สิ่งที่เห็นในวิกฤตขัดแย้ง ‘63 สื่อต้องคิดมากกว่ายึดเรตติ้ง บทเรียนมี…อย่ายุให้เข้าใจผิด

กองบรรณาธิการจุลสารราชดำเนิน

      สถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่กำลังดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ถูกฉายภาพและรายงานโดยสื่อสารมวลชนอย่างไม่หยุดหย่อนทุกช่องทาง นอกจากทำให้ประชาชน ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารอย่างทันท่วงที แต่อีกด้านก็มีสื่อที่พยายามนำเสนอชุดความคิดปลุกเร้าผู้คนให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย  

        เมื่อการเคลื่อนไหวเรียกร้อง ส่อยกระดับนำไปสู่วิกฤตความขัดแย้งระลอกใหม่  จึงมีคำถามดังๆ ถึงสื่อสารมวลชน จะวาง บทบาทการทำหน้าที่อย่างไร 

       “ ปลุกเร้าเติมเชื้อไฟ เลือกที่จะนำเสนอ - หรือร่วมกันแสวงหาทางออกคลี่คลาย ก่อนเหตุการณ์บานปลายสู่ความรุนแรง”  

       ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูตร  รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านสื่อสารบริการสังคมและพันธกิจสากล คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นและข้อเสนอไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง

        “ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตอนนี้เราอยู่ในบริบทนิเวศน์สื่อ ตามภาษาดิสทรัป เปลี่ยนแปลงไปอย่างพลิกโฉม มีการทรานฟอร์มเปลี่ยนภาพชัดเจน ก็คือ ไม่ใช่แค่การบริโภคข่าวสารแต่ยังสามารถเข้าถึงเนื้อหาอื่นๆอีกด้วย  ทุกคนแวดล้อมด้วยมือถือเป็นเครื่องมือสำคัญของนิเวศน์สื่อไทยในปัจจุบัน” ศาสตราจารย์ ดร. พิรงรอง อธิบายวัฒนาการของสื่อ   

         “เมื่อก่อน คนเป็นผู้ประกอบการ นักวิชาชีพด้านข่าวสาร หรือที่เป็นเจ้าของช่องทางต่างๆ สามารถผลักดันเนื้อหามาให้เรา ตามรูปแบบหรือช่วงเวลาที่เราต้องการได้ เรียกว่า GATEKEEPER  พวกนี้เป็นคนกำหนดเนื้อหาต่างๆไปถึงเรา  แต่มาถึงยุคออนไลน์เห็นชัดเจน กลายเป็นนิเวศน์วิทยาแบบใหม่ แทนที่ Supply Push  ก็ Push ทั้งรูปแบบคอนเทนต์ ทั้งช่วงเวลาที่เราจะบริโภค แต่เปลี่ยนรูปแบบ Demand pull กลายเป็นว่า Demand  คือ ผู้บริโภค สามารถ pull ได้เองแล้ว แทนที่จะถูก Push มาในรูปแบบช่วงเวลาอะไรก็ตามที่ Supplier ให้มา ตอนนี้ Demand ผู้บริโภคสามารถดึงได้แล้วว่า ถ้าวันนี้ อยากรู้เรื่องอะไรก็ตาม

          เช่น กรณีทางการสั่งปิด”พอร์นฮับ” มีคนอยากรู้ว่า “พอร์นฮับ” คืออะไร ปรากฎว่า ไม่ต้องไปดูข่าวตามเวลา แต่สามารถค้นกู้เกิ้ลก็เจอ ถ้าเราอยู่ในทวิตเตอร์ อยากรู้เรื่องนี้ทั้งหมด เราแค่ดูแฮชแทก #พอร์นฮับ เราจะรู้หมดแล้ว เรื่องนี้เริ่มมาจากไหน  มีพัฒนาการล่าสุดคืออะไร หรืออยากรู้คนในสังคมฟังเรื่องอะไรก็ไปดูเทรนดิ้ง

         นักวิชาการสายสื่อฯ  อธิบายต่อไปว่า การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสามารถถูกกำหนดโดยผู้บริโภคมากขึ้น สะท้อนในแง่การกำหนด ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ ว่าความเป็นไปของสังคมเป็นเรื่องความเชื่อมโยง Connectivity  การเชื่อมโยงข่าวสารอยู่ในนิเวศน์สื่อเดียวกัน

