วิเชียร แก้วเปล่ง

 

ขนิษฐา เทพจร

{xtypo_quote}วิธีการหาข่าวขึ้นอยู่กับเทคนิคของนักข่าวแต่ละคน ของผมนี่ อาศัยความอ่อนโยน นิ่มนวลเข้าหา และต้องพยายามทำความรู้จัก คุ้นเคยกับแหล่งข่าว มีอะไรคุยกัน แลกเปลี่ยนกัน นานเข้าก็สนิทกัน เหมือนเป็นเพื่อนกัน แต่ในความสนิท เราต้องอย่าลืมหน้าที่{/xtypo_quote}

นั่นเป็นแนวทางการทำงานของ  คนข่าว  ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น นักข่าวอาวุโส แห่งยุค อย่าง  วิเชียร แก้วเปล่ง  นักข่าวอาวุโสประจำรัฐสภา ที่ในปัจจุบันได้เกษียณอายุจากการทำหน้าที่เป็น  หมาเฝ้าบ้าน  แห่งสภาหินอ่อนแล้ว ด้วยวัย 80 ปีเต็ม เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ที่ผ่านมา

หากจะนับอายุการทำหน้าที่เพื่อประชาชน โดยการเป็นผู้สื่อข่าว ของ  นักข่าวรุ่นดึก  ที่ก้าวเข้ามาในวงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 จากการเป็นช่างภาพให้กับหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย จนถึงพุทธศักราชนี้ก็ล่วงเลยมากว่า 5 ทศวรรษแล้ว ซึ่งถือว่าเป็น  นักข่าวประจำรัฐสภา  ที่อยู่มายาวนานที่สุด จนบรรดาข้าราชการประจำรัฐสภา นักการเมืองรุ่นเก่าๆ เจอหน้าต้องยกมือไหว้ทักทาย

เมื่อเอ่ยถามว่าที่อยู่ในวงการนักข่าวมายาวนานขนาดนี้ เพราะ  ทนอยู่  หรือ  อยู่ทน ป๋าเชียร ตามชื่อที่เจ้าหน้าที่ในรัฐสภา ไม่เว้นแต่นักข่าวรุ่นหลังใช้เรียก ฉีกยิ้มบนใบหน้าอย่างมีความสุขก่อนที่จะตอบว่า  ผมรักอาชีพนี้ แม้ว่าตอนที่เข้าวงการใหม่ๆ อาจจะเป็นเพราะด้วยความจำเป็นของการดิ้นรนเพื่อมีชีวิตอยู่ และการที่ไม่ได้เรียนมาสูง ก็ได้อาชีพนักข่าว ความรู้ต่างๆ ที่จารึกไว้บนแผ่นกระดาษ เป็นครู และพอวันนี้ได้มายืนอยู่ตรงจุดนี้ ก็ได้รู้ว่าอาชีพนักข่าวได้ให้อะไรกับผมมากเกินกว่าที่คนในอาชีพอื่นๆ จะสัมผัสถึง

แม้ว่าเริ่มแรกของการทำงานเมื่อปี พ.ศ. 2500 จะพบกับอุปสรรค เพราะอยู่ในช่วงของการปฏิวัติรัฐประหาร ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ทหารมีอำนาจการหาข่าวลำบาก การรายงานข่าว จะไปเดา รายงานแบบผิดๆ หรือเขียนอะไรที่กระทบกับฝ่ายทหารไม่ได้ เพราะแท่นพิมพ์ โรงพิมพ์ อาจถูกปิด และนักเขียน นักข่าวมีสิทธิ์ถูกจับได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักข่าวสมัยนั้นกลัวกันมาก แต่พอหลังจากพ้นการปฏิวัติแล้วนักข่าวก็เป็นอิสระมากขึ้น  ป๋าเชียรเล่าย้อนความตอนที่เป็นนักข่าวใหม่

เป็นนักข่าวในรัฐสภาสมัยที่ยุคทหารครองเมืองนั้น  วิเชียร  เล่าด้วยว่า ลำบากยิ่งกว่าหาข่าวของคณะปฏิวัติ เพราะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะมาจากการแต่งตั้ง ส่วนใหญ่เป็นพวกข้าราชการประจำ ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ค่อยให้ข่าว เพราะเขาถือว่าไม่ใช่นักการเมืองไม่จำเป็นต้องหาเสียงกับใคร ดังนั้นก็ต้องมีวิธีการหาข่าวเฉพาะตัว โดยการเข้าไปคุย แนะนำตัวว่ามาจากที่ไหน เสนอเรื่องที่สนใจอยากรู้ว่าเป็นอย่างนี้ แต่อยากทราบข้อเท็จจริง ข้อมูลเพิ่มเติมเป็นอย่างไร ถามเขาว่าพอจะพูดได้ไหม ซึ่งบางครั้งต้องใช้ลูกตื้อนิดหน่อย แต่ข่าวที่ได้ก็เป็นแค่ข่าวรูทีน ข่าวเจาะอย่าไปหวัง เพราะไม่มีใครพูด

