Fake News : ข่าวลวง ข่าวปลอม

มานิจ สุขสมจิตร

ภาคีสมาชิกประเภทวิชาสังคมศาสตร์ สาขาวิชา 

นิเทศศาสตร์ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง

ราชบัณฑิตยสภา


[เสนอต่อที่ประชุมราชบัณฑิตและภาคีสมาชิก

สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสภา วันพุธที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๔]

ทุกๆ วันที่๑เมษายนของแต่ละปีมีปรากฏการณ์ที่เป็นธรรมเนียมของฝรั่งจะเล่นมุกตลก โดยสื่อสารเรื่องโกหกหลอกลวงกันออกสู่สังคม เป็นเทศกาลที่ทุกคนต่างรอคอย และเรียกขานวันที่ ๑ เมษายนว่า เป็น   “วันเมษาหน้าโง่” (AprilFools Day) พอถึงวันรุ่งขึ้น ก็เฉลยว่าเป็นเรื่องไม่จริง เพราะฉนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้รับสารจะต้องใช้วิจารณญาณกันอย่างถ้วนถี่ ว่าข่าวสารที่ได้รับและเป็นเรื่องที่ไม่เคยคาดคิดนั้น เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องปลอม 

หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษในบ้านเรา ก็เคยมีบทบาทในการ  “อำ” เล่นสนุกๆ แบบนี้มาหลายปี  ต่อมาเมื่อมีข่าวลวงข่าวปลอมชุกขึ้นในสื่อประเภทต่างๆ จึงได้เลิกเล่นข่าวลวงข่าวปลอม   “วันเมษาหน้าโง่” เสีย เพื่อไม่ให้คนอ่านสับสน

 แม้ว่าปีที่แล้ว(พ.ศ.๒๕๖๓)จะเป็นปีที่โรคโควิด-๑๙ระบาดไปทั่วโลกทำให้เกิดความวิตกอกแขวนกันไปถ้วนหน้า จนเกิดสำนึกเพื่อแสดงความเคารพต่อผู้คนที่กำลังมีความทุกข์ในการต่อสู้กับโรคระบาดนี้อย่างแสนสาหัส จึงลดดีกรีเรื่องโกหกไม่ให้โลดโผนลงไปมาก ก็ยังมีกลิ่นอายของการโกหกหลอกลวง ในวันที่ ๑ เมษายนกันอยู่ แต่อ่อนดีกรีลง เช่นสถานีวิทยุ F.M. แห่งหนึ่งที่ประเทศอังกฤษ ออกอากาศ “อำ” ให้ประชาชนระวังว่า ดวงจันทร์กำลังวิ่งมาชนโลก แล้วยังออกข่าวว่าสวนสนุกดิสนี่ย์แลนด์ออกประกาศปิดตัวเองในเดือนถัดไป กับข่าวพัฒนาการของเทคโนโลยี ในการปรับปรุง เครื่องบินเจทลำใหม่ของบริษัทหนึ่ง ทำให้เครื่องบินกระพือปีกได้เหมือนนกแล้ว เป็นต้น
            การปรากฎขึ้นของสื่อใหม่คือสื่อสังคมออนไลน์ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารและระบบอินเตอร์เน็ตที่เรียกว่า “Disruptive comunication” [ศัพท์นิเทศศาสตร์ฉบับราชบัณฑิตยสถาน: disruptive communication : การสื่อสารพลิกผัน,การสื่อสารภังควิวัฒน์:  การที่สภาวการณ์วิสัยทัศน์และกรอบความคิดทางการสื่อสารได้รับอิทธิพลจากเทคโนโลยีซึ่งแทรกเข้ามากีดขวางระบบการสื่อสารของมนุษย์จนหยุดชะงักไม่ได้เคลื่อนไปตามทิศทางเดิมเป็นการล่มสลายของระบบเก่าที่มีเค้าเดิมอยู่แต่ก็สร้างสรรค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ที่รวดเร็วและพลิกผันไปสู่สภาวการณ์สื่อสารใหม่] ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพฤติกรรมการเสพข่าวสารของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปโดยผู้คนส่วนใหญ่ หันมาบริโภคข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์กันมากขึ้น

สื่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือการส่งต่อข่าวลวง ข่าวปลอม (Fake News) เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ สุขภาพ ซึ่งพบว่ามีการส่งต่อข้อมูลแบบผิดๆ สูงกว่าร้อยละ ๘๐ จากบรรดาข่าวปลอมทั้งหมด และในระยะหลัง ยังพบเห็นข่าวปลอมเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองหรือข่าวต่างประเทศปลอมอีกด้วย นอกจากนี้ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจอีกว่า ข่าวปลอม ข่าวลวง ในสื่อสังคมออนไลน์ อย่างเช่นทวิตเตอร์ และ ไลน์รวมตลอดถึงอินสตาแกรม ก็มีแนวโน้มที่จะถูก รีทวีตหรือส่งต่อมากกว่าข่าวที่นำเสนออย่างถูกต้อง
            สำนักข่าวอิศรา มูลนิธิพัฒนาการสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ระบุในรายงานเรื่องสถานการณ์ของข่าวลวงและข่าวปลอมว่าหากข่าวลวงและข่าวปลอมแพร่กระจายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่เปิดเป็นสาธารณะให้ทุกคนสามารถมองเห็นได้ เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือทวิตเตอร์แล้ว ข่าวลวงและข่าวปลอมนั้น ก็จะมีความรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะการสนทนาผ่านไลน์, กลุ่มไลน์ หรือกลุ่มเฟซบุ๊กที่เป็น กลุ่มปิด (Private group) ยิ่งมีอันตรายสูง เนื่องจากสมาชิกในกลุ่มปิด ต่างมีความผูกพัน ไว้ใจ เชื่อกันง่ายกว่าคนแปลกหน้า ยิ่งนานวันเมื่อได้ปฏิสัมพันธ์กับคนที่มีความคิดเห็นคล้ายกัน เสพแต่ข้อมูลชุดเดิมๆ ก็จะส่งผลให้ผู้บริโภคเหล่านั้นรับข้อมูลเพียงด้านเดียว และกลายเป็นเลือกรับฟัง หรือเลือกเชื่อเฉพาะในสิ่งที่ตนเองคุ้นเคย หรือถูกจริตเท่านั้น ดังที่เรียกว่าเป็นเสียงก้องในห้องแคบ (echo chamber) คือสภาวการเลือกเสพสื่อ หรือติดตามข่าวสารจากกลุ่มคนที่คิดเห็นเหมือนกับตัวเองเท่านั้น เมื่อฟังบ่อยเข้าก็เผลอนึกไปว่าเสียงของตัวเองนั้น เป็นความจริงอันสูงสุดใครจะล่วงละเมิดไม่ได้และไม่มีที่ว่างเปิดใจรับฟังเสียงที่แตกต่าง อีกปัญหาหนึ่งของการสื่อสารกันอยู่ในกลุ่มที่เป็นกลุ่มปิด (Private group) ซึ่งมีวัยใกล้เคียงกัน เช่นผู้สูงอายุที่มีความเท่าทัน หรือความสามารถเฉพาะในการใช้เครื่องมือในการตรวจสอบค้นหาข้อมูล (Search engine) น้อย อาจมีข้อจำกัดหรือมีศักยภาพน้อยกว่าคนในกลุ่มอื่น ทำให้สมาชิกกลุ่มปิด กลายเป็นส่วนหนึ่งของการแพร่ข่าวปลอมได้เป็นอย่างดี

            อย่างไรก็ตาม การไหลบ่าของข่าวลวง ข่าวปลอม มิได้ลดความรุนแรงลง ตรงกันข้ามกลับมีจำนวนมากขึ้น ไม่เลือกแพร่เฉพาะวันที่ ๑ เมษายนเท่านั้น หากแต่มีการแพร่ทุกวัน เช่นวันที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๔ แทนอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมพ์ ผู้พ่ายแพ้ยับเยิน แต่กลับไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ และเก็บตัวเงียบไม่ยอมปรากฎตัวในพิธีสาบานตนตามธรรมเนียม และในขณะที่ผู้คนทั้งโลกกำลังเงี่ยหูฟังนายโดนัลด์ ทรัมพ์อยู่นั้น จู่ๆ ก็มีเอกสารขนาด A๔ มีตราประจำตำแหน่งประธานาธานาธิบดีเผยแพร่ออกมาพร้อมด้วยลายมือชื่อนายทรัมพ์ที่คล้ายลายมือจริง ประกอบกับสารที่มีเพียงบรรทัดเดียวว่า “Joe, you know I won” (โจ, คุณก็รู้ว่าผมชนะ) สารปลอมฉบับนี้ถูกส่งต่อผ่านสื่อสังคมชนิดต่างๆ กระจายไปทั่วโลก ภายในเวลาอันรวดเร็ว นับเป็นข่าวปลอมและข่าวลวง บรรลือโลกอันสำคัญชิ้นหนึ่ง

คำว่า Fake News พจนานุกรมศัพท์นิเทศศาสตร์ฉบับราชบัณฑิตยสภาให้หมายความว่า 

๑.ข่าวลวง: ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ตรงกับความจริง แพร่กระจายแฝงในรูปแบบการรายงาน ข่าวมักใช้ภาษาเร้าอารมณ์ โดยมีวัตถุประสงค์ให้เชื่อ ๒.ข่าวปลอม: ข่าวที่มีเนื้อหาเป็นเท็จ ปราศจากข้อเท็จจริง ไม่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้ หรืออาจมีเจตนาบิดเบือนข้อมูลไปจากข้อเท็จจริงเดิม 

Claire Wardle จาก First Draft News ซึ่งเป็น องค์กรทำงานต่อต้านข่าวลวง และข้อมูลเท็จ เพื่อสร้างความไว้วางใจ และความจริงในยุค ดิจิทัล ของสหรัฐอเมริกา เธอทำงานร่วมกับหน่วยงานหลายแห่ง ทั้งภาครัฐและเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน ในระดับสากลรวมทั้งเฟซบุ๊กด้วย บอกว่า การที่จะเข้าใจระบบนิเวศของการส่งต่อหรือแชร์ข้อมูลข่าวสารผิดๆ ออกไปนั้น ควรจะต้องทำความเข้าใจกับประเภทของข่าวสาร ข้อมูลเท็จ รวมถึงแรงจูงใจของคนทำ และเนื้อหาเหล่านั้น แพร่กระจายไปได้อย่างไร “ข้อมูลข่าวสารเท็จบางเรื่อง ผู้รับก็ทราบดีว่าเป็นเรื่องไม่จริง แต่ก็อยากจะแชร์กันขำๆ โดยคนที่ถูกล้อเลียน หรือถูกเสียดสีไม่ขำด้วย กลับรู้สึกอาย ถูกดูหมิ่น ถูกประจาน ถูกเกลียดชัง ก็จะกลายเป็น Cyber bullying (การข่มเหงรังแกซ้ำซากด้วยภาพหรือข้อเขียนผ่านสื่อออนไลน์ ที่สร้างความอับอาย และเจ็บปวด แก่ผู้ตกเป็นเหยื่อ-ศัพทฺ์นิเทศศาสตร์ฉบับราชบัณฑิตยสภา) หรือ Hate speech (ประทุษวาจา) ได้ อีกประเภทหนึ่งได้แก่เนื้อหาที่นำไปสู่ความเข้าใจผิดซึ่งอาจทำด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้

Wardle กล่าวด้วยว่า “บางครั้งมีการแอบอ้างเอาบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือน่าเชื่อถือว่าเป็นคนพูด หรือรับรองสิ่งนั้น แล้วยังมีการนำเอาข้อมูลหลากหลายมาเชื่อมโยงกัน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงอาจไม่เกี่ยวข้องกันเลย เช่นนำงานวิจัยที่ไม่เกี่ยวข้องกันไปเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์หรือสินค้าบางอย่างเพื่อมุ่งหวังผลประโยชน์ ในการขายสินค้าให้ได้มากขึ้น รวมทั้งการนำเอาภาพเก่า หรือภาพของเหตุการณ์อื่นมาใส่ในเหตุการณ์เดียวกัน ทำให้ผู้รับสารเข้าใจผิด คิดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ เนื้อหาที่ตั้งใจตัดต่อ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ  รูปภาพ คลิปเสียง คลิปวิดิทัศน์  ไม่ว่าจะกระทำเพื่อความสนุกสนาน สร้างความเชื่อถือ หรือเพื่อผลประโยชน์อื่น ก็ถือเป็นข้อมูลเท็จ ที่ก่อผลกระทบต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคล หรือสังคมโดยรวม ทั้งยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายด้วย”       

