เบื้องลึก! วังวนอาชีวะเปรี้ยว-ห้าวตีกัน! แก้ยากจริงหรือ?

“แม้ว่าจะถูกผลักออกจากสังคม หากหนักแน่นพอ และรู้ว่า เป้าหมายในชีวิตคืออะไร ถ้าคุณรู้สึกว่าโดนกด โดนบูลี่ แต่เราสามารถทำตัวเองให้เป็นพลังบวกได้ ซึ่งพลังชุมชน ต้องเข้ามาปิดพลังลบ ให้เป็นพลังบวก ซึ่งอาจจะถูกมองว่าโลกสวย แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่เกิดขึ้นจริง ก็ไม่มีใครจะมาชักจูงได้” 

ภัทราพร ตั๊นงาม” ผู้สื่อข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส” วิเคราะห์“เด็กอาชีวะข้ามสถาบันยกพวกตีกัน” ผ่าน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า การก่อเหตุ มีทั้งแบบตีกันเอง ยิงกันเอง บางส่วนก็ไม่รู้ว่าเป็นกลุ่มใคร ไม่ได้เป็นนักศึกษาของสถาบันใด เข้ามาทำร้ายนักศึกษาเทคนิค หรืออาชีวะ ซึ่งอาจแบ่งได้ 2 กลุ่ม ได้แก่ “กลุ่มที่ตีกันเอง-ยิงกันเอง” ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการเขม่น หรือหมั่นไส้กัน ซึ่งจากที่ได้คุยกับนักศึกษา ที่ศึกษาในระดับอาชีวะ ได้ระบุถึงว่า มีกลุ่มห้าว หรือกลุ่มที่เปรี้ยวจริง ๆ ซึ่งมีจำนวนไม่เท่าไรนัก แต่เวลาก่อเหตุ จะก่อเหตุหนัก และอีกกลุ่มคือ “กลุ่มที่เข้ามาก่อเหตุ” ซึ่งนักศึกษา บอกว่า เขาพยายามเลี่ยง เช่น เดินไปตามถนนแล้วเจอคนที่รู้สึกว่า เหมือนจะเขม่นเขา เขาก็จะพยายามใช้วิธีการสื่อสารแบบใจเย็น และพยายามหลบเลี่ยงไปให้ได้มากที่สุด 

“มีนบุรีโมเดล” ผนึก 3 ฝ่ายแก้ปัญหา นศ.ตีกัน

ภัทราพร” บอกว่า สถาบันการศึกษาพยายามเข้ามาแก้ไข ลดความเสี่ยงตรงจุดนี้ โดยดึงน้อง ๆ ให้มีพลังบวกมากขึ้น โดยมีการพูดกันถึง “มีนบุรีโมเดล” ในอดีต เพราะเทคนิคมีนบุรี อาจจะเคยเป็นสถาบัน ที่มีเรื่องมีราวข้ามสถาบันกันมาก แต่ตอนนี้ค่อนข้างจะเพลาไปเยอะ

“ภัทราพร” อธิบายให้ฟังว่า “มีนบุรีโมเดล” คือ การจับมือร่วมกัน โดยฝ่ายตำรวจ ที่นำผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาล หรือ สน.ในกรุงเทพฯ 14 แห่ง มานั่งฟังกันว่าจะทำอย่างไร เพื่อนำไปปรับใช้กับพื้นที่ตัวเอง เพราะว่า 14 สน. ในกรุงเทพฯ มีสถาบันการศึกษาระดับวิทยาลัยอาชีวศึกษา และวิทยาลัยเทคนิคตั้งอยู่ และอาจจะมีความเสี่ยงที่เด็กอาจจะไปตีกัน หรือก่อเหตุรุนแรงขึ้นได้ จึงอยากให้ “มีนบุรีโมเดล” ขยายผลต่อ สน.เหล่านี้ เพื่อไปปรับใช้กับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ เพื่อลดความเสี่ยงให้กับตัวเด็ก และเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขาด้วย โดยร่วมกับสถาบันการศึกษา ผู้ปกครอง และตัวนักศึกษาเอง 