ศาสตราจารย์
ดร.พิรงรอง รามสูตร  

รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านสื่อสารบริการสังคมและพันธกิจสากล คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ ความเปลี่ยนแปลงตอนนี้  สื่อมวลชนไม่ใช่ผู้กำหนดวาระข่าวสารอีกต่อไป ผู้กำหนดวาระข่าวสาร คือใครก็ได้ ที่สามารถสร้างประเด็น หรือจุดติดภายในข้ามวันอาจเป็นผู้นำทางความคิดของสังคมได้ เมื่อก่อน  opening leader คือ ผู้มีอำนาจ  เป็นนักการเมือง นักวิชาการ หรือ เจ้าของกิจการขนาดใหญ่ หรืออะไรก็ตาม แต่เดี่ยวนี้ไม่ใช่ ถ้าประเด็นมันได้ เครือข่ายไปได้เร็วก็ไปแล้ว  เพราะฉะนั้น ส่วนนี้ไม่ใช่เครื่องมือจุดติดทางความคิดเท่านั้น แต่เป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวด้วย”  

0 ยุคอันตราย รู้ทั้งรู้เฟคนิคส์
แต่พร้อมเชื่อเพราะอยากเสพตามอารมณ์

       อาจารย์พิรงรอง ชี้มาที่การเคลื่อนไหวทางการเมือง เห็นได้ชัดถึงกลยุทธ์การสื่อสาร 

          “เห็นได้ชัดเจนจากการประท้วง   มันไม่ใช่รูปแบบเดิมและเขาทำกันอย่างเร็ว โดยอาศัยข้อมูลข่าวสารและความเชื่อมโยง และใช้เครือข่ายตรงนี้เพื่อเป็นเครื่องมือระดมสรรพกำลัง เครื่องมือในการวางแผน เครื่องมือปรับเปลี่ยนยุทธวิธีอยู่ตรงนี้หมดเลย”

      ถามว่า การใช้สื่อโหมกระพือ ระดมสรรพกำลัง วางแผนเคลื่อนไหว ขณะเดียวกันเราไม่ทราบชัดเจนผู้นำความคิด หรือแกนนำในการเคลื่อนไหวเป็นใครกันแน่

        ประเด็นนี้ ศาสตราจารย์พิรงรอง  ตอบว่า  “ เราหาได้แล้วนะ “

        ทั้งนี้จากงานวิจัย  Echo Chamber หรือ “ห้องแห่งเสียงสะท้อน”  ส่วนใหญ่ในพื้นที่ออนไลน์ที่คนเปิดรับแต่เนื้อหาสะท้อนความคิดเหมือนๆกัน  แม้ว่าพื้นที่ในอินเตอร์เน็ตเป็นพื้นที่ไม่สิ้นสุดในความหลากหลายทางความคิดเข้าถึงได้สารพัด แต่พอถึงเรื่องการมือง เป็นเรื่องจริตแล้ว ชอบเหมือนกันไหม ส่วนใหญ่จะเป็น Echo Chamber ทั้งนั้นเลย  เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา Echo Chamber  ในแง่ที่ว่าคุณเปิดรับเนื้อหาที่คิดเหมือนกันแนวทางเดียวกัน

      “เมื่อก่อนเรายังแสวงหาความจริง ในยุคที่แล้ว GEN -X    GEN-Y   เราเปิดรับข้อมูลข่าวสารลองตรวจสอบดูใครพูดจริงไม่จริง  แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว กลายเป็นว่า เราเปิดรับสิ่งที่เราคิดว่าตรงกับความเชื่อ ตรงกับอารมณ์ของเรา เราไม่แคร์แล้ว  เพราะความเชื่ออารมณ์เราบอกว่ามันจริง เราพูดถึง fake news ไม่แคร์แล้ว ตัดสินตั้งแต่ก่อนเปิดรับแล้ว  เหมือนฝรั่งบอกว่าเราอยู่ในยุค POST-TRUTH  โลกยุคหลังความจริง”

        “เมื่อก่อนเราอยู่ในยุคความจริง ยุคที่สื่อกระแสหลักต้องตรวจสอบโดยมีขั้นตอนมากมาย ตั้งแต่บรรณาธิการต้องตรวจสอบ แม้แต่ผู้อ่านมีความรู้เท่าทันสื่อ ต้องเปรียบเทียบ พอถึงยุคนี้เฟคนิวส์เต็มไปหมด แต่ถามว่าหลายคนแคร์ไหม ไม่ได้แคร์ แชร์กันว่อน รู้ไหมว่าเฟค บางทีอาจรู้นะ แตเชื่อไปแล้ว บางทีเพราะความฝักใฝ่”

