ความบิดเบี้ยวของสื่อ  บทเรียน ละครลุงพล  พลิกผู้ต้องหาเป็นไอดอล    

โดย-จุลสารราชดำเนิน

--- 

“เราเรียกร้องตลอดว่า ทั้ง 2 ช่อง ไทยรัฐทีวี กับ อมรินทร์ ควรออกแถลงการณ์ขอโทษแอ่นอกรับกับความผิดพลาดเมื่อศาลชั้นต้นตัดสินคดีน้องชมพู่ออกมาแล้ว แต่มากกว่าสองรายการนี้ก็คือ กลุ่มทุน อมรินทร์มีเบียร์ช้างเป็นทุนใหญ่ ไทยรัฐก็เหมือนกัน คุณเป็นธุรกิจอยู่ในสังคมก็ต้องเคารพสังคมด้วย ถ้าคุณคิดว่าจะเข้ามาอยู่ในธุรกิจนี้ที่ต้องรับผิดชอบสังคม แล้วมันต้องช่วยขับเคลื่อนให้เป็นสังคมที่น่าอยู่มันก็ควรมีบทเรียนกับเรื่องนี้”  

รศ.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ความห่วงใยจากนักวิชาการสื่อ รศ.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อการนำเสนอข่าวคดีการเสียชีวิตของน้องชมพู่ หลังล่าสุดศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกลุงพล 20  ปี สวนกระแสสื่อทีวีบางช่องที่ยกลุงพลเป็นฮีโร่ ไม่ใช่ฆาตกร ทว่า สิ่งที่ทำให้นักวิชาการท่านนี้แปลกใจ คือ ความเงียบงันขององค์กรวิชาชีพสื่อที่ควรออกมาสะกิดเตือนให้บทเรียนสื่อที่กระพือข่าวหาประโยชน์ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบตามมา 

ปกติเราจะเห็น 5 องค์กรวิชาชีพสื่อ ผนึกกำลังแล้วมีโลโก้ออกแถลงการณ์ แต่กรณีลุงพลนี้เงียบมาก ไม่มีท่าทีออกมา คนที่เป็นตัวต้นเรื่องที่ทำเกิดคำว่า ลุงพล คือ ไทยรัฐทีวี  กับ อมรินทร์ทีวี ก็อยู่ภายใต้สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ จริงๆ  แล้วประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติก็มาจากไทยรัฐ มีหน้าที่ตรวจสอบจริยธรรมสื่อซึ่งใหญ่มากก็ไม่เห็นมีท่าทีอะไร

…แม้แต่  กสทช. ที่เจอปัญหาสภาพภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป เกิดภาวะไร้ระเบียบมากมาย การกำกับไปไม่ถึง พอคุณตรวจสอบทีวีไม่ได้ กรณีลุงพล กสทช.ก็ไม่ออกมาทำอะไรเลย ดังนั้น เราจึงเห็นแต่ความเงียบ ทั้งองค์กรวิชาชีพสื่อที่กำกับกันเอง  2 สื่อที่เป็นตัวต้นเรื่อง ตอนเราอยากเรียกร้องเสรีภาพก็ต้องกำกับตนเองต้องรับผิดชอบก็เงียบ  กสทช. ที่กำกับทีวีโดยตรง ก็เงียบ ทุกคนเงียบหมด”   

คดีการเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำของน้องชมพู่เด็กหญิง 3 ขวบกลายเป็นมหากาพย์ใช้เวลา 3 ปี 7 เดือนกว่าจะมีคำตัดสินของศาล เริ่มจากพฤษภาคม 2563 ที่น้องชมพู่หายไปก่อนพบเสียชีวิตบนภูเหล็กไฟ เขตอุทยานแห่งชาติภูผายล  ห่างจากบ้านพักที่หมู่บ้านกกกอก อ.ดงหลวง  จ.มุกดาหาร  5 กม.  ตำรวจใช้เวลาคลี่คลายอยู่นานกว่า 1 ปี กระแสช่วงแรกบางส่วนพุ่งเป้าไปที่พี่สาวและพ่อแม่ของน้องชมพู่ว่าอาจฆาตกรรมลูกตัวเอง อีกฝ่ายเชื่อว่าอาจเป็น “ลุงพล” หรือ นายไชย์พล วิภา ลุงน้องชมพู่ที่ใกล้ชิดกับน้องมากที่สุด สื่อสำนักใหญ่ส่งทีมเกาะติดชีวิตลุงพลยิ่งกว่ารายการเรียลลิตี้จนคนสงสารและมองว่า ลุงพลไม่ใช่คนฆ่า เกิดเป็นกระแสเซฟลุงพลในโซเชียลครึกโครม

