“ปัญหาหนี้นอกระบบกัดกร่อนสังคมไทยมายาวนาน และเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมอีกหลายประการ” คำแถลงของนายเศรษฐา ทวีศิลป์ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกำหนดเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่ต้องเร่งบูรณาการแก้ไข ขณะที่ตัวเลขลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ จากข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยล่าสุด มีประชาชนลงทะเบียนแก้ไขปัญหา รวม 45,564 ราย
“กชพรรณ สุขสุจิตร์ Supervisor Content Creator สายเศรษฐกิจ PPTVHD36” ให้มุมมองกับ “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ถึง “การสำรวจสถานการณ์หนี้คนไทย กับนโยบายแก้หนี้นอกระบบ” ว่า เบื้องต้นรัฐบาลจะเป็นตัวกลาง ในการเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ สิ่งที่รัฐบาลบอกว่าจะทำให้ คือ สมมุติว่าถ้าคุณจ่ายหนี้ไปแล้ว และจ่ายดอกไปแล้วเกินเงินต้น จะเป็นไปได้หรือไม่ ให้ตัดหนี้ไปเลย
ตรงนี้เป็นแนวทางที่รัฐบาลพยายามจะทำอยู่ แต่เท่าที่ติดตามดูจะเห็นว่าตัวเลขที่ลูกหนี้ ไปลงทะเบียนมีจำนวนมาก แต่กลับไม่เห็นมีเจ้าหนี้รายใดเข้ามาไกล่เกลี่ย ซึ่งตรงนี้ไม่แน่ใจว่าท้ายที่สุดแล้วการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะตรงจุดหรือไม่
หนี้นอกระบบ ตอบโจทย์ คนที่ต้องใช้เงินด่วน
“หนี้นอกระบบพิสูจน์ยากและสำรวจยาก เพราะเป็นการยืมคนใกล้ชิด การกู้ยืมไม่มีสัญญาชัดเจน เป็นแบบปากต่อปากหรือสนิทกัน เป็นการเสริมความต้องการ ของคนที่ต้องใช้เงินเร็วและด่วน การยืมไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานและเอกสารรายได้ ไม่ต้องตรวจเครดิตบูโรหรือความเสี่ยงต่าง ๆ ”
โดยหนี้นอกระบบแตกต่างจากหนี้ในระบบของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ที่ทราบกันดีว่ากว่าจะกู้หนี้หรือขอสินเชื่อได้ ต้องมีหลักฐานรับรองรายได้ ตรงนี้อาจจะเป็นช่องหนึ่งที่ทำให้คนตัดสินใจ ไปใช้บริการหนี้นอกระบบมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ค้าขายเข้าถึงระบบสินเชื่อของธนาคารค่อนข้างยาก เพราะไม่มีเงินเดือนหรือรายได้ประจำ ฉะนั้นสิ่งที่เขาหวังพึ่งได้ คือ กู้หนี้นอกระบบ ก็พอกพูนขึ้นเรื่อยๆเป็นดินพอกหางหมู
ความจริงแล้วปัจจุบันมีสินเชื่อประเภทสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ปล่อยเงินกู้หลักหมื่นแต่ท้ายที่สุด ธนาคารก็ต้องป้องกันความเสี่ยงด้วย โดยต้องตรวจสอบหลายอย่าง ว่าคุณมีรายได้หลักแหล่งมั่นคงแค่ไหน ที่สำคัญคือข้อมูลเครดิตบูโรของคุณเสี่ยงแค่ไหน แม้ว่าจะไม่มีการค้ำประกันก็ตาม ตรงนี้เป็นอุปสรรคมากๆเช่นกัน
ดอกเบี้ยมหาโหด ผลพวงจากหนี้นอกระบบ
กชพรรณ บอกว่า สิ่งที่ตามมาของหนี้นอกระบบ คือ “ดอกเบี้ยมหาโหด” เจ้าหนี้สามารถคิดดอกเบี้ยเท่าไหร่ก็ได้ตามที่เขาอยากได้ ซึ่งคนที่กำลังจะกู้เงินหรือเดือดร้อนเรื่องเงิน ณ เวลานั้น เขาก็อาจจะแค่ต้องการไปซื้อรถเข็นเพียงคันเดียว เพื่อทำมาหากินแต่ต้องกู้เป็น 10,000 เขาก็ต้องเอา ณ เวลานั้น ไม่ว่าจะคิดดอกเบี้ยเท่าไหร่เพราะได้เงินเลย ดีกว่าต้องไปรอธนาคาร ซึ่งคนที่กู้เงินนอกระบบก็รู้ว่าดอกเบี้ยโหด จะต้องแบกรับภาระตรงนี้แน่ๆแต่เขาไม่มีทางเลือก
