B-4-1-2551-16_ศึกปราสาทพระวิหารการแลกผลประโยชน์ข้ามชาติ-โพสต์ทูเดย์

รหัส B-4-1-2551-16

ชื่อข่าว_ศึกปราสาทพระวิหารการแลกผลประโยชน์ข้ามชาติ

เจ้าของ-โพสต์ทูเดย์

ประจำปี พศ. 2516

ศึก ปราสาทพระวิหารการแลกผลประโยชน์ข้ามชาติ
กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

บทนำ

                ปัญหาการทุจริตในรูปแบบผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นประเด็นใหม่ในสังคมการเมืองไทยในระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา และก็ไม่น่าเชื่อว่าผลประโยชน์ทับซ้อนของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองและนักธุรกิจการเมืองได้ข้ามพรมแดนระหว่างประเทศด้วยการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์อันซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากยิ่งขึ้น

ประเด็นการยื่นจดทะเบียน“ปราสาทพระวิหาร” เป็นมรดกโลกของกัมพูชาโดยมีรัฐบาลไทยในสมัยนายสมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ให้การสนับสนุน เป็นไปอย่างมีเงื่อนงำขาดความโปร่งใสในการรับรู้ของประชาชน

                การดำเนินการในเรื่องเขาพระวิหารมีการวางแผนและลำดับการอย่างมีจังหวะจะโคน ทั้งการวางตัวบุคคลมารับผิดชอบ ตั้งแต่รมว.ต่างประเทศ ตลอดจนข้าราชการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เสมือนถูกจัดวางมาเพื่อการนี้เป็นการเฉพาะ

                ก่อนที่คณะกรรมการมรดกโลกจะตัดสินชี้ขาดให้ปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของประเทศกัมพูชาได้สำเร็จ ได้มีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการออกแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชาเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2551 นั้นเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หรือไม่ และในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ตัดสินว่าการออกแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวเข้าข่ายมีความผิดตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ซึ่งรัฐบาลนายสมัครได้ละเลย จนทำให้เพิ่มข้อสงสัยตามมาอีกว่าการเร่งรีบสนับสนุนรัฐบาลกัมพูชาของรัฐบาลไทยในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกในครั้งนี้มีวาระซ่อนเร้นมากกว่าที่รัฐบาลอ้างหรือไม่

                ซ้ำร้ายหลังคณะกรรมการมรดกโลกมีมติให้ปราสาทพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกในวันที่ 7 ก.ค. 2551 ภายใต้มติดังกล่าวยังกำหนดให้มีคณะกรรมการจาก 7 ประเทศร่วมพิจารณาพื้นที่โดยรอบตัวปราสาทเพื่อเสนอแผนบริหารจัดการภายในเดือนก.พ.ปี 2552  อีกด้วย ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่ประเทศไทยจะสูญเสียดินแดนในพื้นที่ทับซ้อนบริเวณดังกล่าวตามมาอีก

การคัดค้านการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของฝ่ายกัมพูชาดังระงมไปทั่วประเทศ ผู้คนจากหลายองค์กรได้ประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการสนับสนุนการขึ้นทะเบียนในครั้งนี้ เพราะเกรงว่าจะส่งผลต่อดินแดนของไทยในอนาคต แต่รัฐบาลก็มิได้รับฟังแต่ประการใด กลับยอกย้อน ดันทุรัง จึงได้ส่งผลกระทบต่อทั้งภายในประเทศและระดับโลก รวมถึงสร้างผลเสียหายตามมาอีกหลายประการ อาทิ ทำให้ประชาชนภายในประเทศเกิดความแตกแยก นำกำลังเข้าเผชิญหน้าปะทะกันจนนองเลือด ด้วยเหตุที่มีการปลุกระดมทางการเมืองจนเกิดกระแสคลั่งชาติ

                นอกจากนี้กัมพูชาได้ส่งกำลังทหารเข้ายึดปราสาทระวิหารจนเกิดการเผชิญหน้าของกำลังทหารทั้ง 2 ฝ่ายกระทั่งปัจจุบัน แม้จะมีการถอนกำลังไปบางส่วนแล้วก็ตาม ต่อมากัมพูชาส่งกำลังทหารเข้ายึดกลุ่มปราสาทสด๊กก๊กธม ปราสาทตาเมือนธม , ปราสาทตาควาย เพื่ออ้างสิทธิ์เหนือดินแดนไทย รวมถึงประเทศไทยถูกกล่าวหาอย่างรุนแรงจากผู้นำรัฐบาลกัมพูชาอีกด้วย

ในระดับนานาชาติฝ่ายกัมพูชาได้ร้องต่อเวทีการประชุมอาเซียนกล่าวหาไทยรุกล้ำดินแดน รวมทั้งได้ยื่นเรื่องให้ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาตินำประเด็นเขาพระวิหารขึ้นมาพิจารณาในระดับพหุภาคีอีกด้วย