ข่าวลวงและข่าวปลอมเหล่านี้ แม้จะมีการพิสูจน์และชี้แจงไปแล้วว่าไม่จริง แต่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งก็ถูกนำมาแชร์บนโลกออนไลน์อีกหลายๆ ครั้ง ได้สร้างความสับสนวุ่นวาย ทำให้เกิดความวิตกกังวล และตื่นตระหนก ทำให้ผู้คนหลงทาง และเข้าใจอะไรผิดเพี้ยนไปหมด

องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization (UNESCO) ได้จัดทำรายงานขึ้นมาฉบับหนึ่งชื่อ Journalism, Fake News & Disinformation: Handbook for Journalism Education and Training” ตีพิมพ์ในปี พศ. ๒๕๖๑ เพื่อเป็นคู่มือการศึกษาและอบรมด้านวารสารศาสตร์ เป็นรายงานแบบองค์รวม จากความเห็นและประสบการณ์ของนักวารสารศาสตร์ที่มีชื่อเสียง เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับข้อมูล เพื่อส่งเสริมการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และการกำกับดูแลตนเองของนักข่าว รายงานของ UNESCO ฉบับนี้ได้หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า Fake News ด้วยเหตุที่คำว่า “ข่าว” (News) นั้นหมายถึงข้อมูลข่าวสารที่ตรวจสอบได้ และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานนี้ ย่อมไม่สมควรเรียกว่า “ข่าว”   [เพราะในทางวิชาการ คำว่าข่าว (News) หมายถึงเหตุการณ์,  ข้อเท็จจริง หรือข้อคิดเห็นที่ได้รับการรายงานออกไปสู่ผู้รับสาร ถ้าเหตุการณ์นั้นไม่มีการรายงานแม้จะมีคนสนใจมากเพียงไร ก็ไม่ถือว่าเป็นข่าว นอกจากนี้การที่จะถือว่าอะไรเป็นข่าวจะต้องมีองค์ประกอบที่แสดงถึงความรวดเร็ว ความใกล้ชิดต่อเหตุการณ์ของผู้รับสาร, ความมีเงื่อนงำ, ความแปลกใหม่, ความขัดแย้ง, ความก้าวหน้า ฯลฯ]
            ดังนั้นถ้าใช้คำว่า  “ข่าวลวง” แล้วจะเป็นคำที่ขัดแย้งในตัวเอง ซึ่งบั่นทอนความน่าเชื่อถือของคำว่าข่าวที่เป็นไปตามมาตรฐาน ฉะนั้นรายงานที่เป็นคู่มือฉบับนี้เพื่อให้เป็นต้นแบบที่ประเทศต่างๆ สามารถนำไปใช้หรือประยุกต์ใช้ จึงเลือกใช้คำว่า “ข้อมูลบิดเบือน” (Disinformation)
            คำว่า “ข้อมูลบิดเบือน” หมายถึงความพยายามในการจงใจ (ส่วนใหญ่เป็นการจัดฉาก) สร้างความสับสน หรือเพื่อควบคุมประชาชน ด้วยการให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งมักเกิดขึ้นควบคู่และคาบเกี่ยวไปกับกลยุทธการสื่อสารต่างๆ และชุดกลวิธีอื่นๆ เช่นการเจาะระบบหรือการทำให้ผู้อื่นหมดความน่าเชื่อถือ ส่วนคำว่า “ข้อมูลที่ผิด” (Misinformation) โดยทั่วไป ใช้เพื่อหมายถึงข้อมูลข่าวสารที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ที่ผลิตขึ้นหรือเผยแพร่ออกไปโดยแตกต่างจากจากงานข่าวที่มีคุณภาพเพราะไม่เป็นไปตามมาตรฐานจริยธรรม วิชาชีพ ขณะเดียวกัน ก็ไม่เหมือนกับรายงานข่าวที่อ่อนแอ 

ลักษณะของ Fake news         
            ในบรรดาข่าวสารที่ไม่เป็นความจริงไม่ว่าจะโดยต้องการให้เป็นข่าวลวง หรือเป็นเพราะมีข้อมูลบิดเบือนใส่ร้ายและชี้นำ จนอาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและขัดแย้ง  ส่งผลให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในสังคม  ด้วยข่าวประเภทนี้ มีข้อเท็จจริงเพียงเล็กน้อย หรือเพียงบางส่วน แต่ขาดบริบทของรายละเอียด หรืออาจเป็นข่าวที่ไม่มีข้อมูลความจริงเลย

            ข่าวลวงข่าวปลอมบางชิ้น อาจมีเนื้อหาที่ตรวจสอบได้จริง แต่ก็มีลักษณะการเขียนด้วยอคติ จงใจให้ร้าย หรือไม่ใส่รายละเอียดที่สำคัญต่อเหตุการณ์ลงในเนื้อหาข่าว หรือนำเสนอจากมุมมองเพียงด้านเดียว
            ข่าวปลอมบางชิ้นก็เป็นโฆษณาชวนเชื่อ ที่จงใจเขียนขึ้นมาเพื่อชี้นำคนอ่าน โดยมีแรงจูงใจทางการเมืองหรืออาจเป็นเพียงแค่ “click bait “ (พาดหัวยั่วให้คลิก) ที่เขียนล่อให้คนเข้ามาอ่านเพื่อเพิ่มยอดวิว โดยมีแรงจูงใจทางการเงิน อยู่เบื้องหลัง ซึ่งน่าจะมีลักษณะ กว้างๆ ๓ ประการคือ
            ๑. มีข้อมูลเท็จ ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงเพียงบางส่วน หรือปราศจากข้อเท็จจริงเลย
           ๒. กระตุ้นให้เกิดการแชร์ออกไป

            ๓. เจตนาจะบิดเบือนหรือปิดบังความจริงด้วยการใช้อารมณ์

ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ คือ ก. เพื่อเป็นการล้อเลียนหรือเสียดสี ข. เพื่อสร้างอิทธพลต่อความคิดความเชื่อ และ ค. เพื่อเป็นการสร้างรายได้

ผลกระทบของข่าวปลอม
            ข่าวปลอมได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนและสังคมมากขึ้นในระยะ ๒-๓ ปีที่ผ่านมา เนื่องด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และอินเตอร์เน็ท ทำให้การสร้างข่าวปลอมทำได้ง่าย เผยแพร่ได้รวดเร็ว และมีผู้คอยรับสาร อยู่ตลอดเวลา โดยนักวิจัยจาก MIT (สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสสาชูเสท  สหรัฐอเมริกา) พบว่าข่าวปลอมสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าข่าวจริงถึง ๑๐๐ เท่า จากการศึกษาข้อความในทวิตเตอร์ ๑๒๖,๐๐๐ ข้อความที่ทวิตออกไป ๔.๕ ล้านครั้ง โดยผู้ใช้งาน ๓.๕ ล้านคน ตั้งแต่ พศ. ๒๕๔๙ ในปีที่เริ่มมีทวิตเตอร์ จนถึงพศ. ๒๕๕๐ โดยข่าวปลอมมีการเข้าถึงประมาณ ๑,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐ คน ในขณะที่ข่าวจริงมีคนเข้าถึงเพียง ๑,๐๐๐ เท่านั้น      และข่าวปลอมก็มักจะถูกรีทวีตมากกว่าข่าวจริงถึงร้อยละ ๗๐ 

ส่วนในประเทศไทย ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ของ อสมท. พบว่า ตลอดปี ๒๕๕๙ สามารถเก็บข้อมูล ได้ว่ามีข่าวปลอมกว่า ๓๐๐ หัวข้อ และพบว่าแต่ละหัวข้อ มีการ ไล้ค์ และแชร์ บนเฟซบุ๊ก รวมกันอยู่ในหลักแสน การทีข่าวปลอมแพร่กระจายได้รวดเร็ว และยากต่อการแยกแยะก่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้งบุคคลและสังคมเป็น อย่างมาก ทั้งต่อความคิด ความเชื่อ อารมณ์ ความรู้สึก ส่งผลกระทบด้านความรุนแรง ด้านการเงิน และสุขภาพ ด้านทัศนคติ ผลกระทบต่อสื่อวิชาชีพและส่งผลกระทบด้านสังคมที่ขาดข้อเท็จจริงในการคิดวิเคราะห์

ข่าวลวงข่าวปลอมในประเทศไทย
            จากการจับกระแสความคิดเห็นในสื่อสังคมประเด็นข่าวลวง หรือข่าวปลอมระหว่างวันที่ ๑๖ มกราคม - ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ พบว่า มีข้อความบนโลกอินเตอร์เน็ทไทยที่พูดถึง โควิด-๑๙ พร้อมกับข่าวลวงมากถึง ๑๙,๐๐๘ ข้อความ โดยเฉพาะช่วงก่อนมาตรการ การปิดเมือง (Lock down) ครั้งแรก ในวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๓ พบข่าวลวงถึง ๑๒,๐๖๙ ข้อความ แบ่งเป็นช่วง ล็อคดาวน์ ๔,๔๒๓ ข้อความ และช่วงหลังล็อคดาวน์ ๒,๖๒๖ ข้อความ
            เหตุที่มีตัวเลขสูง น่าจะเป็นเพราะผู้ใช้งานคนไทยนิยมใช้อินเทอร์เน็ตกันเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันการทำข่าวลวงและข่าวปลอมมิได้ทำเฉพาะโดยปัจเจกบุคคลเท่านั้น หากแต่ข่าวลองและข่าวปลอมส่วนหนึ่งก็ทำกันเป็นขบวนการที่เรียกว่า Media Bombarding

การทำ Fake news แบบถล่มทลายทางสื่อเช่นนี้ จะต้องกำหนดหัวข้อหรือประเด็น กำหนดตัวผู้รับผิดชอบ กำหนดความชุกของการปล่อย กำหนดPlatform ของ Social media ให้กระหึ่มไปทั้งโลก Online เพื่อให้ผลสัมฤทธิ์สูงสุด 

