“66 ปีสมาคมนักข่าวฯ ความท้าทายในการกำกับกันเอง ขององค์กรสื่อ”

“สื่อมวลชนมีหน้าที่รายงานตามจริงไม่ใช่รายงานตามใจ”

 มงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย บอกว่าความท้าทายแต่ละยุคสมัยของสื่อไม่เหมือนกัน สมัยนี้ความท้าทายมาหลายทางไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแพลตฟอร์มที่เปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ความรับรู้ของประชาชนในสังคมในกลุ่มผู้ชุมนม ที่มีต่อบทบาทการทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าว ก็มีการถามกันว่าสื่อมวลชนมีไว้เพื่ออะไร ผมว่าถ้าไม่เอาอารมณ์เข้าไปชี้วัดก็เป็นสิ่งดีที่สังคมจะได้หันมาสนใจ และเจ้าขององค์กรหรือสถาบันนั้นจะได้ถือโอกาสอธิบาย แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือได้ทบทวนตัวเองว่าความจริงแล้วมีไว้เพื่ออะไร

“บทบาทหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่เราดำรงมาตลอดและค่อนข้างยืนหยัดไม่เปลี่ยนแปลง เช่น ต่อสู้เรื่องบทบาทในสิทธิและเสรีภาพในการทำหน้าที่สื่อมวลชน ดูแลสวัสดิการ และเรื่องของการเลิกจ้างที่ค่อนข้างจะมากในยุคนี้ รวมไปถึงการจัดประกวดข่าว ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการส่งเสริมการทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริง ในลักษณะของข่าวสืบสวนสอบสวน ซึ่งทุกวันนี้ยอมรับว่าน้อยลง เพราะสถานการณ์ของเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อ เข้ามาสร้างแรงกดดันไม่น้อย”

นายกสมาคมนักข่าวฯ  ยังให้ความเห็นถึงมุมมอง ความรับผิดชอบบนเสรีภาพของสื่อว่า ช่วงหลังประชาชนสื่อสารเองและถูกเข้าใจว่านี่คือสื่อสารมวลชน ทั้งที่ความจริงแตกต่างกัน สื่อสารมวลชนจะทำงานเป็นองค์กรร่วมมีลักษณะของกองบรรณาธิการมีนักข่าวภาคสนาม มีหัวหน้าข่าวที่จะคัดกรองข่าวและกองบรรณาธิการข่าวที่จะดูแลภาพรวมของข่าว เพราะฉะนั้นการรับผิดชอบเป็นลักษณะองค์รวม และตัวสื่อมวลชนเองก็จะถูกครอบคลุมด้วยร่มของจรรยาบรรณสื่อ นี่คือสิ่งที่สังคมตรวจสอบ เพราะสื่อมวลชนสื่อออกไปแล้วจะมีผลต่ออิทธิพล และความคิดความเชื่อ การตัดสินใจของสังคม แต่อย่างไรก็ตาม สังคมต้องมีบุคคลที่ทำหน้าที่สื่อสารมวลชนเพื่อสื่อความจริงให้สังคมตัดสินใจนั่นคือความจำเป็นที่ยังอยู่ทั่วโลก

“หลายคนเข้าใจว่าผู้เล่าข่าว คือ นักข่าวแต่ความจริงแล้วเป็นคนละความหมาย ผู้เล่าข่าวก็เหมือนคนเขียนบทความ เขาจะรับผิดชอบความคิดเห็นของเขาในเนื้อหาด้วยนามปากกา หรือชื่อของเขา แต่นักข่าวใส่ความคิดเห็นหรือความรู้สึกอารมณ์ไม่ได้ นี่คือความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุด ดังนั้นอยากจะเรียกร้องผู้ชุมนุมถ้าไม่พอใจการรายงานข่าว ของผู้เล่าข่าวก็อย่าไปกดดันกับนักข่าวเพราะว่าเป็นคนละหน้าที่กัน”