       นักวิชาการด้านสื่อขยายภาพการสื่อสารที่ซ้ำเติมสถานการณ์ว่า   คราวนี้ ถ้านำเสนอแบบเอามัน สองมีเฟคนิวส์ และสามเป็นลักษณะ Echo Chamber  คือ มีกลุ่มที่คิดเหมือนกัน ตอกย้ำเหมือนกัน เฟคนิวส์ยิ่งไปเยอะเลย คุณไม่เห็นข้อมูลตรงกันข้าม สะท้อนเสียงเดิมๆ ฝั่งตรงข้ามคิดอย่างไรไม่ทราบ

         เช่น นักร้อง รายหนึ่งถูกกล่าวหาเป็นสลิ่ม มีการสื่อสารให้เลิกติดตามไม่สนับสนุนผลงานศิลปินรายนั้น  ทำให้มีคนตั้งคำถามว่า มันถูกต้องหรือไม่ เราจะตัดสินเขาที่สลิ่ม หรือ ควรตัดสินที่ผลงานเขามากกว่า แต่ว่าตอนนี้ คนเอามาผสมกันหมด ถ้าตรงนี้เป็นสลิ่ม ฉันก็เลิกติดตามแล้ว

0สื่อเอียงข้างไม่เป็นไร
แต่ต้องมีอุดมการณ์แห่งวิชาชีพกำกับ

         ต่อข้อถาม สื่อเกิดขึ้นมากมายจนดูไม่ออกอะไรคือ”สื่อแท้” แถมยังมีการเสนอในลักษณะเลือกข้าง

          อาจารย์พิรงรองมองว่า   นิเวศน์วิทยาแห่งสื่อไม่ได้แยกขาดจากนิเวศน์วิทยาทางสังคม เหมือนกรณีศิลปินถูกกล่าวหาเป็นสลิ่มและโดนแบนเพลง โดยที่เป็นคนละมณฑล การทำเพลง- วิชาชีพ -ความเชื่อ -อุดมการณ์ทางการเมือง เวลาที่เรามีปฏิสัมพันธ์กัน ห่างกันหรือใกล้ก็ตาม เวลาเรามองคนเป็นองค์รวมไม่ได้แยก

       “การเหมารวมและลดรวบคุณค่า เป็นวิธีง่ายที่สุดของการดีลกันของมนุษย์ เช่นคนนี้เก่งทำได้หลายอย่าง เป็นหมอเก่งแต่เขาเป็นตุ๊ด เวลาพูดกัน หมอตุ๊ด  ทำให้ถูกลดรวบคุณค่าเขาหมดเลย  พอมาถึงเรื่องการเมือง ยิ่งลดรวบคุณค่า นี่สลิ่ม เสื้อแดง ล้มเจ้า  คือ การติดป้ายลดรวบคุณค่า สื่อก็โดนเหมือนกัน เพราะเป็นยูนิตหนึ่งในสังคม วิธีการง่ายที่สุดในสังคมที่มีการแบ่งแยกแบ่งขั้ว แตกระแหงทางความคิดอย่างสูงเป็นปรากฎการณ์ทั่วโลก เช่นสหรัฐอเมริกา พอใครโหวตให้ทรัมป์ ก็ถูกกล่าวหาเป็นพวกเหยียดเชื้อชาติ” 

         สื่อมีความท้าทายสูงมาก  ในสังคมแบ่งขั้วทางความคิดใดๆก็ตาม สื่อจะต้องโดนอยู่แล้ว แต่เท่าที่ดูมีสื่อที่เอียงจริงๆ ก็ต้องสะท้อนอาการทางสังคมที่เป็นอยู่ องคาพยพ ต่างๆ ที่สื่อเป็นส่วนหนึ่ง มองว่า นี่คือการต่อสู้   นี่ไม่ใช่การนำเสนอข่าว หรือทำคอนเทนต์สู่ผู้ชมไปวันๆ  แต่คุณเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม

        อีกฝั่งมองว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อธำรงไว้สิ่งที่ดีงามอยู่แล้ว  สองฝั่งมีความเชื่อของตนเอง ซึ่งถ้ามองอย่างแฟร์ไม่มีใครผิด  มันเป็นสิทธิเสรีภาพ คุณมีเสรีภาพที่จะคิดว่าสิ่งที่เป็นอยู่ไม่เป็นธรรม นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ และทุกวันนี้ ที่ทำหน้าที่สื่อเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง  ขณะที่อีกฝังมองว่า สิ่งที่ดำเนินต่อมาเรื่อยมันดีอยู่แล้ว อาจต้องปรับอะไร เราช่วยต่อไป เขาก็ทำหน้าที่ของเขา จริงๆมันมีอุดมการณ์ชุดที่ใหญ่กว่า “อุดมการณ์วิชาชีพกำกับสื่อ”

       ฉะนั้นที่บอกว่าสื่อเอียงข้างไม่เอียงข้าง  ดิฉันมองว่าไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือ มีอุดมการณ์ชุดที่สูงกว่าอุดมการณ์วิชาชีพ  นั่นคือ คุณต้องมีลักษณะไม่เข้าใครออกใคร ไม่เป็นฝักเป็นฝ่าย  ต้องนำเสนอแบบวัตถุวิสัย หรือไม่เอียงเข้าข้างใครข้างหนึ่ง คุณต้องตรวจสอบ ต้องเห็นกับผู้ด้อยโอกาส นำเสนออย่างครบถ้วน แต่นั่นเป็นลักษณะกระบวนการทำงาน อุดมการณ์วิชาชีพ อุดมการณ์ที่ใหญ่กว่าอยู่ข้างบน

0ข้อเสนอคลี่คลายวิกฤต
ต้องหลุดจากกับดัก “ห้องก้องเสียงสะท้อน”

          เพื่อให้สื่อได้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง   อาจารย์พิรงรอง เสนอว่า  “พื้นที่ตรงกลางต้องมี  สื่อต้องพยายามหลุดออกจาก  Echo Chamber  หรืออคติ หรือ ชุดที่ครอบงำตัวเองให้มากที่สุด แล้วมาอยู่ในอุดมการณ์วิชาชีพให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

         อย่างไรก็ตาม อาจปฏิเสธไม่ได้ว่า การอิงอยู่กับฝั่งใดต้องมีอยู่แล้ว   ตัวเองก็มี  แต่ด้วยความเป็นนักวิชาการเราต้องแฟร์มีผลต่อการสอนหนังสือต่อเด็ก บางครั้งเราวิพากษ์วิจารณ์แต่จะยุอะไรไหมก็ต้องระวัง เพราะเด็กคือเด็ก เหมือนสื่อต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง  ไม่ไปยุให้ทางใดทางหนึ่งเกลียดชัง ยิ่งเป็นปฏิปักษ์ ทำอะไรรุนแรง เพราะความรุนแรงพร้อมจะเกิดอยู่แล้ว มีการไม่ลงรอยของสองฝั่ง สื่อต้องพยายามอยู่ในพื้นที่ตรงนี้ แน่นอนมีสื่อที่ไปทางนั้นแล้ว แต่ทำอย่างไรให้สื่อตรงกลางสร้างความเข้าใจเพราะ นี่คือสังคม

        จะสื่อสารอย่างไรเพื่อคลี่คลายวิกฤต  นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน  เสนอว่า   หนึ่ง อาจไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืนถาวรแล้วเกิดผลจริงๆก็ได้   คือ สื่อต้องยึดโยงจรรยาบรรณวิชาชีพแม้ไม่ใช่ชุดอุดมการณ์ ที่ครอบงำหรือมีอิทธิพลใหญ่เท่าอุดมการณ์ทางการเมือง แต่ว่าเป็น commitment (พันธะสัญญา)  วิชาชีพสื่อต้องมีตรงนี้   คุณต้องรู้สึกว่ามีจรรยาบรรณ รับผิดชอบต่อประโยชน์สาธารณะ  ประโยชน์สาธารณะ คืออะไร

     “คุณอยากให้คนออกมาทำสงครามกลางเมืองหรือ จะเขียนอะไรต้องคิดแล้วคิดอีก ต้องดูแล้วด้วยว่า บางทีอาจเป็นข้อเท็จจริงก็ได้ หรือคุณเลือกที่นำเสนออย่างเต็มที่ไปเลยไหม เพื่อให้คนลุกขึ้นมาฆ่ากัน”