จากการสำรวจของ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์  (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. (Electronic Transactions Development Agency: ETDA) พบว่าในปี ๒๕๖๑ คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยสูงถึงวันละ ๑๐ ชั่วโมง ๕ นาที และมีพฤติกรรมการเสพข่าวจากโลกออนไลน์มากขึ้นโดยเฉพาะในยุคนี้มักพบข่าวปลอมแพร่ระบาดบนโลกโซเชี่ยล ที่คนไทยร้อยละ ๔๐ เชื่อถือข้อมูลที่ได้รับจากช่องทางโซเชี่ยลมีเดีย นับเป็นตัวเลขที่สูงสุดในภูมิภาค นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มผู้อ่านที่ค่อนข้างสูงอายุ ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มคนที่แชร์แชร์ข่าวปลอมมากที่สุด เพราะคนกลุ่มนี้เพิ่งจะเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ทตอนอายุมากแล้วไม่ทันยุคทันสมัย ขาดทักษะเรื่องความรู้เท่าทันสื่อ และเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ทันคิดว่าภาพ-เสียงและวิดิโอสมัยนี้สามารถตัดต่อให้ดูเสมือนจริงได้ และเชื่อโดยสนิทใจ ว่าข่าวทุกข่าวที่นำเสนอได้ผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว ไม่ทันคิดว่าจะมีผู้ไม่หวังดีสร้างข่าวปลอมขึ้นมาเพื่อหลอกลวงผู้อื่น
            กัลยวีร์ แววคล้ายหงษ์ กล่าวไว้ในหัวข้อเรื่อง “เมื่อสื่อกำลังเล่นบทผู้ผลิต Fake news” ในวารสารประจำปี ๒๕๖๔ ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า ข่าวที่เสนอแบบฉับๆ และฉาบฉวย ต่อไปมันจะพัฒนาเป็น Fake news และ Hoax news ซึ่งแก้ไขได้ยาก  โดยยกตัวอย่างการที่รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กำลังรับไหว้ผู้ต้องหาในคดีบุกป่าล่าสัตว์ ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกที่จังหว้ดกาญจนบุรี ภาพนิ่งจากหนังสือพิมพ์ในจังหวะที่ดูเหมือนว่า นายตำรวจใหญ่ผู้นั้น กำลังยกมือไหว้ผู้ต้องหา ที่เป็นเศรษฐีอย่างนอบน้อม ถูกนำไปแชร์ในโลกออนไลน์โดยสื่อสำนักหนึ่ง พร้อมกับคำพาดหัวยั่วให้คลิก (Click Bait) ว่า “งานนี้รอดแหงๆ” หลังจากนั้นไม่นาน เพจเสียดสีสังคมทั้งหลายก็นำภาพนี้ไปทำ meme ล้อเลียน จนยอดแชร์ถล่มทลาย มีคน เข้ามาวิพากษ์วิจารณ์ ก่นด่าต่างๆ นาๆ กับภาพหนึ่งวินาทีนั้น โดยไม่คิดอะไรแล้ว แม้ต่อมาไม่นาน จะมีคลิปวิดีโอเต็มๆ ที่เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการรับไหว้กันตามปกติธรรมดาของคนไทยที่ล้วนทำกันทั้งนั้น มีผู้สื่อข่าวหลายคน เขียบขึ้นโพสต์ตัวเอง ต่อเหตุการณ์นี้ว่า “สื่อไม่ควรทำให้สถานการณ์ แย่ลงไปอีก และอย่าสร้างความเกลียดชัง”

ข่าวลวงในตำนาน

หนังสือคู่มือ เพื่อการศึกษาและฝึกอบรม ด้านวารสารศาสตร์ของยูเนสโกที่ชื่อ “การเสนอข่าวลวงและข้อมูลบิดเบือน” เล่มดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว รายงานว่า การขับเคลื่อน และการดัดแปลงข้อมูล เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์มาช้านาน ตั้งแต่ก่อนที่การหนังสือพิมพ์สมัยใหม่ จะกำหนดคำนิยามของ “ข่าว” ว่าเป็นรูปแบบที่มีพื้นฐานบนกฎแห่งจริยธรรม
            หลักฐานเรื่องข่าวลวง ข่าวปลอมสมัยโบราณยุคต้นๆ  ถูกค้นพบว่า ในสมัยจักรวรรดิ์โรมัน  จากหนังสือลำดับเหตุการณ์และการปรากฎขึ้นของ “ความปั่นป่วนทางข้อมูลข่าวสาร” ตั้งแต่ยุคโรมันโบราณถึงปัจจุบัน เป็นคู่มือที่จัดพิมพ์โดย เครือข่ายนักข่าวนานาชาติ (ICFJ-International Center for Journalism วอชิงตันดีซี) กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า เมื่อมารค์ แอนโทนี ขุนศึกยอดนักรัก แม่ทัพและนักการเมืองคนสำคัญของโรมัน ได้พบและตกหลุมรักพระนางคลีโอพัตราผู้เลอโฉมแห่งอียิปต์จนยอมทรยศต่อแผ่นดินโรมัน และถูกอ็อคตาเวียนผู้เป็นศัตรูทางการเมือง รณรงค์ต่อต้านด้วยสโลแกนสั้นๆ และเฉียบคม ไว้บนเหรียญกษาปน์ที่กระจายไปทั่ว ดุจข้อความทวิต (Twitt) แห่งยุคโบราณ จนผู้ร้ายคืออ๊อตตาเวียนกลับกลายเป็นผู้ชนะได้เป็นจักรพรรดิ์โรมัน หลังจากเอาชนะมาร์ค แอนโทนี ในยุทธนาวีที่เมือง อเล็กซานเดรีย และข่าวลวงข้อความสั้นๆ ดังกล่าวเกิดขึ้นเท่ากับว่าอ๊อคตาเวียนได้เข้าไปเจาะระบบ (hack) ของจักรวรรดิ์โรมันได้ในที ส่วนมาร์ค แอนโทนี ต้องพาคลีโอพัตราหลบหนีไปทำอัตวินิบาตกรรมในที่สุด
            ในประเทศไทยก็เคยมีข่าวลวง ข่าวปลอม เกิดขึ้นในอดีตเท่าที่มีการบันทึกไว้คือ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งชื่อ “สยามประเภท” มีนายกุหลาบ ตฤษณานนท์ (๒๔ มีนาคม ๒๓๗๗-๒๔ มีนาคม ๒๔๖๔) เป็นเจ้าของและบรรณาธิการ นายกุหลาบ เรียนภาษาสันสกฤต ฝึกแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน รวมทั้งกฎหมาย และระเบียบแบบแผนราชการจากพระยาศรีสุนทรโวหาร เมื่อบวชเรียนแล้วได้เข้าทำงานเป็นเสมียนในโรงสีไฟของฝรั่ง ได้มีโอกาสเดินทางไปถึงยุโรป และอังกฤษเมื่ออายุ ๔๕ ปี ได้เขียนนิราศร้อยกรองชื่อ “นิราศยี่สาร” เป็นนิราศยาวเรื่องหนึ่ง มีข้อมูลทางด้านภูมิศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี และฐานะทางเศรษฐกิจ ของชุมชน แห่งยุคสมัย เพราะเขามีความรอบรู้ด้านโบรณคดีและประวัติศาสตร์ และเมื่ออายุ ๖๓ ปี ได้ออกหนังสือพิมพ์  “สยามประเภท” รายเดือน และหนังสือพิมพ์สยามประเภทของเขานั้น สมบัติ พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พศ. ๒๕๕๓ เล่าว่า “เป็นที่นิยมของคนทั่วไป เพราะในสมัยนั้นหนังสือพิมพ์ประเภทที่จะให้ความรู้ ทางโบราณคดี และพงศาวดารยังไม่มี คนโดยมากไม่มีความรู้ พวกที่ได้เล่าเรียนรู้เห็นก็มีเฉพาะแต่เจ้านายเท่านั้น แม้กระนั้นเจ้านายเหล่านี้ ก็ยังโปรดทรง เพราะเห็นเป็นเรื่องขบขันด้วย ในหนังสือของนายกุหลาบทั้งที่เป็นหนังสือเล่มและหนังสือพิมพ์นั้น มีทั้งความจริงและความเท็จปนกัน สนุกตอนที่จับโกหกได้ ด้วยเหตุนี้ เจ้านายจึงโปรดทรงหนังสือ “สยามประเภท” มาก
            ครั้งหนึ่งหอสมุดสำหรับพระนครจัดงานแสดงหนังสือขึ้น นายกุหลาบได้ส่งผลงานของเขาเข้าร่วมด้วย  เจ้าหน้าที่ได้จัดประเภทและระบุไว้ที่ตู้เก็บผลงานของนายกุหลาบว่า “ทรงอายัด” อันหมายถึงหนังสือที่ไม่ดี ไม่บริสุทธิ์
            นายกุหลาบ ตฤษณานนท์ หรือผู้ใช้นามปากกาว่า ก.ศ.ร. (ก.ศ.ร. ย่อมาจากฉายาสมัยบวชเป็นพระที่ว่า เกศโร)  ได้คัดลอกหนังสือเก่าของหอหลวง แล้วไปแต่งเติมเสริมต่อ แก้ไขข้อความบางส่วนให้ผิดเพี้ยนไปจากเดิม เพราะเกรงจะมีความผิดว่าเป็นการไปคัดลอกหนังสือจากหอหลวงมา จนได้รับสมญานามว่า “กุ” และสมญานาม “กุ” ของเขานั้น ยังเป็นที่จดจำ และเอ่ยอ้างถึงจนทุกวันนี้ เมือกล่าวถึงผู้ที่ออกข่าวลวง ข่าวปลอม ตามที่เจ้านายสมัยรัชกาลที่ ๕ รับสั่งถึงว่า “กุ ละ” หรือ “กุ” ถ้าใครพูดเรื่องไม่จริงก็จะถูกตีตราว่าคนๆ นั้น “กุเรื่อง” หรือ “กุข่าว”

แม้เมื่อนายกุหลาบ จะอายุมากถึง ๖๖ ปีแล้วก็ยังชอบเขียนเรื่องเก่า จริงบ้างเท็จบ้างแบบที่เรียกว่าปลอมพงศาวดาร เช่นเมื่อ พศ. ๒๔๔๗ นายกุหลาบ เขียนประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัยตอนหนึ่งว่า มีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า “พระปิ่นเกษ” มีพระราชโอรสทรงพระนามว่า “พระจุลปิ่นเกษ” แต่ไม่ทรงพระปรีชาสามารถ จึงเสียเมืองแก่กรุงศรีอยุธยา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงกริ้วที่เอาพระนามของพระองค์ท่านไปล้อเลียนว่าเป็นกษัตริย์ที่ทำให้เสียเมือง จึงรับสั่งให้มีการสอบสวนนายกุหลาบอีก ในที่สุด นายกุหลาบ ถูกส่งตัวไปสงบอารมณ์อยู่ในโรงพยาบาลบ้าจนกว่าจะหาย เท่ากับว่าเอาไปปรับทัศนคตินั่นเอง นายกุหลาบเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลบ้าได้ ๓๓ วัน ก็ทำฎีกาขึ้นทูลเกล้าถวาย ขอพระราชทานอภัยโทษความว่า “ข้าพระพุทธเจ้ารักษาร่างกายและอารมณ์อยู่ที่โรงพยาบาล ตั้งแต่เดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคม จนข้าพระพุทธเจ้าหายเป็นปกติแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าฯ ว่าหายคราวนี้คงไม่มีสติวิปลาศเหมือนแต่ก่อนต่อไป” นายกุหลาบถึงได้รับพระราชทานอภัยโทษให้กลับไปอยู่บ้านได้

จะเห็นได้ว่าการบิดเบือนดัดแปลงข้อมูลข่าวสารนั้น มีมาช้านานนับศตวรรษแล้ว แต่ในศตวรรษที่ ๒๑ นี้ การใช้ข้อมูลข่าวสารเป็นอาวุธได้เกิดขึ้นอย่างดาษดื่นในระดับที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน  เพราะเทคโนโลยีใหม่ อันทรงอานุภาพ ทำให้การดัดแปลงและการสร้างเนื้อหาปลอม สามารถทำได้ง่าย ในขณะที่สื่อเครือข่ายสังคม (social media) เป็นตัวกระจายข้อความเท็จ ที่มีคนจำนวนมากให้การสนับสนุน ผ่านการส่งต่อของกลุ่มเป้าหมายที่ขาดวิจารณญาณ 
            สื่อเครือข่ายสังคม (social media) จึงกลายเป็นพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ สำหรับโฆษณาชวนเชื่อทางคอมพิวเตอร์ ที่แพลตฟอร์ม (Platform) [พจนานุกรมศัพท์นิเทศศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสภา ให้ความหมายของคำว่า Platform ว่า หมายถึงบริการเวปไซต์ หรือวิธีการทั้งออฟไลน์ (off line) และออนไลน์ (on line) ที่ส่งสื่อไปยังผู้รับสาร ในยุคที่พลิกผัน จากระบบสื่อสารมวลชนดั้งเดิม โดยผู้รับสามารถส่งกลับ ส่งต่อ หรือแบ่งปันเนื้อหาได้ในระบบออนไลน์ โปรแกรมทำหน้าที่เป็นตัวกลาง การสื่อสารที่ทำให้สามารถพัฒนา สร้างสรรค์ จัดการ และให้บริการ ตลอดจนเชื่อมต่อ ระหว่างโปรแกรมประยุกต์ต่างๆ ได้ Platform มีรากศัพท์มาจากคำว่า Plateforme ในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งมีความหมายว่าพื้นฐานหรือแผน  ในภาษาอังกฤษนั้น ความหมายของคำว่า Platform มีหลายมิติ และรวมถืงความหมายว่า เวทีหรือโอกาส ในการนำเสนอความคิดเห็น ให้ผู้คนได้รับรู้ นอกจากนี้ในแง่ระบบสารสนเทศ Platform หมายถึง Software หรือ Programme] และกลุ่มต่างๆ รวมทั้งกลุ่มผลประโยชน์จะออกปฏิบัติงาน โดยเฉพาะ ในช่วงที่การเมืองกำลังร้อนแรง เช่นช่วงที่มีการเลือกตั้ง 

