โคแฟคเผย 5ข่าวลือ ป่วนวัคซีนโควิดทั่วโลก เช็กให้ชัวร์ก่อนแชร์

ผ่านมาแล้ว1ปีเศษกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งขณะนี้คนทั้งโลกกำลังฝากความหวังไว้กับ “วัคซีน” ในการยุติฝันร้ายทั้งทางสุขภาพและเศรษฐกิจ หากประชากรส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนก็จะเกิดภูมิกันหมู่(HerdImmunity) ทำให้การระบาดของโรคเป็นไปได้ยากขึ้น อีกทั้งวัคซีนยังช่วยลดอาการรุนแรงของโรคหากเกิดติดเชื้อขึ้นมา แต่อุปสรรคอย่างหนึ่งของแผนการฉีดวัคซีนวงกว้างคือ “ข่าวลือข่าวลวง (Misinformation)” ที่ทำให้เข้าใจผิดและสร้างความตื่นตระหนกจนผู้คนรู้สึกลังเลที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน 

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค ประเทศไทย (cofact.org) ได้เปิดเผย 5 ข่าวลือข่าวลวงที่เกี่ยวข้องกับผลข้างเคียงหรือสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ของวัคซีนโควิด-19 ที่กำลังถูกพูดถึงในประเทศไทยและต่างประเทศ ได้แก่

1.วัคซีนฝังไมโครชิป: เป็นเรื่องที่ถูกลือกันมากที่สุดในสังคมตะวันตก ตั้งแต่ไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาดใหม่ๆ โดยเชื่อว่าเป็นแผนการของทุนยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีที่ต้องการปูทางไปสู่การฝังไมโครชิปประชากรทั่วโลก อาทิ ข่าวจาก BBC รายงานว่าผลการสำรวจของ ยูกอฟ (YouGov) บริษัทรับทำโพลชื่อดังของอังกฤษ ที่สอบถามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันจำนวน 1,640 คน แล้วสรุปผลได้ว่า ชาวอเมริกันร้อยละ 28 เชื่อเรื่องแผนการฉีดวัคซีนเพื่อฝังไมโครชิป เป็นต้น

ข่าวนี้เกิดขึ้นเมื่อ บิลล์ เกตส์ (Bill Gates) เจ้าพ่อไอทีผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟต์ ออกมาพูดเปรยๆ ไว้เมื่อเดือน มี.ค. 2563 ว่าในอนาคตจะมีการออกใบรับรองดิจิทัลสำหรับผู้ที่เคยป่วยจากไวรัสโควิดและได้รับการรักษาจนหายแล้วไปจนถึงผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน ก่อนจะถูกขยายผลลือกันเป็นตุเป็นตะ 

ข่าวลือเรื่องวัคซีนโควิดฝังไมโครชิปกลับมาพูดถึงอีกครั้งในช่วงปลายปี 2563 เมื่อสหรัฐฯ เตรียมการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยใช้วัคซีนที่พัฒนาโดยไฟเซอร์ (Pfizer) ทำให้ทางไฟเซอร์ต้องชี้แจงส่วนผสมของวัคซีนซึ่งมีอยู่ประมาณ 10 ชนิด ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ใช้ในวัคซีนหลายๆ ชนิด แต่ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับไมโครชิปแต่อย่างใด เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2564 กระทรวงสาธารณสุขของออสเตรเลีย ย้ำอีกครั้งว่า ไม่พบการติดตั้งซอฟต์แวร์หรือไมโครชิปในวัคซีนโควิด-19 ชนิดใดๆ ที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้ สรุป จากการตรวจสอบทางบีบีซี นำเสนอว่าข่าวลือนี้ไม่เป็นความจริง

วัคซีนแอบฝังชิปในตัว⋯⋯ | Cofact ข่าวจริงหรือข่าวลวง

2.วัคซีนเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอมนุษย์: ข่าวลือนี้ถูกพูดถึงกันมากเป็นพิเศษสำหรับวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาขึ้นโดยใช้เทคโนโลยี 2 ชนิดคือ mRNA เช่น วัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นา (Moderna) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่นำรหัสพันธุกรรมส่วนเล็กๆ ของไวรัสมาใช้กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน กับ Viral Vector เช่น วัคซีนของแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ใช้วิธีฝากสารพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ไปกับไวรัสชนิดอื่น แต่เมื่อเข้าไปในร่างกายแล้วจะเกิดการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิด-19 ด้วย