“เริ่มต้นที่สถาบันการศึกษา สกรีนตั้งแต่รับเด็กเข้าปีหนึ่ง โดยระบุกฎเหล็กเป็นข้อห้ามว่าเด็กต้องทำอะไรบ้าง คือ ห้ามสวมแหวนรุ่นเด็ดขาด ห้ามพกหัวเข็มขัดที่มีชื่อสถาบันเด็ดขาด ส่วนโซนไหนที่เป็นโซนกลุ่มเสี่ยง เช่น ซอยที่อยู่ข้างวิทยาลัยที่อาจจะเปลี่ยว หรือเป็นจุดรวมตัวกันได้เยอะ ๆ อาจารย์ถึงขั้นออกประกาศทางวิทยาลัยว่า ห้ามนักศึกษาไปเด็ดขาด ถ้าไม่ได้เพื่อกลับบ้าน ก็ห้ามผ่านเส้นทางนั้น” ภัทราพร ระบุ

       “ภัทราพร” ยังเล่าถึงการลงพื้นที่ทำข่าวในลักษณะนี้ว่า เท่าได้ไปสัมผัส เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา น้อง ๆ ก็เข้าใจในบริบทนี้เป็นอย่างดี หรือกรณีชุดพละที่เป็นเสื้อช็อปของนักศึกษา ที่มีชื่อสถาบัน ก็ให้มาเปลี่ยนภายในวิทยาลัย ขณะที่ เครื่องแต่งกาย ก็ได้เปลี่ยนไป เสื้อของเทคนิคมีนบุรี จะคล้ายกับเสื้อของนักศึกษาทั่วไป ไม่มีตราสัญลักษณ์ของสถาบันเลย หรือนักศึกษาหญิง ก็จะเหมือนสวมชุดนักเรียน ม.ปลาย เป็นชุดใหม่ของสถาบันที่ออกแบบเพื่อลดความรุนแรง และลดจุดสังเกตของนักศึกษาต่างสถาบัน แต่ความจริงแล้ว เด็กเทคนิคอาชีวะ มีความถนัดสายอาชีพสายเฉพาะด้าน โรงงานใหญ่ ๆ ที่ต้องการตัวไปทำงาน อาจารย์ถึงขั้นไปทำ MOU เอาไว้ ดังนั้น ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ถือว่า นักศึกษาเหล่านี้ เป็นพลังกำลังสำคัญของตลาดแรงงานประเทศไทย ซึ่งตนเองได้ไปเจอนักศึกษาอาชีวะ ที่เรียนจบทำงาน และบอกว่า ชีวิตเปลี่ยนไปจริงๆ มีพลังมีความมุ่งมั่นที่อยากทำงาน ไม่รู้สึกว่า อยากมีเรื่องกับใคร

นศ.เผยปัญหาตีกันแก้ยาก แต่ถ้าจิตใจ นศ.หนักแน่นพอก็แก้ได้ 

แต่ในอีกมุมหนึ่งสำหรับตัวของคนก่อเหตุเองนั้น “ภัทราพร” เล่าว่า เท่าที่ได้ไปคุยกับน้อง ๆ ที่โดนคดีก่อนที่จะส่งตัวไปศาลอาญา เมื่อได้คุยแล้ว พบว่า นักศึกษามองว่า ปัญหาเหล่านี้ แก้ยากเพราะ มีรุ่นพี่โน้มน้าวจูงใจ ท้าทายให้เรื่องนี้ต้องไปต่อสู้กัน แต่น้อง ๆ ก็บอกว่า เรื่องนี้อยู่ที่ตัวบุคคล ถ้าเรามีจิตใจที่หนักแน่นพอต่อให้ใครมาโน้มน้าวอย่างไร แต่เราก็จะไม่ไปทางนั้น 

“แม้ว่าจะถูกผลักออกจากสังคม หากหนักแน่นพอ และรู้ว่า เป้าหมายในชีวิตคืออะไร ถ้าคุณรู้สึกว่าโดนกด โดนบูลี่ แต่เราสามารถทำตัวเองให้เป็นพลังบวกได้ ซึ่งพลังชุมชน ต้องเข้ามาปิดพลังลบ ให้เป็นพลังบวก ซึ่งอาจจะถูกมองว่าโลกสวย แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่เกิดขึ้นจริง ก็ไม่มีใครจะมาชักจูงได้” ภัทราพร กล่าว

