AI ทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ มากกว่า ฉุดรั้งวงการสื่อ….

 โดย - จุลสารราชดำเนิน  

--- 

“AI ที่เข้ามามันเป็นการทำลายล้างเชิงสร้างสรรค์ หมายถึงมันก่อให้เกิดงานใหม่ๆ ผมจึงไม่เห็นว่า มันจะฉุดอุตสาหกรรมสื่อได้อย่างไร ...เรามี AI ที่อยู่ในทุกวงการ ดังนั้น อย่าเพิ่งวิตก มันอยู่ในช่วงที่เรากำลังปรับตัวเข้ากับมัน” 

ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ “AI  ช่วยหรือฉุดคนทำงานด้านสื่อ” จัดโดยกลุ่มวิชาวิทยุและโทรทัศน์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อไม่นานมานี้ 

งานเสวนา "Ai ช่วย หรือ ฉุด คนทำงานด้านสื่อ" จัดโดยกลุ่มวิชาวิทยุและโทรทัศน์ ที่อาคารมีเดีย คณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ในภาพ (ซ้ายไปขวา) ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ (เสื้อเหลือง) ศิริลักษณ์ รุ่งเรืองกุลดิษฐ์ และ เมริยา ค้ำกูล เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา -- ที่มา https://www.facebook.com/JCThammasat

 AI ยังเป็นเมกกะเทรนด์สร้างความสั่นสะเทือนหลายวงการ มีการนำ AI เข้ามาทำงานแทนมนุษย์ในหลายสาขา โฆษณา การตลาด นางแบบ หรือ ChatGPT เป็น AI ในรูปแบบ Chatbot เปิดตัวเมื่อปี 2565 สร้างความฮือฮาในหลายวงการเพราะสามารถแต่งเรื่อง เรียบเรียงประโยค วิเคราะห์ข้อมูล พฤติกรรรมถูกนำมาใช้ในหลายวงการ ราวกับผู้เชี่ยวชาญ การพัฒนาของ AI  ทุกวันนี้จึงขยับเข้ามาใกล้ตัวคนทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะวงการสื่อ AI ถูกนำมาใช้ในกองบรรณาธิการ การเป็นผู้ประกาศ การวิเคราะห์ข้อมูล สร้างความตื่นตัวและหวั่นกลัวของหลายคน

ทะลวงวงการสี่อ

 ดร.ลิขเรศ ให้ภาพว่า หลายปีที่ผ่านมา มีสำนักข่าวใหญ่ๆ ประกาศตัวในการใช้ AI เข้ามาช่วยทำงานอย่างเป็นชิ้นเป็นอันกว่า 150 โครงการ  ยุคแรกๆ ตั้งแต่ปี คศ. 2012 ที่บีบีซีทำ ต่อมาปี 2013 และ 2017-2018 เอพีทำ ยังมีรอยเตอร์ส วอชิงตันโพสต์ เทนเซ็นต์  ซินหัวรวมถึงสำนักข่าวเกาหลีใต้ จนมาถึงปีนี้ คณาจารย์ทั้งหมดเริ่มตื่นตัวและตื่นเต้นเพราะกำลังเห็นผล AI อย่างมาก

นสพ.บิลด์ (Bild) ที่มียอดขายสูงสุดของเยอรมนี ลดพนักงานลง 200 ตำแหน่งจาก 1,000 คน เมื่อเดือน มิ.ย.ปี 2566 เหลือสำนักงานในกรุงเบอร์ลินเพียงแห่งเดียว โดยมีการนำ AI มาใช้บางส่วนมาใช้กับกองบรรณาธิการ

