ขอเชิญสมัครเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าว “พิราบน้อย รุ่นที่ 26”

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์และสถานทูตสหรัฐอเมริกา จะจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าว “พิราบน้อย รุ่นที่ 26” ขึ้นระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 1 - วันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567  ณ โรงแรม BestWestern Chatuchak  (MRT กำแพงเพชรประตู1) เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพสื่อสารมวลชนด้านสิ่งพิมพ์และสื่อดิจิทัล (Professional Development)  ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อจริยธรรมในวิชาชีพ(Ethics Responsibility)  และเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะองค์กรเพื่อสังคม (Organizational Social Responsibility) โดยจะมีการคัดเลือกนักศึกษาเข้าร่วมอบรมจำนวน 35 คน 

การสมัครเพื่อคัดเลือกเข้าอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าว “พิราบน้อยรุ่นที่ 26” ต้องดำเนินการดังนี้

  1. กรอกแบบฟอร์มใบสมัครที่ www.tja.or.th  หรือ https://bit.ly/tjapirab26-2566
  2. ส่งเรียงความหัวข้อ “คุณคิดว่าการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง และเมื่อคุณก้าวเข้ามาเป็นสื่อมวลชนมืออาชีพคุณคิดว่าจะทำหน้าที่อย่างไรให้เป็นประโยชน์กับสังคม”

ความยาว 1 หน้ากระดาษเอ4  ฟอนต์คลอเดียขนาด 16pt  ส่งมาที่อีเมล์ tjareporter@gmail.com  

คุณสมบัติของนักศึกษาที่สนใจสมัครเข้าร่วมอบรม ต้องเป็นนักศึกษาที่เรียนในชั้น ปีที่ 2 ปีที่ 3  หรือ ปีที่ 4 ทุกคณะ ที่สนใจประกอบอาชีพสื่อมวลชน

QR-ใบสมัครพิราบรุ่นที่26

โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “นักข่าวพิราบน้อย” รุ่นที่ 26

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

หลักการและเหตุผล

          สถาบันอุดมศึกษาทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ได้จัดการเรียนการสอนวิชาการ ด้านนิเทศศาสตร์และวารสารศาสตร์อย่างกว้างขวาง โดยแต่ละสถาบันได้พยายามจัดหลักสูตรให้นิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติและสื่อออนไลน์ฝึกปฏิบัติ ในสถาบันการศึกษาของตัวเอง ซึ่งเป็นกิจกรรมการเรียนการสอนที่สามารถฝึกฝนให้นิสิตนักศึกษา มีความรู้ ความชำนาญ ในงานวิชาชีพสื่อมวลชนก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน  

          สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งทำหน้าที่ในการพัฒนาบุคลากรในวงการสื่อมวลชนเห็นว่า การจัดหลักสูตรอบรมเชิงปฎิบัติการนักข่าวพิราบน้อย เป็นการเรียนการสอนในภาคปฏิบัติเรียนรู้เทคนิคต่างๆ เช่นการถ่ายภาพ การหาประเด็นข่าว การสัมภาษณ์ และจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ เป็นต้นเป็นสิ่งจำเป็น  ฝึกปฏิบัติจริงบนสื่อออนไลน์แพล็ทฟอร์มต่างๆ  ถือว่าเป็นกิจกรรมที่สร้างการเรียนรู้ได้อย่างดียิ่ง จึงได้ร่วมมือกับสถาบันศึกษาต่างๆ จัดทำโครงการนี้ขึ้นให้กับนักศึกษาสถาบันการศึกษาต่างๆ

          โดยกิจกรรมในโครงการพิราบน้อย ประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก คือ 1. การอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวพิราบน้อยและ 2. การประกวดรางวัล พิราบน้อย ฝึกปฏิบัติการ  ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เป็นปีที่ 26 โดยมีนักศึกษาที่ผ่านการอบรม กว่า 1,000 คน  ส่งผลให้แวดวงสื่อมวลชนมีบุคลากรคุณภาพเข้าสู่วิชาชีพทุกแขนงมากยิ่งขึ้น

วัตถุประสงค์

          โครงการนี้เป็นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้นักศึกษาวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนและสาขาอื่นๆที่สนใจอาชีพสื่อมวลชน ที่ศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 2, 3 และ 4 ในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งครอบคลุมทั้งสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชน เพื่อให้นักศึกษาที่เข้าร่วมอบรมมีโอกาสเรียนรู้ในกลุ่มนักศึกษาที่มีประสบการณ์ใกล้เคียงกันและสามารถทำงานกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

          โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพสื่อสารมวลชน  (Professional Development)

2. ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อจริยธรรมในวิชาชีพ (Ethics Responsibility)  และ 3.แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม

ในฐานะองค์กรเพื่อสังคม (Organizational Social Responsibility) ซึ่งนักศึกษาที่เข้าร่วมอบรมจะมีโอกาสแลกเปลี่ยน เรียนรู้ประสบการณ์ ทั้งกับเพื่อนนักศึกษาจากต่างสถาบันและจากนักข่าวรุ่นพี่ที่ทำงานในภาคสนาม รวมถึงผู้บริหารงานข่าว อันเป็นการเตรียมพร้อมในการเข้าสู่วิชาชีพ ทั้งยังเป็นกระบวนการปลูกฝังอุดมคติให้กับนักศึกษาด้วย 