ชีวิตลุงพลเปลี่ยนจากคนธรรมดา กลายเป็นคนดัง มีแฟนคลับให้กำลังใจมากมาย จึงผันตัวเป็นยูทูปเบอร์ เปิดช่องชื่อ "ลุงพลป้าแต๋น แฟมิลี" ในปี 2563 โกยกระแสเล่าเรื่องวิถีชีวิตตัวเอง ก่อนก้าวกระโดดเข้าวงการบันเทิง มีงานโฆษณาสินค้าหลายชิ้น ถ่ายแบบ ออกรายการทีวี งานอีเว้นท์มากมาย กระทั่งร้องเพลงทำมิวสิควิดีโอถึงขนาด จินตหรา พูนลาภ ศิลปินลูกทุ่งชื่อดังจับเอาลุงพลมาร้องเพลง  "เต่างอย" ปล่อยเอ็มวีเพียง 2 วัน ทะยานขึ้นไป 2 ล้านวิว ติดอันดับ 1 มาแรงในประเทศไทย ทั้งหมดจากการโหมเชียร์ของสื่อหลักและความแรงของโซเชียลมีเดีย 

สื่อหลักถูกวิจารณ์หนักว่า สร้างพล็อตเรื่องให้ลุงพลเป็นผู้น่าสงสารกลายเป็นไอดอลของหลายคน  ทำให้หัวหน้าช่างภาพ และนักข่าวของช่องดัง ยอมลาออก และประกาศต่อสาธารณะว่า ไม่สามารถทนรับสภาพแนวทางการนำเสนอข่าวคดีการเสียชีวิตของน้องชมพู่ของช่องได้อีกเพราะรู้สึกสูญเสียในมาตรฐานวิชาชีพสื่อ

ทรงพล เรืองสมุทร หัวหน้าช่างภาพโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ระบุว่า ขอโทษกับความเน่าเฟะกรณีลุงพล-ป้าแต๋น  จากน้ำมือของ “สื่อมวลชนอย่างพวกเรา” ที่หยิบยื่นให้กับสังคม ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา 

“คดีการเสียชีวิตของน้องชมพู่ ที่ถูกนำเสนอโดยสื่อมวลชนกลุ่มหนึ่งและ ‘ผมคือหนึ่งในนั้น’ ที่มีส่วนทำให้คดีความ 1 คดี กลายเป็นเรียลลิตี้ชีวิตของลุงพล-ป๋าแต๋น เรียลลิตี้ความแตกแยกของครอบครัวๆหนึ่ง ชีวิตคนในหมู่บ้านกกกอก เรื่องไสยศาสตร์ ความงมงาย และการมอมเมา เราขายข่าวรายวัน เราหน้าไม่อาย เราไม่สนผิดถูก เราไร้จรรยาบรรณ คือสิ่งที่สังคมตั้งคำถาม และมันถูกต้องทั้งหมด 

...การนำเสนอเรื่องราวที่ห่างไกลจากสิ่งที่ควรจะเป็นจนกู่ไม่กลับ หาประโยชน์และปล่อยให้กลุ่มคนที่ต้องการผลประโยชน์จากเรื่องนี้เข้ามารุมทึ้ง “เราอยากได้กระแส และต้องการเพียงแค่ยอดคนดู ยอดกดไลก์ ยอดแชร์ ผมเป็นหนึ่งคนที่รับรู้เรื่องราว ที่ถูกสร้าง ปั้นแต่งและถูกนำเสนอผ่านหน้าจอมาโดยตลอด และตั้งคำถามกับตัวเองเสมอว่า “พวกเราทำอะไรกันอยู่” มันไม่ใช่ปรากฏการณ์ ไม่ใช่ความแปลกใหม่ ไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น” 

อดีตหัวหน้าช่างภาพยังได้กล่าวขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด และหวังว่าเมื่อเหตุการณ์จบลง ทั้งเราและคนดูบางกลุ่มน่าจะได้บทเรียนจากเรื่องนี้บ้าง 

นายศักดิ์ดา วรรณสุทธิ์ ผู้สื่อข่าวช่องดัง
นายศักดิ์ดา วรรณสุทธิ์

ขณะที่ นายศักดิ์ดา วรรณสุทธิ์ ผู้สื่อข่าวช่องดัง ระบุว่า เมื่อทำงานมาเรื่อยๆ หลายอย่างอาจไม่ตรงกับสิ่งที่เราคาดหวังเอาไว้ ทำให้ไม่สามารถฝืนความรู้สึกตัวเองและเดินต่อต่อไปได้ เราตัดสินใจไปคุยกับ รอง ผอ.ฝ่ายข่าว และบอกว่า ”เราอยากพัก” ซึ่งเขาก็เคารพการตัดสินใจของเรา 