ในปีนี้มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจ เช่น  นสพ.บิลด์ (Bild) แท็บลอยด์ของเยอรมนี หนังสือพิมพ์ที่ขายดีที่สุดในยุโรป จ้างพนักงานออก 20% โดยนำ AI มาชดเชยทำงานในกองบรรณาธิการ หรือ ก่อนหน้านี้ปี 2018 เราเห็นผู้ประกาศข่าว  AI ของสำนักข่าวซินหัว แต่วันนี้มันพัฒนาไปมาก ทีวีเกาหลีมีผู้ประกาศข่าว AI ที่สามารถโต้ตอบกับผู้ประกาศข่าวจริงได้เมื่อ 2 ปีก่อน  ยังมีการใช้ AI พากย์วิดีโอไฮไลต์การแข่งขันในศึกแกรนด์สแลมวิมเบิลดัน  ขณะที่ คนทำงานในอุตสาหกรรมฮอลลีวู้ด ประท้วงเรื่องสวัสดิการพนักงานและเรียกร้องอย่าใช้ AI เข้ามาทดแทน วงการดีเจ มี AI ดีเจ และ  AI ยังสามารถแปลภาษาโบราณได้แล้ว ในอนาคต AI ไม่ต้องมาแปล อัดเทป ถอดเทปเหมือนนักข่าว แต่ AI สามารถโพสต์ข่าวเองได้ วงการแฟชั่น ยีนส์ Levi's ใช้คอมพิวเตอร์สร้างนายแบบ นางแบบ AI

ในแวดวงวารสารศาสตร์ ในทศวรรษแรกๆ ที่พวกเราเรียนมัธยมและฝันอยากเรียนวารสารศาสตร์มันจะมีฟังก์ชั่นกระบวนการผลิตรายการหรือสื่อโฆษณา pre-pro-post เรียกว่า 3P  (Pre - production คือ ขั้นตอนของการเตรียมงาน ก่อนที่จะผลิตรายการจริง ,Production ขั้นตอนของการผลิตรายการ,Post - production ขั้นตอนสุดท้าย เป็นการตัดต่อก่อนที่จะน าไปเผยแพร่ ) ต่อมาเข้าสู่ทศวรรษของโซเชียลมีเดีย เป็นยุคสตรีมมิ่ง  (การถ่ายทอดรับส่งสัญญาณ ภาพ เสียงต่าง ๆ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต) แต่ในทศวรรษต่อไปที่พวกเราจะทำงาน จะมีปัจจัยที่เชื่อมโยง คือ อัลกอริทึ่มเหมือนอย่างที่พบเจอจากการโพสต์ในโซเชียลมีเดีย ต่อมาจะมีเอเยนซีรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้น จากเดิมเราทำงานแค่การขายเวลา ขายเนื้อหา แต่ต่อไปนี้ จะมีดิจิทัลเอเยนซีอย่างที่เราเห็นจากฟังก์ชั่นของเน็ตฟลิกซ์ ที่ไม่ต้องใช้เอเยนซีรวบรวมงาน 

 AI Journalism หลักสูตรในอนาคต

ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

ดร.สิขเรศ กล่าวว่า หลักสูตรการเรียนการสอนของวารสารศาสตร์จำเป็นต้องปรับทั้งโครงสร้าง นักศึกษารุ่นปัจจุบันเป็นยุคที่ต้องเผชิญกับวารสารศาสตร์อุตสาหกรรมของ AI ปัญญาประดิษฐ์อย่างแท้จริง  เราอาจมีวิชาวารสารศาสตร์ปัญญาประดิษฐ์ หรือ  AI Journalism  หรืออาจจะเป็น major ในอนาคตก็ได้ แต่ถ้าไม่ยอมปรับตัว เราก็จะอยู่ในชนชั้นไร้ประโยชน์ หรือ useless class อย่างที่ยูวาล โนอา ฮารารี่ นักเขียนชื่อดังบอกไว้ว่า ยุคต่อจากนี้จนถึงปี 2050 จะเกิดชนชั้นไร้ประโยชน์ ไม่มีประสิทธิภาพ หมายถึงเมื่อเราจบไป ก็อาจไม่มีงานทำ หากกระบวนการเรียนรู้ ในวารสารศาสตร์ในอนาคตไม่มีทักษะการประกอบวิชาชีพที่จะไปในยุค AI 

“ผมไม่ได้ดูถูกชนชั้นวิชาชีพ แต่เรากำลังจะพูดความจริงในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เรากำลังถูกตั้งคำถามว่า นิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ มีความจำเป็นหรือไม่ในยุค Tiktoker  นักศึกษาในยุคนี้ถือว่าอยู่ในยุค  AI journalism 101 หรือ ยุครุ่งอรุณของวารสารศาสตร์ปัญญาประดิษฐ์  ความจริง AI เกิดมานานแล้วในวงการวารสารศาสตร์ เช่น การเกิดขึ้นของ ChatGPT ที่ถูกนำมาใช้ในแวดวงเรามาก แต่10 ปี ต่อจากนี้เป็นยุคของพวกคุณที่จะพัฒนาไปสู่ยุค  AI journalism 201 - 301 หรือ ปริญญาโท ปริญญาเอกได้มากแค่ไหนเท่านั้นเอง”  

