คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปเปิดเวทีฟังสื่อภาคสนาม ยันไม่เกี่ยวกับสปช.

คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปเปิดเวทีฟังสื่อภาคสนาม ยันไม่เกี่ยวกับสปช. เผยเตรียมนัดสื่อสายรัฐสภาคุยต่อ ข้อเสนอย้ำเรื่องจริยธรรม-กำกับกันเอง-สวัสดิการ” ด้าน “นายกฯส.นักข่าวอาชญากรรม”หนุนปฏิรูปเพราะสื่อโดนกดดันโดย “อินดี้มีเดีย”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 16.00น. ที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน(ตรงข้ามรพ.วชิระ) มีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของสื่อมวลชนภาคสนาม กับคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป ที่มีนายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็นประธานคณะทำงาน นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นายสุเมธ สมคะเน ประธานสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย นายมานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อและกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นคณะทำงานและร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็น

ทั้งนี้ในเวทีแลกเปลี่ยนดังกล่าว มีสื่อมวลชนภาคสนามเข้าร่วมพูดคุยจำนวนหนึ่ง อาทิ นางยุวดี ธัญญศิริ ผู้สื่อข่าวอาวุโสสายทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งตัวองค์วิชาชีพสื่อ อาทิ สมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ประเด็นที่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นส่วนใหญ่เป็นประเด็นเรื่องการคงไว้ซึ่งความเป็นวิชาชีพ การยืนยันในเสรีภาพของสื่อมวลชน ข้อกังวลในการกำกับดูแลกันเองที่ยังเป็นปัญหาในการเรื่องของการบังคับใช้จริยธรรมที่จะมีกลไกอย่างไรเพื่อให้สังคมยอมรับและสื่อยอมรับกันเอง รวมถึงปัญหาช่องว่างระหว่างนักข่าวรุ่นใหม่กับองค์กรสื่อที่มีระยะห่างในเรื่องของการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เรื่องสวัสดิการของสื่อมวลชนไทยที่มีปัญหาจนเป็นช่องว่างเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับเรื่องจริยธรรม  และการดูแลสื่อใหม่ สื่อโซเชียลมีเดียร์ และสื่อการเมือง เพราะเป็นปัญหาของบ้านเมืองจนปัจจุบัน

โดยนายเทพชัย กล่าวเปิดเวทีว่า สื่อมวลชนจะถูกหยิบยกเป็นประเด็นการปฏิรูป ถ้าพวกเราไม่ทำอะไรเลยก็จะมีคนมาทำอะไรบางอย่างให้เรา แม้เราจะมีตัวแทนองค์กรสื่อเข้าไปเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) แต่ดูทิศทางแล้วก็ไม่อาจมั่นใจได้ทั้งหมดว่าควรจะเป็นอย่างที่เราต้องการให้เป็นแค่ไหน และเชื่อว่าทิศทางจะเป็นการควบคุมเรามากกว่าส่งเสริม ส่วนสาเหตุที่มีการมาพูดคุยกันวันนี้ก็เพราะที่ผ่านมามีการตั้งคำถามจากสังคมที่เป็นลักษณะเชิงลบมากขึ้น ดังนั้นคณะทำงานต้องการรับฟังสื่อภาคสนาม เพราะเชื่อว่าการพูดคุยกันเองจะมีความหมายมากกว่า ดีกว่าปล่อยให้กระบวนการเป็นไปเอง เพราะผู้ได้รับผลกระทบไม่ใช่แค่คนทำสื่อแต่สังคมจะได้รับผลกระทบด้วย

“ทำอย่างไรให้สื่อเรียกความเชื่อมั่น เรียกความน่าเชื่อถือกับสังคม เพราะสังคมเขาจะมองสื่อทุกครั้งที่มีวิกฤติในบ้านเมือง เพราะเขามองว่าสื่อช่วยหาทางออกได้ นี่จึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของวงการสื่อ ดังนั้นการปฏิรูปไม่ใช่จะมีแค่ภาพเป็นเรื่องของที่สื่อทำกันเองเท่านั้น เพราะต้องดึงความไว้วางใจกลับมาต้องดึงสังคมมามีส่วนร่วม ด้วยกลไกที่อิสระและสังคมมีส่วนร่วมได้จริง”นายเทพชัย กล่าว

ประธานคณะทำงานเพื่อการปฏิรูป กล่าวยืนยันว่า คณะทำงานเราอิสระจากสปช. แม้มีคนขององค์กรสื่อเข้าไปเป็นสปช. การคิดประเด็นอาจจะเหมือนกันแต่กลไกการทำงานต่างกันไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะคณะทำงานและสื่อภาคสนามต้องมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของสปช. ไม่ใช่ว่าเออออตามสปช.ทั้งหมด เพราะเราต้องทำให้คนเชื่อว่าเรามีกลไกแล้วบังคับใช้ได้จริง อย่างไรก็ตามตนหวังว่าจะจัดเวทีแบบนี้ได้อีก และคณะทำงานพร้อมจะไปพูดคุยกับสื่อภาคสนาม และกำลังประสานไปพูดคุยกับสื่อมวลชนสายรัฐสภาในเร็วๆนี้

