B-4-1-2551-5_เปิดโปงรัฐมนตรีถือหุ้นเกิน 5 %หักเก้าอี้ไชยา-วิรุฬ ป.ป.ช.เชือดขัดรัฐธรรมนูญ-ประชาชาติธุรกิจ

รหัส B-4-1-2551-5

ชื่อข่าว เปิดโปงรัฐมนตรีถือหุ้นเกิน 5 %หักเก้าอี้ไชยา-วิรุฬ ป.ป.ช.เชือดขัดรัฐธรรมนูญ

เจ้าของ-ประชาชาติธุรกิจ

ประจำปี พศ. 2551

เปิดโปง ‘รัฐมนตรี’ ถือหุ้นเกิน 5%
หักเก้าอี้ ‘ไชยา –วิรุฬ’
ป.ป.ช.เชือด ‘ขัดรัฐธรรมนูญ’
กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

          พลันที่นายสมัคร สุนทรเวช  เป็นนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551  ผู้กว้างขวางคนหนึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และได้รับฉายาว่าเป็นรัฐมนตรี "สายล่อฟ้า" คือนายไชยา สะสมทรัพย์  นายทุนคนสำคัญของพรรคพลังประชาชน 
          หลังนั่งเก้าอี้ได้เพียงวันเดียว นายไชยาประกาศทันทีว่า จะทบทวนการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (Compulsory Licensing : CL ) ที่ลงนามโดย น.พ.มงคล ณ สงขลา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนก่อน  ท่ามกลางเสียงทักท้วงจากผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุข เอ็นจีโอ และกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งจำนวนมาก 
         เขาให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่หยิบเอาเผือกร้อนมากำเอาไว้ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ทดลองงานว่า 
         "...ที่ห่วงว่าอาจจะมีการล็อบบี้ (จากบริษัทยา) เพื่อให้ยกเลิกซีแอลนั้น ขอบอกว่า บริษัทยายังไม่รวยเท่าผม ไปดูบ้านผมสิ บริษัทยายังไม่รวยถึงขนหน้าแข้งของผมเลย..."
          คำพูดดังกล่าวแม้สะท้อนว่าเป็นคนตรงไปตรงมา แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า นอกจากไม่ศึกษาให้รอบคอบแล้วยัง "อวดรวย" อีกต่างหาก 
         ใครจะรู้ว่า หลังจากนั้นเพียง 6 เดือน เก้าอี้ตัวโตของเขาต้องหักดังโครม อันเนื่องมาจากปัญหาทรัพย์สินของเขานั่นเอง
          ภายหลังจากรัฐบาลนายสมัครเข้ามาบริหารประเทศ   ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้ตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนายไชยา สะสมทรัพย์ ตอนรับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.นครปฐม พรรคพลังประชาชน เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 ระบุว่า มีเงินลงทุนในส่วนของภรรยาคือนางจุไร สะสมทรัพย์ มูลค่า 3,620,586 บาท ในจำนวนนี้เป็นหุ้นบริษัท ทรัพย์ฮกเฮง จำกัด จำนวน 25,000 หุ้น มูลค่า 2,500,000 บาท
          ผู้สื่อข่าวตรวจสอบข้อมูลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าบริษัทดังกล่าวมีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท แบ่งเป็น 50,000 หุ้น หุ้นละ 100 บาท  ถ้าคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับนางจุไรถือหุ้นถึง 50% ของทุนจดทะเบียน
          ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 269 บัญญัติห้ามรัฐมนตรี คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ  ถือหุ้นเกินกว่ากฎหมายกำหนด ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 มาตรา 4 และมาตรา 5 บัญญัติห้ามรัฐมนตรีถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่างๆ เกิน 5%   หากรัฐมนตรีมีความประสงค์จะถือครองหุ้นเกิน 5% จะต้องแจ้งต่อประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทราบภายใน 30 วัน นับจากวันเข้ารับตำแหน่ง
         นายไชยาเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 จะต้องแจ้งการถือครองหุ้นในส่วนที่เกิน 5% ต่อประธาน ป.ป.ช.ภายในวันที่ 6 มีนาคม 2551
         หากมิได้กระทำการภายในระยะเวลาที่กำหนด  สถานภาพของนายไชยาจะมีปัญหาทันที ?
         เมื่อสอบถามข้อเท็จจริงจากนายไชยากลับได้รับคำตอบว่า "จำไม่ได้"
         ขณะนั้นผู้สื่อข่าวไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่านายไชยาได้โอนหุ้นในส่วนที่เกิน 5% ให้ผู้อื่นไปแล้วหรือไม่ ? 
        เนื่องจากต้องรอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของคณะรัฐมนตรีรัฐบาลนายสมัครและบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินของนายไชยาตอนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสียก่อน 
         กระทั่งผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินของนายไชยาตอนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2551 พบว่านายไชยาแจ้งว่านางจุไร ภรรยายังคงถือครองหุ้นบริษัท ทรัพย์ฮกเฮง จำกัด จำนวน 25,000 หุ้น มูลค่า 2,500,000 บาท