ตีกันยังเหิม! ขโมยรถ-เปลี่ยนเครื่อง-ซื้อขายปืนเถื่อน จนเป็น “องค์กรอาชญากรรมระดับชาติ”

         ส่วนกรณีที่คนร้ายก่อเหตุไล่ยิงกลุ่มนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย แต่กระสุนพลาดไปโดน “ครูเจี๊ยบ” ครูโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ใด ๆ ขณะที่ ตำรวจบอกเป็นองค์กรอาชญากรรมระดับชาติ มีการวางแผนทุกขั้นตอนนั้น “ภัรทราพร” มองว่า ตรงนี้อาจต้องแยกประเด็นกัน เพราะอาจจะมีคนที่มองว่า เป้าหมาย คือ อาจจะจ้องทำร้ายเด็กเทคนิคอยู่แล้ว ตรงนี้แน่นอนตำรวจต้องขยายผล เพราะไม่ได้มีแค่ประเด็นของเด็กตีกันหรือยิงกันอย่างเดียว แต่กลายเป็นว่า มีการโจรกรรมรถ ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน มีการสับเปลี่ยนเครื่องยนต์รถเพื่อตบตาด้วย แปลว่า มีการขโมยรถจักรยานยนต์เกิดขึ้นหรือไม่

         นอกจากนี้ มีการเปิดบัญชี และการโอนเงิน เพื่อจัดหาซื้ออาวุธปืนมาจากไหนเส้นทางเป็นอย่างไร ตำรวจมองไปถึงเรื่องของขบวนการ ที่เป็นการขยายประเด็นที่ว่า ไม่น่าจะทำคนเดียว ก็จะเริ่มเห็นแล้วว่า กระบวนการเหล่านี้ มีการซื้อขายอาวุธปืนเถื่อน รวมไปถึงการฟอกเงินหรือไม่ มียาเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ตำรวจก็จะสืบสวนเป็นการขยายผลเพิ่มเติมไปว่า แค่เด็กตีกัน หรือแค่รู้สึกว่า เป็นการเขม่นกันระหว่างสถาบัน จึงเป็นหลายมุมของคดี  ขณะที่ เด็กดี ๆ ก็มีที่มุ่งมั่นตั้งใจเรียนอยากจะกลับไปทำงาน ไปใช้ชีวิตดูแลครอบครัวก็มีเหมือนกัน ฉะนั้นในมุมของปัญหาเหล่านี้จะมีหลากหลายมิติ

“ในมุมของคนที่มาก่อเหตุกันจริง ๆ มีการก่อตั้งกลุ่มอาชญากรรมระดับประเทศ เท่าที่ดิฉันได้ไปทำข่าวฟังจากน้องที่โดนจับบางคดี น้องบอกว่า เป็นเรื่องของความเก๋าส่วนบุคคล ที่รู้สึกว่าอยากจะเปรี้ยวอยากจะห้าว แล้วเขาก็บอกว่า เอาจริง ๆ แล้วปัญหานี้แก้ไม่ได้ ต่อให้ตำรวจพยายามแก้ หรือกระทรวงมหาดไทย พยายามควบคุมอาวุธปืน แต่บางส่วนเขาไปหาซื้อออนไลน์ หรือประดิษฐ์ขึ้นมาเองได้” ภัทราพร ระบุ 

สื่อต้องมีหลัก-รู้หน้าที่-สะท้อนความจริงรอบด้าน

         ส่วนกรณีศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง "สื่อไหนเป็นกลาง ยกมือขึ้น" โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 21 - 24 พฤศจิกายน2566 ในกลุ่มประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพและรายได้ ทั้งหมด 1,310 หน่วยตัวอย่าง โดยประชาชนส่วนใหญ่ มองสื่อมวลชน นิยมทำข่าวปั่นกระแส-ดราม่า-ลำเอียงนั้น “ภัทราพร” เห็นว่า ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปแค่ไหน คุณจะเติบโตมาจากสื่อประเภทใดก็ตาม แต่หัวใจสำคัญของนักข่าวต้องไม่เปลี่ยน หน้าที่ของสื่อมีหน้าที่เดียว คือ ทำความจริงให้ปรากฏ บอกความจริงกับประชาชน เราถูกสอนให้มาเป็นนักข่าว ไม่ได้ถูกสอนให้มาเป็นนักแสดงหรือชี้นำ เมื่อลงพื้นที่เจออะไร ก็ต้องรายงานแบบนั้น โดยไม่ได้บอกว่า สิ่งไหนผิดสิ่งไหนถูก

