“ผลกระทบจากการสู้รบรัฐบาลทหาร-ชนกลุ่มน้อยเมียนมา”

“หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของเมียนมา พื้นที่นี้ไม่เคยสงบเลยแม้แต่วันเดียว นักประวัติศาสตร์หลายท่าน ให้ข้อมูลตรงกันว่า เมียนมามีการสู้รบแบบนี้ตลอด และที่ด่านพรมแดน จะเจอเหตุการณ์แบบนี้เสมอ”

                  “สุวิมล จินะมูล” ผู้สื่อข่าว PPTV ซึ่งลงพื้นที่ทำข่าวชายแดนแม่สอด-เมียวดี กล่าวถึง “สถานการณ์สู้รบในเมียนมา” ผ่าน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ว่า หากมองถึงปัญหา และสาเหตุของความขัดแย้งในพื้นที่บริเวณเมียวดีที่มีมานาน 70-80 ปี นั้น

“เมียนมาไม่เคยสงบแม้แต่วันเดียว มูลเหตุจากรัฐประหาร 64”

                  “สุวิมล” บอกว่า พื้นที่ดังกล่าวจริง ๆ แล้ว ไม่เคยสงบแม้แต่วันเดียว และด่านพรมแดนจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นเสมอแต่เขตเศรษฐกิจแม่สอด-เมียวดี เป็นที่ที่ทุกอย่างพยายามดำเนินต่อไปตามปกติ แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นล่าสุด มาจากการรัฐประหารเมียนมาปี 2564 ที่รัฐบาลทหารเมียนมายึดอำนาจจากรัฐบาลเมียนมา  จากนั้นก็มีความพยายามที่จะยึดคืนพื้นที่ของแต่ละฝ่าย ระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมา กับฝ่ายต่อต้าน ซึ่งฝ่ายต่อต้าน ประกอบไปด้วยกองกำลังหลัก ๆ ที่เรียกตัวเองว่า กองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ The People’s Defense Froce (PDF) และรัฐบาลเงาของเมียนมา หรือ รัฐบาลสามัคคีแห่งชาติ: The National Unity Government เป็นฝ่ายการเมืองอีกส่วนหนึ่ง, กองกำลังของชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งเยอะมาก และมีหลากหลายกลุ่ม ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ก็จะมีกองกำลังของตัวเองอยู่

“หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของเมียนมาจริงๆ พื้นที่นี้ไม่เคยสงบเลยแม้แต่วันเดียว นักประวัติศาสตร์หลายท่าน ให้ข้อมูลตรงกันว่าเมียนมามีการสู้รบแบบนี้ตลอด และที่ด่านพรมแดนจะเจอเหตุการณ์แบบนี้เสมอ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือเขตเศรษฐกิจแม่สอด-เมียวดี เป็นที่ที่ทุกอย่างพยายามดำเนินต่อไปตามปกติ”สุวิมล ระบุ 

“สถานการณ์ชายแดนตึงเครียดซับซ้อน ชาวเมียนมาแห่อพยพ”         

                  “สุวิมล” บอกว่า สถานการณ์ขณะนี้ มีความซับซ้อนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ภาพที่ได้เห็นช่วงตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะบริเวณด่านชายแดนแม่สอด-เมียวดี ในช่วงพีคจะเห็นภาพของ ความตึงเครียดของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ประมาณวันที่ 20 เมษายน เพราะมีคนจำนวนไม่น้อย อพยพขอข้ามมาฝั่งไทยเป็นกรณีพิเศษ หรือกรณีฉุกเฉิน ก่อนที่จะทยอยกลับไปหลังจากนั้น ซึ่งคนในพื้นที่ อาจจะเคยชินกับการเคลื่อนย้ายเข้ามา แต่พอทุกอย่างสงบ 2-3 วันจากนั้น พี่น้องชาวเมียนมา และชาวกะเหรี่ยง ก็จะอพยพกลับไป

                  แต่ก็ยังเห็นภาพของผู้หนีภัยสงครามบางส่วน ไม่กลับไปบ้านตัวเอง ซึ่งหากมองด้วยสายตาจากฝั่งไทย ตรงแม่น้ำเมย ไปยังฝั่งเมียนมาประมาณ 4-5 เมตร บางช่วงจะเห็นภาพของชาวกะเหรี่ยงปักหลัก พักค้างอยู่ริมแม่น้ำเมยในฝั่งเมียนมาบางส่วน หากทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะเกือบปกติแล้ว ที่เหลือน่าจะเป็นเรื่องของการเจรจาพูดคุยกันของแต่ละฝ่ายมากกว่า เพื่อขอให้พื้นที่เมียวดี-แม่สอด เป็นพื้นที่ปลอดภัย เพราะมีผู้คนอยู่จำนวนมาก เป็นพื้นที่ค้าขายที่ทุกคนจะได้รับผลกระทบทั้งหมด 

“สู้รบเมียนมากระทบการค้าไทยหลายร้อยล้านต่อวัน”

