‘ประสาร’ ประธาน กสศ. คลี่วิกฤต “สังคมเหลื่อมล้ำ” เปิดกุญแจทางรอด “ทุนมนุษย์ ยุค 5.0” พาไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานครบรอบ 69 ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (TJA 69th Anniversary Talk) พร้อมมอบรางวัลอิศรา อมันตกุล ให้แก่รางวัลผลงานข่าวและภาพข่าวประจำปี 2566 โดยมี ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ทุนมนุษย์ ยุค 5.0 สร้างไทยยั่งยืน ขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ“ ว่า ทุนมนุษย์ (human capital) มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของแต่ละปัจเจกบุคคล นอกจากนั้น ทุนมนุษย์ยังส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านปฏิสัมพันธ์ระหว่างแรงงานทักษะสูง ซึ่งนำไปสู่นวัตกรรมที่เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตที่สำคัญ โดยบทบาทของทุนมนุษย์ยังสามารถเติบโตได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

“การลงทุนเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวอย่างมาก” ดร.ประสารกล่าว และว่า ตนขอแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ความท้าทาย 6 ด้านสำคัญในการพัฒนาทุนมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 

ดร.ประสารกล่าวว่า การลงทุนพัฒนาทุนมนุษย์ต้องคำนึงถึงความท้าทาย 6 ด้านสำคัญที่ส่งผลต่อการเร่งเตรียมความพร้อมด้านทุนมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประกอบด้วย ความท้าทายที่ 1 โรคโควิด-19 ซึ่งได้สร้างแนวโน้มที่ไม่แน่นอนสำหรับตลาดแรงงานและเร่งให้ลักษณะงานเปลี่ยนแปลงไป ความท้าทายที่ 2 ประชากรสูงอายุ โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2603 ส่วนแบ่งของประชากรวัยทำงานจะลดลงจากร้อยละ 71 ในปี 2563 เหลือเพียงร้อยละ 56 ซึ่งอาจส่งผลในทางลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การลดลงของการเติบโตของรายได้ต่อหัว มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มผลิตภาพของแรงงานไทย ความท้าทายที่ 3 ความยากจนในชนบท การลดความยากจนของประเทศไทยชะลอตัวตั้งแต่ปี 2558 โดยความยากจนส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในชนบท และมีคนจนในชนบทมากกว่าคนจนในเมืองเกือบ 2.3 ล้านคน ความท้าทายที่ 4 ความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้ โดยเฉพาะประชากรในเมืองและชนบท ทำให้ไทยมีอัตราความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ความท้าทายที่ 5 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการกระจายรายได้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดการณ์ว่า ภายในปี พ.ศ.2643 ต้นทุนเฉลี่ยของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนามอาจเทียบเท่ากับการสูญเสียร้อยละ 6.7 ของ GDP รวมกันในแต่ละปี และ ความท้าทายที่ 6 ภัยทางธรรมชาติ ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติหลายประการ ผลกระทบร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นจากภัยพิบัติทางธรรมชาติสามารถมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งและหลากหลายต่อตลาดแรงงาน เศรษฐกิจและสังคม

“ความท้าทายทั้งหลายเหล่านี้กำลังเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญและทิศทางการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศที่จะต้องปรับตัวให้ทันในบริบทและเงื่อนไขใหม่ ไม่ปล่อยให้เกิดการสูญเสีย หรือเด็กเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา หรือไม่ได้รับการ

พัฒนาเต็มศักยภาพแม้แต่คนเดียว เพราะเด็กทุกคนเป็นมนุษย์ทองคำ เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพเท่านั้นที่จะช่วยให้ผู้คนก้าวผ่านความท้าทายทางสังคมและเศรษฐกิจต่างๆ เหล่านี้ได้ และทำให้โอกาสที่คนไทยหลุดพ้นจากความยากจนข้ามรุ่นและประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางเป็นจริงได้ ไม่เพียงแต่เป็นเพียงแค่ความฝัน เช่นเดียวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 จะทยอยครบกำหนดในอีกไม่กี่ปี หากไม่เร่งลงทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์ ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงที่จะไม่บรรลุเป้าหมายนี้” ดร.ประสารกล่าว

