คิดให้ดี-ตรวจสอบให้ชัวร์ ก่อนเชื่อเพจปลอมมาตรการรัฐ
ปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดีย (Social Media) กำลังก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในแง่ของการใช้เพื่อการสื่อสารในระดับบุคคล ระดับองค์กร และในระดับของใช้เพื่อสื่อสารในสาธารณะ โดยมีองค์กรมากมายใช้ช่องทางของโซเชียลมีเดียในการสื่อสาร อำนวยความสะดวก เนื่องจากเข้าถึงง่าย สื่อสารได้รวดเร็ว และมีต้นทุนที่ต่ำ โดยเฉพาะอย่างในการใช้สื่อผ่านช่องทางโซเชียลแพล็ตฟอร์ม Facebook
ล่าสุด We Are Social ได้ทำการสำรวจข้อมูลผู้ใช้ Facebook ในประเทศไทย ในเดือน มกราคม 2564 พบว่า คนไทยมีการใช้งาน Facebook ไม่น้อยกว่า 51 ล้านบัญชี หรือคิดเป็น 84.9% ของจำนวนประชากรที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป แน่นอนว่าหลายคนไม่ได้มีแค่บัญชีส่วนตัวเพียงอย่างเดียว แต่มีการสร้างแฟนเพจไว้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะการใช้เป็นช่องทางการสื่อสารให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย
อย่างในกรณีของการสร้างแฟนเพจที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าวสารโครงการของรัฐ หรือมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาจากหน่วยงานของรัฐบาล จากการสำรวจข้อมูลพบว่า มีผู้ที่สร้างแฟนเพจในลักษณะนี้ค่อนข้างมาก โดยมีทั้งการนำเสนอข้อมูลจากทางรัฐในลักษณะต่าง ๆ ทั้งข้อมูลจริงของรัฐทั้งหมด ข้อมูลบิดเบือนจากข้อเท็จจริง ข้อมูลที่ทำขึ้นใหม่ หรือการนำความคิดเห็นของตัวเองนำเสนอไปในช่องทางนั้น ๆ ทำให้ผู้ที่ค้นหาข้อมูลได้ข้อมูลที่ผิดพลาด และคลาดเคลื่อน
อย่างในกรณีของเพจนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐ โดยเฉพาะการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น เราไม่ทิ้งกัน เราเที่ยวด้วยกัน เราชนะ คนละครึ่ง และ ม33 เรารักกัน เพื่อมุ่งหวังให้เกิดผลประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ตามมาเป็นการส่วนตัว
ทั้งนี้ กองบรรณาธิการเฉพาะกิจ TJA&Cofact ได้สำรวจข้อมูลเบื้องต้นพบว่ามีแฟนเพจในลักษณะที่เกี่ยวข้องกันกับโครงการเหล่านี้จำนวนมาก ทั้งที่ใช้ชื่อโครงการโดยตรง หรือใช้ทั้งชื่อโครงการและสัญลักษณ์โครงการ โดยที่ไม่ใช่การทำมาจากหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ และบางส่วนได้นำเสนอข้อมูลที่ผิดไปจากความจริงมาก จนทำให้ผู้ที่เข้าไปหลงเชื่อว่า เป็นเพจทางการของรัฐ และเกิดการเข้าใจผิดได้
กองบรรณาธิการเฉพาะกิจ TJA&Cofact ยังได้ทำการสอบถามถึงกรณีนี้ไปยัง นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยได้รับการยืนยันว่า เป็นห่วงเรื่องในลักษณะนี้เช่นกัน และตระหนักถึงเรื่องที่เกิดขึ้น โดยทางเพจที่จัดทำขึ้นแบบไม่เป็นทางการ หรืออาจเป็นเพจปลอมที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะไม่ได้นำเสนอข้อมูลอย่างถูกต้องตรงจุดที่ทางหน่วยงานนั้นต้องการนำเสนอ หรืออาจบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยที่ผ่านมาทางหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ หรือมาตรการเหล่านี้กออกมาแจ้งเตือนให้ประชาชนรับทราบ เช่น กระทรวงการคลัง ที่ได้มีการแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการแล้ว
ทั้งนี้ในแนวทางการตรวจสอบข้อมูลที่ดีที่สุด รัฐบาลเองอยากให้ประชาชนที่ต้องการรับทราบข้อมูลของโครงการช่วยเหลือ เยียวยาต่าง ๆ ที่ออกมา ต้องติดตามข้อมูลข่าวสารในช่องทางที่เป็นทางการของหน่วยงานนั้นโดยตรง เช่น กระทรวงการคลัง หรือกระทรวงแรงงาน หรือเพจของรัฐบาล คือ ไทยคู่ฟ้า ที่มีข้อมูลจากหน่วยงานนั้น ๆ มานำเสนออย่างถูกต้องที่สุด หรือถ้าประชาชนมีข้อสงสัย ก็สามารถติดต่อไปยังหน่วยงานโดยตรงได้ผ่านหลากหลายช่องทาง ทั้งออนไลน์ และโทรศัพท์
“เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการติดตามข่าวสารโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลที่ออกมาช่วยเหลือ หรือประชาสัมพันธ์ข้อมูล จึงขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางที่เป็นทางการ ทั้งเว็บไซต์ หรือ Facebook หรือช่องทางอื่น ๆ ได้ ขณะเดียวกันในด้านการตรวจสอบเว็บไซต์ หรือแฟนเพจปลอมต่าง ๆ ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ก็กำลังติดตาม และคอยตรวจสอบอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ และรับทราบข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐที่ไม่ถูกต้อง”
ก่อนหน้านี้ทางกระทรวงการคลังเองได้ออกมาแจ้งเตือนประชาชน หลังพบว่ามีผู้แอบอ้าง หรือผู้ที่ทำเว็บไซต์ และจัดทำเพจ เฟซบุ๊กขึ้นมา โดยใช้ชื่อเหมือน หรือใกล้เคียงกับ โครงการของรัฐ โดยยืนยันว่า ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลข่าวสารและมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ผ่านช่องทางที่เป็นทางการของกระทรวงการคลัง เว็บไซต์ www.mof.go.th หรือในเฟซบุ๊ก สถานีข่าวกระทรวงการคลัง และเว็บไซต์ www.fpo.go.th หรือในเฟซบุ๊ก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง : Fiscal Policy Office
ส่วนที่นอกเหนือไปจากนี้ขอให้ระมัดระวังในการพิจารณาข้อมูล และอย่ากรอกข้อมูลส่วนตัวใด ๆ ลงไปในเว็บไซต์เหล่านั้น