คำถามที่ว่า AI จะช่วยหรือฉุดคนวงการสื่ออย่างไร?  ดร.สิขเรศ มองว่า ดิสรัปชั่นมี 2 แบบ ทำลายล้างกับสร้างสรรค์ หรือ creative disruption  ยกตัวอย่าง แต่ก่อนเราตกใจมากเมื่อมี streaming เข้ามา เรากลัวว่า streaming จะมาดิสรัปฆ่าภาพยนตร์ มาวันนี้เมื่อมีเน็ตฟลิกซ์ก็ถูกดิสรัปโดยบิสสิเนสโมเดล เหมือนเฟสบุ๊คที่เคยยิ่งใหญ่ตอนนี้ก็ถูกติ๊กต๊อกดิสรัป   

“AI ที่เข้ามามันเป็นการทำลายล้างเชิงสร้างสรรค์ ดังนั้น ผมจึงไม่เห็นว่า AI จะฉุดอุตสาหกรรมได้อย่างไร  แต่ต้องถามกลับว่า  แล้วเราจะอยู่ในชนชั้นไร้ความหมายอย่างที่เขาทำนายหรือ แล้วคุณอยากจะถูกดิสรัปโดย AI หรือ ทั้งที่ AI มันช่วยงานพวกเราได้ เช่น ที่เขากล่าวหาเราเป็นนักเล่าข่าว ก๊อปปี้ข่าว ไม่มีอะไรก็เอาข่าวมาวนๆ ไม่มีข่าวสืบสวน นั่นคือ โอกาสดีที่เราจะใช้  AI มาช่วยทำข่าวสืบสวนแนวใหม่  ใช้ AI ตรวจสอบข่าว fact checking ได้มาก หรือ การสร้างหนัง การตลาด ศิลปะ AI จะมาช่วยเราให้นุ่มลึกมากขึ้น ผมจึงเห็นว่า AI มันอภิวัฒน์มากกว่า แต่มันอยู่ที่เรา ถ้าเราอยากอยู่ในชนชั้นไร้ประโยชน์ต่อไป เราก็จะตกหลุมดำตลอดเวลา ถ้าเราอภิวัฒน์งาน สร้างสรรค์งานของเรา ก็สามาถใช้ AI เป็นเครื่องมือ เหมือนที่เราใช้ Photoshop มาสร้าง image ของเราให้ดียิ่งขึ้น”  

ตัวท็อปถึงอยู่รอด 

เมริยา ค้ำกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์ เจ้าของ Youtube ช่อง Marketing Mayri การตลาดเข้าใจง่าย กล่าวในงานเดียวกันว่า ในมุมผู้ประกอบการมองถึงรายได้ ต้นทุน ถ้าเราทำงาน เป็นฟรีแลนซ์ มีเวลาจำกัดเพราะมนุษย์ไม่สามารถทำงานได้ตลอด แต่  AI ช่วยเราได้ในส่วนนี้  ไม่จำกัดเวลา ยังมีประสิทธิภาพมากกว่า และในฐานะเจ้าของธุรกิจ ถ้าเราจะจ้างพนักงาน 1 คน ต้องมีต้นทุน ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน มีประกันสังคม แต่ AI ทำงานได้ 24 ชั่วโมง ไม่เจ็บป่วย 

AI เริ่มเกิดขั้นมาระยะหนึ่ง แต่ที่สะเทือนวงการ คือเมื่อปี คศ. 2016  มีการแข่งขันหมากล้อมระหว่างมนุษย์กับ AI มนุษย์ที่แข่งเป็นแชมป์หมากล้อมชาวเกาหลี 18 สมัย ผลปรากฎว่า AI ชนะ 4 ต่อ 1 เกม  เมื่อมนุษย์แพ้ ทำให้เกิด 2 คำถามว่า นี่คือ จุดเริ่มต้นที่ AI สามารถประมวลผลกับจุดที่ใกล้เคียงกับมนุษย์ หมายความว่า AIจะมาช่วยในหลายอาชีพ เช่น หมอ นักการตลาด นักธุรกิจ หรือในวงการที่ใช้ข้อมูลซ้ำๆ ได้หรือไม่ นักพัฒนาเกิดการตื่นตัวมากนับจากครั้งนั้น 