                  ส่วนผลกระทบกับฝั่งไทยเต็ม ๆ โดยเฉพาะภาพรวมเศรษฐกิจนั้น “สุวิมล” บอกว่า หลายส่วนให้ข้อมูลมาตรงกัน ว่า ไทยมีมูลค่าสินค้า ที่ส่งออกไปยังเมียนมาปีละแสนล้านบาท สมมติว่าหากคำนวณแล้วใน 1 วันหยุดการขนส่งสินค้าผ่านเข้า-ออกรวม ๆ แล้ว ก็จะหลายร้อยล้านบาท หรือเดือนหนึ่งประมาณ 4,000 – 40,000 ล้านบาท ซึ่งก็จะเสียหายทั้งเจ้าของกิจการ และนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นฝั่งเมียนมา หรือฝั่งไทย จึงต้องพยายามทำให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด  

“ชื่นชม! ทางการท้องถิ่น ทำงานรับมือสอดประสานกันดี”

                  สำหรับท่าทีของรัฐบาลไทย ที่ต้องปกป้องอธิปไตย รวมถึงการบริหารจัดการผู้ลี้ภัยนั้น สุวิมล บอกว่า ตนเองทำข่าวในพื้นที่ และเฝ้าดูความเคลื่อนไหวมาตลอด ซึ่งช่วงที่ผ่านมาต้องให้เครดิตส่วนราชการของไทยที่อยู่บริเวณนั้น ทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายความมั่นคงที่เตรียมรับมือ ด้วยวิธีที่เป็นจริงเป็นจังมากขึ้น จากปกติที่มีการตรึงกำลังอยู่แล้ว ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ก็รู้ข้อมูลในพื้นที่ดี บริหารจัดการสถานการณ์ค่อนข้างเป็นไปตามแผน 

                  “ถ้ามองกันตามตรงในส่วนของท้องถิ่น-ท้องที่ของประเทศไทย รับมือพูดคุยเรื่องนี้กันมานาน และทำงานร่วมกันค่อนข้างดี โดยเฉพาะในพื้นที่ท้องถิ่นไล่เรียงกันลงมา ตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ถึงจังหวัดตาก ในสถานการณ์ช่วงพีค ๆ ซึ่งใกล้กับพรมแดนของไทยช่วง 1 เดือน ขณะที่นักวิชาการ เอ็นจีโอ สื่อท้องถิ่น ฯลฯ จับตาสถานการณ์ชายแดนและให้ข้อมูลเรื่องนี้ตลอดเวลา จึงเป็นผลสืบเนื่องกันมากกว่า” สุวิมล ระบุ

“มีหลายข้อจำกัดลงพื้นที่ทำข่าวชายแดนเมียนมา”

                  “สุวิมล” ยังยอมรับถึงการทำงานของสื่อในพื้นที่ว่า เป็นไปค่อนข้างยาก และมีข้อจำกัด ไม่ใช่แค่การรับมือการสู้รบ แต่บางครั้งสื่อต้องไปอยู่ในจุดที่เสี่ยงอันตราย แต่ด้วยความจำเป็นในลักษณะของการทำงาน ที่ต้องไปเห็น และพูดคุยด้วยตัวเอง เพื่อที่นำเสนอข้อมูลได้ถูกต้องรอบด้าน แต่ในแง่ของข้อมูลบางครั้ง ไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างตรงไปตรงมา  เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านภาษา และสถานการณ์ในฝั่งเมียนมา ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะข่าวเป็นภาษาเมียนมา ทำให้ต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร เช่น ถามเพื่อนชาวเมียนมา หรือสื่อมวลชนพี่ ๆ สำนักข่าวอื่น ที่พอจะเข้าถึงแหล่งข้อมูลทางฝั่งกะเหรี่ยง และฝั่งของรัฐบาลทหารเมียนมาได้ เราต้องหาข้อมูลรายละเอียดรอบด้าน 

“ชายแดนแม่สอด-เมียวดี ยังมีปมลึกสำคัญต้องตามติด”

                  “สุวิมล” บอกว่า ตอนนี้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่แม่สอด-เมียวดี กลายเป็นความซับซ้อนของรัฐกะเหรี่ยงเอง ที่มีกองกำลังแยกย่อยไปอีกจำนวนมาก มีความขัดแย้งกันภายใน และในมิติของธุรกิจเงินทุนกลุ่มจีนเทา ความจริงผลกระทบที่เกิดขึ้นในเมียนมา ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในพื้นที่ชายแดนไทย ที่ติดกับพรมแดนและกะเหรี่ยงเท่านั้น หากมองภาพใหญ่จริง ๆ ลึกไปกว่านั้น มีผลกระทบทางสังคม ด้านอาชญากรรมที่จะตามมา จากข้อมูลในพื้นที่บอกว่า เมียวดีฝั่งตรงข้ามแม่สอด เป็นแหล่งสำคัญของกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติรวมตัวกัน อาชญากรรมออนไลน์ที่หลายหน่วยงานกำลังจับตาอยู่ ก็น่าจะเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม

                  ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5