คำชี้แจงจาก “สสส.” ชงงานให้ “สถาบันอิศรา”

ที่มา (วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2557 เวลา 20:50 น. ข่าวสดออนไลน์ )




อ่านระหว่างบรรทัด คำชี้แจงจาก "สสส." ชงงานให้ "สถาบันอิศรา"

ภายหลังจากสถาบันอิศรา ภายใต้มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ถูกเปิดเผยโครงการด้านปฏิรูปและพัฒนาระบบสื่อสารเพื่อสุขภาวะทั้งสิ้น 14 โครงการ มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2551-2558 งบประมาณทั้งสิ้น 96,470,000 บาท โดยมีกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นผู้สนับสนุน

วงการนักสื่อสารมวลชนก็ตั้งคำถามถึงความโปร่งใส และหลักการของ สสส. ในประเด็นเรื่อง "สุขภาวะ" ทันที ว่าสอดคล้องกับเนื้อหาข่าวสารจากสำนักข่าวอิศราอย่างไร


รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม (สสส.) อดีตรองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ดูแลและอนุมัติโครงการงบประมาณรวมเกือบร้อยล้านบาท เปิดห้องที่สำนักงาน สสส. ให้สัมภาษณ์ยาวเหยียด

ตั้งแต่ประเด็นเรื่อง "สุขภาวะ" หลักการในการให้ทุน ความสัมพันธ์กับองค์กรสื่อ ไปจนถึงมุมมองเรื่องประชาธิปไตย

ตกลงว่าความหมายของ "สุขภาวะ" คืออะไร

ส่วนตัวมองว่าการให้ความหมายกว้างๆ น่าจะเป็นผลในทางบวกไม่ใช่หรือ แต่ถ้านิยาม "สุขภาวะ" ของ สสส. เราหมายถึง Healthy and well being ซึ่งไม่ได้หมายถึงร่างกายที่ไม่เจ็บป่วยอย่างเดียว หรือแค่การรักษาพยาบาลที่ดี แต่รวมถึงคุณภาพชีวิตในการเป็นอยู่ คือ อยู่เย็นเป็นสุข

ตรงนี้ สสส.ไม่ได้คิดขึ้นมาเอง แต่นำมาจาก ที่ประชุมองค์การอนามัยโลก ก่อนออกมาเป็นกฎบัตรออตตาวา (Ottawa Charter) เริ่มขึ้นในปี 1986 ที่ประเทศแคนนาดา

จุดเด่นของกฎบัตรออตตาวา ยังพูดถึงพาร์ทเนอร์ชิพ เป็นการสร้างความร่วมมือ การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับชุมชนไปถึงระดับนโยบาย หมายความว่า สสส. ไม่ได้ทำงานอยู่ฝ่ายเดียว แต่ทำงานกับเครือข่ายต่างๆ ทั่วประเทศ สรุปว่า สสส. ต้องการให้คนในสังคมมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดี รวมถึงสุขภาพทางปัญญาด้วย ซึ่งบทบาทของสื่อเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ช่วยสร้างสุขภาวะทางปัญญา

หลักการให้ทุนสนับสนุนสื่ออยู่ตรงไหน


ที่กล่าวมาข้างต้น นำมาสู่การออกแบบยุทธศาสตร์งานของ สสส. ซึ่งที่ประชุมบอร์ดกองทุนฯ ได้กำหนดให้มีทั้งสิ้น 15 แผนงาน อาทิ แผนควบคุมการบริโภคยาสูบ แผนควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แผนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว ส่วนแผนงานที่เกี่ยวข้องกับสื่อโดยตรงอยู่ในแผนที่ 10 ชื่อแผนสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2546

สำหรับแผนที่ 10 มียุทธศาสตร์อยู่ 2 ส่วน คือ 1.Media for Health คือ สนับสนุนสื่อที่มีพลังสร้างสรรค์ เพื่อให้เนื้อหาด้านสุขภาวะไปถึงกลุ่มเป้าหมายของ สสส. เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่เป็นต้น และส่วนที่ 2.Healthy Media คือ ส่งเสริมการทำงานให้มีระบบสื่อที่ดี กรณีสถาบันอิศราอยู่ในปีกหลังนี้

