เปิดคำสั่ง ศบค. ปิดสถานบันเทิง 41 จังหวัด นาน 2 สัปดาห์

ตรวจสอบรายละเอียด คำสั่งศบค.พิจารณาปิดสถานบริการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มอบอำนาจผู้ว่าฯ กทม. / ผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณาดำเนินการ ลุยก่อน 41 จังหวัดปิด 14 วันเริ่มวันที่10 เม.ย.นี้ ส่วนที่เหลืออีก 36 จังหวัด พิจารณาตามความเหมาะสมหากพบเป็นพื้นที่เสี่ยง

กรณีของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่วนใหญ่มีต้นตอมาจากสถานบริการหลายแห่ง ที่เป็นแหล่งของการแพร่กระจายเชื้อโลกไปในหลายพื้นที่ จนทำให้รัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ต้องเร่งหาทางควบคุม

TJA&Cofact ตรวจสอบข้อมูลล่าสุด นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. ได้เรียกประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ตัวแทนโรงพยาบาลเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าหารือที่ตึกไทยคู่ฟ้า โดย ศบค.ชุดเล็กได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ในวันที่ 9 เม.ย.นี้ ศบค.เตรียมจะออกข้อกำหนดฉบับที่ 19 ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เวลา 00.01 น.วันที่ 10 เม.ย. ไปจนถึงวันที่ 23 เม.ย. 

ทั้งนี้ตามข้อกำหนดแบ่งออกเป็น 3 เรื่อง คือ 

1.ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณาสั่งปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดที่ได้ตรวจพบการกระบาดแล้วและมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค จำนวน 41 จังหวัด เป็นการชั่วคราวอย่างน้อย 14 วัน 

สำหรับ 41 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี นครนายก สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สงขลา ยะลา นราธิวาส นครราชสีมา ขอนแก่น ชัยภูมิ อุดรธานี บุรีรัมย์ เลย เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย ตาก และเพชรบูรณ์

ขณะที่สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกันในอีก 36 จังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมีอำนาจในการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อพิจารณาสั่งปิดสถานที่นั้นเป็นการชั่วคราวได้ หากเห็นว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคตามความเหมาะสมของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่

2.การพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการเพื่อให้การบริหารจัดการและบังคับใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างกันในเขตพื้นที่ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อแล้วแต่กรณี เสนอต่อศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เพื่อตรวจสอบกลั่นกรองและประเมินความเหมาะสมก่อนเสนอ ผอ.ศบค. ในการพิจารณาอนุญาตให้ผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการกับสถานที่ที่มีคำสั่งให้ปิดตามข้อ 1

3.ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นที่มีหน้าที่รับผิดชอบปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิด เพิ่มความเข้มงวดในการเข้าตรวจพื้นที่ กิจการ กิจกรรมต่างๆ ที่อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคอย่างสม่ำเสมอ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจให้คำแนะนำ ตักเตือน ห้ามปราม กำหนดระยะเวลาให้ผู้จัดการสถานที่ปรับปรุงแก้ไข และรวมทั้งเสนอให้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อพิจารณาสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวได้