รื้อ 3 ระบบสวัสดิการรักษาสุขภาพ

"รื้อ 3 ระบบสวัสดิการรักษาสุขภาพ เพื่อการเข้าถึงบริการที่ได้มาตรฐานและเท่าเทียม"

กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

 

ช่วง 1 ปีที่ผ่านมาโพสต์ทูเดย์ได้เกาะติดการดำเนินการของระบบสวัสดิการการรักษาสุขภาพของประชาชนทั้งระบบประกันสังคม หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง และระบบสวัสดิการข้าราชการอย่างต่อเนื่อง พยายามแสวงหาข้อเท็จจริงมานำเสนอในทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการให้บริการ ผลกระทบที่ผู้รับบริการประสบ ตลอดจนแนวนโยบายในการปรับปรุงให้ระบบสวัสดิการที่มีอยู่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานและมีความเป็นธรรมเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น

เป็นต้นว่า โพสต์ทูเดย์ได้นำเสนอความไม่ชอบมาพากลในการบริหารงานในกองทุนประกันสังคม เกี่ยวกับโครงการจัดหาและดำเนินการระบบงานสารสนเทศแรงงานมูลค่า 2,355.3  ล้านบาท ซึ่งเป็นการนำโครงการเก่ามูลค่า 2,800 ล้านบาท ซึ่งถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดไปเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า นายไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ อดีตเลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม มีความผิดวินัยและอาญาในฐานะผู้อนุมัติโครงการ และต่อมา อ.ก.พ.กระทรวงแรงงานก็มีมติให้ปลดนายไพโรจน์ออกจากราชการ

แต่สำนักงานประกันสังคมก็เล่นแร่แปรธาตุให้มีการเดินหน้าโครงการใหม่ที่ไม่ต่างจากเดิม เพียงแค่ลดลงเงินงบประมาณลงมาเท่านั้น ทั้งที่เม็ดเงินนับแสนล้านบาทในกองทุนประกันสังคมมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนที่มีอยู่ถึง 9.7 ล้านคน

นอกจากนี้แล้ว โพสต์ทูเดย์ยังได้ค้นพบว่าในแต่ละปีมีผู้ประกันตนที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม ได้ร้องเรียนการบริการของสถานพยาบาลเหล่านี้มากถึง 2000-3000 เรื่อง  ปัญหาของผู้ประกันตนแต่ละรายมีชะตากรรมเสมือนพลเป็นเมืองชั้นสอง หลายรายที่อาการหนักถูกกักจากสถานพยาบาลไม่ส่งตัว รวมถึงยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเอง

ในทางกลับกันกระทรวงแรงงานในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานประกันสังคมกลับเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้เห็นชอบการขยายสิทธิผู้ประกันตนไปยังคู่สมรสและบุตรอีก 5.88 ล้านคน นั่นหมายถึงประชาชนในระบบบัตรทองจะถูกโยกสิทธิไปอยู่กับประกันสังคมแทน ทั้งที่การบริการของระบบประกันสังคมยังถูกร้องเรียนจำนวนมาก ทำไมจะต้องโยกบุคคลกลุ่มนี้ไปอยู่ในความดูแล

คำถามของเราก็คือนโยบายดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้สถานพยาบาลเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคมหรือไม่  เพราะพบว่าสถานพยาบาลเอกชนมีส่วนแบ่งเม็ดเงินแต่ละปีไปมากถึง 7,483.50 ล้านบาท หรือคิดเป็น 53 % จากเม็ดเงินทั้งหมด 14,119.82 ล้านบาท

สำหรับบริการบัตรทองในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.  แม้จะเป็นระบบที่เปิดทางให้ประชาชนได้เข้าถึงการรักษามากที่สุด แต่ในความเป็นจริงก็ยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณที่ สปสช. ต้องแบกภาระค่าหัวเพิ่มมากทุกปี แต่ขณะเดียวกันมาตรฐานการรักษาแม้จะดีกว่าระบบประกันสังคม แต่ก็ยังจำเป็นต้องปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ เพิ่มจำนวนโรคและวงเงินในการรักษาให้คลอบคลุมทั่วถึงมากยิ่งขึ้น เพราะสมาชิกบัตรทอง 40 กว่าล้านคนยังไม่ได้รับบริการที่เท่าเทียมและเป็นธรรมอยู่จำนวนไม่น้อย

ระบบสวัสดิการข้าราชการ ที่ได้สิทธิในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามจริง แม้จะอำนวยความสะดวกให้ข้าราชการได้มาก แต่ก็พบว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการก็เพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยปีล่าสุดงบประมาณถึง 7 หมื่นล้านบาท มีการเบิกจ่ายยาที่ไม่สมเหตุสมผล มี “กระบวนการยิงยา” ของสถานพยาบาลเพื่อผลประโยชน์ของผู้บริหารโรงพยาบาล โดยบริษัทยาเข้ามาเกี่ยวข้อง

การเบิกจ่ายงบประมาณที่สูงมากขึ้นตกเป็นภาระทางการคลังอย่างมาก ทำให้นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้สั่งให้มีการรื้อระบบสวัสดิการโดยรวมให้ได้มาตรฐาน รวมถึงเป็นการลดภาระงบประมาณของรัฐลงด้วย

ล่าสุด(เดือนตุลาคม 2552)ทางกระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลางได้เสนอสูตรในการปรับรื้องบประมาณสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการในขั้นตอนแก้กฎหมาย ขณะที่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) ก็พยายามผลักดันให้มีการรวม 3 กองทุนเข้าด้วยกันเพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกัน

การนำเสนอข่าวในประเด็นเหล่านี้ของโพสต์ทูเดย์ก็เพื่อให้รัฐบาลเห็นความสำคัญในการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลของประชาชนตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับ ให้ประชาชนได้เข้าถึงการบริการในแต่ละระบบมากขึ้น มีคุณภาพและได้มาตรฐานเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งหาทางปิดรูรั่วการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐในแต่ละปีลงเพื่อมีความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น