ประเด็นที่ 2 สถานการณ์ทุนมนุษย์ “ความเหลื่อมล้ำ” หนทางสู่วิกฤตขาดแคลนทักษะทุนชีวิต

ดร.ประสารยังกล่าวว่า อันดับแรก คือมิติความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส จากข้อมูลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปีการศึกษา 2566 โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาพบว่า ประเทศไทยมีจำนวนนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษราว 1.8 ล้านคน โดย กสศ. สนับสนุนทุนเสมอภาคให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษ หรือยากจนระดับรุนแรง (Extremely Poor) จำนวน 1,248,861 คน เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ตัวเลขยังไม่แตะหลักล้านคือ 994,428 คน ซึ่งความยากจนในระดับรุนแรงนับเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เด็กในกลุ่มนี้ไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาได้ และจำต้องออกจากระบบการศึกษาไปในที่สุด ทั้งนี้ จากการติดตามข้อมูลเส้นทางการศึกษาของนักเรียนจากครัวเรือนยากจนและยากจนพิเศษ ตั้งแต่ปี 2562-2566 มีข้อค้นพบ ดังนี้ 1.ยิ่งการศึกษาระดับสูง โอกาสที่เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้จะได้เรียนต่อก็ยิ่งลดลงเรื่อยๆ ซึ่งในปีการศึกษา 2566 มีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษเพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่สามารถศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาได้สำเร็จ

2.ช่วงชั้นรอยต่อทางการศึกษา ถือเป็นช่วงเวลาวิกฤตที่เด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบมากที่สุด เพราะจำเป็นต้องย้ายสถานศึกษาในช่วงเปิดเทอมและต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เช่น ค่าธรรมเนียมการสมัครเรียน ค่าเดินทาง หรือค่าเตรียมความพร้อมในการเรียนต่อ ด้วยเหตุนี้ เด็กนักเรียนจากครัวเรือนยากจนและยากจนพิเศษจึงต้องเผชิญกับอุปสรรคจำนวนมาก จนในที่สุดต้องตัดสินใจที่จะไม่ไปต่อในเส้นทางการศึกษาแม้จะมีความต้องการแค่ไหนก็ตาม จากการสำรวจยังพบอีกว่า ค่าใช้จ่ายแรกเข้าในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาเทอมแรก ราว 13,200-29,000 บาท หรือคิดเป็นรายได้เฉลี่ยทั้งปีของสมาชิกครัวเรือนนักเรียนยากจนพิเศษ โดยค่าใช้จ่ายเหล่านี้ประกอบด้วยค่าสอบ ค่าสมัครคัดเลือก TCAS ค่าแรกเข้า ค่าหอพัก ค่าเครื่องแบบนักศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษาเทอมแรก เป็นต้น

และ อันดับสอง มิติความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพ โดยเมื่อวันที่ 21 - 22 ก.พ. ที่ผ่านมา กสศ. ร่วมกับธนาคารโลก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้เปิดเผยผลการวิจัยสำรวจทักษะความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงานของประเทศไทย (Adult Skills Assessment in Thailand: ASAT) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า เยาวชนและประชากรวัยแรงงานอายุระหว่าง 15 – 64 ปี กำลังเผชิญวิกฤตขาดแคลนทักษะทุนชีวิต (Crisis of Foundational Skills) อย่างรุนแรง กว่า 2 ใน 3 ของวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ไม่สามารถอ่านและเข้าใจข้อความสั้นๆ เพื่อแก้ปัญหาอย่างง่าย 3 ใน 4 ของเยาวชนและวัยแรงงานมีความยากลำบากในการใช้เว็บไซต์เพื่อทำงานง่ายๆ และกว่าร้อยละ 30 ขาดทักษะในการคิดริเริ่มเพื่อสังคมและความกระตือรือร้น โดยการขาดทักษะพื้นฐานดังกล่าวก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 3.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของ GDP ประเทศไทยในปี 2565