หัวใจสำคัญคือ สสส.จะจับมือกับพันธมิตรสื่อ ร่วมกันทำงานเพื่อไปสู่เป้าหมายให้มีสื่อที่ดี ส่งเสริมให้คนทำสื่อมีศักยภาพมีจริยธรรมในวิชาชีพ

เราทำงานกับวิชาชีพสื่อ ไปจนถึงสื่อพื้นบ้าน สื่อภาคประชาชน สื่อศิลปวัฒนธรรม สื่อเด็ก สื่อคนด้อยโอกาส เราเข้าไปหนุนเสริมให้เกิดสื่อที่เหมาะสมกับกลุ่มคนเหล่านี้ อย่ามองว่าเราเททั้งหมดลงไปที่สถาบันอิศรา เราทำงานกับกลุ่มชายขอบเยอะมาก แนวทางคือเราเลือกจะทำงานกับหน่วยงานสื่อที่มีพันธกิจในการพัฒนาศักยภาพสื่ออยู่แล้ว เราจะไม่ทำงานกับองค์กรสื่อรายฉบับหรือรายช่องที่ทำหน้าที่นำเสนอเนื้อหาเท่านั้น

ตัวเราเองเป็นอาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์มาทั้งชีวิต ยึดหลักการมาตลอดว่าไม่แทรกแซงเนื้อหาข่าวสารของสื่อ เราเคารพการทำงานของสื่อทุกที่ รวมถึงไม่มีโครงการไปสนับสนุนการผลิตเนื้อหาข่าวสารของสื่อด้วย

ทำไมถึงเน้นการสนับสนุนไปที่สถาบันอิศรา

เพราะสถาบันอิศราทำงานกับสมาคมสื่อหลายองค์กรมาก ทั้งสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ สภาการหนังสือพิมพ์ และชมรมนักข่าวต่างๆ รวมทั้งเครือข่ายนักวิชาการนิเทศศาสตร์ด้วย การที่ สสส. สนับสนุนสถาบันอิศราต้องเข้าใจด้วยว่าสถาบันอิศราไม่ใช่แค่คนไม่กี่คน แต่เป็นตัวแทนของกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ตรงนี้ พอนึกภาพออกใช่ไหม

ใน 14 โครงการ ระยะกว่า 7 ปี งบประมาณกว่า 96 ล้านบาทที่สนับสนุนสถาบันอิศรา มีรายละเอียดเป็นอย่างไร

ต้องบอกว่า 14 โครงการใหญ่เล็กไม่เท่ากัน อาจจะแบ่งได้เป็น 3 ประเภท 1.โครงการส่งเสริมระบบสื่อ เป็นโครงการใหญ่ เฉลี่ยปีละ 12 ล้านบาท ตรงส่วนนี้สถาบันอิศราทำงานร่วมกับภาคีสื่ออื่นๆ ด้วย 2.โครงการจัดอบรมหลักสูตรผู้บริหารงานสื่อ ทั้งรุ่นต้น รุ่นกลาง และรุ่นสูง แต่ละปีมีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน

และ 3.โครงการระยะสั้น ดำเนินการประมาณ 6-12 เดือน เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของเครือข่ายต่างๆ ที่จะดึงสื่อมาร่วมเป็นภาคีในการขับเคลื่อนสังคมบางประเด็น ไม่ได้เป็นโครงการประจำ อย่างเช่น 3 ปีก่อน มีการขับเคลื่อนเรื่องปฏิรูปสังคม ตอนนั้นภาคีพันธมิตรทั้งหลายเห็นความจำเป็นต้องมีสื่อมาร่วมด้วย เลยคิดว่าจะทำอย่างไรให้สื่อเห็นความสำคัญ

