กองบรรณาธิการจุลสารราชดำเนิน
สื่อภูมิภาคจังหวัดต่าง ๆ ได้สะท้อนมุมมอง การทำงานหน้าสื่อมวลชนในโอกาสวันที่ 5 มีนาคม “ วันนักข่าว” ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นในแวดวงวิชาชีพ ที่สื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาท อุตสาหกรรมสื่อภาพรวมได้รับผลกระทบอย่างหนัก สำนักข่าวทั้ง ทีวี หนังสือพิมพ์ วิทยุ ลดค่าจ้าง กระทั่งเลิกจ้างสื่อภูมิภาคจำนวนมาก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายคนต้องลาจากวิชาชีพนี้ไปอย่างน่าเสียดาย บ้างต้องเปลี่ยนไปทำอาชีพเพื่อความอยู่รอด และทำข่าวเป็นอาชีพรองแทน
0สื่อปิด/อยู่รอดลำบาก ทำข่าวเหลือแค่จิตอาสา
สวาท เกตุงาม ผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำ จ.สระแก้ว กล่าวว่า สถานการณ์สื่อ ในปัจจุบัน สื่อ ในอดีต เมื่อ 30 ปีให้หลัง มีเพียงสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อทีวี และสื่อวิทยุ แต่มาถึงยุคปัจจุบัน มีสื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญมากทีส่งผลให้สื่อสิ่งพิมพ์ ทีวีและวิทยุ แทบล้มละลาย สื่อหลายสำนักต้องเลิกกิจการไป ยิ่งเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด ยิ่งทำให้สื่อได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้น
เขากล่าวว่า เมื่อสื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้ามามีบทบาท คนนิยมการสื่อสารทางออนไลน์ ใช้โทรศัพท์ มือถือ สมาร์ทโฟนติดต่อสื่อสาร และ ค้นหาข้อมูลต่างๆ ตามที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องพึ่งพาข้อมูลข่าวสารจาก สื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ รวมทั้งสื่อทีวี และสื่อวิทยุกระจายเสียงเหมือนแต่ก่อน
ข่าวสารที่นำมาป้อนจากผู้สื่อข่าวประจำ หรือ นักเขียน แต่เมื่อสื่อออนไลน์ เข้ามาแทนที่ ความต้องการของนักเขียน นักข่าวภูมิภาค เริ่มลดลง จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้นักข่าวอีกต่อไป
สื่อหลายสำนักต้องปลดพนักงาน และปลดผู้สื่อข่าวออก เพื่อลดค่าใช้จ่าย ส่งผลกระทบต่ออาชีพผู้สื่อข่าว จนไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ผู้สื่อข่าวยุคสื่อสารทางออนไลน์ จึงเป็นเพียงผู้สื่อข่าวที่ทำข่าวเพียงเพื่อจิตอาสาเท่านั้น
“ผู้สื่อข่าวในปัจจุบันต้องปรับตัวเองเสนอข่าว ถูกต้อง รวดเร็ว ไม่บิดเบือน หากนำเสนอข่าวที่มีคู่กรณี ต้องนำเสนอทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อสร้างความเชื่อถือให้กับผู้เสพสื่อทุกคน และทั้งคู่กรณี และยังพบผู้สื่อข่าว หลายคนเสนอข่าวที่เป็นเพียงฝ่ายเดียว จึงมักถูกมองคนทั่วไปว่า ขาดจรรยาบรรณ โดยมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น การนำเสนอข่าว ของนักข่าวจะต้องนำเสนอรอบด้าน ถูกต้องและเป็นกลาง เพื่อให้สังคมยอมรับ ตลอดไป” สวาท กล่าว