นักสร้างข่าวปลอมบรรลือโลก
            ตัวอย่างการสร้างข่าวปลอม ที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า และมีผล ถึงกับทำให้การเลือกตั้ง ประธานาธิบดี ต้องเปลี่ยนแปลงไปนั้นก็คือในการชิงชัย ระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมพ์ และนางฮิลลาลี่ คลินตัน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๙ โดยนักสร้างข่าวปลอมผู้นั้น คือนายคาเมรอน แฮรรีส (Cameron Harris) บัณฑิตด้านรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์วิทยาลัย เดวิดสัน รัฐ นอร์ทแคโลไรนา สหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกรุ่นแรกๆ กับอาชีพการสร้างข่าวปลอม (Fake news) ลงในโซเชี่ยลมีเดีย โดยการนำเอาความรู้ทางด้านการเมือง และเศรษฐศาสตร์ ที่ร่ำเรียนมา ใช้เป็นทักษะในการทำมาหากินทันทีที่เรียนจบ ในเดือนพฤษภาคม ปี พศ.๒๕๕๙ อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่การหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี ระหว่างนายโดนัล ทรัมพ์ กับนางฮิลลารี่ คลินตัน กำลังเข้มข้น นายแฮริส ได้ฟังทรัมพ์ ตระเวนหาเสียง (ที่ในเวลานั้น ทรัมพ์ รู้ตัวเองว่า ถึงอย่างไรก็คงเอาชนะ ฮิลลารี่ได้ยาก) กับคนอเมริกันที่กำลังโกรธเคือง กับสภาพที่เป็นอยู่ของตัวเอง และโทษทุกอย่างไปที่การเมือง ทรัมพ์ได้พูดปลุกระดมคนกลุ่มนี่ ด้วยทั้งพูดความจริงบ้าง ความเท็จบ้าง ผสมกันทั้งสองอย่างบ้าง กล่าวหาการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นว่า ไม่โปร่งใส มีกลิ่นไม่ดีออกมาหลายอย่าง และกำลังถูกชักจูง ไปในทิศทางที่รักษาผลประโยชน์ ของกลุ่มอำนาจเก่า (The Establishment)

เมื่อ แฮริส ได้ฟังทรัมพ์พูดหาเสียง ในลักษณะ ดังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าเขาจึงสร้างทฤษฎีการเมืองของตัวเองขึ้นมา จากฐานคิดเรื่องความไม่น่าเชื่อถือ และไม่พอใจต่อสื่อกระแสหลักอย่างเช่น CNN(Cable News Network) หรือ MSNBC (Microsoft National Broadcasting Company) ของบรรดากลุ่มผู้สนับสนุนทรัมพ์

ดังนั้นถ้ามีช่องทางใดที่จะกรอกหูในสิ่งที่ทรัมพ์พูด กับกลุ่มคนเหล่านี้ได้ตลอดเวลา  พวกเขาก็พร้อมที่จะเชื่อว่า ฮิลลารี่ไม่มีทางที่จะเอาชนะทรัมพ์ได้ นอกจากใช้วิธีโกงการเลือกตั้งเท่านั้น เพราะทรัมพ์ย้ำอยู่ตลอดเวลาว่า ได้มีการเตรียมการ เพื่อหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ฮิลลารี่ ชนะการเลือกตั้ง

แฮริส จึงไปซื้อเนื้อที่ เว็ปไซต์เก่าๆ ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ด้วยเงินเพียง ๕ ดอลล่าร์ แล้วนำกลับมาเปิดใช้ใหม่ โดยสร้างเป็นเว็ปไซต์ข่าว ชื่อ Christian Times Newpaper หลังจากนั้น แฮริส ก็เริ่มทำการสร้าง Fake news ข่าวแรกออกมา ด้วยการพาดหัวข่าวว่า “ข่าวด่วน! พบบัตรลงคะแนนปลอมให้ ฮิลลารี่ หลายแสนใบ ในโกดังเก็บของที่รัฐโอไฮโอ” (BREAKING: “Tens of thousands” of fraudulent Clinton votes found in Ohio warehouse” โดยในรายละเอียดของเนื้อข่าวปลอมดังกล่าว แฮรีส ได้อุปโลกน์ชื่อ นาย แรนเดล ปรินซ์ อาชีพช่างไฟ และรับจ้างทั่วไปวัยกลางคน ชาวเมืองโคลัมบัส รัฐ โอไฮโอขึ้นมา ให้เป็นผู้เข้าไปพบกล่องใส่บัตรเลือกตั้งจำนวนมากโดยบังเอิญ ในโกดังเก็บของแห่งหนึ่งที่กาบัตรลงคะแนนให้กับ ฮิลลารี่ ไว้เรียบร้อยแล้ว ส่วนภาพที่แฮรีสนำมาลงประกอบข่าวนั้น เป็นภาพที่ได้มาจากหนังสือพิมพ์ที่เมืองเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร เป็นภาพชายวัยกลางคนคนหนึ่ง ยืนอยู่ข้างหีบบัตรเลือกตั้ง ๓ หีบ มีข้อความข้างหีบว่า “Ballot Box” ให้ดูสมจริงสมจังขึ้น
             การที่ แฮรีส สร้างคนอย่าง แรนเดล ปรินซ์ ขึ้นมา เพราะเขารู้ดีว่า ปรินซ์ คือภาพคุณลักษณะ ตัวแทนแบบเหมารวม (stereotype) ของกลุ่มคนผู้สนับสนุนทรัมพ์ ที่ส่วนใหญ่เป็นคนขาว (ผู้ชาย) การศึกษาไม่สูง ตกงาน หรือไม่มีความมั่นคงใน หน้าที่การงาน อาศัยอยู่ตามเมืองเล็กๆ ในรัฐต่างๆ “... ปกติแล้วแทบไม่ค่อยมีใครเข้ามาในโกดังนี้หรอก จะมีก็แต่พวกช่างประปา ที่นานๆ จะเอาท่อน้ำมาเก็บไว้ชั่วคราวเท่านั้น …..” ประโยคยกเมฆ ที่ แฮรีส กุขึ้นมา ผ่านปาก นายแรนเดล ปรินซ์ ในเวปข่าวปลอมของเขา บอกอีกว่า “..... สิ่งที่ปรินซ์ พบ เป็นหลักฐานที่บ่งบอกได้ว่ามีการวางแผน โกงการเลือกตั้งครั้งใหญ่ เพื่อให้ ฮิลลารี่ มีชัย ในสวิงเสตท (swing state - หมายถึงรัฐที่พรรคใดพรรคหนึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะรับชัยชนะ) 
            ก่อนที่แฮรีส จะเอาข่าวปลอม เรื่องการเตรียมโกงเลือกตั้งของนางฮิลลารี่ คลินตัน ลงในโลกออนไลน์ เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๙ เขาได้สร้างเฟซบุ๊กขึ้นมา อีก ๖ บัญชี เพื่อทำหน้าที่โปรโมท ให้คนเข้ามากดไลค์ข่าวปลอมชิ้นนี้ 

ไม่ทันข้ามวัน ข่าวนี้ปรากฎ ใน โซเชี่ยลมีเดียหลายแพลตฟอร์ม (Platform) ก็มียอดผู้เข้ามาอ่าน หรือดูมากถึง ๔๖,๐๒๑ คนทั่วโลก มีการแชร์ข่าวนี้กันว่อน ในโซเชี่ยลมีเดียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, ไลน์ หรือ อินสตาแกรม
            ถึงแม้วันรุ่งขึ้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รัฐโอไฮโอ จะได้ไปตรวจสอบโกดังดังกล่าวและออกแถลงการณ์ว่า เรื่องนี้ไม่เป็นความจริงก็สายไปเสียแล้ว เพราะข่าวได้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วในโลกออนไลน์แล้ว และก็ไม่มีใครมาสนใจ ในแถลงการณ์ ของ กกต.  รัฐโอไฮโอ เพราะคนเหล่านี้ มีความลำเอียงเข้าข้างตนเองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว (confirmation bias หรือ myside bias) ที่เชื่อว่าฝ่ายฮิลลารี่โกง และก็ไม่เชื่อถือในระบบจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะพวกเขาฝังใจเชื่อในสิ่งที่ทรัมพ์พูดย้ำมาตลอดการหาเสียงว่า ระบบจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็น “a rigged system” หรือ “ระบบที่ถูกจัดการอย่างไม่เป็นตามครรลองของมัน เพื่อหวังผลทางใดทางหนึ่ง

ไม่กี่วันหลังจากนั้น แฮรีส ก็ได้เงินส่วนแบ่ง ๕,๐๐๐ ดอลล่าร์ จากยอดทั้งหมด ๒๒,๐๐๐ ดอลล่าร์ ซึ่งมาจากค่าโฆษณาสินค้าต่างๆ ที่ Google เอามาใส่ไว้ในเว็ปไซต์ข่าวปลอมของเขา ที่แฮรีสใช้เวลานั่งเทียนเขียน เพียง ๑๕ นาฑี (หมายเหตุ :รายได้หลักของธุรกิจเว็ปไซต์ มาจากค่าโฆษณา คิดจากจำนวนผู้เข้ามาดูหรือจากยอดการคลิก ยิ่งมีคนเข้ามาดูมากก็จะมีการลงโฆษณามากเจ้าของเว็ปไซต์ก็จะได้เงินมาก) 

เมื่อเห็นว่าวิธีหาเงินจากการเขียนข่าวปลอมได้ง่ายๆ เช่นนี้ แฮรีสบวกลบเลขในใจว่า ถ้าเขาใช้เวลาเพียงสักวันละครึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่อเขียน Fake news เพื่อหากินกับกลุ่มผู้สนับสนุน ทรัมพ์ ในช่วงที่การหาเสียง กำลังเข้มขันเช่นนี้ เขาก็สามารถ ที่จะทำเงิน หลักแสนเหรียญดอลล่าร์ ได้ไม่ยาก 
            เวลาไม่ถึงเดือนที่เว็ปไซต์ข่าว CTN (Christian Times Newspaper) ถือกำเนิดขึ้นมา มูลค่าของมันอยู่ที่ระหว่าง ๑๑๕,๐๐๐ ถึง ๑๒๕,๐๐๐ ดอลลล่าร์เพราะเว็ปไซต์นี้ ติดอันดับ หนึ่งในสองหมื่นเว็ปไซต์แรกๆ ที่คนเข้ามาชม จากจำนวน กว่าพันล้าน เว็ปไซต์ที่มีอยู่ทั้งหมดทั่วโลก  คาแมรอน แฮรีส ตัดสินใจว่า รออีกสักนิด จะขายมันภายหลังวันเลือกตั้ง (๘ พย. ๒๕๕๙)

เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา ชนิดหักหน้าโพลเกือบทุกสำนัก จึงมีการวิเคราะห์กันอย่างกว้างขวาง ว่าทำไมทรัมพ์ถึงได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งซึ่งหนึ่งในปัจจัยนั้นก็คือข่าวปลอมต่างๆ  ที่ถูกสร้างขึ้นมา ทั้งข่าวที่เป็นบวกกับทรัมพ์ และเป็นลบกับฮิลลารี่ 

หลังจากนั้น แฮรีส ได้เข้าไปตรวจสอบในเว็ปไซต์ข่าว CTN ของเขา ปรากฎว่าโฆษณาที่เคยมีอยู่มากมายหายไปหมด  เพราะ Google ถอดออกหมด เว็ปไซต์ที่เคยมีมูลค่า กว่าแสนเหรียญดอลล่าร์ เมื่อไม่กี่วันก่อน กลายเป็นเว็ปไซต์ที่ไม่มีราคาต่อไป  

เมื่อความแดงขึ้น แฮรีส ได้บอกกับนักข่าวตอนหนึ่งว่า “... จริงๆแล้ว ผมจะเปลี่ยนเป็นเขียน Fake news เพื่อสนับสนุนฮิลลารี่ แล้วสาดโคลน ใส่ทรัมพ์ให้เละเทะไปเลยก็ได้ แต่เขียนแบบนั้นมันไม่ได้เงินมาก ….” 