“ปัญหาดังกล่าวไม่ได้มีแต่เฉพาะในกลุ่มเยาวชน และแรงงานเท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว วิกฤตทักษะทุนชีวิตได้เริ่มก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่ช่วงวัยที่เป็นเด็กเล็ก ทยอยสะสมความขาดทุนในทุนชีวิตมาอย่างต่อเนื่องจนเข้าสู่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาและก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน ผมขอชวนทุกท่านร่วมทำความเข้าใจวิกฤตทักษะทุนชีวิตให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลโดยอาศัยชุดข้อมูลต่างๆ และงานวิจัยติดตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำตามช่วงวัยที่สำคัญ ที่สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ของ กสศ. ร่วมกับภาคีร่วมดำเนินงาน ดำเนินการศึกษาติดตามมาอย่างต่อเนื่อง“ ดร.ประสารกล่าว

การวิจัยทุนมนุษย์ “จุดเริ่มต้นของความขาดทุนทักษะชีวิต” เด็กไทยอ่าน-ฟังภาษาไทยไม่เข้าใจ

ดร.ประสารกล่าวต่อว่า กสศ. ดำเนินการร่วมกับคณะผู้วิจัยที่นำโดยรองศาสตราจารย์ ดร.วีระชาติ กิเลนทอง สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) คณะเศรษฐศาสตร์ และคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ทำการวิจัยหัวข้อ “จุดเริ่มต้นของความขาดทุนในทักษะทุนชีวิต : ปัญหาการขาดแคลนทักษะพื้นฐานในเด็กปฐมวัย” พบว่า เด็กปฐมวัยไทยมีความพร้อมด้านความเข้าใจในการฟัง (Listening

Comprehension) ในระดับที่น่ากังวล โดยมีเด็กปฐมวัยทั่วประเทศกว่าร้อยละ 25 ที่มีระดับความพร้อมด้านดังกล่าวในระดับที่ต่ำมาก โดยเกือบทุกจังหวัดมีสัดส่วนเด็กปฐมวัยที่มีความพร้อมด้านความเข้าใจในการฟังในระดับที่ต่ำมากสูงกว่าร้อยละ 15 และมีบางจังหวัด เช่น จังหวัดปัตตานี มีสัดส่วนของเด็กปฐมวัยที่มีระดับความพร้อมด้านดังกล่าวต่ำมากสูงถึงร้อยละ 77

“ประเด็นที่น่าสนใจจากผลการสำรวจข้างต้นอีกประการหนึ่งคือ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลควบคู่กับสถานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือน ชี้ให้เห็นว่า เด็กปฐมวัยที่มาจากครัวเรือนยากจนมีแนวโน้มที่จะมีระดับความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาต่ำกว่าเด็กปฐมวัยที่มาจากครัวเรือนที่มีเศรษฐฐานะสูงกว่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่ก่อนเด็กจะเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการในระดับประถมศึกษาเสียอีก ซึ่งส่งผลต่อการขาดทักษะพื้นฐานในระดับชั้นที่สูงขึ้น” ดร.ประสารกล่าว

โดยมีข้อมูลจากผลการประเมินนักเรียนในโครงการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ในปี พ.ศ.2565 พบว่ามีนักเรียนไทยที่มีอายุ 15 ปี กว่า 2 ใน 3 ที่มีทักษะการอ่านและทักษะคณิตศาสตร์ไม่ถึงระดับพื้นฐานที่เด็กในช่วงวัยดังกล่าวจะสามารถเข้าใจและมีส่วนร่วมกับสังคมได้อย่างมีความหมาย เช่น การเข้าใจวัตถุประสงค์ในการสื่อสารของผู้เขียนในบทความ หรือการแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ และกว่าครึ่งที่มีทักษะวิทยาศาสตร์ไม่ถึงระดับพื้นฐานในการเข้าใจและอธิบาย ปรากฎการณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถพบได้โดยทั่วไป ถึงร้อยละ 53 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างกลุ่มประเทศ OECD กว่า 2 เท่า“ ดร.ประสารกล่าว

