เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2566 กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ (กตป.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่ปรึกษาโครงการการจ้างที่ปรึกษาเพื่อการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลตามนโยบายที่สำคัญ ด้านกิจการโทรทัศน์ ประจำปี 2565 เปิดนิทรรศการ (Open House) พร้อมนำเสนอผล การติดตามและประเมินผลการให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 4K และการติดตามประสิทธิภาพและประเมินผลการบริหารจัดการ ของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ในหัวข้อ “มองอนาคตต่อทิศทางกิจการโทรทัศน์ไทย” โดยมีผู้เข้าร่วมพิธีเปิดนิทรรศการ ประกอบด้วย ผู้อำนวยการ อพวช. ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการโทรทัศน์ ตัวแทนองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนทั่วไป และสื่อมวลชน เข้าร่วมกว่า 150 คน ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 5 ศูนย์การค้า เดอะสตรีท รัชดา กรุงเทพฯ
การเปิดนิทรรศการ (Open House) ในครั้งนี้ เป็นการแจ้งผลรายงานเพื่อติดตามและประเมินผลตามนโยบาย กสทช. ที่สำคัญในด้านกิจการโทรทัศน์ ประจำปี 2565 โดยแบ่งเป็น 2 เรื่อง คือ (1) การติดตามและประเมินผลการเตรียมการให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 4K และ (2) การติดตามประสิทธิภาพและประเมินผลการบริหารจัดการของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)
ดร.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร ในฐานะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า “การติดตามและประเมินผลการดำเนินการและการบริหารงาน ของกสทช. ของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ด้านกิจการโทรทัศน์ นั้นมุ่งเน้นความเป็นกลาง สะท้อนเสียงของประชาชน เสนอข้อเสนอแนะ เพื่อพัฒนาการดำเนินงานและการกำกับดูแลของ กสทช. ที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไป เพื่อให้การทำงานและบทบาทของ กสทช. ทันต่อยุคสมัย เกิดการรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี การพัฒนาเครื่องมือ กฎหมาย และเกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยรวมต่อไป ”
พร้อมกันนี้ได้จัดทำเป็นหนังสือให้อ่านง่าย เพื่อเข้าถึงประชาชนทุกชนชั้น ทุกอาชีพ และเป็นกระจกสะท้อนให้กับ กสทช. นำความคิดเห็นเหล่านี้ไปปรับปรุงพัฒนาการทำงาน ซึ่ง กตป. มีหน้าที่ที่นำข้อคิดเห็นจากการประชุมเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) หรือ การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Hearing) ของประชาชนมาสรุปร่วมกับที่ปรึกษา คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และกลั่นกรองมาเป็นหนังสือผลการศึกษาการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลตามนโยบายที่สำคัญ ด้านกิจการโทรทัศน์ ประจำปี 2565 เรื่อง “มองอนาคตต่อทิศทางกิจการโทรทัศน์ไทย” และนำไปรวบรวมไว้ในรายงานติดตามและประเมินผล การดำเนินการและการบริหารงานของกสทช. สำนักงานกสทช. และเลขาธิการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ประจำปี 2566 และนำข้อสรุปไปใช้ในรายงานการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นเล่มที่ต้องส่งไปนำเสนอต่อรัฐสภาต่อไป
คณะที่ปรึกษา โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา นำโดย ผศ.ดร.สุดาวรรณ สมใจ หัวหน้าโครงการ ได้กล่าวเสนอผลการศึกษา การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลตามนโยบายที่สำคัญ ด้านกิจการโทรทัศน์ ประจำปี 2565 ว่าได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล และสรุปผล ข้อเท็จจริง และบริบทในประเทศและต่างประเทศ ตามหัวข้อดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้
1. การติดตามและประเมินผลการเตรียมการให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 4K