ปัจจุบัน การเมืองอเมริกัน กลายเป็นการเมือง ยุคหลังความจริง (post-truth) อันเนื่องมาจากการสร้างข่าวปลอม ของคนอย่างนาย แคเมรอน แฮรีส การทวิต แบบทรัมพ์ (ซึ่งต่อมานายโดนัล ทรัมพ์ ได้ถูกผู้ให้บริการเฟสบุกและทวิตเตอร์สั่งห้ามใช้) การไม่สามารถแยกแยะ  วินิจฉัยข้อเท็จจริงจากข่าวสารที่ได้รับ ในโลกโซเชี่ยล มีเดีย ได้ว่า ชิ้นไหนเป็นข่าวจริง (fact news) หรือข่าวปลอม (fake news) ของคนอเมริกัน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น และคนรุ่นใหม่ ที่ส่วนใหญ่ติดตามข้อมูลข่าวสาร จากช่องทางออนไลน์ รวมไปถึงการรับข่าวสาร ด้านการเมืองจากสื่อโทรทัศน์ที่มีข้อจำกัดเรื่องความครบถ้วน ของข้อมูลข่าวสาร และเรื่องราวทั้งหมด 

ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ทำให้การเมืองอเมริกัน เข้าสู่ยุคหลังความจริง (post-truth) หรือยุคที่ความจริงไม่มีความสำคัญ เพราะผู้คนต่างใช้อารมณ์ ความรู้สึก มากกว่าใช้เหตุผลและข้อเท็จจริง ไม่มีใครมาใส่ใจว่าอะไรจริงหรือไม่จริงอีกต่อไป
            อย่างไรก็ตามหนังสือพิมพ์ The New York Times ได้ตั้งฉายา สังคมการเมืองอเมริกันในทศวรรษที่ผ่านมา ว่าเป็น “ทศวรรษแห่งความคลางแคลงใจ” (A Decade of Distrust) โดยก่อนหน้านั้น ในปี คศ. ๒๐๑๖  The Oxford Dictionary ได้เลือกคำว่า “post-truth” เป็น Words of the year 2016 และในปีต่อมา คำว่า “Fake news” หรือข่าวลวง ข่าวปลอม ก็ถูกเลือกให้เป็นคำแห่งปี คศ. ๒๐๑๘ โดย The Collins Dictionary อีกเช่นกัน และเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน คศ. ๒๐๒๐ เมื่อรู้แน่ชัดว่าโจไบเดนชนะโดนัลด์ ทรัมพ์ แล้ว อดีตประธานาธิบดีบารัคโอบามาแห่งพรรคเดโมแครต ได้ให้สัมภาษณ์ BBC ว่าการเลือกตั้งครั้งเดียวจะไม่สามารถหยุดยั้งการเสื่อมสลายของความจริงในสหรัฐได้หรอก “ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งคือการแพร่กระจายของข้อมูลเท็จบนโลกออนไลน์ จนข้อเท็จจริงไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไปแล้ว”

จาก Fake news ถึง Deepfake
            ไม่เพียงแต่ Fake news ที่ก่อกวนอยู่ทั้งในสังคมไทยและสังคมโลกเท่านั้น แต่ได้มีนวตกรรมทางเทคโนโลยี เกิดขึ้นมาอีก เรียกว่า Deepfake คือ วิดิโอที่ถูกสร้างขึ้น ด้วยเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent หรือ AI) และ Machine Learning (การทำให้ระบบ คอมพิวเต้อร์เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ผ่านการใช้ข้อมูล ที่เราป้อนเข้าไปให้มัน)  ปัจจุบันความก้าวหน้าในเทคโนโลยีทั้งสองนี้ ทำให้การสร้างเสียง และวิดีโอปลอม (Deepfake) ทำได้ค่อนข้างง่าย และมีความเหมือนจริงเป็นอย่างมาก จนยากที่จะแยกได้ว่า ชิ้นไหนเป็นของจริงหรือปลอม เช่นเมื่อมีผู้นำวิดิโอคลิป ของนักการเมืองระดับโลก ๒ ชิ้นมาเปิดให้ดู โดยชิ้นแรกเป็นเสียงจริงของนักการเมืองสองคนพูดจาโต้ตอบกัน ส่วนอีกชิ้น เป้น Deepfake หรือวิดิโอปลอม ที่ถูกสร้างขึ้น ด้วย AI และ Machine Learning  

ทำไมถึงเรียกว่า Deepfake คำว่า Deepfake ปรากฎขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณเดือน ธันวาคม ปี ๒๕๖๐ โดยถูกใช้เป็นชื่อรหัส (code name) ของโปรแกรมเมอร์คนหนึ่ง ที่ใช้ AI และ Machine Learning ทำการเปลี่ยนแปลงใบหน้าของเหล่า porn stars ในภาพยนตร์ลามก (pornographic movie) ให้กลายเป็นใบหน้าดาราฮอลลีวูดและสุภาพสตรีผู้มีชื่อเสียงหลายคนแล้วก็นำไปเผยแพร่ในโลกออนไลน์
            ปัจจุบันนี้การสร้าง Deepfake ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแต่ในแวดวงภาพยนต์ลามกเท่านั้นแต่ได้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ในทุกวงการ โดยเฉพาะวงการการเมือง
            Deepfake ไม่ใช่เทคนิคการตัดต่อ วิดิโอ หรือตัดแปะภาพด้วยโปรแกรมกราฟิค แบบทั่วๆไป แต่ Deepfake ใช้เทคนิคที่เรียกว่า Generative Adversarial Networks (GANs) ในการสร้างวิดิโอปลอมของบุคคลหนึ่ง ด้วยการคัดลอกใบหน้า ลักษณะท่าทาง กิริยา การเคลื่อนไหวริมฝีปาก และน้ำเสียงจริง จากบุคคลอีกคนหนึ่ง GANs จะประกอบด้วยระบบเครือข่าย ของคอมพิวเตอร์ สองกลุ่ม โดยที่แต่ละกลุ่มของเครือข่ายนี้ จะแข่งขันกันสร้าง Deepfake ที่สมบูรณ์แบบที่สุดออกมา 
            ระบบ GANs ที่บางคนเรียกมันว่า เครือข่ายประสาทเทียมนี้ เกิดขึ้นมาจากงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ ๘ คนแห่งมหาวิทยาลัย Montreal ประเทศแดนนาดา เมื่อ คศ. ๒๐๑๔ นำโดยนาย Ian J. Goodfellow (อีก ๗ คนคือ Jean Pouget-Abadie, Mehdi Mirza, Bing Xu, David Warde-Farley, Sherjil Ozair, Aaron Courville และ Yoshua Bengio) บทความอันเนื่องมาจากงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ทั้ง ๘ ได้ทำให้โลกสั่นสะเทือนอย่างมาก โดย GANs จะแบ่งงานกันทำออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนที่เป็น  Generator ทำหน้าที่สร้างข้อมูล ส่วนที่เป็น Discriminator ทำหน้าที่แยกแยะ คือเป็นผู้สังเคราะห์ (Synthesier) คอยบอกว่า Generator ได้สร้างข้อมูลออกมาใกล้เคียงกับเป้าหมายที่สนใจหรือยัง บทบาทเช่นนี้ นับเป็น Deep learning  

ตัวสังเคราะห์ของระบบ GANs ที่ว่านี้ จะทำหน้าที่เสมือนกรรมการตัดสิน ที่คอยจ้ำจี้จ้ำไช บอกแต่ละเครือข่ายว่า สร้าง Deepfake ได้เหมือนจริงขนาดไหนถ้ายังไม่เหมือนสมบูรณ์แบบ ก็จะสั่งให้อีกเครือข่ายหนึ่งซึ่งอยู่เคียงคู่กันไปทำให้ดีกว่าเครือข่ายแรก ถ้าเครือข่ายที่สองยังสร้างออกมาไม่เหมือนแบบ ตัวสังเคราะห์ก็จะเอาผลลัพท์ที่ได้จากเครือข่ายที่สองป้อนกลับเข้าไปใส่ ให้เครือข่ายที่หนึ่งไปพัฒนาสร้างต่อให้ดีขึ้น แข่งกันไปแข่งกันมาเช่นนี้เป็นพันๆ หมื่นๆ หรือแม้กระทั่งถึงแสนหรือล้านรอบ จนกว่าจะได้ Deepfake ที่เหมือนกับรูปภาพเคลื่อนไหวจริงของบุคคลเป้าหมาย

Deepfake ถือเป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของการสร้างข่าวปลอม ข่าวลวง หรือ Fake news   เพราะมันเป็นการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ที่ผู้รับ ได้เห็นด้วยตา และได้ฟังด้วยหูของตนเองโดยตรง ไม่ใช่เป็นการส่งต่อ บอกเล่าต่อๆ กันมาแบบข่าวปลอมทั่วๆ ไป ปัจจุบันนี้ Deepfake  ถูกจัดเป็นภัยคุกคามตัวใหม่ ต่อความมั่นคงของหลายๆ ประเทศ 

การทำ Deepfake เมื่อมาถึงวันนี้ กลายเป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยากไปเสียแล้ว เพราะได้มีนักพัฒนาคิดค้น  Application สำหรับทำ  Deepfake ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก จนใครๆก็สามารถ เข้าไป  Download เอามาทำเสร็จภายในเวลาไม่กี่นาที มีทั้งแบบที่ไม่เสียเงิน และหากจะเสียก็เพียง ๒-๓ ดอลล่าร์ สหรัฐ เช่น Deepfake application ที่ใช้ชื่อว่า Zao, Deepfakes web β, Wombo, Reface, My Heritage, Deep Face Lab, Deep Art และ Face Swap Live เป็นต้น 

การไหล่บ่าของข่าวลวง ข่าวปลอม
            ข่าวลวงและข่าวปลอม (Fake news) ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้เสพข่าว ได้รับข้อมูลที่บิดเบือน ผิดพลาด หรือไม่ครบถ้วนเท่านั้น หากแต่ยังได้ส่งผลกระทบ ถึงการตัดสินใจ ที่ผิดพลาด ซึ่งอาจเป็นผลเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน เช่นข้อมูลผิดเกี่ยวกับยารักษาโรค หรือข้อมูลที่ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม รวมถึงข้อมูลเท็จ ในทางการเมือง ทั้งภายในและภายนอกประเทศ 
            สภาวการณ์เช่นนี้ ทำให้เกิดมีศัพท์ใหม่ในวงการวิชานิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ ขึ้นที่มหาวิทยาลัย ออกซ์ฟอร์ด แห่งสหราชอาณาจักร และที่อื่นๆ คือคำว่า infodemic อันเป็นคำผสมระหว่าง information ที่แปลว่าข้อมูลข่าวสาร กับคำว่า pandemic แปลว่าการระบาดใหญ่ เมื่อเอาสองคำนี้มารวมกัน จึงเกิดความหมายใหม่ ว่าหมายถึง สถานการณ์ ที่ข้อมูลข่าวสารผิดๆ จำนวนมาก ไหลบ่าแพร่ขยายอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดความเสียหาย อย่างกว้างขวาง ส่งผลร้ายหลายประการเช่น 