เราจึงเห็นว่าต้องทำเวทีเสวนาการมีส่วนร่วมของสื่อมวลชนในการปฏิรูป และไม่ใช่สื่อในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่หมายถึงสื่อทั้งประเทศ ก็ไปจัดมาทุกภูมิภาค โครงนี้ไม่ใช่โครงการหลักและใช้เงินน้อยมาก ใช้เพียงหลักแสนด้วยซ้ำไป แต่มีสื่อมาเข้าร่วมเป็นร้อยคน โครงการลักษณะนี้ได้มอบให้สถาบันอิศราเป็นผู้ดำเนินการจัดเวที

ถ้าพูดรวมๆ 14 โครงการ เกือบร้อยล้านอาจจะดูเยอะ จึงต้องแยกประเภทให้ดู จะเห็นจุดประสงค์ เป้าหมายและวิธีดำเนินงานที่แตกต่างกัน และคนที่เข้ามามีส่วนร่วมก็แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นเวลา สสส. จะทบทวนแต่ละโครงการ เราจะมีการตรวจสอบเยอะมาก ทั้งการตรวจสอบการใช้เงิน สสส. ส่งผู้ตรวจสอบบัญชีไปดู ซึ่งทำตามขั้นตอนของสำนักตรวจเงินแผ่นดิน (สตง).ทุกขั้นตอน

และโครงการต่างๆของ สสส.ก็ต้องส่งให้ สตง. ตรวจเช่นเดียวกัน แต่ละปีก็ต้องทำรายงานส่งให้คณะรัฐมนตรีตรวจสอบ ก่อนส่งต่อให้สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาตรวจสอบด้วย และก่อนที่จะไปถึงขั้นนั้น เราเองก็ต้องส่งรายงานให้คณะกรรมการบริหารแผนตรวจสอบเช่นกัน ซึ่งมีการประชุมทุกเดือน มากกว่านั้นยังมีคณะกรรมการติดตามการทำงานของภาคต่างๆ อยู่เสมอ แล้วต้องมีผลประเมินด้วย

สถาบันอิศราเสนอโครงการดังกล่าวมาด้วยตัวเอง ?

ไม่ใช่, เราเป็นคนไปชวนมาเอง การให้ทุนของ สสส. มีแบบเชิงรุกและเชิงรับ ที่ผ่านมา 90 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนโครงการเป็นเชิงรับ ซึ่งเปิดโอกาสหน่วยงานต่างๆ หรือประชาชนทั่วไปเสนอเข้ามา

ส่วนอีก 10 เปอร์เซ็นต์เป็นเชิงรุก ซึ่งจะมีงบประมาณที่สูงกว่า งบประมาณ 38 ล้านบาทต่อปี เพราะถือว่าเป็นการพัฒนางานร่วมกัน เชิงรุกที่ว่านี้ สสส. จะเสาะแสวงหาภาคีที่มีศักยภาพ สถาบันอิศราอยู่ในกลุ่มนี้ เวลาจะชวนใครมาเราต้องเห็นว่าเขามีบทบาทอยู่แล้ว

แต่ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีโครงการมากที่สุด ทั้งกระทรวงต่างๆ หน่วยงานภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ลดหลั่นกันลงมา ไม่ใช่สถาบันอิศราเป็นเบอร์ 1 ในการผูกขาดการได้ทุน

หรือถ้าเปรียบเทียบกว่าทำไมประชาไท หรือ TCIJ ได้ทุนน้อยกว่า ต้องบอกว่าขอบเขตงานไม่เท่ากัน ต้องยอมรับว่าสถาบันอิศราเป็นเครือข่ายที่ใหญ่กว่า แต่โครงการไหนที่ขอบเขตงานใกล้เคียงกัน ทุนก็เท่ากัน

ส่วนหนึ่งเพราะ สสส.มีความคุ้นเคยกับสถาบันอิศรามาก่อน จึงง่ายต่อการเป็นภาคีร่วมกัน?

พูดว่าง่ายคงไม่ได้ คำนี้ดูอันตรายไปหน่อย เพราะกระบวนการของ สสส.เยอะมากอย่างที่อธิบายไปแล้ว ต่อให้เป็นภาคีเก่าแก่ทำงานด้วยกันมาหลายปี แต่ก็ต้องมีการประเมินผลทุกปี เริ่มนับศูนย์ใหม่หมด หากผลประเมินออกมาไม่ดี หรือตรวจสอบพบว่าทุจริตบางเรื่อง ก็ไม่ง่ายที่จะให้ทุนต่อได้ และหากสถาบันอิศราเปลี่ยนผู้อำนวยการ เราก็ไม่สนใจ ถ้าองค์กรยังรักษาคุณภาพการทำงานได้ดี

แต่ละโครงการ สสส.ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของ ความสำเร็จของ สสส. อยู่ที่หน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพโครงการ สามารถดำเนินพันธกิจของเขาต่อไปได้เอง หรือสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง เราก็จะค่อยๆ ถอนตัวออก

สสส.มีหลายหมื่นโครงการ อาจจะไปหารือกันต่อว่าข้อมูลที่คนทั่วไปสามารถสืบค้นได้ในเว็บไซต์ สสส. ควรมีอะไรบ้าง แทนที่จะมีแค่ชื่อโครงการ ก็อาจเพิ่มรายละเอียดสั้นๆ เข้าไปด้วย

ทราบว่าสถาบันอิศรา ภายใต้มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย มีคุณมานิจ สุขสมจิตร ประธานฯ และยังเป็นที่ปรึกษากองทุนด้านการตลาดและการสื่อสารเพื่อสังคมของสสส.ด้วย ?

เรามีระเบียบในการระมัดระวังเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่ มีคณะกรรมการตรวจสอบที่เข้มข้นมาก ไม่เคยมีประเด็นเรื่องผลประโยชน์กรณีนี้

และโครงการเหล่านี้คุณมานิจไม่เคยเกี่ยวข้องเลย การดำเนินการต่างๆ คุณมานิจก็มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสถาบันอิศรามาดำเนินการ และคุณมานิจจะออกตัวเสมอว่า หากมีวาระที่มาจากสถาบันอิศรา จะขอไม่ร่วมประชุมด้วย

ส่วนที่ตั้งข้อสงสัยเรื่องทุนที่ให้สถาบันอิศรา ผลการตรวจสอบบัญชีจากสตง.ทุกปีที่ผ่านมา ยังไม่พบข้อบกพร่อง ผลการประเมินทางด้านเนื้อหาโครงการก็ยังเป็นไปตามเป้าหมายทุกประการ

ความสัมพันธ์ส่วนตัวของสสส.กับองค์กรภาคี มีผลในการประเมินของโครงหรือไม่

ไม่มี, ยืนยันได้เลย ถ้ามีตัวเองอยู่ไม่ได้แล้ว เชื่อว่ามีเกียรติมีศักดิ์ศรีพอที่จะไม่เอาตัวเองมาทำให้เกิดความเสียหาย บอกแทนทุกคนใน สสส.ได้เลยว่าการมาเริ่มทำงานที่นี่ แต่ละคนไม่ได้เริ่มจากศูนย์ บางคนมาจากรองอธิบดี รองปลัด บอกตรงๆว่าคนที่มาทำงานที่นี่ไม่ได้ต้องการมาแสวงหาประโยชน์ แต่ต้องการมาสร้างคุณประโยชน์ เป็นแบบนี้จริงๆ

อย่ามอง สสส.เป็นแค่องค์กรให้ทุน อยากให้มองว่า สสส.เป็นสถาบันทางสังคมที่ชวนทุกคนมาทำงานขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขดีกว่า สมัยนี้พูดคำว่าดีหรือเลวก็อันตราย (หัวเราะ) ใช่ไหม ใช้คำภาษาชาวบ้าน ง่ายๆว่าอยู่เย็นเป็นสุข  และส่วนตัวก็เป็นคนที่ถือเรื่องอุดมการณ์มากๆ ไม่ใช่เรื่องดีหรือเลว แต่เป็นเรื่องคำมั่นสัญญา หลักการ จรรยาบรรณวีชาชีพ รับรองได้ว่าตัวเองจะไม่ปล่อยให้ สสส.เพลี่ยงพล้ำกลายเป็นฝ่ายแทรกแซงสื่อเสียเอง