         หลายคนบอกว่า เทรนของสื่อเปลี่ยนไป แต่ดิฉันว่าไม่ได้เปลี่ยน เรากำลังทำให้รู้สึกว่า คนที่ไม่ได้เป็นสื่อมาอยู่ในแวดวงสื่อ เขาอาจจะไม่เข้าใจด้วยว่า ความจริงแล้วหน้าที่ของตัวนักข่าวต้องทำอะไร ขณะเดียวกันตัวของบรรณาธิการข่าวก็สำคัญ ตอนนี้คนรุ่นใหม่ต้องการผลัดใบ อาจจะขึ้นมาเป็นบรรณาธิการข่าวจำนวนมาก 

“แน่นอนว่ากระแสสังคมอาจจะชอบความดราม่า  และสังคมอาจจะบอกว่าเพราะสื่อทำให้สังคมรู้สึกว่า ต้องเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ขณะที่บางสื่อ บอกว่า เพราะสังคมทำให้เราต้องแสดงอะไรออกไป เพื่อให้สังคมหันกลับมาดูเรา ดิฉันคิดว่าเราต้องมีหลักของเรา มีจรรยาบรรณของสื่อเรื่องนี้สำคัญ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร ถ้าเรารู้ว่าเรากำลังทำหน้าที่สื่อสารมวลชน และทำความจริงให้ปรากฏอยู่อะไร ๆ ก็เปลี่ยนเราไม่ได้” ภัทราพร ระบุ

         ภัทราพร ยังบอกอีกว่า ไม่ว่าเราจะไปเจอเหตุการณ์ไหน หน้าที่เราคือแสวงหาข้อเท็จจริงให้รอบด้านมากที่สุด สุดท้ายจะออกมาเป็นอย่างไรให้สังคมตัดสิน ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะไปบอกว่า เรากลางหรือไม่ เอียงหรือไม่ แต่คุณได้แสวงหาข้อเท็จจริงรอบด้านมากพอแล้วหรือยัง  ไม่ใช่ว่าคุณไปคุยกับคนคนเดียว เรื่องการเกิดเหตุว่าคนนี้เป็นอย่างนั้น คนนั้นเป็นอย่างโน้น แต่ต้องแสวงหากระบวนการได้มาซึ่งข่าว และกระบวนการของหลักการทำข่าวขั้นพื้นฐาน ต้องสื่อออกไปว่า ข่าวนี้เกิดอะไรขึ้น เราแสวงหาข้อมูลข้อเท็จจริงออกมาได้ ในรูปแบบไหนอย่างไร บนความรับผิดชอบต่อสังคม

ภัทราพร ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าเราจำได้ว่า ตั้งใจมาเป็นนักข่าวเพื่ออะไร แล้ววันหนึ่งเราเติบโตขึ้นไป เราอาจจะเป็นนักข่าวอาวุโส หรือมีตำแหน่งสูงขึ้นไปกว่านั้น เราสามารถคุมประเด็นในการนำเสนอได้หรือไม่ ดิฉันก็ไม่อยากให้ลืมหลักการทำข่าวขั้นพื้นฐานว่า คุณตั้งใจจะมาเป็นนักข่าวที่ดีคนหนึ่ง คุณจะเป็นนักข่าวที่ดีแบบไหน เราไม่ได้สนใจเรทติ้ง แต่สนใจว่า ประเด็นนั้นคืออะไร อยากให้สังคมจำเราได้ถึงเนื้อหาที่นำเสนอ ประเด็นข่าวนั้นถูกขับเคลื่อน และแก้ไขปัญหาแบบไหนอย่างไร จะนำไปสู่อะไร ตรงนี้คือกระจกสะท้อน ความเป็นสื่อสารมวลชน มากกว่าจำเราได้ว่าคุณไปแสดงอะไรมาบ้าง 

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว" ทุกวันอาทิตย์เวลา 11.00-12.00 น. โดยความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5