                การดำเนินการของรัฐบาลไทยแทนที่จะดำเนินการในเชิงรุกในเรื่องดังกล่าว กลับเดินไล่หลังตามกัมพูชา จนทำให้รัฐบาลนายสมัครเสื่อมศรัทธาลงเป็นลำดับ และถูกขยายข้อครหาเป็นรัฐบาล “ขายชาติ” เพื่อแลกผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจการเมืองข้ามชาติ

กรณีปราสาทพระวิหารได้ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลอย่างรุนแรง ถึงขั้นรัฐบาลต้องยอมให้มีการเปิดประชุมสภาเพื่ออภิปรายประเด็นนี้อย่างร้อนแรง รวมถึงมีการตอบโต้ทางการทูตต่อกันหลายครั้งหลายครา ที่สำคัญประเด็นนี้ถูกยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ในคดีอาญาอีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตามแม้จะถูกคัดค้านอย่างหนัก รัฐบาลนายสมัครก็ได้เห็นชอบให้มีการลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2551 และได้มีการแก้ไขถ้อยคำจาก “แผนที่”เป็น “แผนผัง” ในเวลาต่อมา

                จนท้ายที่สุดนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างแข็งขันในการสนับสนุนกัมพูชาก็ทนแรงเสียดทานทางการเมืองไม่ไหว ต้องตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2551 ทันทีที่เดินทางกลับจากการร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลก และนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อหาผู้เหมาะสมมาทำหน้าที่ต่อ แม้ครม.นายสมัครจะได้นายเตช บุนนาค มาทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่ก็ต้องตัดสินใจลาออกไปอีกคนในวันที่ 3 ก.ย.2551 ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ทะลุจุดเดือด

การดำเนินการ

                กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์ได้เกาะติดข่าว ศึก ปราสาทพระวิหาร การแลกผลประโยชน์ข้ามชาติ ในรูป ข่าว สกู๊ป รายงาน บทวิเคราะห์ บทบรรณาธิการ โดยเริ่ม เกาะติดประเด็นนี้ตั้งแต่ได้กลิ่นความผิดปกติจากสัญญาณของกองทัพ เมื่อ พล.ท.พิชษณุ ปุจฉาการ โฆษกกระทรวงกลาโหมในสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มีพล.อ.บุญรอด สมทัศน์ เป็นรมว.กลาโหม ได้เปิดแถลงเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2551 หลังการประชุมสภากลาโหมว่า จะประท้วงกัมพูชากรณีสร้างหลักฐานเท็จหวังฮุบเขาพระวิหาร ซึ่งจะทำให้ไทยเสียดินแดน

                (อ่านเอกสารประกอบ 1 และ อ่านเอกสารประกอบ 2 ตั้งแต่ฉบับวันที่ 25 ม.ค. 2551-ปัจจุบัน)

แม้โพสต์ทูเดย์จะนำเสนอข่าวชิ้นนี้เป็นข่าวเล็ก ๆ แต่วันถัดมาโพสต์ทูเดย์ก็ได้เกาะติดสืบค้นหาข้อเท็จจริงทันทีเพื่อนำเสนอข่าวในลักษณะสืบสวนสอบสวน โดยเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อ 6 พ.ค. 2551 หลังคณะรัฐมนตรีมีมติย้ายนายวีระชัย พลาดิศรัย พ้นจากอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ซึ่งมติครม.ดังกล่าวกองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์ ได้ข้อสรุปว่าการโยกย้ายครั้งนี้มีสาเหตุมาจากกรณีปราสาทพระวิหารแน่นอน

ถัดมา 12 พ.ค. 2551 นายนพดลได้ออกมาปฏิเสธเรื่องประเทศไทยกำลังแลกการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารของกัมพูชาเป็นมรดกโลก กับการสัมปทานก๊าซและน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนชายแดนไทย-กัมพูชา และปฏิเสธด้วยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไม่ได้อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้

                การเกาะติดข่าวเขาพระวิหาร โพสต์ทูเดย์ได้ตั้งทีมข่าวเฉพาะกิจขึ้นเป็นการเฉพาะ มีการส่งนักข่าวลงพื้นที่อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ 2 รอบ ๆแรก ลงพื้นที่ไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงในพื้นที่  4.6 ตร.กม. รอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งทั้งสองประเทศต่างอ้างสิทธิ ผู้สื่อข่าวโพสต์ทูเดย์ได้หาทางเข้าไปในวัดแก้วสิกขาคิรีสวาระ ซึ่งกัมพูชาสร้างขึ้นพร้อมตั้งชุมชนถาวรขนาดใหญ่ มีประชาชนอาศัยอยู่ราว 70 ครัวเรือน รวมทั้งมีที่ตั้งหน่วยงานของรัฐบาลกัมพูชา ทั้งทหาร และตำรวจอยู่ในพื้นที่ มิใช่การบุกรุกสร้างที่พักชั่วคราว ตามที่เจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยให้ข้อมูลก่อนหน้านี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่สื่อมวลชนไทยมีโอกาสบุกเข้าไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงในพื้นที่ดังกล่าว