แม้สื่อช่องหลักถูกวิจารณ์ถึงจรรยาบรรณเพียงไร แต่ก็ยังเดินหน้าเกาะติดชีวิตลุงพลต่อไป กระทั่งต่อมาปี 2564  ตำรวจได้ออกหมายจับ ลุงพล และ ป้าแต๋น หรือ น.ส.สมพร หลาบโพธิ์ ภรรยาลุงพลเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของน้องชมพู่  จนล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ธค. 2566  ศาลชั้นต้นจังหวัดมุกดาหาร มีคำพิพากษาให้จำคุกลุงพล 20 ปี คือ กระทำโดยประมาทให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก10ปีพรากเด็กอายุไม่เกิน15 ปี โดยปราศจากเหตุอันสมควร จำคุก 10ปี ส่วนป้าแต๋นยกฟ้อง ช็อคบรรดาแฟนคลับลุงพลที่ยังเชื่อว่า ลุงพลเป็นแพะ

สร้างพล็อตเรื่อง ตั้งธงสอบสวนเอง 

รศ.วิไลวรรณ กล่าวว่า  การเสนอข่าวลุงพลต่อเนื่องหลายปีทำให้เห็นความบิดเบี้ยวในบทบาทหน้าที่ของสื่ออาชีพ วันนี้สื่ออาชีพถูกแย่งชิงจากใครๆที่สื่อสารได้ ถึงได้มีอินฟูลเอนเซอร์ซึ่งก็เป็นนักเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องเกิดขึ้นมากมายมาแย่งชิงบทบาทสื่อวิชาชีพ  สื่อวิชาชีพจึงต้องทำให้มากกว่าคนอื่นที่ไม่ได้เป็นสื่อวิชาชีพ เพราะมันเป็นอาชีพของคุณ แต่ที่ผ่านมากลับไม่เห็นว่าทำมากกว่าเดิม    

“สื่อสร้างบทบาทสมมติ วางพล็อตเรื่องเอง ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของคุณ กรณีลุงพล ทำให้เกิดเซเลบขึ้นมาเพราะมันถูกประกอบสร้างมาจากสื่อ โดยเฉพาะ 2 สื่อหลัก ไทยรัฐทีวีกับอมรินทร์ทีวีแข่งกันแย่งเรตติ้งในปี 2563 กับรายการประเภทเล่าข่าวกึ่งวิเคราะห์ แต่ด้วยการที่ข่าวมันนำเสนอหมดแล้ว ความคืบหน้าของคดีก็ไม่ คุณจึงให้นักข่าวลงพื้นที่ จำลองสถานการณ์ ไปสมมติฐาน จินตนาการเรื่อง เช่น เห็นน้องชมพู่ตอนเวลาเท่านี้  มีการจำลองขี่รถอีแต๋นว่าต้องใช้เวลากี่นาที บทบาทนั้นนักข่าวทำได้อย่างไรเพราะขนาดตำรวจยังต้องเรียนอาชญาวิทยาถึงจะสืบสวน ตั้งสมมติฐาน รวบรวมหลักฐาน แต่สื่อไม่ได้เรียนอะไรมา กลับไปจินตนาการแล้วรายงานเป็นตุเป็นตะ”  

รศ.วิไลวรรณ กล่าวว่า สื่อสร้างบุคลิกตัวตนให้ลุงพลเป็นคนน่าสงสารจากเดิมถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นผู้ฆ่า ทั้งที่ข่าวคือ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แต่สื่อกลับไปประกอบสร้างคนๆนึงขึ้นมาแล้วก็บอกว่า มันคือ ความจริง ทั้งที่ยังไม่รู้เลยว่าเป็นความจริงหรือไม่ สื่อไม่ได้ทำหน้าที่ Gatekeeper คนที่ดูข่าวคุณก็ไม่แน่ใจว่าจะรู้จะเท่าทันสื่อหรือไม่เพราะทั้ง 2 ช่องกลุ่มเป้าหมายคือ ชาวบ้าน ย่อมเชื่อสื่ออยู่แล้วเพราะสื่อมีความน่าเชื่อถือ และตามหลักจิตวิทยา ยิ่งสื่อนำเสนอนานมากคือ 2 ปี การรับรู้ของคนที่มันซ้ำๆติดตามช่องคุณนานๆ จึงไม่แตกต่างกับการดูหนังที่คนเห็นใจ น่าสงสาร แถมหน้าตาดีอีก ดูเป็นคนดี รักน้องชมพู่มาก ต้องมาถูกกล่าวหาว่า ฆ่าน้องชมพู่  มันเป็นการวางพล็อตเรื่อง ยิ่งกว่าละคร เพราะรายงานข่าวแทบทุกวันไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง   

