“ดีแทค-เศรษฐศาสตร์ จุฬา” เผย การรังแกทางวาจาเป็นจุดเริ่มของการกลั่นแกล้งทางออนไลน์

“ดีแทค-เศรษฐศาสตร์ จุฬา” เผย การรังแกทางวาจาเป็นจุดเริ่มของการกลั่นแกล้งทางออนไลน์

  • ชี้ “โรงเรียน” เกิดการกลั่นแกล้งมากสุด กลุ่ม LGBT ตกเป็นเหยื่อมากที่สุด แนะครู-ผู้ปกครองใส่ใจ
  • ดีแทคพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ Safe Internet หวังสร้างภูมิคุ้มกันทางดิจิทัลแก่เด็ก ครูและผู้ปกครอง

“ดีแทคและคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ร่วมเปิดผลวิจัยเรื่องการกลั่นแกล้งพบ การสร้างเรื่องโกหก ล้อปมด้อย ล้อชื่อพ่อแม่ เป็นจุดเริ่มต้นของการกลั่นแกล้งออนไลน์ (Cyberbullying) พบ 2 ใน 3 ของการกลั่นแกล้งเกิดใน “ห้องเรียน” กลุ่ม LGBT ตกเป็นเหยื่อมากสุด พร้อมแนะครูและผู้ปกครองอย่ามองข้าม เร่งปรับทัศนคติการรังแกเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ ด้านดีแทคพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ Safe Internet หวังสร้างภูมิคุ้มกันทางดิจิทัลแก่เด็กและคนรอบข้าง ร่วมรณรงค์เนื่องในวันต่อต้านการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์สากล  21 มิถุนายน 2562


ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การรังแกกันผ่านไซเบอร์ (Cyberbullying) นับเป็นความรุนแรงรูปแบบใหม่ เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท การใช้งานทำได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นผู้กระทำได้ ในทางตรงข้าม การใช้พื้นที่ของโลกไซเบอร์ต่างกับการรังแกรูปแบบอื่น ซึ่งไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ถูกกระทำ จึงถูกนำมาใช้เป็นช่องทางใส่ร้าย โจมตี

จากงานวิจัยเรื่อง “การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” พบว่า การกลั่นแกล้งทางสังคมมีความสัมพันธ์ที่สูงกับการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ แสดงให้เห็นว่า เด็กนักเรียนใช้โซเชียลมีเดียเป็นส่วนหนึ่งของสังคมพวกเขา ทำให้การกลั่นแกล้งทางออนไลน์จัดเป็นปัญหาใหม่สำหรับประเทศไทย

“จากงานวิจัยเราพบว่า สำหรับเด็กยุคใหม่ คนที่ถูกรังแกและคนที่รังแกคนอื่นมีสัดส่วนเข้าใกล้กันมากขึ้นเรื่อยๆ แปลว่ามีการเอาคืนมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ยังพบว่า การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์มีจุดเริ่มต้นจากการกลั่นแกล้งหรือการรังแกทางวาจา แล้วก็ไปสู่ทางร่างกาย ไปสู่ทางสังคม แล้วก็ทางสังคมจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการการรังแกทางไซเบอร์ ซึ่งเทคโนโลยีทำให้รูปแบบการการรังแกมีความรุนแรงมากขึ้น จำนวนสูงขึ้น และถึงแม้อาจไม่ได้รับความเจ็บปวดทางกาย แต่ความเจ็บปวดทางใจมีความรุนแรง เพราะลักษณะของการทำร้ายกันผ่านออนไลน์จะวนเป็นลูปไปกลับอย่างไม่จบสิ้น” ผศ.ดร.ธานี กล่าว

นอกจากนี้ ยังพบว่าสถานที่ที่เกิดการกลั่นแกล้งกัน ประมาณ 2 ใน 3 เกิดขึ้นในห้องเรียน กล่าวคือ การใช้ความรุนแรงมีโอกาสเกิดขึ้นมากในสถานที่ที่คุ้นเคยและมีโอกาส ขณะเดียวกัน การกลั่นแกล้งกันในสังคมไทยส่วนใหญ่มาจากเพศชาย ซึ่งความน่าสนใจคือลักษณะการแกล้งมักจะเกิดขึ้นเมื่อมีแนวโน้มเป็นกลุ่ม และอาจเป็นที่มาของวัฒนธรรมพวกมากลากไป หรือใช้จำนวนที่มากกว่าการสร้างความรุนแรง ซึ่งลักษณะดังกล่าว สามารถเห็นได้ชัดเจนในกลุ่ม LGBT ซึ่งมักเป็นผู้ถูกกระทำ โดยมักถูกกลั่นแกล้งทางวาจา ทางเพศและทางไซเบอร์อย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ผู้กระทำมักเป็นเพศชาย