สำหรับภาพรวมการทำงาน ของสมาคมนักข่าวฯในหนึ่งปีข้างหน้า ที่ผมเล็งเห็นและค่อนข้างยากลำบาก คือ พยายามที่จะประคับประคองสถานการณ์การรายงานข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง อย่างระมัดระวังและครอบคลุมความจริงโดยบริบท คือ องค์รวมที่เกิดขึ้นทั้งหมดต้องนำมากลั่นกรอง ฉะนั้นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่เขาถามว่า “สื่อมวลชนมีไว้ทำไม” ผมอยากจะสรุปว่าสื่อมวลชนมีหน้าที่รายงานตามจริงไม่ใช่รายงานตามใจ  ไม่ใช่ว่าสื่อออกไปแล้วคุณไม่ชอบ คุณก็บอกว่าสื่อนี้ไม่รายงานตามข้อเท็จจริงที่คุณเห็น แต่มันมีข้อเท็จจริงที่คุณไม่ได้เห็น แต่ว่าองค์กรสื่อทำงานมีนักข่าวไปหลายๆจุด และประมวลซึ่งอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่คุณเห็นข้างหน้า

นอกจากนี้สมาคมฯจะผลักดันให้มีการประกวดข่าวออนไลน์ในปีหน้า ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อ และเพื่อที่จะให้สังคมเห็นว่า สื่อออนไลน์ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชน บนพื้นฐานของหลักความรับผิดชอบต่อสังคม และจรรยาบรรณวิชาชีพ การเจาะลึกเนื้อหา ซึ่งเรื่องนี้ก็จะต้องเดินสายพูดคุยกับองค์กรสื่อต่างๆให้เข้าใจในกติกาของทุกส่วน

อย่างไรก็ตามสมาคมนักข่าวฯได้ปรับเกณฑ์การรับสมัครสมาชิกที่เป็นนักข่าวออนไลน์มา 2 ปีแล้ว ตัวชี้วัดคือถ้าคุณเป็นสำนักข่าวแน่นอน คุณต้องรายงานข่าวสม่ำเสมอ ต้องมีที่ตั้งแน่นอนไม่ใช่เว็บไซต์ที่อาศัยคนอื่นอยู่ ต้องมีความมั่นคงในเชิงของการเป็นเว็บไซต์ของคุณเอง Pages ของคุณเองอย่างสม่ำเสมอ  ที่สำคัญมากคือความรับผิดชอบทางนิตินัย ถ้าคุณหมิ่นประมาทใครคุณต้องรับผิดชอบเขาได้ ตามตัวได้ ที่จะให้เขาร้องเรียน หรือเยียวยาทางกฎหมายได้ ไม่ใช่คุณไปตีหัวเขาแต่พอเขาจะฟ้องคุณก็ปิด Pages และหายไปอย่างนี้ ไม่เรียกว่าสื่อมวลชนบนความรับผิดชอบ

มงคล บอกด้วยว่า สมาคมฯยังดูแลเรื่องการมอบปลอกแขน ให้แก่นักข่าวภาคสนาม เพื่อแสดงตัวด้วยความบริสุทธิ์ใจว่ามาทำหน้าที่  เพราะตอนนี้สำนักข่าวเกิดขึ้นมาก การที่ต้องมีปลอกแขนไม่ได้ทำง่ายๆขึ้นมาแล้วแจกไป แต่มีระบบของการคัดกรองและมีตัวเลขรันนิ่งนัมเบอร์ มีการรับผิดชอบของกองบรรณาธิการ เวลาสูญหายก็ต้องแจ้งว่าเบอร์ของปลอกแขนนี้สูญหายไปแล้ว ไม่อย่างนั้นจะเกิดปรากฏการณ์นำปลอกแขนของนักข่าวไปแอบใช้โดยวัตถุประสงค์ทางการเมือง แอบแฝงเข้ามาเป็นมือที่สาม ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ระมัดระวังไม่ให้เกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องทำความเข้าใจ กับทั้งผู้ชุมนุมและตำรวจว่า การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนนั้นเป็นพยานในสถานการณ์จริง ที่จะบอกเล่าให้สังคมเชื่อว่า เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นตรงนั้น โดยที่ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายและไม่ใช่การเข้าไปเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง            

ติดตามรายการ #ช่วยกันคิดทิศทางข่าว ได้ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย ความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5

ฟังรายการวิทยุ https://fb.watch/442Q_vvPmH/

#ช่วยกันคิดทิศทางข่าว

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

#สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ #Thaijournalistsassociation