๑. ผู้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง  ทำให้การตัดสินใจผิดพลาดอาจส่งผลเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน เช่นข้อมูลที่ว่าดื่มน้ำมะพร้าว ช่วยรักษามะเร็งได้ ผู้ป่วยอาจเลิกไปรับการรักษาจากแพทย์ทำให้มะเร็งลุกลามถึงขั้นเสียชีวิตได้
            ๒. เกิดความตระหนกตกใจ เช่นข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติ หรือโรคระบาดต่างๆ ที่ไม่จริง ทำให้ผู้คนแตกตื่น แห่กักตุนสินค้า ของกินของใช้ หรือไปเข้าใจผิดฉีดวัคซีนป้องกันโรค ที่ไม่เกิดขึ้นจริง หรือข่าวการเมือง  หรือนโยบายของรัฐบาลที่อาจทำให้ดัชนีหุ้น ขึ้นหรือลง นักลงทุนเทขายหุ้น หรือแย่งกันกว้านซื้อหุ้น ไว้เก็งกำไร 

๓. ผู้ถูกแอบอ้างได้รับความเสียหาย เช่นถูกล้อเลียน ถูกดูหมิ่น กลั่นแกล้ง รังแก (Bully) เพราะข้อมูลเท็จที่เกิดจากการตัดต่อ ทำให้ดูตลกขบขัน ถูกเกลียดชัง จากข้อมูลเท็จ เชิงใส่ร้ายป้ายสี หรือแจ้งข่าวไม่จริงว่า นักแสดงระดับดาราผู้มีชื่อเสียงเป็นโรคร้าย ป่วย ใกล้เสียชีวิต ไร้ญาติขาดมิตร อาจมีมิจฉาชีพฉวยโอกาส เรี่ยไรโดยใช้หมายเลขบัญชีในธนาคารของตนเอง 
            ๔. เกิดความขัดแย้งในสังคม โดยเฉพาะข้อมูลเท็จทางด้านการเมืองข่าวสถานการณ์ระหว่างประเทศอาจนำไปสู่ความไม่สงบสุขและสร้างปัญหาระหว่างประเทศได้

การรับมือ fake news
            จากปัญหาข่าวลวงและข่าวปลอมที่เกิดขึ้น ทั้งหลายในประเทศ และต่างประเทศ ได้มีภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามาดูแล   เช่น  IFCN [International Fact Checking Network เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร เป็นเครือข่ายความร่วมมือระดับโลก ก่อตั้งเมื่อเดือน กันยายน ๒๕๕๘ ร่วมมือกับองค์กรต่างๆ กว่า ๘๒ องค์กร จาก ๔๘ ประเทศ ทำหน้าทีวิเคราะห์วิจัย เผยแพร่ความรู้ และข้อเท็จจริงเพื่อต่อต้าน fake news โดยยึดมั่นในหลักการที่ว่า “ขัอมูลบิดเบือน คือตัวทำลาย การสื่อสารของทั้งโลก]  ร่วมกับเครือข่าย  ๓๙ องค์กรในประเทศไทย จัดเวทีสัมมนาหัวข้อ “ความท้าทาย ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกัน” โดยนาย Baybars Orsek ผู้อำนวยการเครือข่ายองค์การตรวจสอบสากล นำเสนอประสบการณ์การทำงานการตรวจสอบ ข่าวลวง ข่าวปลอม ที่เกิดขึ้น ในเครือข่ายของ IFCN โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้เห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องมีนักตรวจสอบข่าว (Fact checker) ซึ่งในแต่ละประเทศต้องมีการทำงานเชื่อมโยง และส่งต่อข้อมูลซึ่งกันและกัน 

            ในปี พศ. ๒๕๖๔ นี้ ได้มีโครงการร่วมมือกันหลายเมืองเช่นที่ ลอนดอน โรม ปารีส รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ซึ่งในอนาคตก็จะขยายไปในภูมิภาคอาเซี่ยน เพื่อลดการรับข้อมูลลวง ข้อมูลปลอม โดยเฉพาะในสถานการณ์ โรคโควิด-๑๙ ระบาด ที่เห็นกันว่า การตรวจสอบข่าวลวง และการหาต้นตอข่าวลวง ยากกว่าการค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙
            นอกจาก IFCN แล้ว ภายในประเทศ ยังมีภาคส่วนต่างๆ เข้ามาดูแลและจัดการ เช่น สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอีเลคทรอนิคส์ (องค์การมหาชน) (ETDA: Electronic Transactions Development Agency)  กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจแห่งชาติ, มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุน สนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย, ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ อสมท. และโคงการ Cofact [Cofact ย่อมากจาก Collaborative Fact Checking เกิดขึ้นจากการรวมตัวของพรรคประชาสังคมในประเทศไทย สร้างพื้นที่สาธารณะที่เปิดให้ทุกคนมาช่วยกันตรวจสอบ เรื่องที่น่าสงสัย ไม่ว่าจะเป็นข่าวลวง ข่าวลือ ข่าวปลอม ข่าวหลอก หรือความเชื่อต่างๆให้กระจ่างชัด] เป็นต้น รวมทั้งการดูแลกำกับกันเอง ขององค์กรสื่อและภาคส่วนต่างๆ ที่ทำงาน ทั้งด้านการให้ความรู้และข้อเท็จจริง ภาคประชาสังคม  สื่อมวลชนที่เป็นมืออาชีพ และการวางนโยบาย ในการใช้งาน ของผู้เผยแพร่เนื้อหา ในสื่อสังคมออนไลน์        

แต่สิ่งที่น่ากลัว คือการรู้ไม่เท่าทันข้อมูลข่าวสาร ของตัวผู้ใช้งานเอง ที่ตกหลุมพราง ของผู้สร้างข่าวลวงข่าวปลอม ดังนั้นผู้รับข่าวสารเอง ควรมีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ สามารถวิเคราะห์ และใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสาร โดยเปิดรับจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ สามารถแยกแยะข้อเท็จจริงกับความคิดเห็นออกจากกันได้ รู้ถึงเจตนา ที่ต้องการสื่อในข่าว เมื่อผู้รับข่าวสาร รู้เท่าทันข่าว ก็จะทำให้ลดจำนวนการแชร์ และการแพร่กระจายของข่าวลวง ข่าว ปลอมได้

มาตรการต่อต้านข่าวลวง ข่าวปลอม

บริษัทเฟซบุ๊ก (Facebook) ประเทศไทยได้ร่วมมือกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, คณะกรรมการเลือกตั้ง, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ประกาศว่า “เราสามารถต่อสู้กับข่าวปลอมได้ด้วยกัน และกำลังดำเนินการด้วยวิธีต่างๆ ในการต่อสู้กับข่าวปลอม เช่นการลบบัญชีผู้ใช้ออก นอกจากนี้ยังสามารถเรียนรู้วิธีสังเกตุข่าวปลอมได้ ด้วยเคล็ดลับต่อไปนี้” 

๑. อย่าหลงเชื่อหัวข้อข่าว: ข่าวปลอมมักมีข้อความพาดหัวที่สะดุดตา ที่ใช้ตัวหนา และเครื่องหมายอัศเจรีย์ หากหัวข้อข่าวฟังดูหวือหวาและไม่น่าเป็นไปได้ ข่าวนั้นน่าจะเป็นข่าวปลอม

๒. พิจารณาลิงก์อย่างถี่ถ้วน: ลิงก์ปลอมหรือลิงก์ที่ดูคล้ายลิงก์จริงอาจเป็นสัญญาณเตือนของข่าวปลอม เว็ปไซต์ข่าวปลอมจำนวนมาก สับเปลี่ยนลิงก์เล็กๆ น้อยๆ เพื่อเลียนแบบแหล่งข่าวจริง คุณสามารถไปที่เว็ปไซต์และเปรียบเทียบลิงก์นั้นกับลิงก์ของแหล่งข่าวที่ได้รับการยอมรับ และน่าเชื่อถือได้ 

๓. ตรวจสอบแหล่งข่าว: ตรวจสอบให้แน่ใจว่า เรื่องราวนั้นเขียนขึ้นโดยแหล่งข่าวที่คุณเชื่อถือ และมีชื่อเสียงด้านการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง หากเรื่องราวนั้นมาจากแหล่งข่าวที่คุณไม่รู้จักให้ตรวจสอบที่ส่วน “เกี่ยวกับ” ของแหล่งข่าวนั้นเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม

๔. สังเกตุสิ่งที่ผิดปกติ: เว็ปไซต์ข่าวปลอมหลายแห่ง มักสะกดคำผิด หรือมีการจัดวางรูปแบบที่ดูไม่เป็นมืออาชีพ หากคุณเห็นลักษณะเหล่านี้ ควรอ่านข่าวอย่างระมัดระวัง 

๕. พิจารณารูปภาพ: ข่าวปลอมมักมีรูปภาพ หรือวิดิโอที่ถูกบิดเบือน บางครั้งรูปภาพอาจเป็นรูปจริง แต่ไม่เกี่ยวข้องกับบริบทของเรื่องราว คุณสามารถค้นหารูปภาพนั้น เพื่อตรวจสอบยืนยันแหล่งข่าวที่มาของรูปภาพได้

๖. ตรวจสอบวันที่: ข่าวปลอมอาจมีลำดับเหตุการณ์ที่ไม่สมเหตุผล หรือมีการเปลี่ยนแปลงวันที่ของเหตุการณ์

๗. ตรวจสอบหลักฐาน: ตรวจสอบแหล่งของข้อมูลของผู้เขียนเพื่อยืนยันว่าแหล่งข้อมูลนั้นถูกต้อง ข่าวที่ไม่มีหลักฐาน หรืออ้างอิงผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ระบุชื่อ อาจชี้ให้เห็นว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม

๘. เปรียบเทียบข่าวจากแหล่งอื่นๆ: หากไม่มีแหล่งข่าวอื่นที่รายงานเรื่องเดียวกัน ก็อาจะเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าข่าวนั้นอาจเป็นข่าวปลอม ถ้าข่าวนั้นมีการรายงานจากหลายแหล่งข่าวที่คุณเชื่อถือ ก็เป็นไปได้ว่าข่าวนั้นจะเป็นข่าวจริง

๙. ข่าวนั้นเป็นมุกตลกหรือไม่: บางครั้งเราก็แยกข่าวปลอมออกจากมุกตลกหรือข่าวเสียดสีได้ยาก ตรวจสอบดูว่าเรื่องนั้นมาจากแหล่งที่มาที่ขึ้นชื่อเรื่องล้อเลียนและเสียดสีข่าวหรือไม่ และพิจารณาว่ารายละเอียด ตลอดจนน้ำเสียงในการเล่าเรื่องฟังดูเป็นไปเพื่อความสนุกสนานหรือไม่

๑๐.  บางเรื่องก็จงใจสร้างขึ้นให้เป็นข่าวปลอม: ใช้วิจารณญาณในการอ่านและแชร์เฉพาะข่าวที่คุณแน่ใจว่าเชื่อถือได้เท่านั้น  

ในการต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอม (Fake news) นั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะผลักภาระให้กับผู้บริโภคสื่อ ว่าจะต้องรู้เท่าทันด้วยตัวเองเท่านั้น แต่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน เช่นภาครัฐ จะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กับผู้มีเจตนาเผยแพร่ ข่าวลวงข่าวปลอม ควบคู่ไปกับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อให้องค์กรสื่อ องค์กรวิชาชีพสื่อ หรือองค์กรภาคประชาสังคม เข้ามาทำหน้าที่ผลิตเนื้อหา ในเชิงข้อเท็จจริงเพื่อต่อสู้กับข่าวลวงข่าวปลอม