“คนที่ไปลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ บอกว่าต้องจ่ายดอกเบี้ยรายวัน ๆ ละ 20,000 บาท จากเงินต้น 400,000 บาท ทบดอกทบต้นไม่รู้ว่าจะหมดเมื่อไหร่ ซึ่งลูกหนี้รายนี้ก็หวังว่า การแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาลที่เป็นวาระแห่งชาติ จะเข้ามาช่วยให้เขาลืมตาอ้าปากได้ เขายืนยันว่าไม่ได้จะหนีหนี้แต่หาช่องว่างให้เขาได้หายใจบ้าง”
“พิโกไฟแนนซ์” ดึงเจ้าหนี้นอกระบบ เข้าสู่ระบบ
กชพรรณ บอกว่า ในส่วนของเจ้าหนี้รัฐบาลมี “โครงการพิโกไฟแนนซ์” ที่พยายามดึงเจ้าหนี้นอกระบบ ให้เข้ามาในระบบมากขึ้นโดยมีเงื่อนไข คือ สมมุติว่าคุณมีเงินทุน 5 ล้านบาทสามารถปล่อยกู้ได้ไม่เกินรายละ 50,000 บาท และมีเงินทุน 10 ล้านบาทสามารถปล่อยกู้ได้ไม่เกินรายละ 100,000 บาท แต่ทั้งนี้มีคนเข้าระบบ “พิโกไฟแนนซ์” ประมาณ 1,000กว่าราย
รัฐบาลพยายามเสนอให้เจ้าหนี้มาเข้าระบบ เพราะ “พิโกไฟแนนซ์” จะทำให้มีสัญญาที่เป็นธรรมมากขึ้น แต่ต้องติดตามดูว่าจะมีเจ้าหนี้สนใจมากน้อยแค่ไหน ความจริงแล้วโครงการนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่เกิดมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็เข้าใจในมุมของเจ้าหนี้ว่า ถ้าไปเข้าโครงการธุรกิจของเขาก็อาจจะสะดุด เพราะการปล่อยกู้ค่อนข้างซับซ้อนมาก ระหว่างบุคคลต่อบุคคลก็เหมือนกับเป็น 1 นิติบุคคลขึ้นมา จากเดิม ที่อาจจะเป็นแค่ผู้มีเงินคนหนึ่งที่ปล่อยกู้
แบงค์รัฐ ปล่อยกู้รายย่อยแต่สุดท้ายวนที่เดิม
กชพรรณ บอกว่า ธนาคารรัฐอย่างออมสินก็ปล่อยกู้รายย่อยหลักหมื่นบาท แต่ก็อยู่ที่เงื่อนไขสุดท้ายวนกลับไปที่เดิม เพราะธนาคารแต่ละแห่งต้องป้องกันความเสี่ยงของตัวเอง ฉะนั้นหลายคนอาจจะเคยได้ยิน “ไมโครไฟแนนซ์” เหมือนกับตัวเองเป็นสถาบันการเงินหนึ่ง เพื่อปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้รายย่อยในเงินที่จำนวนไม่มาก แต่ว่าต้องมีหลักค้ำประกันและนิยมกันมากๆ ด้วยการนำทะเบียนรถยนต์มาจำนำ ซึ่งท้ายที่สุด ก็ต้องมีหลักค้ำประกันอยู่ดี ตรงนี้รัฐบาลอาจจะต้องไปคุยกับธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อหาทางออกให้มากขึ้นสำหรับลูกหนี้รายย่อยต่างๆ
ส่วนมาตรการของรัฐบาลที่ปรับขึ้นเงินเดือนและขึ้นค่าแรง จะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้หรือไม่ กชพรรณ บอกว่า การเพิ่มเงินเดือนเพิ่มค่าจ้างถือเป็นเรื่องดี ที่อาจจะช่วยให้เงินคล่องขึ้น เพราะรายได้มากขึ้น แต่ท้ายที่สุดก็อยู่ที่การบริหารจัดการเงินของแต่ละคนอยู่ดี ทุกวันนี้หลายคนบอกว่ารายรับไม่พอรายจ่าย เงื่อนไขทางการเงินของแต่ละคนแตกต่างกัน ขณะที่จะแน่ใจได้หรือไม่ว่าสินค้าก็จะไม่ปรับขึ้นราคา
มุมมองส่วนตัวของ กชพรรณ ยอมรับว่า การแก้ไขหนี้ได้ครบวงจร แม้เป็นรูปธรรมระยะยาวที่ท้าทายมาก แต่เป็นจุดเริ่มต้นดีที่รัฐบาลจริงจังกับเรื่องนี้ โดยตั้งให้เป็นวาระแห่งชาติ ถ้าสามารถทำได้แบบครบวงจรจริงๆ สามารถคุยได้กับทั้งเจ้าหนี้ในระบบ-นอกระบบ และธนาคารพาณิชย์ได้จริง จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่สิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่ไป นอกเหนือจากทำอาชีพเสริมเพิ่มทักษะ
นั่นคือ “การสร้างนิสัยการออม”ที่ควรปลูกฝังตั้งแต่เด็ก เริ่มต้นจากทำรายรับรายจ่าย เพราะจะทำให้เห็นเลยว่า ใช้จ่ายกับการฟุ่มเฟือยไปเท่าไหร่ ควรตัดตรงไหนได้หรือไม่ ตรงนี้สำคัญมากและจะยั่งยืนมากๆ ถ้าสร้างนิสัยตรงนี้ได้
ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5