรถไฟแห่งประเทศไทย แล้ว แต่ทั้งนี้ยังต้องตัดสินใจบนพื้นฐานของความมั่นคงของไทย"


นายเวียงคอน กล่าวอีกว่า เราตั้งเป้าเป็นท่าบกของอาเซียน เป็นจุดบริการขนส่งสินค้า สามารถส่งสินค้าสดจากแหลมฉบังของไทย ผ่านลาวไปยังคุนมิง ประเทศจีนภายใน 20 ชม. จะช่วยให้สินค้าสดใหม่ เพิ่มมูลค่าสินค้า เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการ และนอกจากนี้ค่าไฟฟ้าที่ลาวถูกกว่าไทย 50% จะช่วยลดต้นทุนค่าไฟในการแช่แข็งได้อีก 50% ต้นทุนลดกำไรก็จะเพิ่มขึ้นด้วย
"ผมสนับสนุนแลนด์บริดจ์ของไทย และอยากให้เข้าใจและเป็นความร่วมมือระหว่างไทย-ลาว เพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อสู่อาเซียน การร่วมมือต้องเพิ่มขีดความสามารถร่วมกันเพื่อนำใช้สิ่งที่พัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ"