“ชำแหละเส้นทางขบวนการนำเข้าหมูเถื่อน!!” 

“ถึงบอกว่า มันมีมาสเตอร์มายด์ หรือมาสเตอร์คีย์อยู่ข้างหลังของบริษัทผู้นำเข้า แต่จะชี้ไปถึงใคร ซึ่งไม่ใช่มุมนที่น่าคิดว่า จะชี้ไปหาใคร แต่น่าคิดว่า กล้าหรือไม่ที่จะไปแตะ” 

มนตรี อุดมพงษ์” ผู้สื่อข่าวรายการ ข่าว 3 มิติ เล่าเส้นทาง “ขบวนการหมูเถื่อน” ผ่าน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า ตนเองได้ลงพื้นที่ทำข่าวหมูเถื่อนรู้สึกว่า โอ้โห!! ทำกันเป็นล่ำเป็นสันได้ขนาดนี้เลยหรือ ทั้งสิ่งที่อยู่หน้าฉาก และหลังฉาก มีมูลค่าจำนวนมาก มีการรวมกันของคนจำนวนมาก เป็นขบวนการที่กระทำกัน มีทั้งใบเสร็จ และไม่มีใบเสร็จอย่างมโหฬาร จึงเกิดปัญหาค่อนข้างซับซ้อน เกี่ยวพันกับเกษตรกร และเกี่ยวพันกับผู้บริโภคทุกคน

“หมูเถื่อน” ผู้บริโภคเสี่ยงโรค – ภาษีเข้ากระเป๋า จนท.ทำรัฐสูญรายได้นับแสน  

“มนตรี” เล่าให้ฟังว่า เมื่อเปิดตู้คอนเทนเนอร์นำเข้าเนื้อหมูเถื่อนออกมา พบว่า เนื้อหมูที่นำเข้าคุณภาพดีมาก มีหลายเกรด เช่น มาจากประเทศสเปน, เนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเนื้อหมูชั้นดี แต่เนื้อหมู่เหล่านี้ ไม่ได้นำลงตลาด และไม่ได้ผ่านการตรวจโรค จึงมีข้อสงสัยเรื่องสุขภาพ โดยหมูดังกล่าว จะถูกส่งไปตามพิกัดที่มีเจ้าของแล้ว เช่น ตามห้างสรรพสินค้า, ร้านค้าใหญ่ ๆ, โรงแรม หรือร้านอาหารที่ใช้หมูเกรดดีมีคุณภาพ ซึ่งถ้าไม่ติดฉลากว่า ไม่ได้ตรวจโรค หรือไม่ได้อนุญาต ก็จะไม่ได้รับอนุญาตได้ลงสู่ตลาด หรือร้านอาหารทั่วไป เนื่องจาก เนื้อหมูที่ขายในร้านอาหารทั่วไป เป็นหมูในประเทศ

“หากไม่เอาจริงเอาจัง หรือล้างบางขบวนการหมูเถื่อนให้หมดสิ้นจากประเทศไทย เราก็ต้องกินหมู ที่อาจจะมีโรค เวลากินหมูกระทะก็อาจกินสุก ๆ ดิบ ๆ ทำให้ท้องร่วง ท้องเสีย ซึ่งเคยเกิดขึ้นจริง และเป็นข่าวมาแล้ว” มนตรี กล่าว

นอกจากนั้น เนื้อหมูในหนึ่งตู้คอนเทนเนอร์ รัฐควรจะได้ภาษีในการนำเข้าปศุสัตว์ในอัตราพิกัดศุลกากร 30% หรือ 40% ของมูลค่าสินค้าที่นำเข้า แต่เมื่อสำแดงเท็จ สำแดงอ้างเป็นภาษีอื่น ๆ หากเป็นสินค้าที่อยู่ในนโยบายส่งเสริมการลงทุน อาจทำให้การเสียภาษีเป็นศูนย์ ฉะนั้น หากอ้างเป็นสินค้าที่อยู่ในนโยบายส่งเสริมการลงทุนในคอนเทนเนอร์ตู้หนึ่ง จำนวน 25 ตัน หรือ 25,000 กิโลกรัม ก็จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ประมาณ 3,000 กว่าบาทต่อ 1 ตู้เท่านั้น โดยไม่ต้องเสียนำเข้าปศุสัตว์อีกหลายแสนบาท ที่จะต้องเสียตามมูลค่าสินค้า 30-40% แต่ 30-40% ที่ว่านี้ อาจมีการจ่ายแบบไม่มีใบเสร็จ โดยเอาไปให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ช่วยทำเอกสารให้ จึงเกิดปัญหาว่า ภาษีนำเข้าสินค้าเหล่านี้ ควรจะเป็นเงินที่เข้าคลัง เพื่อนำมาเป็นภาษี แต่กลับไปเข้ากระเป๋าของคนไม่กี่คน จึงถือเป็นความไม่เป็นธรรม 

หมูเถื่อนราคาถูก เหตุต้นทุนเลี้ยงต่ำ-หลบภาษี

“มนตรี”  ยังอธิบายสาเหตุที่ราคาหมูนำเข้า ถูกกว่าหมูในประเทศไทยว่า เป็นเพราะต้นทุนการเลี้ยงต่อตัวถูกมาก และไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าปศุสัตว์ แม้จะเสียใต้ดิน แต่อัตราก็ต่ำกว่าภาษีบนดิน รวมถึงในบางประเทศ มีต้นทุนการเลี้ยงถูกกว่าของไทย เช่น ประเทศบราซิล ไม่มีปัญหาเรื่องพืชอาหารสัตว์ ทั้งข้าวโพด และถั่วเหลือง เมื่อเริ่มต้นการเลี้ยง จนถึงเกณฑ์ที่จะนำเข้าสู่โรงเชือดคือ 100 กิโลกรัม เมื่อชำแหละออกมาราคาต่อกิโลกรัมจึงถูกกว่าไทย และเมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์ไทย เพิ่งมีมติเพิ่มราคาข้าวโพดอาหารสัตว์ พอราคาข้าวโพดขึ้น หรืออาหารสัตว์ขึ้น ก็ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มขึ้นอีก จนทำให้เกษตรกรสะท้อนออกมาว่า ถ้าอย่างนั้นไม่ต้องเลี้ยงหมูในประเทศก็ได้ ให้นำเข้าอย่างเดียว เพราะเลี้ยงไปก็ไม่คุ้ม

จนท.ปศุสัตว์อำเภอน้อย ช่องว่างขบวนการ “ลักไก่ยัดไส้หมูเถื่อน”  

มนตรี”  ยังเล่าถึงช่องว่างของการนำหมูเถื่อนเข้ามาสู่ตลาดว่า เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ซึ่งดูแลแต่ละอำเภอมีจำนวนน้อยมาก คือ 1 อำเภอมีคนเดียว ขณะที่ ฟาร์มหมู และโรงเชือดมีหลายโรง ทำให้ไม่สามารถที่จะไปไล่ตรวจใบอนุญาตการขนส่งทั้งหมดได้ ทั้งที่กฎหมายบอกว่า ต้องตรวจอย่างละเอียด เช่น สมมุติว่า นำหมูออกจากฟาร์มหนึ่ง ไปเข้าโรงเชือดหนึ่ง แต่มันก็เกิดช่องว่างว่า มีการขนส่งเกินจำนวนตันที่ได้ขออนุญาตไว้ จนอาจมีหมูเถื่อนมาปลอมใส่ในการขออนุญาตขนส่งด้วย

“สมมุติว่า ผมนายมนตรี ขนจากฟาร์มที่ขอนแก่น ไปโรงเชือดจังหวัดร้อยเอ็ด 2 วัน 20 ตัว บังเอิญรอบแรกผม ขนส่งหมูครบ 20 ตัวแล้ว แต่ห้วงระยะเวลาการขออนุญาต 1 วัน ยังเหลืออยู่ ก็นำหมูอื่นอีก 20 ตัว (รวมเป็น 40 ตัว) มาใช้ใบอนุญาตเดียวกัน เมื่อออกจากโรงเชือดไปส่งห้างสรรพสินค้า ผมก็เอาหมูจากเมืองนอกที่แฝงมา นำมาใส่ในโรงเชือดของผม ซึ่งเป็นหมูแพคที่แช่แข็ง และรวมเข้าไปกับหมูที่มาจากโรงเชือด  จึงกลายเป็นหมูที่ออกจากโรงเชือด สัญชาติฟาร์มของผม ความจริงแล้วตอนนำหมูเข้าแค่ 10 ตัว แต่ตอนออกกลายเป็นรวม ๆ เกือบ 4,000กิโลกรัม ซึ่งครอบคลุมใบอนุญาตหมูจากฟาร์มของผม” มนตรี อธิบาย

ดังนั้น เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ประจำอำเภอลำพังไม่สามารถจัดการได้ เพราะฟาร์มหมูมีจำนวนมาก หรือแม้กระทั่งตอนที่พบโรคอหิวาต์แอฟริกา หรือโรคระบาดในหมู ทางราชการก็บอกเจ้าหน้าที่ไม่พอ ต้องขออัตราเจ้าหน้าที่ประจำปศุสัตว์เพิ่ม เพราะฉะนั้นก็เลยเกิดวังวนอยู่แบบนี้

“ถ้าไล่สืบสาวไปอย่างที่ดีเอสไอบอก มีไม่กี่คนที่อยู่ในกระบวนการนี้ ทั้งมีอำนาจเงิน อำนาจการเมือง อำนาจคำสั่ง ที่สามารถทำได้ครอบคลุมทุกอย่างพร้อมกัน ซึ่งมีอยู่ไม่กี่กลุ่ม ทางดีเอสไอ ก็พยายามไล่บี้คนกลุ่มนี้  โดยหน้าฉากมีกลุ่มชิปปิ้งนำเข้าอย่างน้อย 11 บริษัท และยุบรวมเหลือ 10 บริษัท เพราะชื่อซ้ำกัน โดย 10บริษัทนี้นำเข้า 161 ตู้คอนเทนเนอร์มีหลักฐานที่ยึดได้  แต่เมื่อสืบย้อนหลัง 10บริษัทนี้ นำเข้าแล้วประมาณ 2,385 ตู้” มนตรี กล่าว

มนตรี”  บอกว่า เท่าที่ดีเอสไอลงไปดูข้อมูล มีบริษัทชิปปิ้ง นำเข้าประมาณ 10บริษัท แต่ผู้ที่อยู่เบื้องหลังสั่งให้นำเข้า ขณะนี้ มีแค่บริษัท 2 บริษัทที่ปรากฏชื่อ ดีเอสไอจึงตั้งข้อสังเกตว่า 10 บริษัทชิปปิ้ง จะถูกสั่งการโดยคนไม่กี่คน และอาจจะเป็นนอร์มินี หรือ ตั้งมาเหมือนกับบัญชีม้า ซึ่งมี 1 ใน 10 บริษัทนี้ เมื่อก่อนขายกางเกงยีนส์ และมีคนชักชวนช่วงวิกฤตโควิดขายกางเกงยีนส์ไม่ได้  ให้มาเปิดบริษัทและขยายกิจการ เพิ่มเป็นนำเข้าส่งออกสินค้าแช่แข็งด้วย เมื่อเปลี่ยนแล้วก็ไม่ต้องทำอะไร และรอรับเงินเดือนตู้ละหมื่นบาท 

“มนตรี” ยังมั่นใจด้วยว่า 1 หนึ่งใน 10 บริษัทนี้ เป็นนอร์มินี หรือถูกว่าจ้างให้ตั้งขึ้นมา ให้ใช้หัวบริษัท เพื่อเป็นปลายทางของหมูนำเข้า เพื่อจะได้ไม่รู้ว่าส่งจากใคร และเชื่อว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังสั่งให้นำเข้า จะต้องมีมากกว่า 2 บริษัท และยังไม่เชื่อว่า จะจบเพียงแค่นี้ เพราะจะต้องมีผู้สนับสนุนมากกว่านี้