ด้านนายจักร์กฤษ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่าลืมว่ามีประกาศคสช.ฉบับที่ 97 และ 103  ที่ยังมีปัญหาในการทำงานของสื่อที่ต้องผลักดันให้ ยกเลิกให้ได้ไม่ว่าด้วยวิธีไหนก็ตาม ส่วนเรื่องการที่องค์กรสื่อกำกับกันเองนั้น เมื่อเราดูแลกันไม่ได้ ก็จะเป็นช่องทางให้รัฐเข้ามาควบคุม ที่มีเสียงนี้ดังมากข้น ดังนั้นเราต้องทำให้ชัดเจนและมีผลบังคับใช้ชัดเจน เพราะสภาพภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป ถ้าองค์กรกำกับดูแลกันเองสามารถรวมเป็นสมาพันธ์สื่อสารมวลชนได้จะเป็นปึกแผ่นขึ้น

นายจักร์กฤษ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ชวนคุยคือช่วยกันคิดเรื่องของบทบาทสื่อใหม่ อาทิ โซเชียลมีเดีย สื่อการเมือง ที่นำเสนอทัศนคติการเมืองด้านเดียวก็ถูกเหมารวมว่าเป็นสื่อด้วย ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังจะมีขึ้นมองว่ามาตราที่เกี่ยวกับการยืนยันสิทธิเสรีภาพและการห้ามปิดสื่อต้องยังคง อย่างไรก็ตามมีบางเรื่องที่ในการปฏิรูปที่จะต้องเสนอเป็นแนวทางในการร่างรัฐธรรมนูญที่คณะทำงานต้องรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอผ่านสปช. โดยเรามีเวลาในการเสนอกรอบภายใน 60 วัน ดังนั้นคณะทำงานต้องดำเนินการก่อน 60 วัน ที่จะนำความคิดเห็นเหล่านี้มาประมวลว่าเราต้องมีเครื่องมืออะไรบ้าง และยืนยันว่าแม้คณะทำงานจะได้รับเชื้อเชิญไปทำงานในสปช.แต่เราก็ก็ปฏิเสธ เพราะเราจะวิจารณ์ตรวจสอบได้ไม่เต็มปากเต็มคำ

ส่วนนางยุวดี ธัญญศิริ ผู้สื่อข่าวอาวุโส เสนอว่า กล่าวว่า เห็นด้วยที่สื่อสื่อควรจะมีการปฏิรูป ที่ทำยังไงจะทำให้สื่อมีความสามัคคี มีจุดยืนเหมือนกันในเรื่องของการดำรงคงไว้เรื่องวิชาชีพของเรา การแข่งขันทางธุรกิจก็ว่ากันไป แต่ต้องคำนึงถึงความเป็นวิชาชีพ อย่างเช่นนักข่าวรุ่นใหม่ที่กลัวจะเป็นแค่คนวิ่งข่าว ที่ต้องทำข่าวแข่งกับเวลาให้ได้มาแค่ข่าวเท่านั้น แต่ข่าวดีและตรงประเด็นหรือไม่ไม่รู้ บางครั้งก็ส่งมาแค่ช่างภาพไม่ส่งนักข่าวมาก็มีปัญหากับข่าว ตนจึงห่วงว่าวิชาชีพ ความเป็นนักข่าวจะเหลือหรือไม่

“เรื่องการปฏิรูปต้องปฏิรูปหมดไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ เพราะช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านแบบกู่ไม่กลับแล้ว“นางยุวดี กล่าว

ส่วนนายศิโรจน์ มิ่งขวัญ นายกสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยว่าเราไม่ต้องปฏิรูปเพียงเพราะว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลหรือนายกฯเพราะเราก็ทำมาโดยตลอด ไม่ใช่ว่ามาปฏิรูปเพราะถูกกดดัน ซึ่งความกดดันยุคนี้ถูกบีบโดย “อินดี้มีเดีย” ที่มาจากสื่อออนไลน์ อย่างไรก็ตามหากมีการปฏิรูปแล้วจะมีดัชนีอะไรชี้วัดหรือไม่ว่ามีความคืบหน้าอะไรหรือไม่

ส่วนนายวัชรินทร์ กลิ่นมะลิ รองนายกสมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นการปฏิรูปด้านสวัสดิการของสื่อมวลชนในด้านของการรักษาพยาบาล ที่มองว่าของนักข่าวไทยมีแต่ประกันสังคม ถ้าไม่มีใครมาช่วยเยียวยานอกเหนือจากองค์กร จะต้องออกค่าส่วนต่างในการรักษาพยาบาล