ขณะเดียวกัน องค์กรสื่อหรือสำนักข่าวมืออาชีพ ควรหันมาให้ความสนใจในการตรวจสอบข่าวลวงข่าวปลอมให้มากยิ่งขึ้น เพราะเป็นประโยชน์สาธารณะ แม้ว่าการสื่อสารผ่านสื่อสังคมจะเป็นเสรีภาพ  แต่เมื่อเจ้าของแพลตฟอร์ม ทำเพื่อหวังรายได้เชิงพาณิชย์ถ่ายเดียวคนทำสื่อก็ต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย
            เช่นจะต้องมีการพัฒนา อัลกอริทึ่ม (Algorithm - คือกระบวนการแก้ปัญหาที่สามารถอธิบายออกมาเป็นขั้นตอนที่ชัดเจน เมื่อนำเข้าอะไร แล้วจะต้องได้ผลลัพธ์เช่นไร) ที่ตรวจจับข่าวปลอมหรือกรณีที่มีผู้กด รีพอร์ทในโพสต์นั้นมากๆ เจ้าของแพลตฟอร์มจะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความเข้มแข็ง ในเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ ให้กับผู้บริโภคสื่อด้วย ส่วนผู้บริโภคสื่อก็ควรตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลทุกครั้ง และต้องเสพสื่อ หรือตรวจสอบข่าวสารจากหลากหลายแพลตฟอร์มและอย่าแชร์อะไรง่ายๆ       

โจเซฟ พูลิตเซอร์ (Joseph Pulitzer: ๑๐ เมษายน ๒๓๙๐-๒๙ ตุลาคม ๒๔๕๔) นักหนังสือพิมพ์อเมริกันเชื่อสายฮังการี ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง ในฐานะเป็นต้นตอของหนังสือพิมพ์แบบเยลโล่ที่เสนอข่าวชาวบ้าน และถูกมองว่าเสนอข่าวแบบประชานิยมเป็นหนังสือพิมพ์ ที่เสนอข่าว ประเภทตื่นเต้น เร้าอารมณ์ เกินความจริง (โดยมุ่งประโยชน์ทางธุรกิจเป็นหลัก) และเป็นผู้ก่อตั้งรางวัล พูลิตเซ่อร์ สำหรับภาพและข่าวดีเด่นระดับโลกเป็นประจำทุกปีก็ยังถือว่าความถูกต้องของข่าวเป็นเรื่องสำคัญโดยพูลิตเซอร์ได้ให้คำนิยามสำหรับหนังสือพิมพ์ของเขาว่า นอกจากจะต้องมีลักษณะอย่างอื่น ในข่าว ในพาดหัว และในหน้าบรรณาธิการแล้ว ยังจะต้องมี    ความถูกถ้วนแม่นยำ ความถูกถ้วนแม่นยำ และความถูกถ้วนแม่นยำ (What a newspaper needs in news, in its headlines, and on its editorial page is terseness, humor, descriptive power, satire, originality, good literary style, clever condensation and accuracy, accuracy, accuracy !)

สำหรับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยซึ่งได้ให้รางวัลเพื่อส่งเสริมการทำข่าวและถ่ายภาพ ที่เป็นไปตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ สื่อสารมวลชน ในการประกวดข่าว และภาพยอดเยี่ยม ประจำปี ชื่อรางวัล “อิศรา อมันตกุล” อันเป็นที่ปรารถนาของบุคคลในวงการสื่อสารมวลชน ก็ได้กำหนดกฎเกณฑ์ ในการให้รางวัลข่าวยอดเยี่ยมไว้ประการหนึ่งว่า “จะต้องเป็นข่าวจริง มีลักษณะของข่าวที่ดี ครบถ้วน เป็นข่าวที่สมบูรณ์ เที่ยงตรง และไม่มีอคติ” ส่วนเกณฑ์ ของการให้รางวัลภาพข่าวยอดเยี่ยมก็มีกำหนดไว้ประการหนึ่งว่า  “ไม่เป็นภาพที่จงใจสร้างขึ้น โดยอาศัยเทคนิค ของการถ่ายภาพ และห้ามดัดแปลงแก้ไข หรือตัดต่อภาพที่ส่งเข้าประกวด”

ธนาวลัย วัชรพล เจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ ไทยรัฐออนไลน์ (บริษัท เทรนด์ วีจี ๓ จำกัด) กล่าวในการให้สัมภาษณ์วารสารประจำปี ๒๕๖๔ ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยว่า ผล กระทบจากโควิด-๑๙ ไม่ใช่ปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินการธุรกิจสื่อ ในเครือไทยรัฐ ทั้งที่ผ่านมา และในอนาคตเท่าไรนัก “ปัจจัยท้าทายที่สำคัญ คือเรื่องความเปลี่ยนแปลง เพราะหลังจากเกิดสถาณการณ์ โควิด-๑๙ ก็เป็นตัวบังคับ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การนำเสนอข่าว ต้องตรวจสอบให้ละเอียด ที่ผ่านมา มีเฟคนิวส์เกิดขึ่นมากมาย ในโซเชี่ยล ความเป็นไทยรัฐที่คนเข้ามาอ่าน จะมั่นใจได้ว่า ข่าวแต่ละชิ้น จะถูกยืนยันว่า ถูกต้องตรวจสอบแล้ว ไม่ใช่ข่าวที่ทำให้ประชาชนแตกตื่นมากกว่าเดิม หรือเป็นข่าวที่มีอคติ ไม่เป็นกลาง เราต้องเป็นเหมือนสถาบันสื่อ ที่คนไว้ใจได้ คนอยากมาเชคข่าวกับเราว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องจริง”
            ส่วนมาตรการทางกฎหมายในการขจัดข่าวลือข่าวปลอมนั้น ผู้รักษากฎหมายจะต้องทำหน้าที่ บังคับใช้กฎหมายอย่างรวดเร็วและเฉียบขาด ถ้าพบว่า ข่าวนั้นเป็นการแสดงความคิดเห็น หรือข้อความอื่นใด อันเป็นการใส่ความหมิ่นประมาทผู้อื่นให้ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยการกระทำ ผ่านสื่อออนไลน์ เช่นการโพสต์ข้อความ ใส่ร้ายคนอื่น หรือการตัดต่อ นำรูปคนอื่น มาโพสต์ให้ได้รับความเสียหาย หรือแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ผ่านทางเฟซบุ๊ก  หรือสื่อสังคมออนไลน์อย่างอื่น  อันจะทำให้บุคคลอื่น ได้รับความเสียหาย ซึ่ง พรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ พศ. ๒๕๕๐ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ ที่สำคัญ เกี่ยวกับการกระทำความผิด ผ่านสื่ออีเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อสังคมออนไลน์ไว้ดังนี้ 
            

“มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทำความผิด ที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษ จำคุก ไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

(๑) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่ การกระทำความผิด ฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา
            (๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐาน อันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ 
หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน 
          

(๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิด เกี่ยวกีบความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
            (๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่า
เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)

ถ้าการกระทำความผิดตาม (๑) มิได้กระทำต่อประชาชนแต่เป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทำ ผู้เผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้”
            

การตัดต่อรูปภาพคนอื่นลงเผยแพร่ในระบบอินเทอร์เน็ตหรือสื่อสังคมออนไลน์ก็มีความผิดตาม พรบ. ว่าด้วยการกระทำควารมผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๖ ดังนี้ 

“มาตรา ๑๖ ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไป อาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฎเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลง ด้วยวิธีการทางอีเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใดโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท
            ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำต่อภาพของผู้ตายและการกระทำนั้นน่าจะทำให้บิดา
 มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ผู้กระทำต้องระวางโทษคามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง
            ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยสุจริต อันเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ผู้กระทำไม่มีความผิด 
            ความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองเป็นความผิดอันยอมความได้

ถ้าผู้เสียหายในความผิดวรรคหนึ่งหรือวรรคสองตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป้นผู้เสียหาย”


            นอกจากนี้ ยังมี พรบ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัย ไซเบอร์ พศ. ๒๕๖๒ ซึ่งจะมีบทบาทในการรักษาความมั่นคง ปลอดภัยไซเบอร์ (ไซเบอร์ หมายความรวมถึง ข้อมูลและการสื่อสาร ที่เกิดจากการให้บริการ หรือการประยุกต์ใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบอินเทอร์เน็ต หรือโครงข่าย โทรคมนาคม รวมทั้งการให้บริการโดยปกติของดาวเทียม และระบบเครือข่ายที่คล้ายคลึงกันที่เชื่อมต่อกันเป็นการทั่วไป) ทั้งนี้เพื่อให้สามารถป้องกัน หรือรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงที พรบ.ฉบับนี้จึงได้กำหนดลักษณะของภารกิจ หรือบริการที่มีความสำคัญ เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทางสารสนเทศ ทั้งหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานเอกชน ที่จะต้องมีการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ มิให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคง ในด้านต่างๆ รวมทั้งให้มีหน่วยงานเพื่อรับผิดชอบในการดำเนินการ ประสานการปฏิบัติงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าในสถาณการณ์ทั่วไป หรือสถานการณ์อันเป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างร้ายแรง ตลอดจนกำหนดให้มีแผน ปฏิบัติ และมาตรการด้านรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อย่างมีเอกภาพ และต่อเนื่อง อันจะทำให้การป้องกันและรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีระวางโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน ไว้ มีทั้งโทษจำคุกสูงถึงสามปี และปรับถึง                    สามแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

จะเห็นได้ว่า การโพสต์ หรือแสดงความคิดเห็นต่างๆ อันเป็นความเท็จลงในระบบอินเทอร์เน็ตหรือสื่อสังคมออนไลน์เช่นทางเฟซบุ๊กนั้น นอกจากจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญาและต้องรับผิดทางละเมิดตามประมวลกฏหมายแพ่งและพานิชแล้ว ยังเป็นความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ลงในระบบคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิด ตาม พรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พศ. ๒๕๕๐ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พศ. ๒๕๖๐ และ พรบ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พศ. ๒๕๖๐อีกด้วย ซึ่งผู้กระทำมีความผิด และต้องรับโทษตามที่กฎหมายบัญญัติ
            ดังนั้น ก่อนที่จะโพสต์ แชร์ หรือแสดงความคิดเห็นใดๆ ลงในสื่อโซเชี่ยล หรือสื่อสังคมออนไลน์ จึงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ถูกต้องเสียก่อน เพราะหากข้อความที่โพสต์หรือแชร์ออกไปนั้นไปกระทบหรือพาดพิงถึงบุคคลอื่นหรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายบุคคลนั้นอาจฟ้องผู้โพสต์ผู้แชร์เป็นคดีความให้ต้องรับผิดชอบตามกฏหมายฉบับต่างๆ ได้ ทั้งนี้แม้การใช้สื่อโซเชี่ยลหรือสื่อสังคมออนไลน์นั้นจะเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นส่วนตัวได้ แต่สื่อสังคมออนไลน์นั้น ก็เป็นสื่อสาธารณะที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึง ข้อความหรือการกระทำอื่นใด ที่โพสต์หรือแชร์ออกไปได้เช่นกัน การใช้สื่อสาธารณะ จึงต้องเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ไม่เป็นการพาดพิง หรือใส่ความผู้อื่นให้ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย ของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์นั่นเอง

ขจัด Fake news ได้ด้วยคำสอนทางพุทธศาสนา

มาตรการต่างๆ ในการระงับยับยั้งข่าวลวงข่าวปลอมดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เช่นให้ผู้เสพข่าวรู้เท่าทันสื่อ ให้ผู้มีอาชีพสื่อทำหน้าที่ Fact checker รวมทั้งให้ผู้รักษากฎหมายทำหน้าที่อย่างเคร่งครัดแล้ว ในฐานะของพุทธศาสนิกชนเห็นว่ายังน่าจะมีหนทางในการขจัดข่าวลวงข่าวปลอมด้วยการเดินตามคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นคือการนำเอาพระสูตรบทที่ชื่อว่า “กาลามสูตร” มาเป็นคู่มือในการวิเคราะห์ข่าวสารข้อมูลในยุคนี้

พระสูตรนี้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ชาวกาลามะ แห่งหมู่บ้านเกสปุตตนิคม แคว้นโกศล ชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล เมื่อมีข้อถกเถียงกันว่าธรรมะข้อใดควรเชื่อ หรือไม่ควรเชื่อ พระพุทธองค์ทรงสอนให้ใช้หลักความเชื่อ ไม่ให้เชื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างงมงาย โดยไม่ใช้ปัญญา ทั้งนี้จะต้องพิจารณาให้เห็นจริงถึงคุณและโทษถึงความดีและไม่ดี ก่อนที่จะปลงใจเชื่อ โดยมีหลักคิด ๑๐ ประการคือ