        ซึ่งเป็นจำนวนเดียวกับตอนเป็น ส.ส.
        เท่ากับถือครองเกิน 5%  ฝ่าฝืนบทบัญญัติว่าด้วยการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรีอย่างชัดเจน  
        ไม่เพียงแค่นี้ ผู้สื่อข่าวตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลนายสมัคร พบรัฐมนตรีอีก 1 คนคือนายวิรุฬ เตชะ ไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์  กระเป๋าเงินอีกคนของพรรคพลังประชาชน ถือครองหุ้นเกิน 5% เช่นเดียวกับนายไชยา
          ทั้งนี้นายวิรุฬยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินระบุว่า ถือครองหุ้นบริษัท ทรัพย์วัฒนา จำกัด  22,000 หุ้น มูลค่า 2,200,000 บาท
          ผู้สื่อข่าวตรวจสอบข้อมูลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าบริษัท ทรัพย์วัฒนา จำกัด มีทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท แบ่งเป็น 200,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท  หากคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับนายวิรุฬถือครองหุ้น 11% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด  แต่นายวิรุฬกลับฝ่าฝืนกฎหมายการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 
          และยังพบว่านายวิรุฬมิได้แจ้งการถือครองหุ้นของภรรยาคือนางกัญญา เตชะไพบูลย์ อย่างน้อย 2 บริษัทต่อ ป.ป.ช. อีกด้วย
          ผลจากการเปิดโปงของ "ประชาชาติธุรกิจ" สร้างความสั่นสะเทือนทางการเมืองต่อรัฐบาลนายสมัครอย่างรุนแรง 
          กรณีของนายไชยา สะสมทรัพย์
          1.กรรมการ ป.ป.ช. ได้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบข้อเท็จจริงและวินิจฉัยสถานภาพความเป็นรัฐมนตรีของนายไชยา กระทั่งได้มีมติเอกฉันท์เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2551 ว่า ภรรยาของนายไชยาถือครองหุ้นบริษัท ทรัพย์ฮกเฮง จำกัด เกินกว่า 5% ตามกฎหมายกำหนด  และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินความผิด
         2.เกิดความตื่นตัวของภาคประชาชน ได้หยิบยกประเด็นจริยธรรมอันเนื่องมาจากการถือหุ้นเกิน 5% เรียกร้องให้นายไชยาลาออกจากตำแหน่ง
         3.ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 ว่า นายไชยาฝ่าฝืนกฎหมายรัฐธรรมนูญ  ต้องพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีตั้งแต่ 30 วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี (พ้นตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2551) เท่ากับนายไชยาเก้าอี้หักกลางอากาศทันที ถือเป็นการพ้นตำแหน่งที่เจ็บปวดยิ่งสำหรับนักการเมืองดัง
         4.นำไปสู่การปรับ ครม.ของนายสมัคร สุนทรเวช 
          กรณีของนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์
          1.คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2551 เชือดนายวิรุฬกรณีถือครองหุ้นเกิน 5%  และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานะความเป็นรัฐมนตรีของนายวิรุฬ 
          2.ก่อนศาลรัฐธรรมนูญนัดตัดสินในวันที่ 6 สิงหาคม 2551  ทว่าวันที่ 2 สิงหาคม 2551 นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ ได้ปรับนายวิรุฬพ้นจากตำแหน่ง รมช.พาณิชย์  และไม่ได้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลนายสมัครอีกต่อไป
           "ประชาชาติธุรกิจ" มิได้ตรวจสอบเฉพาะรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช  
           ก่อนหน้านี้ในยุครัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์  "ประชาชาติธุรกิจ" เปิดโปงรัฐมนตรีอย่างน้อย 7 คนถือครองหุ้นเกิน 5%   ได้แก่ นายสิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)  นายอารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสวนิต คงสิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง  และ นายนิตย์ พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ   กระทั่งนำไปสู่การไขก๊อกของ นายสิทธิชัย  นายอารีย์   นายสวนิต  นายเกษม และ นายนิตย์  ทำให้ พล.อ.สุรยุทธ์ นายกฯ ต้องปรับ ครม. และมอบหมายรัฐมนตรีคนอื่นเข้ามารักษาราชการแทน
           การพ้นจากตำแหน่งของรัฐมนตรีอย่างน้อย 7 คน ใน 2 รัฐบาล  อันเนื่องมาจากพิษหุ้นเกิน 5% นอกจากสะท้อนให้เห็นถึง "ยาแรง" ของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 และบทบาทของตุลาการภิวัตน์แล้ว  
           ปฏิเสธมิได้ว่าเป็นผลพวงจาก "ข่าวเจาะ" ของ "ประชาชาติธุรกิจ"