อุทธรณ์ พลกุล

 สายเลือดนักสู้ ร่วมอุดมการณ์ประชาธิปไตย 

            อุทธรณ์ พลกุล  คนที่นักหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่เรียกว่า "พี่ธรณ์"  เป็นเพื่อนสนิทคู่เคียงกับ อิศรา อมันตกุล  จากประวัติเป็นคนราชบุรี เริ่มต้นเรียนหนังสือที่โรงเรียนอัสสัมชัญ มาต่อเตรียมธรรมศาสตร์รุ่นแรก เมื่อปี 2481 ในปีนี้เองได้เข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ โดยเป็นนักข่าวให้แก่หนังสือพิมพ์อิทธิธรรม และทำงานอยู่หนังสือพิมพ์ต่างๆ อีกหลายฉบับ เช่น เสรีภาพรายวัน และประชาธิปไตยรายวัน เป็นต้น

ที่นสพ.ประชาธิปไตยนี่เอง อุทธรณ์ พลกุล พบเพื่อนนักข่าวชื่อ "กำพล วัชรพล"  ปี 2493 วันหนึ่ง กำพล วัชรพล กำเงิน 3,000 บาท ถามว่า เงินก้อนนี้ทำอะไรได้บ้าง อุทธรณ์ พลกุล ตอบว่า "ทำหนังสือพิมพ์ดีที่สุด เรามันสายเลือดหนังสือพิมพ์อยู่แล้ว จะไปทำอาชีพอื่นนกระไรได้"

            แล้วสองคนก็เริ่มต้นทำหนังสือพิมพ์ข่าวฉบับแรก เป็นรายสัปดาห์ก่อน  แล้วค่อยๆ ขยายเป็นรายวันฉบับเล็กๆ ด้วยราคาขาย 8 หน้า 50 สตางค์  ปี 2493 ก็กลายมาเป็น "เสียงอ่างทอง" และ "ไทยรัฐ" ยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยในปัจจุบันนี้

            อุทธรณ์ พลกุล สืบสายเลือดนักต่อสู้ เพื่อสิทธิเสรีภาพมวลชนของคุณพ่อมาเต็มตัว นอกจากบทบาทในฐานะคนหนังสือพิมพ์ ด้วยการเขียนบทความติเตียนและแนะนำทางออกที่ดีที่สุดแก่ผู้บริหารบ้านเมืองแล้ว ยังได้ร่วมขบวนการต่อต้านลัทธิเผด็จการครองเมืองไทยของทหาร และของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามอย่างเข้มแข็งอีกด้วย อุทธรณ์ พลกุล จึงถูกจับกุมในข้อหากบฏสันติภาพ เมื่อปี 2495 ติดคุกอยู่ 5 ปี จึงถูกปล่อยโดยรัฐบาลเดียวกัน เมื่อปี 2500   ออกมาเป็นอิสระอยู่ได้ปีเดียว  ปี 2501 ก็ถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  จับเข้าคุกอีกครั้ง ด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์  ถูกจำกัดอิสรภาพยาวนานถึงร่วม 8 ปีทีเดียว เพิ่งมาได้รับอิสรภาพเมื่อปี 2508 รวมถูกคุมขังทั้ง 2 ครั้ง 12 ปีพอดี

            เมื่ออุทธรณ์ พลกุล ออกจากคุกลาดยาว  ได้กลับเข้ามาทำงานที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐของกำพล วัชรพล และปฏิบัติหน้าที่คอลัมนิสต์อย่างเข้มแข็ง ใช้นามปากกา "งาแซง"   เขียนสะกิดสะเกาทิ่มแทงนักการเมืองที่กุมอำนาจรัฐอย่างตรงไปตรงมา  

            มาล้มป่วยและจบชีวิตด้วยโรคหัวใจ โรคปอด และกระเพาะอาหารเป็นแผล อันผลพวงเรื้อรัง มาจากการติดคุกยาวนานหลายปี กระทั่งถึงแก่กรรม 14 กันยายน 2519 อายุ  57 ปี