      นักวิชาการท่านนี้ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ล่าสุด มีลูกศิษย์เตรียมทำผลงานส่งบอกมาว่า ที่สื่อนำเสนอเรื่องนี้ หนูไม่เลือกนำเสนอเพราะรู้สึกว่าน่าจะนำไปสู่การบานปลาย ก็เลยนำเสนอแค่นี้ อาจารย์ว่าหนูทำถูกใช่ไหม ก็ตอบว่าใช่  คือเรื่องนี้คุณต้องรู้ว่าผลกระทบคืออะไร สื่อต้องมีวิจารณญาณ ไม่ใช่แค่ นำเสนอแบบ Objective  ไม่เกี่ยวกับฉัน มีอะไรมาก็ว่ากันไปในสถานการณ์ที่มันบอบบางอ่อนไหว สื่อยิ่งต้องใช้วิจารณญาณอย่างมาก ทำอย่างไรให้ลดผลที่ทำให้คนรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ไม่ลงรอยกันมากขึ้น

        สอง สร้างความเข้าใจ ถ้ามีความเข้าใจว่าคนฝั่งนี้คิดอย่างนี้ คนอีกฝั่งคิดอย่างนั้นหล่ะ แต่ว่า ให้ทำความเข้าใจอย่างเป็นเหตุเป็นผล ไม่เอาเรื่องอารมณ์ความเชื่อ เหตุผลคืออะไร ความที่ตนเป็น GEN – X   จะอยู่กลางนิดนึง ไม่ใช่คนเป็นกลาง แต่เป็นตรงกลางระหว่างรุ่น

       “คนที่มี Conflict  สูง  ระหว่าง Gen-Z  GEN-Y ต้นๆ กับพวกเบบี้บูมเมอร์ที่ปกป้องสถาบันว่าเราต้องฟังหรือเปล่า         เบบี้บูมเมอร์เนี่ย  หลายคนบอกว่าจำเป็นต้องมี  เหตุผลคืออะไร ถ้าเราไปนั่งฟังเขา ไปดูประวัติศาสตร์ทำไมต้องมี ทำไมสังคมไทยต้องมีการยึดโยง ฟังแล้วเราก็เข้าใจ ไม่ใช่ตะพรึดตะพรือต้องอย่างนี้อย่างเดียว หรือไปฟังฝั่งคนรุ่นใหม่ทำไมรู้สึกแบบนี้ ลุกขึ้นมาประท้วง

        …เราต้องเข้าใจในบริบท เด็กรุ่นใหม่เกิดขึ้นมาในยุคที่เลือกได้ทุกอย่าง สมัยเรา เคยฟังเทป ต้องไปกรอเทปคาสเซ็ทหน้าเอหน้าบี  กว่าเทปออกมาต้องรอ  ชีวิตเราเลือกได้น้อย ต้องอดทน เราก็ยอมรับ  แต่เด็กรุ่นใหม่ ฟังจากเพลย์ลิสต์เลือกได้หมดเลย อยากได้ความเร็วแค่ไหน หรือ ยืนรอเข้าแถวโดยมีหูฟัง เขารออะไรไม่ได้ ต้องมีอะไรทำสักอย่าง” อาจารย์เปรียบเทียบให้เห็นคนต่างรุ่นและต่างความคิด

         จากประสบการณ์ที่ทำวิจัย Echo Chamber  สิ่งที่วิเคราะห์ได้ คือ ช่วงเด็กที่มาประท้วงชุดนี้ เติบโตขึ้นมาในสังคม เป็นช่วงคาบเกี่ยวกับคสช.ซึ่งเขาไม่ได้เลือก และยิ่งเข้าถึงข้อมูล คสช.ทำอะไร มีการสืบทอดอำนาจอย่างไร ทำให้เกิดการสืบทอดอำนาจไปยาวโดยที่เขาจะไม่ได้เลือกต่อไปอีก หลังจากช่วงที่แล้วเขาก็ไม่ได้เลือกอยู่แล้ว นี่คือข้อเท็จจริงที่เขารู้สึก มาวางแผนปฏิรูปต่ออีก 20 ปี ฉันจะไม่มีทางเลือกแล้วหรือ ให้คนอายุ 80 ปีมาเขียนรธน.  ให้คน 76 ปีมาวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีข้างหน้า ก็ต้องฟังฝั่งนี้เหมือนกัน