            ๑. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามๆ กันมา
            ๒. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบๆ กันมา
            ๓. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ

๔. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
            ๕. อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ เดาว่าเป็นเหตุเป็นผลกัน
            ๖. อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน คาดคะเน 
            ๗. อย่าปลงใจเชื่อจากสิ่งที่เห็น
            ๘. อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่ตนพินิจไว้แล้ว

๙. อย่าปลงใจเชื่อเมื่อมองเห็นรูปลักษณ์ว่าน่าจะเป็นไปได้ ว่าผู้พูดมีลักษณะน่าเชื่อถือ และ
            ๑๐. อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา
            

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนด้วยว่า ต่อเมื่อได้สอบสวน ตามหลักกาลามสูตร จนรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมะเหล่านี้เป็นอกุศลหรือมีโทษ เมื่อนั้นพึงละเสีย และเมื่อได้สอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเองว่าธรรมะเหล่านั้นเป็นกุศลคือไม่มีโทษ เมื่อนั้นพึงถือปฏิบัติ

ในบรรดาข้อมูลข่าวสารที่กำลังแพร่หลายกระจายไปมากมายชนิดที่ฝรั่งเรียกว่าเป็น infodemic นั้น ตัวอย่างเช่นกรณี ที่มีการเสนอข่าวว่าองค์การการบินและอวกาศแห่งชาติหรือ องค์การนาซาของสหรัฐอเมริกา พยากรณ์ว่า ในเดือนนั้นเดือนนี้น้ำทะเลจะทะลักขึ้นมาท่วมกรุงเทพมหานครสูงเท่ากับตึก ๔ ชั้น ทำให้ผู้คนแตกตื่น บางคนถึงกับวางแผนอพยพ ไปซื้อที่ดินปลูกบ้าน บนเขาสูงทางภาคอีสานหรือภาคเหนือ ซึ่งถ้าหากวิเคราะห์ตามหลักกาลามสูตร ว่าองค์การนาซ่า เป็นองค์กรทางอุตุนิยมวิทยาหรือไม่ มีหน้าที่พยากรณ์อากาศในประเทศไทยหรือไม่ เมื่อไม่ใช่แล้ว องค์กรนี้ก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องดินฟ้าอากาศในประเทศไทย ฉนั้น จึงตัดสินลงไปได้เลยว่า ข่าวชิ้นนี้เป็นข่าวเท็จ นอกจากนี้ เมื่อประมาณ ๓ ปีที่แล้ว มีข่าวโกหกในสื่อสังคมออนไลน์อยู่ ๒ ข่าว ข่าวแรกคือข่าวที่บอกว่า ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ โรวิตซ์ ปูติน แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธแล้ว และมีภาพประกอบด้วย เป็นภาพประธานาธิบดี ปูติน เดินถือ รูปถ่ายพระพุทธรูป ซึ่งถ้าวิเคราะห์ให้ถ้วนถี่แล้วจะเห็นว่า ความจริงเป็นภาพถ่ายทหารเรือคนหนึ่งเป็นผู้ถือภาพถ่ายพระพุทธรูป แต่คนปลอมภาพนี้ ได้ลบภาพทหารเรือออกแล้วนำเอาภาพ ประธานาธิบดีปูตินมาแปะไว้แทน อีกข่าวหนึ่ง เป็นข่าวที่รายงานว่า ประเทศอิตาลี ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาประจำชาติอิตาลีแล้ว ซึ่งความจริงมีอยู่แต่เพียงว่า เขารับรองว่าศาสนาพุทธก็เป็นศาสนาหนึ่งในบรรดาศาสนาทั้งหลาย ที่มีคนนับถือเท่านั้น

นอกจากนี้ ทั้งในสื่อใหม่ คือสื่อสังคมออนไลน์ และสื่อดั้งเดิม ยังมีการโฆษณาชวนเชื่ออยู่เนืองๆ เช่นโฆษณาว่า ไฟฉาย ชนิดหนึ่งแม้กระบอกสั้นแต่มีอานุภาพมากมายราวกับจะส่องไปได้ถึงดาวพระอังคาร หรือโฆษณาขายกะทะทำอาหารจากเกาหลี ยี่ห้อหนึ่ง มีคนบอกขายทางโทรทัศน์ว่า กะทะชนิดนี้ไม่มีขายในประเทศผู้ผลิตที่อ้างถึง แต่มาโฆษณาขายในประเทศไทย ใช้งบประมาณซื้อเวลาทางโทรทัศน์มหาศาล อวดอ้างราวกับว่าเป็นกะทะวิเศษ ทำอะไรก็น่ารับประทานไปเสียทุกอย่าง เสมือนเป็นอาหารทิพย์
            อย่างไรก็ตาม ในการวิเราะห์ข่าวนั้น นอกจากจะใช้ หลักกาลามสูตร มาบำบัดข่าวลือข่าวปลอมแล้วยังมีคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า             ที่จะนำมาประกอบการวิเคราะห์ได้อีก เช่นหลัก โยนิโสมนสิการ อันหมายถึงการคิดของบุคคลที่ต้องมีสติปัญญาเป็นตัวกำกับ ทำให้สามารถคิดเป็น โดยคิดและวิเคราะห์ได้อย่างถูกวิธีมีระบบระเบียบ ต่อเนื่องจากเหตุสู่ผล เชื่อมโยงกันภายใต้พื้นฐาน ของคุณธรรมที่จะนำไปสู่การปฏิบัติและการแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม 

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระนักวิชาการนักคิดนักเขียน ที่เรารู้จักท่านในนาม ปอ.ปยุตโต ได้สอนให้ใช้หลัก “ธัมมะวิจะยะ” หรือธรรมวิจัย ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยท่าน ปอ. ปยุตโต อธิบายว่าหมายถึงการใช้ปัญญาสอบสวน พิจารณาสิ่งที่สติกำหนดไว้หรือนำเสนอ ให้เข้าใจและเห็นสาระความจริง คืออ่านแล้วใช้สติกำหนดแล้วใช้ปัญญาสอบสวนก็จะเห็นสาระความจริงขึ้นมาทันทีว่านี่คือข่าวเท็จ

ในเรื่องของข่าวลวงข่าวปลอมนี้มีประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ก็คือการที่เด็กและเยาวชนของไทยเข้าถึงโลกออนไลน์เร็วเกินไป จากการสำรวจของ สสส., มูลนิธิสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน ร่วมกับนักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สำรวจบพบว่านักเรียนมัธยมของไทยเปิดรับสื่อออนไลน์ถึงวันละ ๖-๘ ชั่วโมง (ใช้เพื่อการศึกษา ๖๑% เพื่อเล่นเกม ติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น ๓๙%) และพบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่อนุญาตให้บุตรหลานใช้โทรศัพท์มือถือตั้งแต่อายุ ๒-๓ ขวบเท่านั้น สิ่งที่น่าวิตกคือผลการศึกษาของ OECD (The Organisation for Economic Co-operation and Development) ได้ประเมินสมรรถภาพของนักเรียนอายุ ๑๕ ปี จาก ๗๗ ประเทศทั่วโลก พบว่า ความสามารถในการรับมือกับ Fake News ของเด็กไทยอยู่ในลำดับที่ต่ำมาก คือลำดับที่ ๗๖ โดยมีเด็กจากอินโดนิเซียรั้งท้าย ส่วนความสามารถเด็กในการรับมือกับ Fake news ของประเทศที่อยู่ในลำดับต้นๆ ได้แก่ สหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่น, เยอรมันนี, เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก ตามลำดับ

ประกฏการณ์เช่นนี้ผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่ในการให้การศึกษาอบรมจะต้องเก็บเอาไปคิดว่าต่อไปเราจะอยู่กันอย่างไรถ้าเด็กเหล่านี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนให้มีความรอบรู้เรื่องสื่อ หรือรู้เท่าทันสื่อ เพราะในคำถาม ๗ ข้อ ที OECD ถามนั้น ล้วนเป็นคำถามที่ผู้ตอบจะต้องมีความรอบรู้เรื่องสื่อทั้งนั้น จึงเกิดความวิตกว่าประเทศเทศไทยจะเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยข่าวเท็จข่าวบิดเบือน โดยที่พลเมืองไทยในอนาคตก็เชื่อในข่าวเหล่านั้น และกระพือต่อๆ ไป

พลเมืองในยุคใหม่ของเราไม่เพียงแต่จะต้องเป็นพลเมืองที่จะต้องรู้เท่าทันข่าวลวงข่าวปลอมเท่านั้น หากแต่จะต้องรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทอล (MIDL- Media, Information and Digital Literacy) ด้วย

ขอเรียกร้องให้นักผลิตข่าวลวงข่าวปลอม และ Deepfake ทั้งหลายจงหยุดพฤติกรรมที่ทำให้สังคมสับสนวุ่นวายเสีย 

 ขอให้สังคมไทยปลอดจาก Fake news-ข่าวลวง ข่าวปลอม และ Deepfake และขอให้รู้เท่าทันสิ่งเหล่านั้นกันถ้วนหน้า. 

…………………………….

อ้างอิง:

๑. กัลยาวีร์ แววคล้ายหงษ์, เมื่อสื่อกำลังเล่นบท ผู้ผลิต Fake news, หนังสือ Media Ombudsman เร่ง

    เครื่องกำกับดูแลกันเอง ของสภาการหนังสือแห่งชาติ พศ. ๒๕๖๓

๒. ดร. สรานนท์ อินทนนท์ , หนังสือ “รู้ทันข่าว” ของมูลนิธิ ส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.)
๓. ธิติ สุวรรณทัต, นสพ. แนวหน้า คอลัมน์ปรีชาทรรศน์ ประจำวันที่ ๒๐ ธันวาคม, ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๒ และ

    วันที่ ๓ มกราคม, ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ 
๔. นางสาวอริยพร โพธิ์ใส, ความผิดฐานหมิ่นประมาท กับการใช้สื่อสังคมออนไลน์, วารสาร จุลนิติ ปีที่ ๑๑ 

    ฉบับที่ ๖ พฤศจิกายน -ธันวาคม พศ. ๒๕๖๓

๕. รายงานเรื่อง Fake news ของสำนักข่าวอิศรา มูลนิธิพัฒนาการสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย พศ. ๒๕๖๔

๖. พจนานุกรม ศัพท์นิเทศศาสตร์ฉบับราชบัณฑิตยสภา

๗. พรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พศ. ๒๕๕๐

๘. พรบ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พศ. ๒๕๖๒

๙. มานิจ สุขสมจิตร, “รู้เท่าทันสื่อ คุณรู้หรือยัง” เอกสารประกอบการยรรยายในการสัมมนาครูผู้บริหาร 

   โรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ พศ. ๒๕๖๐

๑๐. วารสารวันนักข่าว ๕ มีนาคม  ๒๕๖๔, สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

๑๑. ส.พลายน้อย, เกร็ดภาษาไทย พศ. ๒๕๖๐

๑๒. สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), (๒๕๖๓), ThaiHealth Watch 2021 จับ

      ทิศทางสุขภาพคนไทย ปี ๒๕๖๔ 

๑๓. อาจิณ จันทรัมพร , นักเขียนไทยในวงวรรณกรรม พศ. ๒๕๕๐

๑๔.  https://www.etda.or.th/content

๑๕. https://sites.google.com

๑๖. https://medium.com.gans
๑๗. 
https://www.facebook.com/help/spotfalsenews

๑๘. Julie Posetti and Alice Matthews, (2018), “A Short Guide to the History of ‘Fake News’ and 

    Disinformation: A New ICFJ Learning Module”, International Center for Journalists (ICFJ),

   Washington, DC

๑๙. Posetti, J., Ireton, C., Wardle, C., Derakhshan, H., Matthews, A., Abu-Fadil, M., 

   Trewinnard, T., Bell, F., Mantzarlis, A.,  (2018), “Journalism, Fake News & Disinformation:   

   Handbook for Journalism Education and Training”, UNESCO

…………