การกล่าวถึงพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) ในกระบวนการผลิตและการทำงานของวัคซีน นำไปสู่ความกังวลว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนจะมีผลข้างเคียงคือรหัสพันธุกรรมของตนจะเปลี่ยนไปด้วย ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ชี้แจงเรื่องนี้ว่า วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีทั้ง 2 ชนิด แม้จะส่งสารพันธุกรรมเข้าไปในร่างกายมนุษย์ แต่สารนั้นจะไม่เข้าไปถึงนิวเคลียสอันเป็นที่เก็บดีเอ็นเอ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อดีเอ็นเอแต่อย่างใด ทางสำนักข่าวบีบีซีและรอยเตอร์ตรวจสอบแล้วพบว่าข่าววัคซีนเปลี่ยนดีเอ็นเอนี้ไม่เป็นความจริง              

 ระวัง วัคซีนเปลี่ยน ⋯⋯ | Cofact ข่าวจริงหรือข่าวลวง

3.วัคซีนทำให้คนเป็นหมัน: การมีลูกเป็นโซ่ทองคล้องใจเป็นเรื่องสำคัญของหลายๆ ครอบครัว สามี-ภรรยาหลายคู่ถึงกับเกิดความเครียดเมื่อมีข่าวลือว่าการฉีดวัคซีนวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีผู้กังวลและปฏิเสธการรับวัคซีน

กระทรวงสาธารณสุขของออสเตรเลีย โดยหน่วยงานบริหารสินค้าด้านอายุรเวท (Therapeutic Goods Administration-TGA) ระบุว่า ข่าวลือนี้อ้างถึงโปรตีนซินซิติน-1 (Syncytin-1) ที่ช่วยมีการพัฒนารก ซึ่งมีอยู่ในหนามแหลมของเชื้อโควิด-19 เช่นกัน แต่ยืนยันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ว่าการได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือแม้แต่วัคซีนป้องกันโรคอื่นๆส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์หรือการพัฒนาของรกแต่อย่างใด

        ทางศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย บมจ.อสมท ได้ตรวจสอบจากแหล่งข้อมูล #SureVac โดย Newtral.es ว่าข่าวที่ "แนะท่านชายนำเชื้ออสุจิไปแช่แข็งก่อนรับวัคซีนโควิด” นั้นไม่เป็นความจริงด้วยเช่นกัน  

จริงหรือที่วัคซีนทำใ⋯⋯ | Cofact ข่าวจริงหรือข่าวลวง

4.วัคซีนช่วยเพิ่มขนาดอวัยวะเพศชาย: ข่าวนี้อาจจะแปลกกว่าข่าวลืออื่นๆที่ไม่ได้สร้างความตื่นตระหนกในเชิงหวาดกลัว แต่ก็เป็นข่าวปลอมที่ต้องชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง โดย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยเรื่องนี้เมื่อต้นเดือน ม.ค. 64 กรณีมีการส่งต่อภาพที่อ้างว่าเป็นข่าวจากสำนักข่าว CNN สหรัฐอเมริกา ที่พาดหัวข่าวว่า แพทย์สนับสนุนให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่อวัยวะเพศชาย เพราะจะทำให้วัคซีนกระจายไปทั่วร่างกายเร็วขึ้น