แก้ต้นตอปัญหา “วิกฤตขาดทุนมนุษย์” ป้องกันความล้มละลายในชีวิตทำงาน

ดร.ประสารกล่าวว่า การแก้ปัญหาเพื่อฝ่าวิกฤตทักษะทุนชีวิตทุกช่วงวัย จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการการทำงานจากทุกภาคส่วน เพื่อเร่งพัฒนาและเสริมสร้างทักษะที่ขาดหาย ไม่ให้เป็นการขาดทุนสะสมที่จะทยอยสะสมขึ้นไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นภาวะล้มละลายทางทุนชีวิตในวัยผู้ใหญ่ โดยควรมีการดำเนินมาตรการในแต่ละช่วงวัยที่เพียงพอและเหมาะสม รวมทั้งสนับสนุนให้ครัวเรือนยากจนสามารถเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาทักษะอย่างเต็มที่ ซึ่งการวิจัยเรื่องทุนมนุษย์ ช่วยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการมีข้อมูลที่มีคุณภาพในการติดตามสถานการณ์การพัฒนาทุนมนุษย์ในแต่ละช่วงวัย ที่จะคอยทำหน้าที่เสมือนเป็นการตรวจสุขภาพประจำปี ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถวินิจฉัยโรคที่ซ่อนอยู่หรือติดตามสถานการณ์ของโรคที่มีอยู่ได้ และดำเนินมาตรการรักษาอย่างทันท่วงทีก่อนที่โรคจะลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ยากและสายเกินไปที่จะแก้ไขให้หายหรือทุเลาลงได้ รัฐบาลสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลวิจัย เพื่อกำหนดทิศทางนโยบายการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างตรงจุดปัญหา

ประเด็นที่ 3 ข้อเสนอการลงทุนในทุนมนุษย์ ตอบโจทย์ทุกชีวิตอย่างเสมอภาค

ดร.ประสารกล่าวว่า กสศ.มีข้อเสนอ เชิงนโยบายสำหรับเป็นแนวทางการลงทุนในทุนมนุษย์ 4 ประการ ได้แก่ 1.ลงทุนในเด็กและเยาวชนตั้งแต่ระดับปฐมวัย(Invest Early) โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยจากครัวเรือนใต้เส้นความยากจน ซึ่งมีจำนวนเหลือเพียงประมาณปีละ 100,000 คนเท่านั้นในปัจจุบัน เพราะการพัฒนาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นมีโอกาสช่วยลดช่องว่างของทุนมนุษย์ระหว่างเด็กด้อยโอกาสและเด็กกลุ่มอื่นได้มากกว่าการลงทุนในช่วงหลัง โดยมุ่งเน้นการลงทุนที่ตัวเด็กและครัวเรือน ซึ่งคือการเพิ่มคุณภาพการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครอง รวมทั้งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยควรวางระบบการพัฒนาทุนมนุษย์แบบวงจรปิด (Closed-Loop Human Development Model) คือการมีฐานข้อมูลรายบุคคลและสามารถติดตามเด็กทุกคนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยแรงงานในทุกมิติ เพื่อมุ่งเน้นกระบวนการพัฒนาทุนมนุษย์จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน โดยไม่ปล่อยให้เกิดการสูญเสีย (Zero-waste) เด็กแม้แต่คนเดียวจากการลงทุนพัฒนาทุนมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิด

ดร.ประสารกล่าวว่า 2.ลงทุนให้ถูกกลุ่มเป้าหมายสำคัญของประเทศและด้วยวิธีการที่ชาญฉลาด (Invest Smartly) ประเทศไทยควรลงทุนในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Learning Society) และระบบการศึกษาทางเลือก (Alternative Education) ที่มีความยืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิต รวมทั้งสนับสนุนให้คนทุกกลุ่มมีโอกาสเข้ารับการอบรมเพื่อยกระดับและพัฒนาทักษะใหม่ (Upskill and Reskill) ซึ่งผลการวิจัยศึกษาของธนาคารโลก ชี้ให้เห็นว่าเป็นแนวทางสำคัญแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวข้ามออกจากวิกฤตทักษะได้3.ลงทุนอย่างเสมอภาค (Invest Equitably) ให้ความสำคัญต่อสิทธิทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา โดยสูตรจัดสรรงบประมาณให้แก่เด็ก เยาวชนในสังกัดต่างๆ ทั้งในและนอกระบบการศึกษาควรใช้หลักความเสมอภาค (Equity-based Budgeting) ซึ่งมีการชดเชยปัจจัยที่เป็นต้นเหตุแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้แก่ผู้เรียนและสถานศึกษาอย่างเป็นธรรม เช่น ความห่างไกลทุรกันดารของหน่วยจัดการเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบการศึกษา รวมทั้งความด้อยโอกาสประเภทต่างๆ ของเด็กเยาวชน เป็นต้น

4.ลงทุนด้วยนวัตกรรมทางการเงินการคลังเพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์ (Invest Innovatively) โดยใช้แรงจูงใจในการลดหย่อนภาษี 2 เท่า มาพัฒนานวัตกรรมความร่วมมือและนวัตกรรมทางสังคม เพื่อสนับสนุนการลงทุนพัฒนาทุนมนุษย์อย่างเสมอภาคและยั่งยืน หรือการใช้มาตรการกึ่งการคลัง (Quasi-fiscal Policy) เพื่อสนับสนุนงบประมาณการลงทุนในทุนมนุษย์อย่างเสมอภาคและยั่งยืน รวมถึงมีการเหนี่ยวนำทรัพยากรจากตลาดเงินและตลาดทุน มาร่วมลงทุนในมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการลงทุนในทุนมนุษย์อย่างเสมอภาคและยั่งยืน

การลงทุนใน “ทุนมนุษย์” กุญแจสำคัญก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง

ดร.ประสารกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุด ท่ามกลางวิกฤตทุนมนุษย์ของประเทศ เรื่องนี้ไม่เพียงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ทุกภาคส่วนร่วมเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ร่วมกันสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต (establishing a learning society) สังคมที่ทุกคนมีโอกาสที่จะพัฒนาความสามารถและสร้างทักษะใหม่อย่างต่อเนื่องตลอดทุกช่วงชีวิต เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีหลักประกันการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้เต็มตามศักยภาพ มีการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างเสมอภาค ช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีทุนมนุษย์คุณภาพสูง พร้อมขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ

ทั้งนี้ ดร.ประสารกล่าวในตอนท้ายว่า การลงทุนในทุนมนุษย์คือหนึ่งในกุญแจสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายการเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อคนร้อยละ 40 เพื่อออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ภายในปี 2579 ของไทย ทุนมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นจะนำไปสู่ฐานภาษีที่กว้างและลึกขึ้น ช่วยเพิ่มรายได้ และรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ จากการเจริญเติบโตของรายได้คนไทยอย่างยั่งยืน จึงกล่าวได้ว่า การลงทุนในทุนมนุษย์ให้เสมอภาคตั้งแต่ปฐมวัยถึงวัยแรงงานจะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุ 2 เป้าหมายที่สำคัญที่พวกเรารอคอยมายาวกว่า 4 ทศวรรษ ได้แก่เป้าหมายการออกจากกับดักรายได้ปานกลาง และเป้าหมายการยุติวงจรความยากจนข้ามรุ่นได้ในช่วงชีวิตของพวกเราทุกคน