                ครั้งที่ 2 ได้ส่งนักข่าวไปรายงานสถานการณ์ช่วงการนำกำลังทหารเผชิญหน้ากันของทั้ง 2 ประเทศ 

นอกจากนั้นโพสต์ทูเดย์ได้ร่วมมือกับเครือข่ายนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องสืบค้นข้อมูลมานำเสนอทั้งในรูปแบบข่าว สกู๊ป รายงาน บทสัมภาษณ์พิเศษ บทวิเคราะห์ ตามลำดับ โดยเฉพาะการที่นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา สนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ในวันที่ 18 มิ.ย. 2551 โพสต์ทูเดย์ได้รวบรวมข้อมูลจากทุกฝ่าย เพื่อสร้างองค์ความรู้ขึ้น กระทั่งนำเสนอบทวิเคราะห์ผลกระทบต่ออธิปไตยของชาติจากแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว

การสัมภาษณ์พิเศษ ศ.ดร.อดุล วิเชียรเจริญ ประธานคณะอนุสัญญาว่าด้วยมรดกโลก ของโพสต์ทูเดย์ ถือเป็นทางสว่างนำไปสู่การค้นพบข้อเท็จจริงหลายประการและต่อเนื่อง

                การเตรียมออกสมุดปกขาวของกระทรวงการต่างประเทศ(นำลงเว็บไซต์แล้วแต่ดึงออกในภายหลัง) เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่โพสต์ทูเดย์ก็นำเนื้อหาจากเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศมาชำแหละข้อเท็จจริงในสมุดปกขาวดังกล่าวอย่างละเอียด เพื่อชี้ให้เห็นจุดบกพร่อง และความไม่รอบคอบของกระทรวงการต่างประเทศในการสละท่าทีทางกฏหมายระหว่างประเทศ ซึ่งไทยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง หลังศาลโลกตัดสินให้แพ้คดีเขาพระวิหารตั้งแต่ปี 2505

                กระทั่งนำไปสู่การลาออกของนายนพดล ปัทมะ จากตำแหน่งรมว.ต่างประเทศ เมื่อวันที่ 10 ก.ค. หลังเดินทางกลับจากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่ควิเบก ประเทศแคนนาดา รวมถึงการทบทวนท่าทีของกระทรวงการต่างประเทศและเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเวลาต่อมา

                แม้นายนพดล จะลาออกจากตำแหน่ง แต่ประเด็นปัญหายังไม่จบสิ้น เนื่องจากมติของคณะกรรมการมรดกโลก กำหนดให้กัมพูชาร่วมกับประเทศที่เป็นกลางอีก 7 ชาติ จัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งสุ่มเสี่ยงให้ประเทศไทยเสียอธิปไตยในพื้นที่รอบปราสาท โพสต์ทูเดย์จึงได้นำเสนอผลกระทบจากมติกรรมการมรดกโลกดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาการปักปันพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ซึ่งได้รับการยืนยันแล้วว่า เป็นพื้นที่ตามบันทึกข้อตกลงเพื่อพัฒนาแหล่งพลังงานธรรมชาติร่วมกัน ซึ่งมีผลประโยชน์มหาศาล

                ดังนั้น จะเห็นได้ว่าปัญหาการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร มิใช่เฉพาะประเด็นแค่มรดกทางวัฒนธรรม แต่เกี่ยวพันถึงผลประโยชน์ของชาติในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอธิปไตย ปัญหาการเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดน ผลประโยชน์แหล่งพลังงานในทะเล รวมถึงการปฏิบัติตามนโยบายที่ไม่โปร่งใสของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆที่ถูกดำเนินคดีอยู่ในปัจจุบันด้วย

 

คุณค่าข่าวและผลกระทบของข่าว

                1.โพสต์ทูเดย์เกาะติดข่าวเขาพระวิหารอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าการสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกจะต้องมีความไม่ชอบมาพากลอย่างแน่นอน เพราะข้อพิพาทระหว่างไทยและกัมพูชาหลังศาลโลกมีมติยกปราสาทพระวิหารให้ตกเป็นของกัมพูชาตั้งแต่ปี 2505 ระยะ 46 ปี ทุกรัฐบาลก่อนหน้านี้ได้คัดค้านการสนับสนุนกัมพูชาในกรณีนี้มาโดยตลอด