ด้วยความที่ทำข่าวในรัฐสภามาตั้งแต่ที่เริ่มเข้าสู่สนามข่าว  นักข่าวผมสีดอกเสลา  จึงเป็นที่รู้จักของบรรดานักการเมืองที่วนเวียนเข้า-ออกทำหน้าที่เป็นผู้แทนราษฏรในรัฐสภา และกับนักการเมืองบางคนถึงกับเรียกได้ว่าสนิทกันจนเรียกได้ว่าเป็นเพื่อนกัน เนื่องจาก  นักข่าวอาวุโส  ถือว่าแนวทางการทำข่าวที่จะทำให้ได้ข่าวที่สมบูรณ์แบบจะต้องทำตัวสนิทสนมกับแหล่งข่าวเข้าไว้

{xtypo_quote}วิธีการหาข่าวขึ้นอยู่กับเทคนิคของนักข่าวแต่ละคน ของผมนี่ อาศัยความอ่อนโยน นิ่มนวลเข้าหา และต้องพยายามทำความรู้จัก คุ้นเคยกับแหล่งข่าว มีอะไรคุยกัน แลกเปลี่ยนกัน นานเข้าก็สนิทกัน เหมือนเป็นเพื่อนกัน แต่ในความสนิท เราต้องอย่าลืมหน้าที่ ข่าวที่นำเสนอต้องเป็นกลางตรงไปตรงมา แม้จะเรียกได้ว่าเป็นเพื่อนต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะอย่างที่รู้กันว่า พวกนักการเมืองเขี้ยวลากดินกันทุกคน{/xtypo_quote}

และการที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นนักข่าวประจำรัฐสภา ก็ต้องอยู่เฝ้าสภาหินอ่อน ไม่ว่าจะเปลี่ยนหน้านักการเมืองไป ซึ่งต้องยอมรับว่า  คนที่อาสาเป็นตัวแทนของประชาชน  ก็ย่อมมีบุคลิก พฤติกรรมที่แตกต่างกัน  นักข่าวแห่งสภาหินอ่อน  บอกเล่าถึงการปรับตัวว่า ตนใช้การเรียนรู้ด้วยตนเอง ถ้าเป็นบุคคลที่คุ้นเคยอันดับแรกต้องอ่อนน้อม ถ่อมตน เจอแหล่งข่าวก็ยกมือไหว้ ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ แต่ถ้าเป็นแหล่งข่าวที่ไม่คุ้นเคย หรือ เพิ่งเคยเห็นหน้า เข้าไปครั้งแรกต้องแนะนำตัว มาจากโรงพิมพ์ไหน ถ้าจะเอาข่าว ก็ต้องพูดในทำนองว่า สนใจเรื่องนี้ ท่านมีอะไรแนะนำ หรือ ให้ข้อเท็จจริงอะไรได้บ้าง พูดจานุ่มๆ เข้าไว้ อาศัยลูกตื้อนิดหน่อย เพราะนิสัยคนไทยเราเจอคำพูดดีๆ เดี๋ยวก็หลุดออกมาเอง

{xtypo_quote}ด้วยความเป็นคนข่าว เป้าหมายหลักก็คือนำข้อเท็จจริงมานำเสนอประชาชน แต่ในฐานะที่ผมทำข่าวในรัฐสภามานาน และมีความสนิทกับนักการเมือง นอกจากจะมุ่งเอาข่าวอย่างเดียวแล้ว บางครั้งก็ได้ให้คำแนะนำกับ ส.ส. ให้รู้จักวิธีการนำเสนอข่าว ว่าแบบไหนที่ทำให้ได้เป็นข่าว หรือ ไม่มีผลกระทบกับตัวเอง ทั้งนี้เพื่อสร้างความไว้ใจ และ สร้างแหล่งข่าว ดังนั้น การเป็นนักข่าวที่ดี อย่านึกแค่ว่าแค่ได้ข่าวถือเป็นสุดยอดแล้ว{/xtypo_quote}

ปรมาจารย์แห่งวงการนักข่าวสภา  บอกด้วยว่า ทุกๆ ปีจะมีนักข่าวหน้าใหม่เข้ามาในรัฐสภา ส่วนมากเป็นคนหนุ่ม-สาว ถือว่าเป็นคนต่างวัย กับแหล่งข่าว ที่อายุคราวพ่อ -คราวปู่ นักข่าวหน้าใหม่เหล่านั้นก็ต้องทำตัวให้สุภาพ ใช้คำพูดที่นุ่มนวล มีหางเสียง และไม่ทำตัวเหมือนทนาย ซักนู่น ซักนี่ เพราะแหล่งข่าวบางคนอาจจะไม่ชอบ พอจะไปถามประเด็นอื่นครั้งต่อไป เขาก็จะไม่ให้ รวมไปถึงอย่าถามประเด็นตรงๆ จี้จุด ต้องค่อยๆ ไป ดูทิศทางให้ดี