“การเติบโตของรายการไทยรัฐนิวส์โชว์  กับ ทุบโต๊ะอมรินทร์ ก็มาจากเรตติ้งตรงนี้ ถามว่า สูตรนี้เป็นสูตรสำเร็จของเขาได้ไหม เวลาเราพูดถึงการทำละครทีวีให้ประสบความสำเร็จ ก็ต้องทำละครรีเมค เช่น บ้านทรายทอง คู่กรรม ที่ประสบความสำเร็จแล้ว แต่ถ้าทำแล้วมันจะสำเร็จมากขึ้นหรือน้อยลงจึงเชื่อว่า กรณีลุงพลมันจะเกิดขึ้นซ้ำอีกแน่ เพราะตั้งแต่เรามีทีวีดิจิทัลมีการแข่งขันเกิดขึ้น เราก็เห็นการนำเสนอข่าวที่มันบิดเบี้ยวไป”   

ต้องขอโทษรับผิดต่อสังคม 

วิไลวรรณยังเรียกร้องให้องค์กรวิชาชีพสื่อนำกรณีนี้เป็นบทเรียน เช่น สมาคมนักข่าวมีบทบาททำงานวิจัย ก็ควรศึกษา การนำเสนอข่าวอาชญากรรมกับเรตติ้งที่สัมพันธ์กัน สื่อทีวีจะกระวนกระวายถ้าเรตติ้งต่ำกว่า 1 ดังนั้น ต้องดูว่า ตอนสื่อเสนอข่าวลุงพล เรตติ้งขึ้นเป็น 2 หรือ 3  อีกเรื่องที่อยากให้ตรวจสอบสื่อ คือ Fact-Check อย่างในต่างประเทศ  เขาดูว่า ประธานาธิบดีสหรัฐเคยพูดอะไรไว้ที่ไหนอย่างไรแล้ววันนี้พูดอย่างไร ดังนั้น  ต้องกลับไปดูว่า ทั้งไทยรัฐทีวี และอมรินทร์ เคยนำเสนอที่อะไรไว้ที่โน้มนำว่าลุงพลเป็นผู้บริสุทธิ์ แล้วมาเปรียบเทียบกับเรื่องเรตติ้งมันจะเห็นความชัดเจนมาก  

“เมื่อศาลตัดสินอย่างนี้ คุณต้องมีความรับผิดชอบที่จะออกมาขอโทษสังคม ยอมรับผิดว่า คุณจะไม่ทำอีกเพราะอย่างน้อยมันมีหลักฐานออกมาแล้ว  สื่อต้องกำกับตัวเองก่อน ต้องมีจริยธรรม ถามว่า เขารู้ไหม มันก็จะอยู่กับเขาว่า ระหว่างจริยธรรม อุดมการณ์ หลักการ กับ ความอยู่รอด เขาจะเลือกอะไร”     

แล้วถ้าสื่อให้เหตุผลว่า กรณีลุงพล ยังเหลืออีก 2 ศาลให้ตัดสินดังนั้น ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ? ...  รศ.วิไลวรรณ กล่าวพร้อมยกตัวอย่างอดีตว่า  กรณีนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ดำเนินรายการข่าวถูกกระแสสังคมกดดันให้ยุติการทำหน้าที่พิธีกรเรื่องเล่าเช้านี้ทางช่อง 3 หลังศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาคดีไร่ส้มให้จำคุก 13 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา แต่นายสรยุทธยังทำหน้าที่ จนสังคมโซเชียลกดดัน และเรียกร้องไปที่สปอนเซอร์ที่สนับสนุนรายการ ท้ายสุด นายสรยุทธ์ ก็ยอมยุติบทบาท ดังนั้น ถ้าองค์กรกำกับต่างๆ ยังเงียบอยู่ ก็อยากให้กลไกลตลาดมากำกับได้ไหม เพราะตามหลักของกฎหมายสาสากล ถ้าเราจะทำธุรกิจให้โปร่งใสบริสุทธิ์  แต่ธุรกิจเราสนับสนุนสินค้าที่ทำร้ายสังคม คุณก็ผิดด้วย ดังนั้น แม้สื่อมีเรตติ้ง แต่เรตติ้นนั้นทำลายสังคมให้บิดเบี้ยว ทำคนผิดให้เป็นคนถูก เชิดชูสิ่งที่ผิดๆ แล้วถ้าคิดว่า  นี่คือ สิ่งที่ถูก สปอนเซอร์นั้นก็เข้าทฤษฎีสมคบคิดกับสื่อนั้นเช่นกัน”   