อีกคำถาม AI จะมาแย่งงานมนุษย์หรือไม่  ในวงการวิชาการฟันธงแล้วว่า ถ้าคุณยังทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม หรือทำงานธุรการไม่ได้อะไรมากมาย เช่น สรุปข้อมูลทั่วไป ไม่ได้เป็นตัวท็อปของวงการ ไม่ได้เรียนรู้ คุณจะถูก AI แย่งงานได้แน่

อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่า ความจริงการเข้ามาของ AI ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะมีบางอย่าง AI ทำไม่ได้ เช่น ถ้าเราต้องไปสัมภาษณ์เจ้าของธุรกิจ มนุษย์มีทักษะโน้มน้าว มีคอนเน็คชั่น ก็จะทำได้ดีกว่า AI  แต่เราอาจให้ AI  ช่วยรวบรวมประวัติคนที่จะถูกสัมภาษณ์ไว้ก่อน ดังนั้น  AI ไม่ได้แย่งงาน แต่จะเสริมให้เราโตขึ้นเรื่อยๆ เช่น AI ช่วยวิเคราะห์เนื้อหาสุดท้ายมนุษย์จะมาวิเคราะห์ของเราเอง

Levi Strauss แบรนด์ผ้ายีนส์ชื่อดัง จับมือบริษัทสตูดิโอ AI จากอัมสเตอร์ดัมเมื่อเดือนมี.ค. 2566 สร้างโมเดลสมจริง สามารถกำหนดรูปร่าง อายุ และสีผิว แทนการจ้างนางแบบ

“อย่างในวงการเอเจนซี่โฆษณา หลายคนใช้ AI เข้ามาช่วยแทนคนทำงาน เขาใช้เครื่องมือ  3 ตัวมายำข้อมูล เช่น ChatGPT แล้วให้ทีมงานที่เป็นคนมาช่วย รีไรท์ คือ การทำงานควบคู่กันระหว่างคนกับ AI”  

อาชีพใหม่เหนือ AI

เมริยา กล่าวว่า แม้จะมีบางอาชีพถูกทดแทนโดย AI แต่ก็มีบางอาชีพที่เกิดใหม่ เช่น PROMTengineering ตำแหน่งนี้ไม่เคยมีมาก่อนจนกระทั่งยุค AI  กล่าวคือ เป็นอาชีพที่ช่วยพัฒนาประสิทธิภาพของ AI ให้ดียิ่งขึ้นด้วยการออกแบบใช้คำสั่งป้อนเข้าไปเพื่อให้ AI ทำงานได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ในเมืองไทยมีแล้วเป็นตำแหน่งที่คนโหยหาเพราะเจ้าของบริษัทไม่รู้จะสั่งงาน AI อย่างไรจึงให้คนเหล่านี้ไปหาวิธีการสั่ง  

อีกอาชีพ คือ นักจริยธรรมด้าน AI  เพราะคนใช้ AI อาจขาดจริยธรรม เช่น เมื่อไม่นานมานี้ นักข่าวเอา AI มาทำรูปพระดีดกีตาร์เล่นคอนเสิร์ต เจ้าของรูปบอกจะเอาผิดเพราะทำให้ศาสนาเสื่อมเสีย สังคมอีกด้านตอบโต้ว่า จะมาเอาผิด AI ได้หรือ คนสร้างไม่ได้ผิดมากกว่าพระบางรูปด้วยซ้ำ แต่ความจริง คือ คนเอาทำแต่งรูป ได้บอกหรือไม่ว่าเอามาจากไหน หรือ AI เอามารูปมาใส่เองด้วยความอคติจากที่มีการป้อนข้อมูล ยังมีอาชีพ  AI เทรนเนอร์ที่ต้องการใช้ภาษาเฉพาะ เช่น ภาษาหนังสือพิมพ์ ภาษาวรรณกรรม ภาษาภาพยนตร์ ที่ AI ยังไม่ถนัดเพราะAI ถูกเทรนด้วยภาษาอังกฤษ ส่วนอาชีพที้ AI ทำไม่ได้ เช่น นักกีฬา ผู้บริหาร ยิ่งถ้าเราเป็นตัวท็อป จะไม่ถูกแย่งงานโดย AI  หรือ อาชีพที่เน้นการสื่อสารกับคน เช่น ครู  การตัดสินใจด้านจริยธรรม หรือ การตัดสินคน  AI ช่วยได้ แต่ไม่ 100%