         อาจารย์ เล่าต่อไปว่า  อย่างภาษาฝรั่งระบุไว้   take ownership than own future  “เขากำลังแสดงความเป็นเจ้าของมากกว่าอนาคตเขา” เรามีสิทธิที่จะโต้แย้งไหมในประเด็นนี้ เราคิดว่าเราไม่มีสิทธินะ เพราะว่าอีก 20 ปีข้างหน้า ฉันอาจไม่ได้อยู่แล้ว หรืออยู่เป็นยายเฒ่า  แก่หง่อมทำอะไรไม่ได้แล้ว  ฉะนั้นคนกลุ่มนี้จะโตขึ้นมา เขาไม่มีสิทธิจะเลือกอนาคต เขาก็มีสิทธิที่จะออกมา ถึงได้บอกว่า ให้จบที่รุ่นเราทำไมเพราะรู้สึกว่าที่ผ่านมาไม่ได้เลือก ส่วนเรื่องความเหลื่อมล้ำความอยุติธรรมเป็นประเด็นรอง

      อาจารย์พิรงรอง ย้ำว่า “ จริงๆมีชุดความคิดเป็นเหตุผลที่ฟังได้ทั้งคู่ จะบอกว่า ฝั่งนี้ไม่มีเหตุผลไม่ใช่นะเอาเรื่องผ่านประวัติศาสตร์มา สังคมเรารอดมาได้เพราะสถาบัน ขณะที่กลุ่มนี้โตไม่ทัน ไม่เห็นแล้ว และก็ไม่เข้าใจ

       สื่อนี่แหละ คือที่พึ่งวางแนวทางให้สังคมด้วยซ้ำว่า ต้องมีกรอบที่ชัดเจน ว่าพื้นที่ตรงกลางคุณพูดอะไร คุณต้องไม่ตัดสิน ไม่ตีตรา ไม่ลดรวบคุณค่า ฟังไอเดีย ต้องสร้างตรงนี้เป็นบรรทัดฐานให้เกียรติทั้งสองฝั่ง แล้วทำอย่างไรเกิดความเข้าใจให้ได้ ไม่ใช่แค่สื่อสถาบันเดียวที่ต้องทำ การศึกษาต้องทำ สื่อเป็นสถาบันหลักหนึ่งแต่จะโยนทั้งหมดให้สื่อก็ไม่แฟร์  แต่ทุกส่วนต้องช่วยกันนะ ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง

        อาจารย์พิรงรอง มองว่า สื่อช่วยลดความขัดแย้งตรงนี้ก็คือ สื่อที่ยึดโยงจรรยาบรรณวิชาชีพ

       “ดิฉันไม่อยากเอาขนาด หรือรูปแบบองค์กรเป็นตัวตัดสิน แต่สื่อต้องยึดโยงจรรยาบรรณวิชาชีพ ดิฉันมองอย่างนั้นมากกว่า อย่างที่สมาคมผู้สื่อข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ต้องมาทำจุลสารราชดำเนินในเรื่องนี้ไง  เพราะเราแคร์ใช่ไหม ไม่งั้นเราก็ทำงานไปวันๆสิ ทำไมต้องมาสรุปประเด็นปัญหาของสื่อคืออะไร แล้วทำไงต้องหาทางออก แต่เพราะว่าเรามีความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะเรามองแล้วว่า มีปัญหาแล้วนะจะทำอย่างไร”

         สื่อต้องยึดโยงจรรยาบรรณ นั่นคือ เส้นทางที่เป็นประโยชน์ที่สุดต่อสาธารณะ ทำอะไรตรวจสอบ ไม่พยายามเอียงไปทางใดทางหนึ่ง ที่สำคัญใช้วิจารณญาณอย่างยิ่งในการนำเสนอ  ถัดไปสร้างพื้นที่ตรงกลาง เป็นพื้นที่เหตุผลเพื่อความเข้าใจ เหมือนเช่นทีวีสาธารณะ เชิญบุคคลมาพูดคุยกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล  ไม่ใช่เหมือนทีวีบางช่องนำคู่ขัดแย้งมาเถียงกัน ชนกัน  อย่างนั้น สังคมไม่ได้ประโยชน์  

         “ท่ามกลางวิกฤตความขัดแย้ง สื่อต้องคิดมากกว่าเรทติ้ง มากกว่าเอามัน สังคมเข้าขั้นวิกฤตแล้วนะ คือทำอะไรต้องคิด ใช้วิจารณญาณที่ดี ผลที่ตามมาเป็นอย่างไร เราเคยเห็นเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519  กรณีดาวสยาม สื่อ ยุยงให้เกิดความเข้าใจผิด ฉะนั้นอย่าให้เป็นแบบนั้น”  นักวิชาการจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ  กล่าวทิ้งท้าย