แม้ว่าจะไม่ได้นอกเหนือไปจากความคาดหมายเท่าใดนัก สำหรับแนวทางการเข้ามาเยียวยากลุ่มผู้ประกอบการ และลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) ซึ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ไปเมื่อกลางดึกในช่วงรอยต่อของวันที่ 26-27 มิถุนายน ที่ผ่านมา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน เป็นต้นไป
หลังจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลเสนอให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เห็นชอบในการประชุมด่วนร่วมกับคณะที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ และเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบไปเป็นที่เรียบร้อย เพื่ออนุมัติการจ่ายเงินเยียวยาให้กับนายจ้างและลูกจ้าง ในระยะเวลา 1 เดือน ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศฉบับนี้ ในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
กองบรรณาธิการเฉพาะกิจ TJA&Cofact ได้ตรวจสอบรายละเอียดของการเยียวยา ตามที่ สศช. เสนอ ซึ่งกำหนดออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกเป็นการเยียวยาให้กับผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ในสาขาก่อสร้าง สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการบริการอื่น ๆ เช่น ร้านนวด สปา และสาขาศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ เช่น งานอีเว้นต์ งานกลางคืน แยกเป็น
1.ลูกจ้าง (ผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ทั้งคนไทยและต่างด้าว) กองทุนประกันสังคมจะจ่ายค่าทดแทนกรณีเหตุสุดวิสัย 50% ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกินรายละ 7,500 บาท และอีกส่วนภาครัฐจะให้เงินค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมกับผู้ประกันตน 2,000 บาทต่อราย สำหรับผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น
2.นายจ้าง หรือผู้ประกอบหาร รัฐจะจ่ายค่าทดแทนในสาขาที่ได้รับผลกระทบขั้นต่ำ 3,000 บาทต่อหัวลูกจ้าง โดยคิดตามรายหัวของลูกจ้างที่อยู่ในบริษัทได้สูงสุดไม่เกิน 200 ราย
สำหรับค่าใช้จ่ายนั้น มีวงเงินรวมทั้งหมด 8,500 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. เงินจากกองทุนประกันสังคม 3,500 ล้านบาท และ 2.เงินจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563อีก 5,000 ล้านบาท เพื่อให้เป็นค่าใช้จ่ายในส่วนที่ภาครัฐจ่ายให้เพิ่มเติม
ส่วนที่สอง เป็นการช่วยเหลือผู้ที่อยู่นอกระบบประกันสังคม โดยกระทรวงแรงงานจะเปิดให้ผู้ประกอบการมาลงทะเบียนเข้าระบบประกันสังคม ภายในเดือนก.ค.2564 ซึ่งนายจ้างจะได้รับเงินเยียวยา 3,000 บาทต่อหัวลูกจ้าง และและลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับ 2,000 บาทต่อราย (เพราะการจะได้รับเงิน 50% ของค่าจ้าง ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 6 เดือนก่อน) ขณะที่ผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง เช่น ร้านค้า รถเข็น หรือร้านอาหารทั่วไป ให้ลงทะเบียนแอปพลิเคชันถุงเงิน ภายในเดือนก.ค.เช่นกันโดยกระทรวงแรงงานจะประสานกระทรวงมหาดไทยช่วยตรวจสอบข้อมูล และจะจ่ายเงินเยียวยาให้ตามที่กำหนดเอาไว้ในมาตรการนี้ จำนวน 3,000 บาท
ทั้งนี้จากการตรวจสอบจำนวนผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ใน 6 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการครั้งนี้ ใน 4 สาขา (สาขาก่อสร้าง สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการบริการอื่น ๆ และสาขาศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ) พบว่ามีด้วยกันทั้งสิ้น 697,315 ราย จากจำนวนผู้ประกันตนทั้งหมดใน 6 จังหวัด 5.99 ล้านราย แยกเป็น ผู้มีสัญชาติไทย 603,560 ราย และต่างด้าว 93,755 ราย ขณะที่ให้เงินค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมกับผู้ประกันตน 2,000 บาทต่อราย จะใช้เงินถึง 1,207 ล้านบาท
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาครั้งนี้ถือเป็นมาตรการพิเศษในช่วง 1 เดือน สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบสูงสุด ใน 6 จังหวัด ส่วน 4 จังหวัดทางภาคใต้ยังสามารถใช้ข้อกำหนดในฉบับที่ 24 ได้ และในระยะถัดไปจะมีมาตรการอื่น ๆ มาช่วยเหลือ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในภาคเอสเอ็มอีกด้วย ซึ่ง สศช. จะประสานกับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการคลัง เพื่อออกแนวทางการช่วยเหลือต่อไป
ขณะที่โครงการ “คนละครึ่ง” ระยะที่ 3 ที่มีข่าวลือสะพัดบนโลกออนไลน์ว่ารัฐบาลเตรียมเลื่อน “คนละครึ่ง” เฟส 3 ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ออกไป 1 เดือน โดยอ้างว่า เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศที่ออกมาควบคุมโควิด-19 ที่ออกมานั้น ยืนยันว่า ไม่มีการเลื่อน และจะยังดำเนินการตามกำหนดเดิม โดยจะให้วงเงินผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง และเริ่มใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้ เป็นต้นไป