TJA&Cofact รายงานว่า วันที่ 7 เมษายน 2564 เวลา 11.30 น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงสถานการณ์ประจำวันตอนหนึ่งว่า สืบเนื่องจากข้อเสนอจากที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (อีโอซี) เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่หารือถึงการทบทวนปรับระดับพื้นที่ กำหนดพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร โดยเสนอให้ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กพิจารณา
ซึ่งที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กเห็นว่า ตามมาตรการเดิมได้ให้อำนาจกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยในการหาข้อสรุปที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาด ดังนั้น จะยังไม่มีการปรับพื้นที่หรือปรับสี ขอให้ทั้งสองกระทรวงหารือในรายละเอียดกันก่อน ซึ่งจะมีการหารือกันใน 1-2 วันนี้
อย่างไรก็ตาม ตามประกาศ ศบค.ฉบับที่ 18 และ 15 ซึ่งออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้ระบุชัดเจนว่า ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าตรวจสอบสถานที่ให้เป็นไปตามแนวทางป้องกันโรค ให้คำแนะนำ ตักเตือน ห้ามปราม กำหนดช่วงเวลาให้มีการแก้ไขปรับปรุงเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และมีอำนาจเสนอให้สั่งปิดชั่วคราว
นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สามารถพิจารณาปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในเขตพื้นที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในห้วงต่างๆ ได้ และเมื่อในแต่ละพื้นที่มีความเห็นอย่างไรสามารถดำเนินการได้
ทั้งนี้ ขอให้ติดตามการรายงานของจังหวัดอย่างใกล้ชิด ส่วนการใช้ยาแรงปิดประเทศไม่ถือว่ามีประสิทธิภาพ เพราะพื้นที่จะเข้าใจปัญหาของตัวเองและสามารถกำหนดมาตรการได้ดีที่สุด
สำหรับกรณีดังกล่าว TJA&Cofact ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังเมื่อ 5 เม.ย.2564 ซึ่งแถลงข่าวโดย นายแพทย์ โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่าว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวิชาการตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ และศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินหรือ EOC มีความกังวลสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มจะสูงขึ้น ซึ่งรายงานติดเชื้อ 194 คนใน 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือผู้ต้องขังเรือนจำจังหวัดนราธิวาส และการระบาดในสถานบันเทิงในพื้นที่กทม.และปริมณฑลที่พบว่ามีการเดินทางไปหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น ชลบุรี และที่อื่นๆ
จึงต้องมีมาตรการเข้มข้น เนื่องจากช่วงนี้ใกล้เทศกาลสงกรานต์ ซึ่งแม้จะไม่มีการห้ามการเดินทาง แต่ให้พื้นที่คุมเข้ม อสม.เฝ้าระวังเคาะประตูบ้านคนมาจากพื้นที่เสี่ยง ส่วนโรงพยาบาลหากพบผู้มีอาการต้องสงสัยให้ซักประวัติละเอียดโดยเฉพาะการไปสถานบันเทิง และให้ตรวจหาเชื้อ นอกจากนี้ยังมีมติในการปรับพื้นที่ควบคุมสถานการณ์ที่กำลังมีแนวโน้มระบาด และมีความเชื่อมโยงกับสถานบันเทิง
“มีมติปรับสีพื้นที่ COVID-19 โดยปรับเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือสีแดง 5 จังหวัดคือ คือ กทม. ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม”
ส่วนพื้นที่ควบคุมสีส้ม พิจารณาจากการเดินทางไปยังจังหวัดนั้นๆ มี 9 จังหวัด คือสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ชุมพร ตาก ราชบุรี ชลบุรี สุพรรณบุรี นราธิวาสและกาญจนบุรี ส่วนจังหวัดเฝ้าระวังสูง สีเหลือง มี 10 จังหวัดได้แก่พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ระนอง ระยอง สงขลา ยะลา ขอนแก่น และที่เหลืออีก 53 จังหวัดเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง สีเขียว ทั้งนี้ จะมีการเสนอเข้าที่ประชุมศบค.ชุดเล็กในวันที่ 7 เม.ย.นี้
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับมาตรการที่จะดำเนินการคือในจังหวัดสีแดง กำหนดว่าร้านอาหารเปิดไม่เกิน 21.00 น. กินอาหารในร้านได้ แต่งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกกรณี ส่วนสถานบันเทิง เปิดได้ไม่เกิน 21.00 น. กินอาหารได้แต่ห้ามดื่มสุรา ห้ามจำหน่าย จ่าย แจก
“สถานการณ์ขณะนี้ในกทม.และปริมณฑล พบความเสี่ยงอยู่ที่สถานบันเทิงผับ บาร์ คาราโอเกะ รวมถึงการดื่มสุราจึงต้องเข้มงวด”
ส่วนศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าเปิดได้ตามปกติ แต่ต้องดำเนินการแบบ New Normal คือสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง วัดอุณหภูมิ การสแกนแอปพลิเคชั่น ไทยชนะและอื่นๆ ที่มีส่วนสถานศึกษาให้เปิดได้ตามปกติ ส่วนสถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส เปิดได้ แข่งขันได้โดยจำกัดผู้ชม
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ส่วนจังหวัดสีส้มร้านอาหารเปิดได้ไม่เกิน 23.00 น. รับประทานอาหาร ดื่มสุราได้ ส่วนสถานบันเทิง ผับ บาร์เปิดไม่เกิน 23.00 น. ดื่มสุราได้ แสดงดนตรีสดในร้านได้ แต่งดเต้นรำ งดกิจกรรมที่มีการเบียดเสียดยัดเยียด ส่วนห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา สถานออกกำลังกายเปิดได้เช่นเดิม
จังหวัดสีเหลืองเปิดได้ไม่เกิน 24.00 น. รับประทานทานอาหารได้ ดื่มสุราได้ ผับ บาร์ คาราโอเกะเปิดได้ไม่เกิน 24.00 น. แสดงดนตรีสดได้ ดื่มสุราได้ รับประทานอาหาร ได้แต่งดเต้นรำ ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังสีเขียว 53 จังหวัดเปิดได้ตามปกติ โดยดำเนินการตามกฎหมายและมาตรการควบคุมโรค จะย้ำที่สถานบันเทิงและงดดื่มแอลกอฮอล์ และจะเสนอมาตรการนี้ให้คงอยู่ใน 2 สัปดาห์ และจะต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง
“ถึงแม้จะมีการบังคับอย่างไร แต่ความร่วมมือของประชาชนสำคัญมาก เพราะบางคนห้ามดื่มในร้านแต่ก็ไปปาร์ตี้ต่อที่บ้าน ”
ทั้งนี้นพ.โอภาส ยังขอให้เทศกาลสงกรานต์ต้องงดการสาดน้ำ และเลี่ยงการทำกิจกรรมที่มีคนแออัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19
ดังนั้น TJA&Cofact สรุปได้ณวันที่ 7 เม.ย. 64 ว่าการปรับพื้นที่โซนสีตามมติของคณะกรรมการวิชาการตามพ.ร.บ.โรคติดต่อและศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินหรือ EOC กระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 ยังไม่มีผลบังคับใช้เพราะจะต้องนำมติของศบค.ชุดเล็กนำเสนอต่อศบค.ชุดใหญ่อีกครั้งเมื่อมีผลบังคับใช้ส่วนมาตรการของแต่ละจังหวัดที่ทยอยมีการประกาศออกมาเป็นอำนาจที่มีอยู่แล้วของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนั้นๆที่มีความเข้มและรายละเอียดที่แตกต่างกัน