Aitana López อินฟลูเอนเซอร์อายุ 25 ปี ผมสีชมพู จากเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เธอคือ AI ที่เอเจนซีในสเปนสร้างขึ้น ปัจจุบัน Aitana มีรายได้จากการลงโพสต์ร่วมกับสินค้าในโซเชียลต่าง ๆ อยู่ที่ 3,000 ยูโรต่อเดือน ผู้ออกแบบ Aitana ให้เหตุผลที่สร้างนางแบบจาก AI มาจากปัญหาอินฟลูเอนเซอร์บางส่วนอีโก้ และเรียกค่าจ้างสูง

งานAI ยังไม่ได้รับลิขสิทธิ์

ศิริลักษณ์ รุ่งเรืองกุลดิษฐ์ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ปัจจุบันงานที่ AI สร้างขึ้นยังไม่ได้การคุ้มครองจากกฎหมายลิขสิทธิ์ไทย เพราะงานลิขสิทธิ์ต้องมีการรังสรรค์งานจากมนุษย์พอสมควร ซึ่งงานที่ AI สร้างขึ้นมาต้องดู terms and condition ของแต่ละแพลตฟอร์มที่เขียนกำหนดเงื่อนไขไว้ด้วย คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยอ่านกัน เช่น การนำรูปที่เราอัพโหลดจาก AI ต่างๆ เอามาใช้นอกแพลตฟอร์ม เช่น  Midjourney (AIที่ช่วยสร้างสรรค์ผลงานทางภาพงานศิลปะ) ที่เขากำหนดว่าต้องใช้เพื่อส่วนตัวเท่านั้น ห้ามทำการค้า ถ้าไปอัพโหลดไปใช้นอกแพลตฟอร์ม เขาจะไม่รับผิดชอบ

สำหรับกฎหมายลิขสิทธิ์ไทยจะคุ้มครองงาน 9 ประเภท  ได้แก่ 1. งานวรรณกรรม เช่น หนังสือ บทความ บทกลอน โปรแกรมคอมพิวเตอร์ 2. นาฏกรรม เช่น ท่าเต้นท่ารำ ที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว 3. ศิลปกรรม เช่น ภาพวาด ภาพถ่าย 4. ดนตรีกรรม เช่น ทำนองเพลง หรือเนื้อร้อง  5. โสตทัศน์วัสดุ เช่น วีซีดีคาราโอเกะ 6. ภาพยนตร์ 7. สิ่งบันทึกเสียง เช่น ซีดีเพลง 8. งานแพร่เสียงแพร่ภาพ เช่น รายการโทรทัศน์  9. งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์หรือแผนกศิลปะ เช่น การเพ้นท์ศิลปะบนร่างกาย  

กฎหมายในต่างประเทศ  

หากดูกฎหมาย AI ในโลกต่างประเทศสองขั้ว จีน กับ อเมริกาต่างกำหนดว่า งานที่สร้างโดย AI  ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่ที่มีความแตกต่างกัน อเมริกาเน้นไอเดียมาก่อนการลงมือทำ ขณะที่จีนเน้นการลงมือทำส่วนกลยุทธ์ไอเดียมาทีหลัง  สองประเทศนี้จึงมีการเอา AI มาใช้ในคำตัดสินของศาลฎีกาแตกต่างกัน  

นอกจากนี้ในจีน ภาครัฐ มหาวิทยาลัยเอกชน ทุกอย่างที่เกี่ยวกับ AI ดำเนินไปในแนวเดียวกัน อีกทั้ง จีนเพิ่งออกมาตรการเกี่ยว AI เมื่อ 15 สค. 2566 มี 24 ข้อ กำหนดให้แพลตฟอร์มที่ใช้ AI ต้องผ่านการตรวจสอบจากภาครัฐก่อนถึงเผยแพร่ได้ ถือว่าเข้มงวดกว่าอเมริกามาก ที่สำคัญ ยังห้ามสร้างรูปประธานาธิบดี  สี จิ้นผิง แบบ AI ด้วย  ส่วนอเมริกาแตกต่างกัน ภาคเอกชนเป็นคนผลักดัน AI เช่นแพลตฟอร์ม Midjourney, ChatGPT กระนั้นศาลชี้ว่า งานเหล่านั้นละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะอเมริกาเน้นว่า ทุกอย่างต้องทำโดยมนุษย์ ถึงจะได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายลิขสิทธิ์  