0ยุคทองค่าข่าวพุ่ง 6 หมื่นปัจจุบันเหลือไม่กี่พัน /ทำเกษตรอาชีพเสริม
สนทะนาพร อินจันทร์ ผู้สื่อข่าวจังหวัดฉะเชิงเทรา อยู่ในวิชาชีพกว่า 20 ปี กล่าวว่า ในอดีตรายได้ของผู้สื่อข่าวส่วนภูมิภาค ค่อนข้างดีพอสมควร ในการทำงานข่าวขั้นต่ำจะอยู่ที่ 16,000 บาท/เดือน สูงสุดบางเดือน ถึงกว่า 50,000 – 60,000 บาท ผู้สื่อข่าวยังสามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการทำข่าวได้ จนสามารถเลี้ยงตัวเองได้
แต่ ปัจจุบัน การจ่ายค่าข่าว สำนักพิมพ์ หรือ กองบก.หรือเจ้าของสื่อจ่ายให้ผู้สื่อข่าวน้อย ส่วนใหญ่มุ่งเน้นที่การขายยอดวิวผู้ชม ทำให้รายได้ค่าข่าวลดลงมามาก บางเดือนแทบจะได้ไม่ถึง 10,000 บาท น้อยกว่าครึ่งแทบไม่พอกิน แม้ว่า นักข่าวภูมิภาคต้องทำหลายสังกัด หลายฉบับพร้อมกันในคราวเดียว แต่ก็เพื่อให้เกิดรายหลายทางช่วยพยุงความอยู่รอดได้ แต่ก็ไม่เพียงในปัจจุบัน ต้องพยายามหาอาชีพสุจริตอื่นทำ ส่วนตัวปัจจุบัน นอกจากทำข่าวแล้ว ได้หันมาทำการเกษตรเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์น้ำโดยการเลี้ยง ปลาทับทิม ปลานิล เลี้ยงกุ้ง และ ปลากระพงเป็นบางส่วน
สนทะนาพร ให้ข้อคิดว่า การที่ทางสำนักข่าว สำนักพิมพ์ จะรับคน เข้าทำงานข่าวประจำในแต่ละจังหวัดจะต้องคัดกรองให้มาก เพราะหลายครั้งมีการรับคนทำโซเชียลเข้าไปทำงานข่าว ทำให้ชอบเสนอข่าวเน้นเรื่องดราม่า สร้างกระแสในสังคม ต้นสังกัดควรสืบค้น ประวัติพฤติกรรมย้อนหลังของคนที่ทำข่าวด้วย
“อยากให้เจ้าของสื่อ กองบรรณาธิการ ช่วยจรรโลงสังคมนำเสนอข่าว ที่เกิดประโยชน์มากกว่าเกาะกระแสโซเชี่ยล ดราม่าทางสังคม สะท้อนแง่มุมการสร้างเสริมปัญญามากกว่า” นายสนทะนาพร กล่าว
อชัถยา ชื่นนิรันดร์ ผู้สื่อข่าวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การทำงานสื่อมวลชนภูมิภาคในจังหวัดภูเก็ต ในยุคข้อมูลข่าวสารที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานมาก เกิดการแข่งขันกันที่ความรวดเร็วในการนำเสนอ ตื่นตัวในการทำข่าวที่น่าสนใจในเหตุการณ์ต่างๆที่สำคัญ
สิ่งสำคัญ การทำงานหน้าที่ผู้สื่อข่าว ต้องนำเสนอข่าว ยึดถือจรรยาบรรณในวิชาชีพเป็นสำคัญ คำนึงถึงคุณภาพเนื้อหาของข่าวบนความถูกต้อง ซึ่งได้ยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอด ทุ่มเท เต็มที่ในการทำงาน
เธอ กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไม่ดีกระทบต่อค่าตอบแทนในการทำข่าวลดน้อยลงมากจากอดีตที่เคยได้รับแต่ยังไม่ย่อท้อทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวต่อไปด้วยยังมีความหวังหากเศรษฐกิจดีขึ้นคงกลับมาดีเหมือนเดิม ซึ่ง ผู้สื่อข่าวต่างจังหวัดมีแต่ค่าข่าวเท่านั้นที่ได้รับ ไม่มีประกันสังคม ไม่มีประกันอุบัติเหตุ เหล่านี้ ต้องดูแลตัวเอง ตราบใดที่ยังคงทำหน้าที่สื่อมวลชน คนทำข่าว
0ข่าวปลอม มีแต่ดราม่า ยุคตกต่ำ –การตรวจสอบน้อย