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองมีผลต่อทุกมิติของสังคม ที่ผ่านมา สสส.เองก็ถูกตั้งคำถามว่าลอยอยู่เหนือความขัดแย้ง เช่น วันนี้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ สื่อก็มีน้ำเสียงในข่าวต่างกันไป นอกจากศักยภาพขององค์กรสื่อที่ไปสนับสนุน เอาชัดๆ ว่า สสส.ได้พิจารณาทัศนคติด้านประชาธิปไตยขององค์กรภาคีบ้างหรือไม่

เราเป็นองค์กรที่ไม่มีผลประโยชน์ทางการเมือง และไม่ได้เป็นหน่วยงานตรวจสอบสื่อ เป็นหน้าที่ของผู้บริโภคสื่อทุกคน และต้องสะท้อนกลับไป หากเห็นว่าสื่อทำหน้าที่บกพร่อง ผู้บริโภคต้องมีความเข้มแข็งในการตรวจสอบ

บทบาทของ สสส. คือทำให้ผู้บริโภคมีความคุณภาพ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้บริโภคจะต้องไปตรวจสอบเรื่องเลือกตั้ง อันนี้ไม่เกี่ยว

คำถามนี้เป็นเรื่องอัตวิสัย ตอบลำบาก ต่อให้บอกว่ามีเส้นแบ่งที่ชัดเจน คุณก็อาจจะไม่เชื่ออีก แต่เอาเป็นว่าเรายังสามารถทำงานกับสื่อทุกค่ายได้ เราไม่ได้ทำงานกับค่ายความคิดเดียว แต่สนับสนุนทุกกลุ่มที่มีศักยภาพและมีความตั้งใจ มีความหวังดี อยากร่วมกันทำงานขับเคลื่อนสร้างเสริมสุขภาวะ

และนอกจากภาคีที่ทำงานด้านพัฒนาศักยภาพสื่อ ตามยุทธศาสตร์ของเรา คือ อยากเห็นสื่อแข็งแรง มีคุณภาพ มีจรรยาบรรณ ยังมีอีกกลุ่มที่เราทำงานด้วยคือกลุ่มผู้บริโภคสื่อ ซึ่งเราอยากเห็นความตื่นตัวในการตรวจสอบสื่อเช่นกัน

ส่วนสื่อจะเชิดชูประชาธิปไตยหรือไม่ ต้องให้ประชาชนเป็นฝ่ายตัดสิน สิ่งที่เราส่งเสริมผู้บริโภค คือ เป็นผู้รับสื่อที่เท่าทัน ประเมินและหาเหตุผลในการนำเสนอข่าวสารของสื่อนั้นๆ ได้ด้วยตัวเอง

ที่ถามประเด็นประชาธิปไตย เราคิดว่าประชาธิปไตยก็เป็นอุดมการณ์ทางสังคมที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข เป็นเป้าหมายของสังคมสุขภาวะ ถูกต้องไหม แต่ สสส.ไม่ได้มีหน้าที่ไปชี้ผิดหรือถูกว่าคุณเป็นสื่อที่ไม่มีประชาธิปไตย ตรงนี้เป็นหน้าที่ตัดสินของประชาชน

เราเพียงช่วยโอบอุ้ม สร้างบรรยากาศนำพาไปในทิศทางที่เราคิดว่าเป็นสังคมประชาธิปไตย เราคิดแบบนี้ เราไม่สามารถเอาความคิดเห็นส่วนตัวทางการเมืองเข้ามากระทบกับองค์กร ทำแบบนั้นไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะเราเป็นสถาบันทางสังคมที่เป็นของทุกคน ไม่ได้แยกว่าใครสีอะไร ถ้าอยากร่วมกันทำให้สังคมอยู่ดีมีสุข เรายินดีเลย