สิ่งที่สำคัญที่สุด สำหรับนักข่าวมือใหม่ ก่อนที่จะไปทำข่าวแต่ละชิ้น จะต้องไปศึกษาเบื้องหน้าเบื้องหลังของข่าว ว่ามีความเป็นมาอย่างไร ความเคลื่อนไหวขณะนี้คืบหน้าอะไรบ้าง ต้องศึกษาข้อมูลให้เจ๋งๆ เพราะหากไม่รู้ภูมิหลังข่าว ก็จะไม่มีประเด็นไปถามแหล่งข่าว อาจจะทำให้ถูกมองว่าเป็นตัวตลก หรือไม่มีข้อมูลพอที่จะไปตอบโต้กับแหล่งข่าวได้ หากแหล่งข่าวถามย้อนกลับมา ก็จะถูกมองได้ว่าไม่ได้ทำการบ้านมา ซึ่งการทำข่าวแต่ละวันนอกจากจะต้องมีประเด็นแล้ว ก็ต้องต้องหัดถาม ไม่ใช่ก้มหน้าก้มตาจดลูกเดียว หากเป็นเช่นนั้นแล้วก็เท่ากับว่าไม่ได้พัฒนาตัวเอง และไม่สามารถก้าวข้ามจากการเป็นนักข่าวฝึกหัดเป็นคนข่าวเก่งๆ ได้

{xtypo_quote}นักข่าวมือใหม่ที่อยากพัฒนาเป็นคนข่าวตัวจริงนั้น นอกจากศึกษาเรียนรู้ ด้วยตัวเอง แล้ว การขอคำแนะนำจากนักข่าวรุ่นพี่ในพื้นที่ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้การฝึกฝนตนเองเป็นไปอย่างถูกหลัก แต่ถ้าฝึกฝนไปได้ระยะหนึ่งกลายเป็นว่าเราท้อกับงานที่ทำ สิ่งที่จะช่วยได้ คือ กลับมาถามตัวเองว่า ใจเรารักที่จะเป็นนักข่าวรึเปล่า หากมีใจรักก็ต้องสู้{/xtypo_quote}

สำหรับเรื่องกฎกติกาที่ควบคุม  นักข่าว  ที่เรียกว่าจรรยาบรรณนั้น อยากให้รู้ไว้ว่า เป็นกฎที่เขียนขึ้นเพื่อคุมความประพฤติของนักข่าวบางคนที่ชอบแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตัว ดังนั้นอยากให้พิจารณาด้วยตัวเองดูว่า เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้มีปัญหากับการทำงาน

อย่างนักข่าวบางคนเคร่งในจรรยาบรรณมากเกินไป น้ำแก้วหนึ่งก็ไม่ได้ ให้ข้าวก็ไม่ยอมกิน แต่ทำเนียบไทยถือว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เป็นการติดสินบนอะไร บางคนบอกปัดอย่างเดียว จะทำให้การทำข่าวก็ลำบาก ใช่ว่าเราไปกินของเขา แล้วเราต้องให้ความช่วยเหลือเขียนข่าวให้ มันไม่ใช่ แม้ว่าเขาจะให้ข่าวมา แต่ถ้าข่าวไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมก็ไม่เอา แต่ความสัมพันธ์ส่วนตัวก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เคร่งเกินไปก็มีปัญหากับการทำงาน หากเรามีเจตนาบริสุทธิ์ซะอย่าง ก็ไม่มีปัญหาอะไร  ครูคนข่าวที่ชื่อวิเชียร กล่าวในตอนท้าย

//////////////////////////////

ประวัติ

ชื่อ วิเชียร แก้วเปล่ง

เกิดเมื่อ วันที่10 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2471

สถานที่เกิด กรุงเทพมหานคร

ประวัติการทำงาน

พ.ศ. 2485 เป็นลูกจ้างร้านถ่ายรูป ชื่อโฟโต้อาร์ต

พ.ศ. 2496 เป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์หลักเมือง

พ.ศ. 2500 เป็นนักข่าวประจำรัฐสภา หนังสือพิมพ์หลักเมือง

พ.ศ. ........ ย้ายมาเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย

หลังจากหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยขายกิจการ ได้เป็นนักข่าวพาณิชย์ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ตามลำดับ

พ.ศ. 2520 ผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

พ.ศ. 2550 เกษียณอายุจากการเป็นนักข่าวที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ และได้รับตำแหน่งเป็นนักข่าวอาวุโสพ.ศ. 2550 เป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ตงฮั้วยิดป่อ ย่านตลาดน้อย