จากการดำเนินงานที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า กสทช. มีแนวทางและมาตรการในการกำกับดูแลส่งเสริมกิจการโทรทัศน์มาอย่างต่อเนื่อง ปรากฏตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์และ แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2563 - 2568) ซึ่งได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการทดลองหรือการทดสอบการออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี Ultra-High Definition Television: UHDTV หรือ “4K” ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กสทช. และ Thai PBS เพื่อทดสอบทดลองการออกอากาศด้วยเทคโนโลยี 4K ในพื้นที่แคบ และแผนการขยายพื้นที่ในอนาคต ในการทดสอบทดลองบนตึกใบหยก ให้ครอบคลุมในพื้นที่กว้างขึ้น 80 กิโลเมตรทางอากาศ เพื่อให้เกิดการรองรับสัญญาณครอบคลุมใน 16 จังหวัด ซึ่งตามแผนการปฏิบัติงานมุ่งเน้นการศึกษาประสบการณ์ของผู้รับชมและทิศทางความเป็นไปได้ในการแข่งขันทางด้านตลาด และพัฒนาเชิงธุรกิจ ความเหมาะสมกับประเทศไทยในอนาคต แบ่งออกเป็น 7 ด้าน คือ ด้านการศึกษาความเป็นไปได้, ด้านนโยบาย, ด้านการตลาดและผู้บริโภค, ด้านช่องทางในการเข้าถึง, ด้านเทคนิค, ด้านเนื้อหา และด้านธุรกิจ
ในมิติของการตลาดและผู้บริโภค เทคโนโลยี 4K นั้นอาจจะไม่เหมาะสมสำหรับการออกอากาศภาคพื้นดิน อันเนื่องมาจากต้นทุนที่สูง ประกอบกับการแข่งขันที่สูงขึ้นจาก Platform ต่าง ๆ ทั้งคุณภาพของรายการโทรทัศน์นั้นจะอยู่ที่เนื้อหาเป็นหลักซึ่งไม่ใช่ความคมชัด และเนื้อหารายการบางประเภทเท่านั้นที่เหมาะสมกับเทคโนโลยี 4K นอกจากนี้ผู้รับชมจะดูรายการ 4K ผ่าน Platform อื่น ๆ เช่น อินเตอร์เน็ต หรือ OTT เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดินด้วยเทคโนโลยี 4K ปัญหาคือรายการสตรีมมิ่งไม่ได้มีการกำกับดูแล และปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้ในปัจจุบัน คือ ปัญหาเรื่องการรับสัญญาณทีวี HD ที่บางเขตพื้นที่นั้นยังไม่สามารถรับได้ การพิจารณาในเชิงธุรกิจ 4K ภาคพื้นดินนั้นจึงเป็นไปได้ยากมาก และอย่างไรก็ตาม กสทช. ยังมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาและลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อช่วยสนับสนุนหรือลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ
2. การติดตามประสิทธิภาพและประเมินผลการบริหารจัดการของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)
คณะกรรมการบริหารกองทุนประกาศกำหนด ระบุให้โครงการที่สามารถยื่นขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนเงินจาก กทปส. ต้องเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่มีเป้าหมายการดำเนินงานตรงกับวัตถุประสงค์ของกองทุนข้อใดข้อหนึ่ง รวมถึงต้องมีความสอดคล้องกับกรอบนโยบายการจัดสรรที่ กสทช. และคณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด จากปี พ.ศ. 2561-2564 มีการขอทุนไปแล้วจำนวนทั้งหมด 378 โครงการ ดังนั้น จึงได้มีการวางแผนในการเก็บข้อมูลด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อสำรวจข้อมูลข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ตามหลักวิชาการและระเบียบวิธีวิจัย ดังนี้
(1) ด้านการรับรู้เกี่ยวกับกองทุน กทปส. ควรมีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกองทุนฯในวงกว้างอย่างเป็นระบบเพื่อให้ประชาชนภายนอกได้รับรู้
(2) ด้านการจัดสรรงบประมาณกองทุน ทางกองทุนฯ ได้อ้างอิง เพื่อมาทาแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บท ซึ่ง กทปส. ได้พิจารณา กลยุทธ์ว่าต้องขับเคลื่อนในเรื่องใดเป็นภารกิจสำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างของ กทปส.
(3) ด้านความสำเร็จของโครงการที่ได้รับการสนับสนุน ในส่วนของการบรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บทของแต่ละโครงการส่วนใหญ่จะบรรลุตามเป้าหมาย ความสำเร็จของโครงการขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น เอกสารประกอบ ผู้ดำเนินโครงการ ผู้ร่วมก่อตั้ง และผู้ร่วมทีม โดยมีคณะกรรมการพิจารณาความเสี่ยงของโครงการต่าง ๆ
(4) ด้านปัญหาและอุปสรรค การรับรู้เกี่ยวกับกองทุนในวงแคบ การบริหารจัดการงบประมาณที่สูง และอุปสรรค คือ คณะอนุกรรมการที่ถูกแต่งตั้งตามตำแหน่ง ที่อาจจะไม่มีความเชี่ยวชาญตรง หรือไม่เป็นกลางในการคัดเลือกโครงการ
(5) ความซับซ้อนของการให้ทุน ในการให้ทุนของ กองทุน กทปส. และ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ควรมีการกำหนดกรอบที่มีความชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และเพื่อให้เกิดการกระจายของทุนในทุกกลุ่ม
********************************************
สื่อมวลชนต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ติดต่อได้ที่ ดร.อัครมณี สมใจ ( ที่ปรึกษาการประชาสัมพันธ์ )
โทร 082 224 2878