หันมาดูที่ยุโรปได้ผ่านร่างกฎหมายครั้งแรกเมื่อเดือนมิ.ย. 2565 เพื่อกำกับดูแล AI  หนึ่งในนั้นระบุว่า บริษัทที่มีเครื่องมือสร้าง AI  เช่น ChatGPT จะต้องเปิดเผยข้อมูลที่ใช่เทรน AI เพราะเนื้อหาพวกนั้นมันอาจเกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์

เธอ ยกตัวอย่างว่า หากแพลตฟอร์มอย่าง Midjourney, ChatGPT ที่นิยมใช้กัน เอางานลิขสิทธิ์ 9 ประเภทตามที่กฎหมายไทยกำหนด มาดัดแปลงบนงานตัวเองถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย  เพราะเป็นการอัพโหลดรูปของคนอื่นลงบนแพลตฟอร์ม AI  และเจ้าของสองแพลตฟอร์มอาจต้องรับผิดชอบด้วย เพราะถือเป็นผู้สนับสนุนการละเมิด ในฐานะผู้ควบคุมสั่งการแพลตฟอร์มนั้น 

“หลักการ คือ ถ้าเราเอางานเจ้าของลิขสิทธิ์มาใช้ ‘เผยแพร่ -ทำซ้ำ –ดัดแปลง’ โดยที่เจ้าของไม่อนุญาต ถือเป็นละเมิดลิขสิทธิ์ แต่บางทีมันมีข้อถกเถียงถ้า AI ท่องไปในเว็บทั่วไป แต่ไม่ได้ทำซ้ำ เอาอันนี้นิดหน่อยมาใช้ ก็ไม่ได้ละเมิด ซึ่งเป็นการตีความตามกฎหายหลายแบบมาก”  

บทกำหนดโทษที่ต้องรู้กรณีผิดกฎหมายลิขสิทธิ์  คือ  หากเจ้าของฟ้องเพราะมีการละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง โทษปรับ 2 หมื่นถึง  2 แสนบาท ถ้าเอามาค้าหากำไรด้วยจำคุก 6 เดือนถึง 4 ปี  ปรับ 1 แสนถึง 8 แสนบาท  ถ้าทำกับของปลอมก็เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นรองแล้วยังเอามาหากำไร ปรับตั้งแต่ 1 หมื่น ถึง 1แสนบาท  ถ้าทำเพื่อการค้าจำคุก 3 เดือนถึง 2 ปี ปรับตั้งแต่ 5 หมื่นถึง 4 แสนบาท ถือว่า แรงมาก  

ภาพตัวอย่างจากการใช้ Midjourney - AI ที่ช่วยสร้างสรรค์ผลงานทางภาพงานศิลปะโดยที่มนุษย์ไม่ต้องวาดเอง เพียงแต่ป้อนคำสั่งให้ AI ช่วยวาด - ที่มา https://www.your-plans.com/

กรมทรัพย์สินทางปัญญาเช็คอย่างไรว่า งานพวกนี้รังสรรค์จาก AI หรือจากมนุษย์?  ศิริลักษณ์ ตอบว่า เรามีเว็บไซต์ในการตรวจสอบ รวมถึง เราให้ประชาชนเขียนถึงที่มาการผลิตชิ้นงาน บางคนเขาก็จริงใจเขียนมาเลยว่า งานชิ้นนี้ได้ทำมาจาก ChatGPT พอเราเห็น เราก็ไม่รับ เพราะ AI สร้าง แต่ถ้าเขาเขียนมาว่า มาจากแรงบันดาลใจจริงๆ  ถ้าเราดูแล้ว มนุษย์ทำเราก็รับแจ้งลิขสิทธิ์  ซึ่งทางกรมอิงแนวทางของอเมริกาเป็นหลักในเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์

“ถ้ามองในมุมนักกฎหมาย เห็นว่า AI เป็นส่วนที่มาช่วยเสริม ช่วยให้มันดีขึ้น เพราะ AI เป็นแค่ส่วนเสริมเท่านั้น แต่ถ้าเรางานคนอื่นมา อันนี้มันฉุดแน่”  นักวิชาการจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าว