หนักไปกว่านั้นยังมีการแชร์ไปถึงขนาดว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 จะเพิ่มขนาดอวัยวะเพศชายให้ยาวขึ้นได้ถึง 3 นิ้ว ทั้ง 2 ข่าวอ้างงานวิจัย แต่จากการตรวจสอบพบว่าเป็นข่าวปลอมทั้งหมด ตั้งแต่งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่อ้างกลุ่มตัวอย่างทำการศึกษา 1,500 คน ก็ไม่มีอยู่จริง หรืออ้างวารสารวิชาการ The New Ingland Journal of Merdecine ที่เป็นวารสารที่ไม่มีอยู่จริง โดยวารสารที่มีจริงคือ The New England Journal of Medicine ซึ่งก็ไม่เคยตีพิมพ์บทความทำนองนี้แต่อย่างใด แม้กระทั่งสำนักข่าว CNN ก็ไม่เคยเสนอข่าวตามภาพที่นำมาอ้างกันด้วย เช่นเดียวกับตรวจสอบจากสำนักข่าว AFP และ อีกหลายสำนักสรุปตรงกันข่าวที่อ้าง CNN นี้เป็นข่าวลวง 

https://cofact.org/article/4gvhvfht7i4k

5. วัคซีนมีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ต้องห้ามตามหลักศาสนา: ในบางศาสนานั้นมีข้อห้ามการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของสัตว์บางชนิด เช่น ศาสนาฮินดูห้ามบริโภคเนื้อวัว ศาสนาอิสลามห้ามบริโภคเนื้อหมู ทำให้เมื่อมีการเผยแพร่ข่าวลือผิดๆ ว่าวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ทำจากส่วนประกอบของสัตว์ดังกล่าว บรรดาศาสนิกชนจึงไม่สบายใจและนำไปสู่การปฏิเสธการรับวัคซีนในที่สุด

 ที่ประเทศอังกฤษ ช่วงต้นปี 2564 ดร. ฮาร์พรีท สูท (Harpreet Sood) หัวหน้าหน่วยต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ยอมรับว่าทีมงานต่อต้านข่าวปลอมทำงานกันอย่างยากลำบากด้วยข้อจำกัดด้านภาษาและวัฒนธรรม จากกรณีพบผู้มีเชื้อสายเอเชียใต้ (ภูมิภาคที่ประกอบด้วยประเทศอินเดีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน และมัลดีฟส์) ที่อาศัยอยู่ในอังกฤษมีแนวโน้มปฏิเสธการรับวัคซีนโควิด-19 โดยต้องทำงานร่วมกับผู้นำศาสนา อธิบายให้ศาสนิกชนเหล่านี้มั่นใจว่าวัคซีนโควิด-19 ไม่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนผสม ทาง Newsweek  ก็มีการตรวจสอบว่าเป็นข่าวลวงเช่นกัน โดยเฉพาะในวัคซีนของไฟเซอร์ ส่วนในประเทศอินโดนีเซียที่ประชากรนับถือศาสนาอิสลามส่วนใหญ่ก็เริ่มต้นฉีดวัคซีนไปแล้ว  วัคซีน​มีส่วนผสมของเ⋯⋯ | Cofact ข่าวจริงหรือข่าวลวง

สุภิญญากล่าวเพิ่มเติมว่า 

"ยอมรับว่าข้อมูลข่าวสารเรื่องวัคซีนนั้นไม่นิ่งและอลหม่านมากจึงทำให้คนกลัว ไม่ใช่แค่ในประเทศแต่ทั่วโลก มีทั้งมิติวิทยาศาสตร์และการเมืองปนกัน เรื่องวัคซีนยังเป็นนโยบายสาธารณะด้วย ดังนั้นภาครัฐต้องเร่งตอบคำถามจากสังคมให้ชัดเจน เช่น ทำไมเราได้รับฉีดวัคซีนช้า มีตัวเลือกอื่นหรือไม่ การบริหารจัดการโปร่งใสหรือเปล่า และ การเข้าถึงวัคซีนเป็นสิทธิ์ทั่วถึงเป็นธรรม รวมถึงการให้ข้อมูลที่สร้างความมั่นใจในความปลอดภัย เป็นต้น ซึ่งภาครัฐต้องสร้างความเชื่อมั่น ส่วนประชาชนควรแยกแยะว่าอะไรคือข้อเท็จจริง อะไรคือความคิดเห็นหรือความเชื่อ จะได้ไม่สับสนและมีความมั่นใจมากขึ้น ถ้าไม่แน่ใจอะไร ส่งมาให้สื่อมวลชน เช่น สำนักข่าว AFP ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สมาคมนักข่าวฯ และ โคแฟคเพื่อช่วยตรวจสอบได้เช่นกัน"