“เจ้าของห้องเย็น” ก็มีส่วนรู้เห็นได้ผลประโยชน์ด้วย

มนตรี  ยังบอกว่า กลุ่มธุรกิจห้องเห็น ก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย โดยมี 2 แบบ คือ “ห้องเย็นแบบรับฝากแบบไม่มีส่วนรู้เห็น” โดยได้ผลประโยชน์จากการรับฝากแช่ กิโลกรัมละ 80 สตางค์/เดือน แต่อีกประเภทคือ “ห้องเย็นที่มีส่วนรู้เห็นด้วย” เพราะคนทำธุรกิจ ต้องรู้ว่า เมื่อของมาถึงท่าเรือแล้ว ต้องนำของไปเก็บแช่ จะมาฝากไว้ในห้องเย็นบนท่าเรือไม่ได้เพราะมีค่าบริการที่สูงว่า ฉะนั้น จึงมีการนัดหมายกับห้องเย็นไว้ ซึ่งเป็นประเภทที่รู้กันกับกลุ่มที่ทำธุรกิจด้านนี้โดยตรง และมีห้องเย็นเป็นของตัวเองด้วย แต่อย่างไรก้ตาม เชื่อว่า คนกลุ่มนี้จะไม่กล้าทำ หากไม่มีผู้บงการเบื้องหลังสนับสนุนอยู่ปลายทาง เพราะเกี่ยวข้องกับการกักของที่ปลายทาง คือ “หมูกล่อง” ซึ่งหนึ่งมี 10 กิโลกรัม  ฉะนั้น ต้องรวบรวมหมูกล่องจากประเทศต่าง ๆ หลาย ๆ ประเทศ รวมมาให้ได้ 75 ตันต่อตู้คอนเทนเนอร์ ถึงบอกว่า จะต้องมีมาสเตอร์มาย หรือ บุคคลที่อยู่เบื้องหลัง ตรงนี้น่าคิดว่ากล้าหรือไม่ ที่จะไปแตะต้อง

“เพราะฉะนั้น มันไม่ใช่คน คนเดียว คนง่าย ๆ จะทำได้ เพราะต้องไปรวบรวมหมูกล่องจากฟาร์มมา ถึงบอกว่า มันมีมาสเตอร์มายด์ หรือมาสเตอร์คีย์อยู่ข้างหลังของบริษัทผู้นำเข้า แต่จะชี้ไปถึงใคร ซึ่งไม่ใช่มุมนที่น่าคิดว่า จะชี้ไปหาใคร แต่น่าคิดว่า กล้าหรือไม่ที่จะไปแตะ” มนตรี กล่าว 

ไม่เหมารวม จนท.รัฐรู้เห็นเป็นใจ เชื่อยังมี จนท.ที่คัดค้านหมูเถื่อน

“มนตรี” บอกว่า ไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ หรือ ศุลกากรทุกคน จะรู้เห็นเป็นใจกับขบวนการดังกล่าว  แต่เป็นคนกลุ่มหนึ่ง ที่รวมตัวกันเป็นกระบวนการ ใช้คนกลุ่มจากกรมปศุสัตว์, กรมศุลกากร และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งคนอื่น ๆ ในหน่วยงานนี้ ไม่ได้รู้เห็นด้วย และถ้าดึงคนกลุ่มนี้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการมาดำเนินคดี คนกลุ่มอื่นในองค์กรดังกล่าว ก็จะทำหน้าที่แทน และไม่ได้เห็นด้วยกับขบวนการเหล่านี้ ก็จะสกัดหมูเถื่อนเข้าประเทศอีก 

ส่วนหากกวาดล้างหมูเถื่อนได้แล้วหมดแล้ว ราคาหมูในประเทศก็จะสูงขึ้น จะยิ่งจูงใจให้คนยิ่งอยากทำหมูเถื่อนมากขึ้นหรือไม่ “มนตรี” บอกว่า ถ้าราคาสูงก็จะเจอประกาศของกระทรวงพาณิชย์ เป็นมาตรการของรัฐที่กดราคาเอาไว้ แต่ผู้ประกอบการหมูเถื่อนหรือสินค้าหนีภาษี ก็ต้องชั่งใจกับอัตราโทษด้วย หากลักลอบนำเข้ามาว่าคุ้มค่าเสี่ยงหรือไม่หากรัฐปราบปรามจริงจัง แต่ต้องถามด้วยว่า จะมีเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตหรือไม่ แต่ตนเองเชื่อว่า ต้องมีแน่ เพราะของที่ลำเลียงเข้ามาทุกวัน ไม่สามารถตรวจพบได้ 100% ทุกตู้คอนเทนเนอร์ เพราะเป็นเรื่องขีดจำกัดของเครื่องมือตรวจ ขณะที่ สื่อ และสังคมอยากจะเห็น คือ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังตัวจริง ก็ต้องเกาะติดกับเรื่องนี้ต่อไป

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5