ภาณุเมศ ตันรักษา สื่อมวลชนภูมิภาคที่ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอเป็นกำลังใจกับนักวิชาชีพสื่อสารมวลชนในทุกแขนงเนื่องในโอกาสวันนักข่าวประจำปี 2564 ซึ่งแต่ละปีก็จะมีกิจกรรมต่างๆเพื่อรำลึกและให้เกียรติกับวิชาชีพนี้ตลอดมา ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างถาโถมและเร็วเกินคาดในยุคนี้ทำให้อาชีพหรือคนทำอาชีพนี้ต้องเผชิญความท้าทายอย่างมาก หลายคนต้องเปลี่ยนอาชีพเปลี่ยนวิถีใหม่ หลายคนยังรักและมุ่งมั่นก็เดินหน้าต่อไป เป็นกำลังใจกัน เพราะเชื่อว่า ข่าวสารที่ดีต้องมีให้กับประชาชนและสังคมได้ตระหนักเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ดีต่อไป และผู้นำข้อมูลข่าวสารที่ดีสร้างสรรค์สื่อไปหาประชาชนในสังคม ยังจำเป็นต้องมีวิชาชีพสื่อสารมวลชนอยู่ตลอดไป
ภาณุเมศ กล่าวว่า จากการที่ได้ทำอาชีพสื่อมวลชนมากว่า 25 ปีได้ผ่านเหตุการณ์สำคัญๆมาหลายยุคสมัย การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ แต่ช่วง 2-3 ปีมานี้เห็นได้ชัดเจนว่า บริบทต่างๆ ที่เกี่ยวกับสื่อมวลชนเปลี่ยนไปมาก และมิใช่แค่องค์กรสื่อที่เรารู้จักในอดีตทั้ง สิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ ต่อด้วยออนไลน์ ตอนนี้ทุกคนกลายเป็นสื่ออย่างอิสระมากกว่าที่เคยเป็นมาด้วยซ้ำ เพราะก่อนอาจมีเรื่องของจรรยาบรรณวิชาชีพ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การที่จะเป็นองค์กรสื่อขึ้นมาต้องมีกระบวนการเหล่านี้ แต่ปัจจุบันถูกดิสรัปชั่นอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการบริโภคหรือเสพสื่อและข้อมูลที่โลกออนไลน์ โซเชียลทั้งหลายกำลังกลืนบทบาทของสื่อกระแสเดิมเกือบหมดสิ้น สื่อบนโซเชียลถูกเอามาใช้โดยผู้มีอิทธิพลทางการเงิน เศรษฐกิจ การเมือง มากขึ้น
ปรากฎการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดข่าวเท็จ ข้อมูลปลอม ว่อนอยู่ไปทั่ว และเข้ากันง่ายเพราะแค่มือถือเครื่องเดียวก็ทำได้ทุกอย่างในยุคนี้ และโลกมาเผชิญวิกฤตโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ถึงขั้นล้างโลกจนเพิ่มทวีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสังคมให้เปลี่ยนเร็วขึ้นอย่างมาก อย่างที่เรากำลังเห็นและเผชิญตอนนี้แบบแทบไม่ทันตั้งตัว ใครปรับตัวเรียนรู้ได้เร็วก็อยู่รอด จึงไม่แปลกที่เราเห็นทั้งการล้มและก้าวเดินของสิ่งต่างๆ ในสังคมเวลานี้ รวมทั้งวิชาชีพ สื่อมวลชน หรือนักข่าวด้วย
ภาณุเมศ กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นคือ กฎกติกาที่เคยใช้มันล้าสมัยต้องปรับแก้ไขด่วน และผู้ใดที่จะมาทำวิชาชีพสื่อก็ต้องมีกติกามิใช่ใครทำก็ทำจนมั่ว ข่าวสารที่ออกมา มอมเมาเอาแต่ดราม่า สถาบันความเป็นสื่อที่ต้องตรวจสอบการบริหารงานของรัฐหรือองค์กร ผู้คนสาธารณะ การสร้างและให้องค์ความรู้ที่สร้างสรรค์จะหายไป ไม่ต้องพูดถึงความน่าเชื่อถือ “ผมมองว่าเป็นยุคที่ตกต่ำของวิชาชีพนี้อย่างมาก