ไม่เคารพตัวเอง มันยิ่งกว่าข่าวปลอม  

สกุล บุณยทัต นักวิชาการอิสระ

สกุล บุณยทัต นักวิชาการอิสระ และกรรมการประกวดข่าวหนังสือพิมพ์ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  กล่าวว่า หลังศาลตัดสินออกมาทำให้หลายคนหน้าแตกกันเยอะ รายการทีวีที่นำเสนอ  คนที่เคยเชียร์ลุงพลก็ไปไม่เป็น  ถ้าเป็นเมื่อก่อนเรามีรายการมีเดียโฟกัสคอยตรวจสอบสื่อ เราจะตำหนิสื่อที่ทำอย่างนี้ คอลัมนิสต์จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์ แต่ปัจจุบันสภาพวงการสื่อดูแย่ ไม่มีใครตรวจสอบจึงรายงานอย่างไรก็ได้  สื่อไม่ได้เคารพตัวเองเท่าไร ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าเรื่องลุงพลผิดหรือถูก หลักฐาน คำให้การก็ชัดเจน ไม่ใช่มานำเสนอลากยาวเหมือนคดีแตงโม ที่สุดท้ายไม่มีผลว่า ใครผิด ถ้าสื่อมุ่งมั่นที่จะคลี่คลายคดีนี้มันก็จบเร็ว ไม่มายืดยาวอย่างนี้ 

“เมื่อ 10 ปีก่อนที่สมาคมนักข่าวพูดเรื่องข่าวปลอม เต้าข่าว แต่ปัจจุบันเรารู้สึกการทำข่าวมันยิ่งกว่านั้นแล้วเพราะสร้างละครในแต่ละวัน วันนี้จะเล่นแบบนี้ ให้คนดูอ่านนิยายว่า ตอนนี้ไปถึงไหน อันนี้น่ากลัว  สื่อสร้างพล็อตเรื่องขึ้นมา สร้างลุงพลเป็นฮีโร่ ซึ่งไม่ยากใช้วิธีเข้าหาศาสนา ทำบุญ สร้างพญานาคทำให้คนยอมรับนับถือ เมื่อมีคนสนับสนุนมากขึ้น สื่้อก็รอดแล้ว คนดูไม่รู้หรอกเพราะเชื่อในสื่อมวลชน แต่กว่าจะรู้ว่า อะไรเป็นอะไร ประชาชนก็โดนน็อค”   

สกุล กล่าวว่า กระแสลุงพล คนที่ได้ประโยชน์คือ คนที่ร่วมเป็นนายทุนกับเขาซึ่งก็ล้วนเป็นคนดังทั้งนั้น มันเป็นเงินต่อเงิน ตราบใดที่สังคมยังบูชาเงิน สื่อก็ได้ประโยชน์เพราะได้เรตติ้ง ขนาดคนที่เป็นพิธีกรเล่าข่าวนี้ย้ายช่องออกมา ช่องนั้นก็ยังสะเทือน เพราะช่องนั้นนำเสนอข่าวลุงพลเป็นหลัก  แต่เหมือนเราตามไม่ทันโครงสร้างของสิ่งเหล่านี้ เกิดการแบ่งฝ่ายเชียร์ ช่องหนึ่งเชียร์ลุงพล มีการเปิดเฟสบุ๊คเป็นแฟนคลับ แหล่งข่าวก็เยอะ ล้วนแล้วสมคบคิดหารายได้ มีผลประโยชน์ทางธุรกิจ จินตหรา พูนลาภ นักร้องหมอลำยังต้องไปพึ่งกระแสลุงพลด้วย  

อยากจะเรียกร้องอะไรกับสื่อ? ...  “ถ้าเราทำหน้าที่สื่อมวลชน เราต้องซื่อสัตย์กับหน้าที่ มันเป็นเรื่องใหญ่สำคัญมาก ในวงการเรา เราตัดสินรายการ ประกวดอะไรก็ตาม ก็ต้องใช้คำว่า ซื่อสัตย์ ถ้าเราซื่อสัตย์เราก็รู้เองว่า อะไรเป็นอะไร คดีนี้รู้เลยว่า อันนี้มันโกหก  อย่าไปบอกว่า ผมแกว่งไปแกว่งไปมา ไม่ได้ มันต้องมั่นคง สื่อมวลชนมันคือ ฐานันดรที่ 4