จากคำถามที่มาถึง cofact.org ในประเด็นสินค้าฉวยขึ้นราคาช่วงโควิด มีโทษหนักอาจติดคุก 7 ปี จริงหรือไม่นั้น
TJA&Cofact ตรวจสอบไปที่กรมการค้าภายใน(คน.) กระทรวงพาณิชย์ ก่อนหน้านี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบและติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ หน้ากากอนามัย หน้ากากทางเลือก เจลแอลกอฮอล์ และสินค้าเวชภัณฑ์ต่างๆ ให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนและป้องปรามไม่ให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาส และต้องปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน
ขณะเดียวกันใน "ร้านธงฟ้า" ราคาประหยัด ต้องปฏิบัติตามกฎเหล็กอย่างเคร่งครัด โดยห้ามจำหน่ายบุหรี่ สุรา เบียร์ให้แก่ผู้ถือบัตร ห้ามยึดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ห้ามรับ แลกเป็นเงินสด ห้ามเอาเปรียบฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาและขายเกินราคาที่กำหนดโดยเด็ดขาด ห้ามบังคับการซื้อ ขายสินค้า หากมีการตรวจพบการกระทำผิด จะถูกเพิกถอนสิทธิ์การเข้าร่วม "โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" และแจ้งกรมบัญชีกลางในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการเพื่อเรียกคืนเครื่องอีดีซี หรือยกเลิกการใช้แอพพลิเคชั่นเช่นกัน
ที่สำคัญพบว่าตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 หรือ “กฎหมายควบคุมราคาสินค้า” ได้ให้อำนาจแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ในการประกาศควบคุมสินค้าและบริการได้ โดย "มาตรา 29" กำหนดไว้ชัดเจนว่า ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการใดๆ โดยจงใจที่จะทำให้ราคาต่ำเกินสมควร หรือสูงเกินสมควร หรือทำให้เกิดความปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้าหรือบริการได้ หากผู้ใดฝ่าฝืนตามจะมีโทษตาม "มาตรา 41" กำหนดโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับ 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ การฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า ไม่ได้มีโทษเฉพาะสถานการณ์โควิดหรือสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งเท่านั้น เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีการบังคับใช้กับทุกสถานการณ์ หากพบประชาชนพบเห็นการจำหน่ายสินค้าหรือบริการที่ แจ้งได้ที่สายด่วน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด
ที่มา พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2542/A/022/23.PDF
ที่มาของประเด็นการตรวจสอบ จริงหรือไม่...? สินค้าฉวยขึ้นราคาซ่วงโควิด มีโทษหนักอาจติดคุก 7 ปี https://cofact.org/article/2p3q6ya3j1pk