องค์กรสื่อขาดความเข้มแข็ง กฎกติกาไร้ทิศทาง สื่อวิชาชีพต้องมาก้นโซเชียล อนาคตเห็นได้เลยว่าจะเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่จะไร้ราคาความน่าเชื่อถือ และมันก็สะท้อนถึงผลการลงทุนหรือประกอบการ จนส่งผลถึงรายได้ของคนในอาชีพนี้ ยิ่งสื่อท้องถิ่นหรือภูมิภาคที่กว่า 80 % คือตัวแทนของส่วนกลางมีรายได้จากค่าข่าว 2-3 ปีมานี้หลายคนต้องเปลี่ยนอาชีพเพราะรายได้หายไปกว่า 80-90 % ซึ่งยังมีอีกหลายเรื่องที่คนสื่อต้องหันมามองตนเองและทบทวนหลายอย่างก่อนจะเป็นตำนานในเร็ววันนี้
0องค์กรสื่อต้องควบคุม “จริยธรรม – คุณธรรม” ในการทำงาน
มานิตย์ สนับบุญ อายุ 52 ปี ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.ปราจีนบุรี ยาวนานกว่า 32 ปี กล่าวว่า ตนเองยังมีจิตใจมุ่งมั่นในงานสื่อสารมวลชน เพราะศึกษาโดยตรงด้านนี้ จบด้านวารสารศาสตร์และการประชาสัมพันธ์อนุปริญญาวิทยาลัยครูฉะเชิงเทรา และ ระดับปริญญาโทนิเทศศาสตร์มาบัณฑิต จากมาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
นอกจาก รับราชการครูเป็นงานประจำแล้ว ยังใช้ความรู้ด้านนิเทศศาสตร์ เป็นผู้สื่อข่าวพร้อม ๆ กัน มองว่าในยุคสื่อสารออนไลน์นี้ นักข่าวภูมิภาคต้องทำงานให้รอบด้านในการนำเสนอข่าว เพียงแค่รู้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร ยังไม่เพียงพอ ต้องเพิ่ม ความลึก รอบด้าน และ รอบคอบ เพิ่มอีกเท่าตัว ตลอดรวมถึง ควรคำนึงประโยชน์สื่อสารเพื่อการพัฒนา ในทางจรรโลงสังคมเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ลดกระแสดราม่า หรือไร้ประโยชน์ลง
เขา กล่าวว่า ในฐานะนักข่าวภูมิภาค การเฟ้นหาแหล่งข่าวที่จะป้อนข่าวให้กับทางส่วนกลาง หรือ สำนักพิมพ์ ควรเฟ้นหาบุคลากร ที่มีคุณภาพ คุณธรรม ให้ประชาชน สังคมมีที่พึ่งพา ส่วนคนที่จะมาเป็นสื่อควรดูทั้ง ระดับการศึกษา ประสบการณ์การทำงาน ไม่ใช่เพียงแค่สื่อสารได้ก็รับเข้าทำงานเพียงอย่างเดียว ที่สำคัญคือ องค์กรวิชาชีพสื่อต้องควบคุม วดขัน จรรยาบรรณในการทำงานของสื่อด้วย
ด้านผศ.อมรา พงษ์ปัญญา อดีตอาจารย์สาขาวิชานิเทศศาสตร์มาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า นักข่าว หรือ สื่อมวลชนไทยในปัจจุบัน เก่ง และ เครื่องไม้เครื่องมือ ใช้ประโยชน์ในการสื่อสารได้หลากหลาย ทันสมัย ไม่เหมือนสมัยก่อน คนโบราณ
ส่วนในด้านของจรรณยาบรรณ ก็ยังมีเหมือนเดิม เพียงแต่คุณภาพของคน ที่ไม่ใช่เฉพาะสื่อในทุกอาชีพ จรรยาบรรณ มันลดลง แต่คนที่เขาดีดำรงคุณธรรมในแง่จรรยาบรรณก็มี แต่น้อย เพราะมันมีทุนนิยม บริโภคนิยม เข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างว่าคือ สื่อ ก็ไปตามกระแส มีการเลือกข้าง ไม่เป็นกลาง ตามหลักทฤษฎีวิชาการ ที่เราเรียน ทั้งนี้ อยากฝากถึงสื่อว่า หากมีโอกาสจะดำรงไว้ในเรื่องคุณธรรม หรือ สิ่งความถูกต้อง แม้มันจะเอียงไปบ้าง ก็ให้นำมาใช้ ให้นึกถึงบ้านเมืองไว้ อย่าไปตามกระแสมากนัก