ผู้รับผิดชอบโครงการ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  

(ที่ทำการชั่วคราวใน IKC RMUTT) ศูนย์การค้าบางซื่อจังชั่น เลขที่ 511 ชั้น 7 ถนนกำแพงเพชร 2 จตุจักร กทม. 10900

(ที่อยู่สำหรับออกใบเสร็จ) 538/1  ถนนสามเสน เขตดุสิต กทม. 10300  โทร. 02-668-9422

www.tja.or.th E-mail: tjareporter@gmail.com 

1. หัวหน้าโครงการ   นางสาวน.รินี  เรืองหนู                   อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมฯ

          2. ที่ปรึกษาโครงการ นางสาวหทัยรัตน์ ดีประเสริฐ            รองเลขาธิการฝ่ายวิชาการ สมาคมฯ 

          3. ผู้จัดการโครงการ นางสาวนิภาวรรณ แก้วรากมุกข์          ที่ปรึกษา สมาคมฯ

          4. วิทยากรหลักโครงการ นางสาวบุศรินทร์ วรสมิทธิ์           กรรมการตัดสินรางวัล พิราบน้อย

          5. ผู้ประสานงาน นายพีรพัฒน์ ดิลกกัลยากุล                  ฝ่ายวิชาการและศูนย์ข้อมูลสมาคมฯ

หลักสูตรการอบรม

 แบ่งเนื้อหาการอบรมออกเป็น 2  ส่วน ดังนี้  

 1. เนื้อหาเชิงเทคนิค  ประสบการณ์  ทักษะเชิงวิชาชีพ

          1.1 เรียนรู้ทักษะเบื้องต้นการทำข่าวจากนักข่าวภาคสนาม เรื่องการเลือกประเด็นข่าวและคุณค่าข่าว

แหล่งข้อมูล การใช้ข้อมูล การทำข่าวให้รอบด้าน

          1.2 เทคนิคการสัมภาษณ์นอกตำรา

          1.3 เทคนิคการถ่ายภาพข่าวจากช่างภาพข่าวมืออาชีพ

          1.4 การบรรณาธิกรและการทำข่าวในสื่อแขนงต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ คลิปข่าวทีวี ข่าวออนไลน์ที่นำเสนอในช่องทางต่างๆ เช่น เว็บไซด์ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์  ติ้กต้อก ฯ

          1.5 ทัศนคติในวิชาชีพสื่อมวลชน

          1.6 การวางแผนการเขียนข่าวจากข้อมูลที่ลงพื้นที่ทำข่าว

  2. เนื้อหาเชิงแนวคิด อุดมการณ์ 

          2.1 ปลุกจิตสำนึกนักข่าว

          2.2 บอกเล่าประสบการณ์จากพิราบน้อยรุ่นพี่ 

          2.3 จริยธรรมวิชาชีพสื่อ

          2.4 ฝึกคิดแบบคนข่าว

           2.5 ความสมดุล ความเป็นกลาง

 วิธีการดำเนินงาน

1. ส่งจดหมายเชิญนักศึกษาร่วมส่งเรียงความเข้าประกวด คัดเลือกเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ “นักข่าวพิราบน้อย” รุ่นที่ 26

2. นักศึกษา จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 35 คน ได้เรียนรู้เทคนิคการทำงานวิชาชีพสื่อ การคิดประเด็นข่าว การสัมภาษณ์ การถ่ายภาพ การเขียนข่าว การวางแผนการทำข่าว และการนำเสนอผ่านแพล็ทฟอร์มต่างๆ พร้อมทั้งมีการปฏิบัติการข่าวแบบลงพื้นที่จริง เนื้อหาการอบรมมีการสนทนาแลกเปลี่ยน  ฝึกการโต้ตอบ ฝึกคิดแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ระยะเวลา 3 วัน 2 คืน ในกรุงเทพมหานคร

3. นักศึกษาได้เรียนรู้วิธีการนำเสนอข่าว (presentation) เพื่อให้เห็นถึงกระบวนการทำข่าว การวางแผนการทำงาน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งจากนักข่าวพิราบน้อยกันเอง และวิพากษ์วิจารณ์ โดยนักวิชาชีพสื่อ ระดับบรรณาธิการและนักข่าวอาวุโส และเรียนรู้เรื่องคุณธรรม จริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อ

ระยะเวลา

 วันที่  1-3 กุมภาพันธ์   2567  ณ โรงแรม BestWestern Chatuchak  (MRT กำแพงเพชรประตู1)

คุณสมบัติผู้เข้าร่วม

          1. นักศึกษาทุกคณะที่สนใจวิชาชีพสื่อสารมวลชน ในชั้น ปีที่ 2, 3 หรือปีที่ 4  

          2. นักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ทั้งรัฐและเอกชน  

          3. จำนวนนักศึกษาที่เข้าร่วมอบรม 30 คน 

          4. รับสมัครนักศึกษา สถาบันอุดมศึกษาต่างๆทั่วประเทศ สมัครเข้ามาทาง ทางออนไลน์  

ค่าลงทะเบียน 

           ไม่เสียค่าใช้จ่าย  โดยสมาคมฯ จะสนับสนุนค่าเดินทางไป-กลับ ให้นักศึกษาที่อยู่ต่างจังหวัด ในอัตราค่าโดยสารรถไฟชั้น 2 ปรับอากาศ หรือรถโดยสารประจำทางชั้น 1 ปรับอากาศ (ยกเว้นรถ V.I.P.) พร้อมค่าพาหนะจากที่พัก-สถานีขนส่ง ในราคาเหมาจ่ายคนละ 200 บาท