                2.ผลการสืบค้นข้อมูลเรื่อยมาตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค.2551 ก็พบวาระซ่อนเร้น มีความเชื่อมโยงที่ทำให้เชื่อได้ว่ามีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์บางประการระหว่างประเทศจนทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์ ทั้งในแง่การเสียดินแดนและทรัพยากรทั้งทางบกและทางทะเล

                3.หากการดำเนินการกรณีเขาพระวิหารเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจตรงไปตรงมาทำทำไมผู้นำรัฐบาลและรมว.ต่างประเทศไม่สามารถชี้แจงข้อเท็จจริงได้ และทำไมนายนพดล ปัมทมะ จะต้องลาออก หากเชื่อมั่นใจว่าไม่ได้ทำผิดหรือไม่ได้ขายชาติตามที่ถูกกล่าวหา

                4.ผลจากการนำเสนอข่าวเรื่องเขาพระวิหาร นอกจากเป็นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการรายงานข้อเท็จจริงแล้ว การแสดงออกจุดยืนอย่างชัดเจนของโพสต์ทูเดย์ต่อการนำเสนอข่าวชิ้นนี้ถือว่าได้รายงานข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะอย่างรอบด้านสมดุลมากที่สุด ไม่เป็นการสร้างประเด็นเพื่อการปลุกปั่นกระแสชาตินิยม จนนำไปสู่ความแตกแยกทางความคิดของคนในชาติอย่างรุนแรง

                5.การนำเสนอข่าวเขาพระวิหารของโพสต์ทูเดย์เป็นการค้นคว้าจนสามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับปัญหาชายแดนด้านทิศตะวันออกแห่งนี้ จนทำให้ประชาชนคนไทยหลากหลายสาขาอาชีพได้ตื่นตัวลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของชาติ

                6.จากการนำเสนอหลักฐานต่างๆออกมาอย่างต่อเนื่อง เป็นการสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลนอมินีที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้งนั้นขาดธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ รับใช้กลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นที่ตั้ง

                7.การออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา โดยการสนับสนุนของ ครม.ไทย ถือเป็นครั้งที่ 2 ในช่วง 5-6 ปีมานี้ที่คณะรัฐบาลไทยใช้การประชุม ครม.เอื้อประโยชน์กลุ่มกลุ่มทุนข้ามชาติ หรือเรียกง่ายๆว่า ครม.ไทยมีมติสนับสนุนรัฐบาลต่างชาติให้ได้ประโยชน์ โดยที่ประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์อะไรแม้แต่น้อย ซึ่งผิดปกติวิสัยของผู้ทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร

                8.การดำเนินการกรณีเขาพระวิหาร มีข้อมูลเชื่อมโยงจากการศึกษาของนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ ซึ่งโพสต์ทูเดย์ได้นำข้อมูลมานำเสนออย่างต่อเนื่องว่ามีเงื่อนงำในการแบ่งปันผลประโยชน์จากแหล่งพลังงานทางทะเล

                9.ท้ายที่สุดรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมไม่โปร่งใสในการดำเนินนโยบายกรณีเขาพระวิหาร ก็ไม่อาจทัดทานกระแสคัดค้านจากประชาชนได้ จนก่อให้เกิดการเปลี่ยนทางการเมืองอย่างสำคัญและนายกรัฐมนตรีก็ต้องลาออกจากตำแหน่งในที่สุด

                10.ผลการนำเสนอข่าวชิ้นนี้ยังทำให้คณะบุคคลทั้งในรัฐบาลและข้าราชการที่เกี่ยวข้องถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. สอบสวนความผิดอาญาอีกด้วย จึงถือเป็นจุดจบ จุดเปลี่ยน และบทเรียนครั้งสำคัญสำหรับรัฐบาลที่ไม่ยึดผลประโยชน์ชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง

บทสรุป

                การเกาะติดข่าวเขาพระวิหารของ “โพสต์ทูเดย์” ถือได้ว่าเป็นการทำหน้าที่ในการตรวจสอบนโยบายของรัฐบาลอย่างเกาะติด เจาะลึก ให้ข้อมูลที่รอบด้านหลากหลาย ตามหลักฐานข้อเท็จจริงเป็นสำคัญ ไม่มุ่งยุยงปลุกปั่นเพื่อผลประโยชน์อื่นใด นอกจากการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในฐานะหมาเฝ้าบ้าน ผลของการปฏิบัติหน้าที่ในการนำเสนอข่าวเขาพระวิหารได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างประจักษ์ชัดที่สุด ทั้งผลกระทบระดับภายในประเทศ ระหว่างประเทศ กระทั่งเวทีนานาชาติ