ผศ.ดร.ธานี กล่าวเสริมว่า เทคโนโลยีการสื่อสารเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้การแกล้งกัน (Bullying) ของเด็กนักเรียนขยายวงกว้างมากขึ้น จากเดิมที่การแกล้งกันจะมีลักษณะอำนาจเหนือกว่าหรือมีความได้เปรียบด้านกายภาพ แต่โซเชียลมีเดียได้เข้ามาสร้างความเท่าเทียมกันของการแสดงออก  ทำให้ความสามารถในการแกล้งกันของทุกคนใกล้เคียงกันมากขึ้น

“หากต้องการป้องกันการกลั่นแกล้งหรือรังแกทางไซเบอร์ อาจต้องเริ่มจากการป้องกันกลั่นแกล้งหรือรังแกทางสังคมกายภาพจริง พร้อมกับการปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อการรังแก เพราะหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว เมื่อเด็กโตขึ้นในอนาคต การใช้กำลังจะถูกปลูกฝังว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และอาจแปรสภาพไปสู่การข่มขู่ การละเมิดอื่นๆ” ผศ.ดร.ธานี กล่าว

ขณะเดียวกัน ครูและพ่อแม่ผู้ปกครอง ควรเป็นที่พึ่งให้กับเด็กที่ถูกกระทำ ความเข้าใจระหว่างครอบครัวที่เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงตัวตนของตัวเอง และกิจกรรมในโรงเรียนที่ควรเปิดกว้างมากพอให้เด็กได้แสดงศักยภาพของตัวเอง เพื่อให้เด็กทุกคนมีพื้นที่เป็นของตัวเอง พื้นที่ที่สบายใจและทำสิ่งที่สนใจเหล่านั้นได้ดี หากแต่ทางออกระยะยาวถูกสกัดกั้นด้วยความไม่กล้าเปิดเผยเรื่องราวเหล่านี้ให้กับคนรอบตัว

ดีแทคเปิดยุทธศาสตร์สร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัย

นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า “การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ” (Responsible business) ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของความยั่งยืนดีแทค ซึ่งโครงการอินเทอร์เน็ตปลอดภัย หรือ dtac Safe Internet ได้ดำเนินอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้ว


สำหรับ การวิจัยเรื่อง “การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามของดีแทคในการทำความเข้าใจถึงปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้นจากบทบาทที่เพิ่มขึ้นของอินเทอร์เน็ต ซึ่งดีแทคมีเป้าหมายในการสร้างระบบนิเวศที่ดีต่อสังคมอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กที่มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกว่า 90%

และเนื่องในโอกาสวันต่อต้านการกลั่นแกล้งทางออนไลน์สากล (Stop Cyberbullying day) ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 21 มิถุนายน 2562 ดีแทคได้พัฒนาหลักสูตรออนไลน์ Safe Internet เพื่อให้เด็กและครอบครัว สามารถพัฒนาความรู้และทักษะในการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย สร้างภูมิคุ้มกันทางดิจิทัลแก่เด็กๆ ซึ่งได้รับการออกแบบโดย Parent Zone ผู้ให้บริการด้านความรู้ในการเลี้ยงเด็กในยุคดิจิทัลสัญชาติอังกฤษ


ทั้งนี้ หลักสูตรออนไลน์ Safe Internet ได้รับการออกแบบให้เหมาะสมกับเด็กอายุ 5-16 ปี ตลอดจนครูและผู้ปกครอง โดยเข้าผ่านเว็บไซต์ www.safeinternetforkid.com ซึ่งประกอบด้วยเกมทดสอบความเข้าใจโลกออนไลน์ คลังคำศัพท์ แบบฝึกหัด และคำแนะนำสำหรับครู ตลอดจนผู้ปกครอง


สอบถามเพิ่มเติม
External Communication – dtac

อรอุมา วัฒนะสุข ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ (อุ้ม)

ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

onumar@dtac.co.th

โทร 082 330 1010

หรือ แสงวิทย์ เกวลีวงศ์ศธร

Saengwit.Kewaleewongsatorn@dtac.co.th

โทร 099 121 3894